เพทาย โชตินุชิต: ส.ส.ผู้กรีดเลือดเพื่อประชาธิปไตย

เพทาย โชตินุชิต: ส.ส.ผู้กรีดเลือดเพื่อประชาธิปไตย
ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยในอดีต เคยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรีกรีดเลือดประท้วงนายกรัฐมนตรีมาแล้ว นั่นคือ นายเพทาย โชตินุชิต ผู้กรีดเลือดเพื่อประชาธิปไตยของไทย ผ่านการเรียกร้องให้ยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทแต่งตั้ง ซึ่งเขาเห็นว่าไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. 2498 ธรรมศาสตร์บัณฑิต - ส.ส.ธนบุรี นายเพทาย โชตินุชิต เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี 2 สมัย ครั้งแรก 5 มิถุนายน 2492 – 29 พฤศจิกายน 2494 และครั้งหลัง 26 กุมภาพันธ์ 2495 – 25 กุมภาพันธ์ 2500 เขาสำเร็จการศึกษาเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยมีชื่อปรากฏในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ว่า เป็นศิษย์เก่าที่ได้ตั้งกระทู้ถามด่วนรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เรื่อง สถานที่ศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2494 เพื่อขอคืนพื้นที่ของธรรมศาสตร์ หลังจากถูกทหารยึดครองไว้ตั้งแต่เหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ในวันที่ 29 มิถุนายน ศกนั้น โดยในวันที่ 11 ตุลาคม นั้นเอง นักศึกษาธรรมศาสตร์กว่า 3,000 คน ได้เดินขบวนมาให้กำลังใจการตั้งกระทู้ของนายเพทาย บริเวณหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนด้วย ภายใต้คำขวัญที่ว่า “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” พลโท สวัสดิ์ สวัสดิรณชัย สวัสดิเกียรติ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเหตุผลที่ทหารต้องยึดธรรมศาสตร์ไว้หลายประการ โดยประการหนึ่ง คือ ขอไว้เป็นที่พักให้ทหารอย่างสมเกียรติ นายเพทายจึงแย้งว่า นอกจากทหารในคราวปราบกบฏแมนฮัตตันนั้นแล้ว ทางราชการยังจัดให้ทหารกองผสมที่ไปรบในสงครามเกาหลีมาพักในมหาวิทยาลัยด้วย และถ้าจะถือว่าเป็นสถานที่สมเกียรติเหมาะสมกับทหารหาญเหล่านี้ ก็ยังมีที่อื่น ๆ อีก ดังนี้ “ถ้าไม่มีความจำเป็นถึงขั้นนั้นแล้ว ท่านก็ควรจะคืนให้เขาได้แล้วไม่ใช่หรือ แล้วหาสถานที่อย่างที่ข้าพเจ้าว่า ที่ท่านบอกว่าทหารเกาหลีไปทำงานเพื่อชาติ ควรจะมีหน้ามีตามีเกียรติมีกำลังน้ำใจ แต่ทำไมจะต้องมีกำลังน้ำใจเฉพาะมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ ทำไมท่านไม่ยึดเอา จะเอาเกียรติยศสูงส่งขนาดไหนก็ได้ นับตั้งแต่วังหลวง สภาผู้แทน วังสวนกุหลาบ และที่อื่น ๆ ซึ่งเขาทำงานเพื่อชาติ จะให้มีเกียรติและความเหมาะสมแค่ไหนก็ได้ ทำไมเฉพาะจะมีความจำเป็นในมหาวิทยาลัยแห่งนี้เท่านั้นที่จะเทิดทูนเกียรติทหารของชาติ ข้าพเจ้าถามถึงความจำเป็นว่า ในข้อนี้มีความจำเป็นถึงขนาดที่จะทำให้ลูกหลานอนุชนเหล่านี้ต้องเดือดร้อนโดยไม่มีสถานศึกษา” ต่อมาในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2494 นักศึกษาและศิษย์เก่าของธรรมศาสตร์จึงได้เดินขบวนเข้ายึดคืนพื้นที่จากทหารได้เป็นผลสำเร็จ ดังที่เรียกวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ว่า “วันธรรมศาสตร์สามัคคี” ส.ส. กรีดเลือด หลังการรัฐประหารตนเองของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 จึงถูกยกเลิกไป รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้รัฐสภาของไทยเป็นแบบสองสภา คือ มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง และสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง จากนั้น รัฐบาลจอมพล ป. ได้นำรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 มาแก้ไขเพิ่มเติมแล้วประกาศใช้ในปี 2495 ซึ่งได้ยกเลิกการมีสองสภากลับไปเป็นสภาเดียว คือ มีสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว แต่มีสมาชิก 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด และประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลเป็นผู้เสนอ จุดนี้เองเป็นประเด็นที่ ส.ส.เพทาย ผู้แทนราษฎรจากจังหวัดธนบุรี ไม่เห็นด้วย ไฮด์ปาร์ค ในปี 2498 หลังจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม เดินทางรอบโลก ก็กลับมารณรงค์ประชาธิปไตยในประเทศ มีการให้สิทธิเสรีภาพต่าง ๆ มากขึ้น เช่น นายกรัฐมนตรีมี press conference พบปะนักข่าว นายกฯ ปรากฏตัวท่ามกลางมหาชน และอนุญาตให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองได้อีกครั้งในเดือนกันยายน 2498 หลังจากห้ามมาถึง 3 ปี และสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ คือ การไฮด์ปาร์ค อันเป็นการปราศรัยในพื้นที่สาธารณะ เหมือนอย่างที่ในประเทศอังกฤษมีการกระทำเช่นนี้ที่สวนสาธารณะมีชื่อเช่นว่านั้น ซึ่งนับเป็นการสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยในสังคมไทย ผู้หนึ่งที่ลุกขึ้นมาไฮด์ปาร์คที่สนามหลวง คือ ส.ส.เพทาย โชตินุชิต ที่เรียกร้องให้ยกเลิก ส.ส. ประเภทที่ 2 เนื่องจากสมาชิกจำนวนครึ่งหนึ่งในสภามาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาล จึงวิจารณ์ว่าเป็นอุปสรรคต่อการปรับปรุงประเทศไปสู่ประชาธิปไตย และ ส.ส.เพทาย ได้กรีดเลือดประท้วง เพื่อให้มีการยกเลิก ส.ส. ประเภทที่ 2 นี้ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2498 ต่อมากลุ่มไฮด์ปาร์คได้เดินขบวนไปวางหรีดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้ยุบคณะรัฐประหาร กับยกเลิก ส.ส. ประเภทที่ 2 ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2498  และในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม ปีนั้น ประชาชนนับหมื่นคนได้เดินขบวนอีกครั้งเพื่อเสนอ 3 ข้อเรียกร้อง คือ ยกเลิกบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ ยกเลิก ส.ส. ประเภทที่ 2 และคัดค้านกฎหมายประกันสังคม แต่รัฐบาลก็มิได้สนใจ กลับใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค เมื่อมีกฎหมายอนุญาตให้มีพรรคการเมืองแล้ว นายเพทาย โชตินุชิต ได้จดทะเบียนพรรคของตนเองขึ้นในชื่อ “ขบวนการไฮด์ปาร์ค” เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2499 โดยตนเองเป็นหัวหน้าพรรค และประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง 4 ประการ คือ (1) ดำเนินกิจการทางการเมืองเพื่อเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์  (2) ต้องเป็นรัฐบาลของประชาชน  (3) ประชาชนเป็นใหญ่  และ (4) รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย แต่ในการเลือกตั้งที่มีขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 พรรคขบวนการไฮด์ปาร์คได้รับเลือกเพียง 2 ที่นั่ง และนายเพทายไม่ได้รับเลือกตั้ง เขาจึงได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และหลังจากนั้น เขาก็มิได้กลับมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก   บรรณานุกรม เรื่อง: กษิดิศ อนันทนาธร ภาพ: สมุดภาพสมาชิกรัฐสภา 2475-2502