เพียร์ อีนีโวลด์เซ่น: ช่างทองเดนมาร์ก ผู้สร้าง ‘Pandora’ จากอัญมณีไทย

เพียร์ อีนีโวลด์เซ่น: ช่างทองเดนมาร์ก ผู้สร้าง ‘Pandora’ จากอัญมณีไทย
เคยสังเกตกันไหมว่าแบรนด์เครื่องประดับขวัญใจสาว ๆ อย่าง Pandora ทุกชิ้นล้วน Made in Thailand ด้วยกันทั้งสิ้น นั่นไม่ใช่เพราะเจ้าของเป็นคนไทย แต่เพราะเขาได้แรงบันดาลใจมาจากการมาเที่ยวในประเทศไทยต่างหาก เขาคนนั้นคือ เพียร์ อีนีโวลด์เซ่น (Per Enevoldsen) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Pandora ร่วมกับอดีตภรรยา วินนี่ อีนีโวลด์เซ่น (Winnie Enevoldsen) ด้วยหลงใหลและได้แรงบันดาลใจจากอัญมณีในประเทศไทย จนกลายเป็นบริษัทเครื่องประดับชั้นนำระดับโลกที่มียอดขายกว่า 100 ประเทศ เพียร์ อีนีโวลด์เซ่น: ช่างทองเดนมาร์ก ผู้สร้าง ‘Pandora’ จากอัญมณีไทย เที่ยวไทยจนได้แบรนด์ เพียร์ อีนีโวลด์เซ่น เดิมเป็นช่างทองชาวเดนมาร์ก ที่เกิดในครอบครัวของช่างทำเครื่องประดับอย่างแท้จริง พ่อของเขา อัลกอธ อีนีโวลด์เซ่น (Algot Enevoldsen) ทำอาชีพเป็นช่างทำอัญมณีในปี 1950 และต่อมาเมื่อเพียร์ตัดสินใจสร้างแบรนด์ Pandora ขึ้นมา ก็ได้สลักชื่อย่อ ALE ของพ่อของเขาลงในส่วนของเครื่องประดับทุกชิ้นด้วย  แต่ถ้าถามว่า แล้วจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนอาชีพจากการเป็นช่างทอง ให้กลายมาเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องประดับอย่างเต็มตัวเป็นของตัวเองคือตอนไหน ก็คงต้องย้อนกลับไปในปี 1979 ที่เพียร์ตัดสินใจเปิดร้านอัญมณีเล็ก ๆ เป็นของตัวเองขึ้นในเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก จากการมองหาช่องว่างในตลาดเครื่องประดับเงินแท้และทอง 14 กะรัตที่ไม่ได้มีราคาสูงมาก และคิดว่าคนทั่วไปสามารถจับต้องได้ ในช่วงนั้นทั้งคู่ได้เดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย และพบเข้ากับแหล่งอัญมณีที่สวยงามและช่างฝีมือมากความสามารถ ทั้งคู่จึงตัดสินใจนำเข้าเครื่องประดับและอัญมณีจำนวนมากจากประเทศไทยกลับไปยังเดนมาร์ก เพื่อวางขายในร้านของพวกเขาในชื่อ Pandora Pandora เป็นชื่อที่สามารถออกเสียงได้ง่าย และที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชื่อของแพนดอร่า สตรีคนแรกบนโลกมนุษย์ในตำนานกรีก ที่เปิดกล่องแพนดอร่าและนำพาความโชคร้ายมาสู่โลกมนุษย์  แต่สำหรับแบรนด์ Pandora สิ่งที่เปิดออกมาไม่ใช่ความโชคร้าย แต่เป็นความงามที่เป็นเอกลักษณ์ต้องตาต้องใจ จนทำให้หลายคนเลือกซื้อเป็นของขวัญในวันพิเศษให้กับคนสำคัญ หลังจากที่เปิดร้านได้ไม่นาน ธุรกิจนำเข้าของเขาก็ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก จนเพียร์เพิ่มการขายส่งอัญมณีและเครื่องประดับเข้ามา จากที่เดิมวางขายเพียงหน้าร้าน  จนกระทั่งในปี 1987 หลังจากที่ทั้งคู่ประสบความสำเร็จในการขายส่งอัญมณี ในที่สุดพวกเขาก็ตัดสินใจยุติการค้าส่งลง และย้ายไปยังโรงงานที่ใหญ่ขึ้นเพื่อสร้างและออกแบบอัญมณีเป็นของตัวเอง หลังจากที่นำเข้ามาโดยตลอด โดยการรับสมัครนักออกแบบเพิ่ม 2 คน เพื่อมาช่วยเสริมให้ Pandora มีเอกลักษณ์มากขึ้น   ย้ายโรงงานมาไทย กลายเป็น Made in Thailand ถึงแม้ว่าเพียร์จะเริ่มออกแบบเครื่องประดับด้วยตัวเองแทนการนำเข้า แต่อย่างไรก็ตาม อัญมณีเกือบทั้งหมดของแบรนด์ก็ยังคงมาจากการนำเข้าจากประเทศไทยอยู่ดี ทำให้ในระหว่างนั้นเพียร์ยังต้องไป ๆ มา ๆ ระหว่างไทยและเดนมาร์กอยู่เสมอ และดูเหมือนว่าจะมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากความนิยมของแบรนด์เพิ่มขึ้น ในเมื่อเราใช้อัญมณีของไทย ทำไมเราไม่ผลิตในไทยไปเลยล่ะ? ในปี 1989 เพียร์จึงตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากเดนมาร์กมายังประเทศไทย ด้วยการเปิดเป็นโรงงานเล็ก ๆ ที่มีเพียงพนักงาน 10 คน และเชิญนักออกแบบ 2 คนมาร่วมงานกับพวกเขา เพื่อช่วยฝึกอบรมช่างฝีมือในท้องถิ่น ถึงแม้ในช่วงแรก Pandora จะประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังไม่สามารถหาเอกลักษณ์ประจำตัวได้ เป็นเพียงการออกแบบเครื่องประดับทั่วไปเท่านั้น จนกระทั่งในปี 2000 หลังจากความพยายามของเพียร์และนักออกแบบภายในแบรนด์ Pandora ก็ได้ออกวางขายกำไลในรูปแบบของชาร์ม (Charm) และขึ้นแท่นเป็นแบรนด์เครื่องประดับชั้นแนวหน้าของโลกได้ในที่สุด เพียร์ อีนีโวลด์เซ่น: ช่างทองเดนมาร์ก ผู้สร้าง ‘Pandora’ จากอัญมณีไทย กล้าแตกต่าง สร้างความพิเศษ สิ่งที่ทำให้ตัว Pandora ประสบความสำเร็จและแตกต่างจากแบรนด์เครื่องประดับอื่น ๆ ในตลาดคือ ความกล้าที่จะแตกต่าง เพราะในขณะนั้นส่วนใหญ่เครื่องประดับมักจะมาในรูปแบบของเส้นเดี่ยว ๆ ที่มีลวดลายตกแต่งต่างกันออกไป แต่ Pandora เลือกที่จะใช้ตัวกำไลที่เรียบง่าย ไม่มีลวดลายที่สะดุดตา แต่เพิ่มลูกเล่นให้กับสินค้าด้วยชาร์มที่ใส่ในกำไลแทน ชาร์ม หรือถ้าเรียกง่าย ๆ ก็คือจี้ประดับที่ทำจากอัญมณี เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวแบรนด์มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคสามารถเลือกชาร์มที่ชื่นชอบในการประกอบให้กลายเป็นกำไลที่มีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเองได้  จะเรียกว่าเป็นกำไลแบบ Custom ก็คงไม่ผิดนัก ทำให้หลังจากเปิดตัวกำไลชาร์มออกไป ก็เรียกได้ว่าเป็นการประสบความสำเร็จอย่างมากของบริษัท เพราะมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุกปีนับจากนั้นเป็นต้นมา จนกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์เครื่องประดับค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก และวางจำหน่ายในกว่า 100 ประเทศ ใน 6 ทวีป ผ่านจุดขายมากกว่า 6,700 จุด รวมถึงร้านประมาณ 2,700 ร้าน มีสำนักงานใหญ่ในเดนมาร์ก และยังมีโรงงานผลิตถึง 2 แห่งในประเทศไทย นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ Pandora ยังคง Made in Thailand และสร้างความพิเศษให้กับผู้หญิงทั่วทุกมุมโลกในทุกเทศกาลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา   ภาพ: https://us.pandora.net/ และ https://www.instagram.com/theofficialpandora/?hl=en อ้างอิง: https://moneyinc.com/pandora-logo/ https://charmsguide.net/the-pandora-jewelry-story/ https://www.companieshistory.com/pandora/ https://pandoragroup.com/about/pandora-in-brief/the-pandora-story https://pandoragroup.com/careers/pandora-in-your-region/thailand-pandora-production