เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ: เมื่อตัวตนที่ซ่อนเร้นได้ส่องประกาย

เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ: เมื่อตัวตนที่ซ่อนเร้นได้ส่องประกาย
ในยุค 2000 หลายคนคงรู้จักและคุ้นเคยกับวง K-Otic บอยแบนด์ชื่อดังที่เคยมีเพลงติดชาร์ตอันดับหนึ่งทั่วประเทศ โดยมีสมาชิกทั้งหมด 5 คนที่คอยมอบเสียงเพลง รอยยิ้ม และความสุขให้กับผู้ชม ทำให้แฟนคลับจำนวนมากชื่่ีนชอบและชื่นชมทั้งผลงานและภาพลักษณ์ชวนมองของพวกเขา . สปอตไลท์ที่ส่องไปบนเวทีอาจทำให้เราเห็นรูปลักษณ์ภายนอกได้อย่างชัดเจน แต่สปอตไลท์นี้กลับไม่เคยได้ส่องไปถึงตัวตนที่แท้จริงข้างในของพวกเขาเลย เพราะมันถูกบดบังไว้ด้วยคำว่า ‘บอยแบนด์’ โดยเฉพาะเขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ หนึ่งในสมาชิกวง K-Otic ที่ตัวตนที่แท้จริงต้องถูกกลบไว้ด้วยกรอบและกฎเกณฑ์ของสังคม . เมื่อ ‘บอยแบนด์’ กลายเป็นข้อจำกัดการแสดงออก . สภาพสังคมในช่วงนั้นหล่อหลอมให้ผู้คนคิดว่าการเป็น LGBTQ+ มีผลต่อหน้าที่การงาน เพศสภาพที่แท้จริงเชย ไม่ค่อยมีใครกล้าเปิดเผยเท่าไร ในตอนนั้นเลยทำให้เขื่อนรู้สึก ‘แตกต่าง’ และได้แต่เก็บงำเอาไว้ข้างในหัวใจแทน เพราะถ้าเขาเลือกที่จะเป็นเขื่อนในแบบของตัวเอง ผลกระทบที่ตามมาอาจจะทำให้เขาลำบาก ยิ่งมีคำว่า ‘บอยแบนด์’ ตีกรอบการแสดงออกของเขาไว้ ยิ่งทำให้เขื่อนต้องเลือกเป็นคนในรูปแบบที่คนอื่นยอมรับ ซึ่งทำให้เขารู้สึกเหนื่อยจนไม่อยากยืนอยู่ตรงจุดนี้อีกต่อไป เพราะทั้งกดดันและอึดอัดถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าและต้องไปบำบัดจิตใจ กินยาต้านซึมเศร้า แต่ท้ายที่สุดเขื่อนก็ผ่านจุดนั้นมาได้ ซึ่งไม่ใช่ ‘การก้าวข้ามผ่าน’ แต่คือการเรียนรู้ที่จะ ‘ยืนอยู่ตรงนั้นให้ได้’  . “ถ้าสังคมเขารับเพศเราไม่ได้ เขาต้องรับงานและรอยยิ้มเราได้” นี่คือสิ่งที่เขื่อนบอกตัวเองมาตลอด . วันที่เลือกจะเผยตัวตน (come out) . จุดเริ่มต้นที่เขื่อนออกมา ‘come out’ หรือเปิดเผยตัวตนไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ แต่กลับกลายเป็นการโดน outed หรือถูกบังคับให้พูด ทั้งจากข่าวที่ออกมาและการแสดงความคิดเห็นของคนในโซเชียลมีเดีย จนทำให้เขื่อนเลือกที่จะออกมาเปิดเผยต่อสังคมว่าเขานั้นเป็น LGBTQ+  . “ตอนนั้นรู้สึกว่า จริงอยู่ที่วันหนึ่งต้องออกมาบอกว่าตัวเองเป็น asexual แต่มันควรเป็นการออกมาในวันที่เขาพร้อมและรู้สึกปลอดภัย เหมือนวันที่เขื่อนเลือกที่จะ come out กับแม่เอง” . การ come out ควรเป็นสิ่งที่เราพร้อมมากกว่าสังคมบอกให้ทำ . “การ come out ไม่ได้มีกฎตายตัวว่าต้องออกมาพูดตอนไหน หรือควรออกมาตอนที่คนอื่นบอกว่าควร เพราะสิ่งที่ตามมาของแต่ละคนต่างกัน อยากให้ออกมาในวันที่ตนเองพร้อมที่จะรับมือและเดินต่อไปเมื่อไม่ถูกยอมรับ ซึ่งคนเราไม่สามารถที่จะบังคับให้ใครมาชอบหรือเข้าใจเราได้ แต่ตัวเราเองมีสิทธิเลือกที่จะตัดสินใจได้ว่าวันนี้จะเป็นอย่างนี้ และเลือกที่จะทำแบบนี้” (จากบทสัมภาษณ์ a day BULLETIN, 10 กรกฎาคม 2563) . “แต่ถ้าในปัจจุบันหรืออนาคต LGBTQ+ ได้รับความเท่าเทียมและได้รับการปฏิบัติอย่างคนทั่วไป ทุกอย่างจะกลายเป็น normal life ที่ทุกคนมองว่ามันคือเรื่องธรรมดา ซึ่งไม่จำเป็นด้วยซ้ำที่คนเราต้องออกมา come out บอกว่าตัวเองเป็นอะไร จะไม่มีการแบ่งแยกหรือถกเถียงกันว่าคนกลุ่มนี้คือความแตกต่าง” (จากบทสัมภาษณ์ a day BULLETIN, 10 กรกฎาคม 2563) . ทุกวันนี้กว่าเขื่อนจะเจอพื้นที่ที่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ เขาใช้เวลากับมันเป็นอย่างมาก ต้องผ่านช่วงเวลาที่ทั้งโดน hate speech และ cyberbully ว่าเขานั้น ทุเรศ วิปริต อุบาทว์ หรือหนักที่สุดคือบอกว่าเขานั้นสมควรตาย ซึ่งหนึ่งประโยคของคนเหล่านั้นสามารถทำร้าย หรือไม่ก็จบชีวิตคนบางคนได้เลย แต่ก่อนหน้านี้เขื่อนเลือกที่จะมองข้าม จนเมื่อเวลาผ่านไปเขากลับตระหนักได้ว่า ‘การที่จะเลือกมองข้าม’ อาจกลายเป็น ‘การสนับสนุน’ ข้อความเหล่านั้นแทน เขาจึงออกมาแสดงจุดยืนและพูดถึงสิทธิที่ควรจะได้รับ . “ในฐานะ LGBTQ+ คนหนึ่ง การออกมาเรียกร้อง คือเราไม่ได้ขออะไรที่เป็นสิ่งที่พิเศษเหนือคนอื่นหรือมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น แต่เราขอสิทธิมนุษย์ให้มีสิทธิเท่ากัน” (จากบทสัมภาษณ์ a day BULLETIN, 10 กรกฎาคม 2563) . การที่เขื่อนออกมาโพสต์ภาพถ่ายของตัวเองในชุดกระโปรงสวยหวานสุดน่ารัก หรือชุดสุดแซ่บเซ็กซี่ขยี้ใจผ่านอินสตาแกรม (Instagram) เหมือนเป็นการสื่อเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งผ่านเสื้อผ้าว่า ‘ไม่มีเพศ (genderless)’ ให้อิสระในการแต่งตัว ไม่กำหนดว่าเพศใดเพศหนึ่งใส่ชุดนี้ได้เท่านั้น แต่ยอมรับในความเป็นผู้หญิง (feminine) และความเป็นผู้ชาย (masculine) ในตัวเอง แล้วสนับสนุนตัวเองไม่ว่าวันนั้นจะรู้สึกอย่างไรก็ตาม  . เขื่อนโดนตีกรอบมาโดยตลอดว่าการเป็น LGBTQ+ ของเขื่อนคืออะไร เขาโดนตัดสินไปแล้วว่าเป็นแบบนี้ แต่งตัวแบบนี้ ต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น จนเขาเริ่มรู้สึกว่าทำไมมนุษย์ต้องแบ่งแยก ทั้งที่จริงตัวเขาเองสามารถเป็นทุกอย่างได้ ซึ่งทุกวันนี้เขื่อนเชื่อในตัวเองและพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า ‘เราไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างที่คนอื่นโยนให้’ อยากจะเป็นแบบไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้านั่นมันคือตัวตนของเราจริง ๆ ถึงแม้วันหนึ่งที่เราถูกโจมตีจากคำพูดที่ไม่ดี แต่สุดท้ายเราจะตอบเขาได้ว่า “not your problem”  . ปัจจุบันเขื่อนยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอกสาขา Existential psychotherapy หรือการบำบัดจิตด้วยปรัชญาชีวิต และทำงานเป็นนักจิตบำบัดฝึกหัดกับคลินิกที่อังกฤษ ซึ่งสาเหตุที่เขาสนใจเรียนต่อด้านนี้ เพราะที่ผ่านมาเขารู้สึกถึงความใกล้ชิดกับชีวิตของคนที่ต้องทนทุกข์กับสภาพทางจิตใจทั้งพี่สาวเป็นออทิสติก และแม่เป็นไบโพลาร์ที่สังคมยังไม่ได้เข้าใจเท่าไรนัก หรือแม้กระทั่งตัวเขาเองที่ต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้า เพราะในช่วงแรก ๆ เขายังไม่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคมที่ขาดความเข้าใจในเรื่องนี้ และโลกภายนอกที่บอกเพียงว่าชายเป็นอย่างไร หญิงเป็นอย่างไร แต่เขากลับไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นอะไร รู้เพียงแต่ว่าแตกต่างไปจากคนอื่น ๆ  . ทุกวันนี้เขื่อนพยายามถ่ายทอดมุมมองและความรู้เรื่อง LGBTQ+ ผ่านทั้งแคปชันรูปในอินสตาแกรมและช่องยูทูบ ‘Koendanai’ เขายังคงทำงานด้วยความหลงใหลในสิ่งที่ตัวเองรัก คือ สานต่องานด้านสุขภาพจิต (mental health) และทำให้สังคมไทยเข้าใจเกี่ยวกับ LGBTQ+ เพิ่มมากขึ้น เมื่อเขื่อนมาอยู่ในโลกที่ไร้ขอบเขตเรื่องเพศ (queer gender) เขาจึงอยากให้ใครก็ตามได้รู้สึกว่ามันมีพื้นที่ตรงนี้อยู่ ในวันที่คุณรู้สึกแปลกแยกหรือแตกต่าง จะมีพื้นที่ตรงนี้ที่รอรับพวกคุณ เป็นพื้นที่ปลอดภัย (safe zone) ที่คุณสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้บรรทัดฐานรักต่างเพศ (Heteronormative หรือ Heteronormativity) ที่ตีกรอบว่าความรักที่ถูกต้องควรเป็นรักของคนต่างเพศเท่านั้น . “ถึงแม้เราจะมีความคิดหรือมุมมองที่ต่างกันในเรื่องของเพศ (gender) แต่เราก็ยังสามารถอยู่ร่วมกันได้ เพียงแค่เราต้องเริ่มต้นด้วยการที่ไม่ตัดสินคนอื่น เคารพซึ่งกันและกัน ยอมรับกับสิ่งที่เราคิดและรู้สึก ไม่ยัดเยียดความคิดตัวเองใส่คนอื่น เพราะสุดท้ายแล้วอะไรที่เรียกว่า ‘Normal’ หรือความปกติของสังคมทั่วไปหรือของโลก ก็เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนอยู่ร่วมกันเท่านั้น ฉะนั้นการที่เราไม่ได้อยู่ในกรอบของคำว่า ‘Normal’ ที่สังคมนิยาม ไม่ได้หมายความว่าเราผิดปกติ เพียงแต่เราไม่ได้เป็นในสิ่งที่คนที่ไม่ชอบคนที่รักเพศเดียวกัน (Homophobic) มองว่ามันคือสิ่งที่ถูกต้อง” (จากบทสัมภาษณ์ The Cloud, 3 พฤศจิกายน 2563) . “Normal is subjective and so is life. ที่แปลความหมายโดยนัยได้ว่าความปกติของคุณ และความปกติของฉันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคุณไม่ควรเอาสิ่งที่ปกติของคุณมาบังคับในสิ่งที่ฉันเป็น” เขื่อนกล่าวในบทสัมภาษณ์ The Cloud, 3 พฤศจิกายน 2563 . เรื่อง: ภัคจีรา ทองทุม . ที่มา  https://www.youtube.com/watch?v=WMku-xtO8jE&feature=emb_title https://www.youtube.com/watch?v=KrsefOUkam0 https://www.youtube.com/watch?v=iran3dGmbq8 https://www.youtube.com/watch?v=yY6PcWLhagE&feature=youtu.be https://www.youtube.com/watch?v=uggAruiyHSQ&feature=youtu.be https://www.youtube.com/watch?v=FQUo4tadAno https://www.instagram.com/p/CHpQLPGpfbH/?igshid=14jvdr1tcma6d