เพาล์ แอร์ลิช บิดาแห่งคีโมฯ ผู้พบยารักษาซิฟิลิสอย่างได้ผล

เพาล์ แอร์ลิช บิดาแห่งคีโมฯ ผู้พบยารักษาซิฟิลิสอย่างได้ผล
ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่สร้างตราบาปให้กับผู้ติดเชื้อ ทั้งการดูหมิ่นในเชิงศีลธรรม รวมถึงรอยแผลเป็นถาวรซึ่งมักพบบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก และอาจกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จนทำให้อวัยวะส่วนนั้นเป็นแผลเป็นใหญ่ หรือทำให้อวัยวะบิดเบี้ยวผิดรูปร่าง (และเป็นไปได้ว่า อาการเจ็บป่วยเช่นนี้คนสมัยโบราณเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคเรื้อนด้วย) ความน่ารังเกียจของซิฟิลิสทำให้ประเทศต่าง ๆ ที่ประสบกับการระบาด พากันโทษว่ามันมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอริข้างเคียง เหมือนที่อังกฤษเรียกมันว่า "โรคฝรั่งเศส" คู่แข่งข้ามช่องแคบโดเวอร์ ส่วนฝรั่งเศสก็เรียกว่า "โรคเนเปิล" โทษว่าไปติดมาจากอิตาลี เมื่อคราวทหารฝรั่งเศสยกทัพไปรุกราน หรือชาวเติร์กออตโตมันก็ยังเรียกมันว่า "โรคคริสเตียน" เมื่อการบำบัดรักษาอย่างได้ผลยังไม่มี คนสมัยก่อนมักจะใช้สารปรอทในการรักษา โดยได้แบบอย่างมาจากการแพทย์แผนมุสลิมสมัยยุคกลาง ที่ใช้สารปรอทในการรักษาโรคผิวหนังหลายชนิด ซึ่งเห็นผลดีเพียงเล็กน้อย แต่ส่งผลข้างเคียงที่รุนแรง การรักษาซิฟิลิสอย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องรอถึงศตวรรษที่ 20 เมื่อ เพาล์ แอร์ลิช (Paul Ehrlich) พบกับ "กระสุนเวทย์มนต์" (magical bullet) ยาที่สามารถฆ่าแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของโรคชนิดนี้ได้สำเร็จ ก่อนอื่นควรเท้าความถึงที่มาของชื่อ "ซิฟิลิส" กันสักนิด คำนี้ถูกนำมาใช้เรียกโรคติดต่อทางเพศชนิดนี้เป็นคราวแรกโดย จิโรลาโม ฟราคาสโตโร (Girolamo Fracastoro) หมอและนักกลอนชาวเวโรนา ในอิตาลี ในงานประพันธ์ชิ้นหนึ่งเมื่อปี 1530 อ้างถึงตัวละครในปกรณัมกรีกที่ชื่อว่า ซิฟิลุส (Syphilus) คนเลี้ยงสัตว์ ซึ่งฟราคาสโตโรแต่งเรื่องให้ซิฟิลุสไม่พอใจเทพอะพอลโล สุริยเทพที่ทำให้ต้นไม้ใบหญ้าแห้งเหี่ยว กระทบต่อคนเลี้ยงสัตว์เช่นเขา จึงประกาศเลิกบูชาอะพอลโล และจะบูชาแต่กษัตริย์ของตนเพียงองค์เดียว อะพอลโลรู้เข้าก็ไม่พอใจ จึงสาปแช่งผู้คนด้วยโรคร้าย โดยให้ชื่อว่า "ซิฟิลิส" ทำให้ประชาชนไปจนกษัตริย์ติดโรคร้ายชนิดนี้กันทั้งอาณาจักร ภูติสาวผู้มีใจเมตตารายหนึ่งจึงไปบอกประชาชนว่า จงทำพิธีบูชายัญเพื่อขอขมาเทพอะพอลโล รวมถึงเทพีจูโน มเหสีแห่งมหาเทพจูปิเตอร์ และเทพีเทลลุส พระแม่ธรณี โดยให้ซิฟิลุสเป็นหนึ่งในเครื่องสังเวย เมื่อประชาชนเห็นดีเห็นงามตามนั้น วิกฤตของมวลมนุษย์ก็คลี่คลายเมื่อพระแม่ธรณีประทานต้น Guaiac มาให้เพื่อใช้รักษาโรคภัยชนิดนี้ (ต้นที่ว่าเป็นพืชท้องถิ่นในแถบแคริบเบียน ซึ่งถูกใช้เป็นยารักษาซิฟิลิสในยุคสมัยของฟราคาสโตโร - NCBI) ส่วน เพาล์ แอร์ลิช นั้น เป็นชาวเยอรมัน เกิดเมื่อ 14 มีนาคม 1854 ในซิเลเซีย สมัยที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปรัสเซีย (ปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศโปแลนด์) ครอบครัวของเขามีรากเหง้าเป็นชาวยิวฐานะดี แอร์ลิชเริ่มสนใจศึกษาด้านเคมีมาตั้งแต่เด็ก ๆ ก่อนไปเรียนแพทย์ในหลายมหาวิทยาลัย และจบปริญญาด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยไลป์ซิกในปี 1878 (Britannica) แอร์ลิชสนใจศึกษาด้านเคมีเรื่อยมา เบื้องต้นเขาได้พัฒนาเทคนิคการย้อมสีเนื้อเยื่อ หรือแบคทีเรีย เพื่อให้สามารถมองเห็นได้ในกล้องจุลทรรศน์ ก่อนหันมาสนใจศึกษาด้านระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อย้ายมาอยู่สถาบันวิจัยด้านโรคติดต่อในปี 1890 ที่ตั้งขึ้นมาหมาด ๆ โดย โรเบิร์ต คอค (Robert Coch) แพทย์ชื่อดังผู้นำด้านแบคทีเรียศึกษาของยุคนั้น ผลงานสำคัญของแอร์ลิชก็คือ การอธิบายทฤษฎีว่าด้วยภูมิคุ้มกัน ที่เรียกว่า Side-Chain Theory ซึ่งยุคนั้นความเข้าใจต่อเรื่องการทำงานของภูมิคุ้มกันยังอยู่ในชั้นแรกเริ่ม เขาอธิบายว่า ในแต่ละเซลล์ของร่างกายนั้นจะมีห่วงโซ่อยู่มากมาย ห่วงโซ่เหล่านี้จะทำการเชื่อมต่อกับโมเลกุลต่าง ๆ เพื่อซึมซับสารอาหารรวมถึงสารเคมีที่เป็นพิษ แต่หากห่วงโซ่ใดถูกสารพิษเชื่อมต่อ มันก็จะทำให้เซลล์ไม่สามารถซึมซับสารอาหารผ่านช่องทางนั้นได้อีก ร่างกายจึงต้องสร้างห่วงโซ่ออกมาเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้น จนห่วงโซเหล่านี้ไม่สามารถอยู่บนเซลล์นั้น ๆ ได้อีก แต่จะล่องลอยไปในกระแสเลือด และทำหน้าที่เป็น “ภูมิคุ้มกัน” ให้กับร่างกาย ซึ่งแม้จะเป็นทฤษฎีที่ผิดในหลายจุด แต่ก็เป็นส่วนที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยของเขาต่อเนื่องมา อย่างเช่นการทดลองฉีดสารพิษให้กับกระต่ายทีละน้อย ทีละน้อย จนทำให้กระต่ายสามารถเอาชีวิตรอดจากสารพิษปริมาณกว่า 5,000 เท่า จากปริมาณเบื้องต้นที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของมัน เขายังพัฒนาการสกัดเซรุ่ม (ภูมิต้านทานต่อชีวพิษหรือต่อเชื้อโรค) จากม้าเป็น ๆ และวิธีการอันนำไปสู่การกำหนดขนาดของเซรุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่แอร์ลิชก็พบข้อบกพร่องของเซรุ่มว่า ไม่อาจใช้กับโรคติดต่อชนิดอื่นที่ไม่ได้มาจากแบคทีเรีย ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการศึกษาวิจัยการบำบัดรักษาด้วยสารเคมี (chemotherapy) เขาเริ่มต้นด้วยการระบุชนิดและคุณลักษณะของสารประกอบต่าง ๆ ที่อาจมิได้พบตามธรรมชาติ แต่สามารถฆ่าปรสิตหรือยับยั้งการขยายพันธุ์ของมันได้โดยไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย ตอนแรกเลยเขาประสบความล้มเหลว เมื่อโปรโตซัวชนิดหนึ่งที่เขาต้องการควบคุมการเจริญเติบโตนั้นไม่ว่าจะใช้สารเคมีชนิดไหนก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งมีการประกาศพบแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของโรคซิฟิลิสเข้า แอร์ลิชเลยเปลี่ยนความสนใจ หันมาหาสารเคมีที่จะรักษาโรคร้ายชนิดนี้ที่กำลังระบาดอย่างหนักแทน ถึงตอนนี้ (ล่วงเข้าศตวรรษที่ 20) แอร์ลิชเป็นนักวิทยาศาสตร์แก่พรรษา และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เขารับตำแหน่งผู้อำนวยการประจำสถาบันวิจัยต่าง ๆ หลายแห่ง และมีผู้ช่วยที่มีความสามารถสูงรายล้อม รวมถึงนักวิทยาศาสตร์จากญี่ปุ่นที่ชื่อ ฮาตะ ซาฮาชิโร (Hata Sahachiro) ซึ่งสามารถทำให้เพาะเชื้อซิฟิลิสให้ติดในกระต่ายได้สำเร็จ เพื่อใช้ในการทดลอง และสารประกอบหมายเลข 606 ซึ่งมีส่วนประกอบของสารหนู ที่เคยใช้ทดลองเพื่อประโยชน์ประการอื่นแต่ล้มเหลว ก็ถูกนำมาทดลองใช้ และพบว่ามันเป็นสารที่ให้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อทดสอบเป็นที่แน่ใจในผลงานแล้ว แอร์ลิชก็ตั้งชื่อให้กับยาตัวนี้ว่า “Salvarsan” (1910) ก่อนที่จะพบสารประกอบจากสารหนูอีกตัวที่แม้จะมีประสิทธิภาพน้อยกว่า แต่ก็มีผลข้างเคียงต่ำกว่า สามารถละลายได้ง่ายและใช้งานง่ายกว่า ซึ่งเขามอบชื่อให้มันว่า “Neosalvarsan” (1911)  ยาของแอร์ลิชมีประสิทธิภาพในการรักษาซิฟิลิสได้อย่างน่าทึ่ง แลด้วยสมัยนั้นการระบาดของซิฟิลิสเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ยาของเขาจึงได้ชื่อว่าเป็นยาที่มียอดขายสูงที่สุดเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก ก่อนที่การรักษาซิฟิลิสจะถูกแทนที่ด้วยยาเพนิซิลลินที่มีประสิทธิภาพดียิ่งกว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ความรู้ที่เขาได้ค้นพบ ทำให้แอร์ลิชได้รับรางวัลมากมาย รวมถึงรางวัล Nobel สาขาการแพทย์ ประจำปี 1908 ที่เขาได้รับร่วมกับ อิลยา เมกนิคอฟ (Ilya Mechnikov) นักสัตววิทยาชาวรัสเซีย เพื่อเป็นเกียรติให้กับทั้งคู่ในฐานะผู้มีส่วนอย่างมากในการสร้างความเข้าใจต่อระบบภูมิคุ้มกัน  ในบั้นปลาย แอร์ลิชประสบกับอาการเส้นเลือดในสมองอุดตันครั้งแรกในปี 1914 ปีเดียวกับที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ร่างกายของเขาอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว ทั้งที่เคยสุขภาพดีมาโดยตลอด ยกเว้นตอนหนุ่ม ๆ (1889) ที่ไปติดเชื้อวัณโรคเข้าจนต้องพักรักษาตัวในอียิปต์เป็นเวลาถึง 2 ปี และเมื่ออาการเส้นเลือดในสมองอุดตันกลับมาเล่นงานเขาอีกครั้ง เขาก็จากโลกนี้ไปในวันที่ 20 สิงหาคม 1915