พาเวล ดูรอฟ เจ้าพ่อ VK และ Telegram ฉายา "มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก" แห่งรัสเซีย

พาเวล ดูรอฟ เจ้าพ่อ VK และ Telegram ฉายา "มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก" แห่งรัสเซีย

พาเวล ดูรอฟ เจ้าพ่อ VK และ Telegram ฉายา "มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก" แห่งรัสเซีย

อาจไม่ได้เป็นเจ้าพ่อวงการสื่อโซเชียลที่มีชื่อเสียงดังก้องโลกแบบเอ่ยชื่อไปใครๆ ก็รู้จัก แต่ พาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov) นักธุรกิจหนุ่มชาวรัสเซียวัย 34 ปี ซึ่งติดอันดับที่ 1,394 ในลิสต์มหาเศรษฐีโลก ปี 2018 จัดโดยนิตยสาร Forbes ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน ปี 2018 ที่ 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท ก็สร้างชื่อจากการมีส่วนก่อตั้ง VKontakte หรือ VK โซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซีย (แถมยังเป็นศัตรูกับรัฐบาลรัสเซียอีกต่างหาก) ไม่เพียงเท่านั้น พาเวลยังไต่ระดับความสำเร็จสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วย Telegram แอพพลิเคชันสนทนาแบบเข้ารหัสที่พาเวลเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ทุกวันนี้ Telegram มีผู้ใช้งานจริงกว่า 200 ล้านรายในแต่ละเดือน และยังระดมทุนได้ถึง 1.7 พันล้านเหรียญ ในโปรเจกต์ต่อเนื่อง!   ปลุกปั้น VK พาเวลเกิดในปี 1984 ที่เลนินกราด (ชื่อเดิมของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) ในครอบครัวที่พ่อคือ วาเลอรี เซมีโนวิช ดูรอฟ เป็นนักวิชาการที่จบปริญญาเอก มีผลงานวิจัยหลายชิ้น พาเวลใช้ชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่ที่ตูริน ประเทศอิตาลี เพราะพ่อของเขาทำงานที่นั่น ต่อมาในปี 1992 วาเลอรีก็ได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนก Classical Philology ในคณะอักษรศาสตร์ ที่ Saint Petersburg State University ประเทศรัสเซีย พาเวลฉายแววด้านเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็ก เขาสนิทกับพี่ชายคือ นิโคไล ดูรอฟ (Nikolai Durov) ที่รู้วิธีการเขียนโค้ด ส่วนตัวพาเวลก็ชอบการเขียนโค้ดด้วยเช่นกัน และใช้ทักษะดังกล่าวเปลี่ยนข้อความหน้าจอบนเครือข่ายของโรงเรียนเพื่อสบประมาทครูที่พาเวลไม่ชอบหน้า หลังพาเวลจบปริญญาตรีด้วยความสามารถระดับเกียรตินิยมอันดับ 1 จาก Saint Petersburg State University พาเวลและพี่ชายก็เริ่มต้นทำ VKontakte หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า VK ในปี 2006 เป็นสื่อสังคมออนไลน์ภาษารัสเซียที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับเฟซบุ๊ก และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจนมีผู้ใช้งานกว่า 350 ล้านราย VK สร้างรายได้ให้สองพี่น้องเป็นจำนวนมาก มีรายงานว่าพาเวลมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิราว 260 ล้านเหรียญเลยทีเดียว กระแสความฮอตฮิตของ VK ทำให้สื่อดังทั้งหลายไม่ว่าจะในประเทศหรือระดับโลก อย่าง Forbes หรือ Fortune ต่างเรียกพาเวลว่า "มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก" แห่งรัสเซีย สาเหตุก็เพราะ (1) ทั้งคู่เกิดปีเดียวกันคือ ค.ศ.1984 (2) มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งสื่อสังคมออนไลน์ของตัวเองในเวลาห่างกันไม่กี่ปี ซักเคอร์เบิร์กร่วมก่อตั้ง Facebook ในปี 2004 ขณะอายุ 20 ปี และได้รับความนิยมไปทั่วโลก ส่วนพาเวลร่วมก่อตั้ง VK ในปี 2006 ตอนที่เขามีอายุได้ 22 ปี ซึ่งต่อมา VK ก็กลายเป็นโซเชียลมีเดียที่ใหญ่สุดของรัสเซีย (3) แถมโลโก้ของทั้ง 2 สื่อสังคมออนไลน์ก็ยังออกไปในโทนสีฟ้าเหมือนกันอีก (4) ส่วนเรื่องการแต่งตัวก็มีเอกลักษณ์กันทั้งคู่ ซักเคอร์เบิร์กชอบใส่เสื้อยืดและเสื้อมีฮู้ด ส่วนพาเวลชอบปรากฏตัวในเครื่องแต่งกายสีดำ   เกี่ยวพันการเมือง ดูเผินๆ VK เหมือนจะไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องการเมือง จนกระทั่งกลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลใช้ VK เป็นพื้นที่ในการรวมพลังจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุน อเล็กซี นาวัลนี นักเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ วลาดีมีร์ ปูติน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น รัฐบาลจึงต้องการเข้ามาควบคุม VK แต่ปฏิกริยาของพาเวลในปี 2011 คือการโพสต์รูปสุนัขแลบลิ้น เป็นทำนองว่าเขาไม่แคร์และจะไม่ทำตามที่รัฐบาลต้องการเป็นอันขาด เหตุการณ์หลังจากนั้นแทบจะเป็นจุดหักเหในชีวิตของพาเวลเลยก็ว่าได้ พาเวลอ้างว่าคืนที่เขาโพสต์รูปสุนัขแลบลิ้น มีกลุ่มชายพกอาวุธและใส่ชุดลายพรางมาหาเขาที่อพาร์ตเมนต์ จากนั้นในปี 2012 เขาก็โพสต์รูปตัวเองชูนิ้วกลางลงบนอินสตาแกรม เป็นเสมือนการตอบโต้กลุ่มนักลงทุน โดยเฉพาะ Mail.ru ซึ่งเป็นบริษัทที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลรัสเซีย ที่ต้องการซื้อกิจการ VK สถานการณ์แย่ลงเมื่อต่อมาพาเวลถูกกล่าวหาว่าขับรถเมอร์เซเดส เบนซ์ สีขาว ชนตำรวจในมอสโก แต่เขาก็ปฏิเสธและอ้างว่าเขาขับรถไม่เป็นด้วยซ้ำ รวมทั้งปฏิเสธที่จะไปสถานีตำรวจเพื่อให้ปากคำ ส่วนธุรกิจก็เริ่มส่อเค้ามีปัญหายิ่งขึ้น เมื่อพาเวลถูกบีบให้ขายหุ้นใน VK ให้กับ Mail.ru จนท้ายสุดฝ่ายหลังก็กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ตามด้วยการไล่ซื้อหุ้นทั้งหมด ทำให้ Mail.ru เป็นเจ้าของ VK แต่เพียงรายเดียว สองพี่น้องดูรอฟคาดการณ์สถานการณ์เลวร้ายไว้แล้วว่าต้องเกิดขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง จึงเตรียมแผนล่วงหน้าไว้รองรับ ทั้งสองตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดไว้เบื้องหลัง และมุ่งหน้าสู่สหรัฐอเมริกาเพื่อเริ่มโปรเจกต์ใหม่ ซึ่ง The Moscow Times หนังสือพิมพ์ในรัสเซียรายงานว่า เมื่อมีคนถามพาเวลว่าโปรเจกต์ใหม่ของเขาคืออะไร พาเวลก็ส่งไฟล์ GIF จากภาพยนตร์เรื่อง "The Social Network" เป็นรูป ฌอน ปาร์กเกอร์ (Sean Parker) ประธานของเฟซบุ๊ก (รับบทโดย จัสติน ทิมเบอร์เลก) ชูนิ้วกลางให้นักลงทุน เป็นคำตอบ   เสริมความแกร่ง Telegram Telegram คือโปรเจกต์ที่สองพี่น้องดูรอฟอุบเงียบ พวกเขาเปิดตัว Telegram สำหรับ iOS เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2013 ตามด้วยเวอร์ชั่น Android ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน นิโคไลรับหน้าที่ดูแลด้านเทคโนโลยี ส่วนพาเวลเป็นฝ่ายสนับสนุนทุนและแนวคิดของ Telegram ที่เป็นแอพฯ สนทนา รับส่งข้อความ รูป และไฟล์ต่างๆ แบบเข้ารหัส เน้นความรวดเร็วและความปลอดภัยในการใช้งาน ใช้ระบบคลาวด์ในการเก็บข้อมูล ทั้งหมดทำให้ยากต่อการที่รัฐบาลใดๆ จะมาเจาะฐานข้อมูลเพื่อล้วงความลับ และเป็นเหมือนการตอบโต้ที่รัฐบาลรัสเซียพยายามเข้าไปก้าวก่าย VK และจากสหรัฐอเมริกา ทีมผู้ก่อตั้งและพนักงาน Telegram ก็ย้ายไปตั้งฐานที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จนถึงปัจจุบัน การออกแบบแอพฯ ให้ใช้งานง่าย เช่น ใช้ได้หลายแพลตฟอร์มทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ฯลฯ รวมถึงจุดเด่นเรื่องความปลอดภัย ทำให้ Telegram ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งมีผู้ใช้งานจริงกว่า 200 ล้านรายในแต่ละเดือน ถึงอย่างนั้น ก็มีบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคนออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับ Telegram เช่น เทเรซา เมย์ (Theresa May) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่กล่าวในงาน World Economic Forum เมื่อต้นปี 2018 ว่า “แพลตฟอร์มเล็กๆ อาจกลายเป็นบ้านของอาชญากรรมและผู้ก่อการร้ายได้อย่างรวดเร็ว” แล้วกล่าวเพิ่มว่า “เราเห็นสิ่งนั้นเกิดขึ้นกับ Telegram และเราต้องการเห็นความร่วมมือจากแพลตฟอร์มเล็กๆ เช่นนี้มากขึ้น ไม่มีใครต้องการเป็นที่รู้จักในฐานะแพลตฟอร์มของ ‘ผู้ก่อการร้าย’ หรือเป็นแอพฯ ที่เป็นตัวเลือกแรกของพวกชอบร่วมเพศกับเด็ก” อย่างไรก็ดี Telegram ไม่ได้ต้องการเป็นแอพฯ สนทนา รับส่งข้อความ ฯลฯ เพียงเท่านั้น แต่วิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ของ Telegram ก็คือการสร้าง TON (Telegram Open Network) ที่วางอยู่บนระบบการจัดการข้อมูล “บล็อกเชน” ซึ่งจะช่วยให้ขยายบริการที่มีอยู่ในตอนนี้ ไปสู่บริการอื่นๆ เช่น ระบบจ่ายเงิน ที่จะไปแข่งกับ Visa หรือ Mastercard รวมถึงคลังจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น ซึ่งทีมพัฒนาวางไว้ให้ TON สามารถรองรับธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นได้นับล้านธุรกรรมต่อ 1 วินาที Telegram จึงวางแผนออกสกุลเงินดิจิทัล ชื่อ “GRAM” เพื่อออก ICO (การเสนอขายเหรียญในระยะเริ่มต้น) ซึ่งช่วงแรก Telegram ต้องการระดมทุน 1.2 พันล้านเหรียญ แต่ปรากฏว่าในช่วงแรกที่เสนอขายรอบพรีเซล Telegram สามารถระดมทุนไปได้ถึง 1.7 พันล้านเหรียญ ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอต่อการนำมาพัฒนา TON ทำให้ Telegram ยกเลิกการเสนอขายเหรียญต่อสาธารณะไปเมื่อราว 6-7 เดือนก่อน และส่วนหนึ่งก็เนื่องจากเพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากเรื่องกฎระเบียบในการออก ICO ถึงจะได้ฉายา “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ที่นัยหนึ่งคือความเก่งฉกาจในการสร้างธุรกิจระดับโลก แต่ก็คงไม่มีใครอยากอยู่ใต้เงาใครไปตลอด และพาเวลก็กำลังพิสูจน์ให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า... เขานี่แหละคือ “พาเวล ดูรอฟ” ไม่ใช่ "มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก"!   ที่มา https://www.forbes.com/profile/pavel-durov/#b6200fb14c57 http://fortune.com/40-under-40/pavel-durov-25/ http://uk.businessinsider.com/the-incredible-life-of-pavel-durov-the-entrepreneur-known-as-the-mark-zuckerberg-of-russia-2016-3 https://techcrunch.com/2018/05/03/telegrams-billion-dollar-ico-has-become-a-mess/ https://decenter.org/en/what-we-know-about-telegram-ico-and-cryptocurrency-gram http://forbesthailand.com/world/europe/mark-zuckerberg-%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2.html https://www.bitcoinmarketjournal.com/biggest-icos/ https://telegram.org/faq#q-what-is-telegram-what-do-i-do-here https://www.ccn.com/telegram-cancels-public-ico-after-raising-1-7-billion-in-presale/