Personification การใส่ความเป็นคนให้กับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์

Personification การใส่ความเป็นคนให้กับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์
คุณเคยคุยกับต้นไม้ ท้องฟ้า ตุ๊กตา หรือหุ่นยนต์ของเล่นบ้างมั้ย? มันเป็นการสื่อสารทางเดียวที่คุณก็รู้ว่า มันไม่สามารถตอบกลับได้ เพราะมันไม่สามารถเข้าใจ หรือมีประสาทสัมผัสที่จะรับรู้หรือโต้ตอบด้วยซ้ำ การทำแบบนี้เป็นการใส่ “ความเป็นคน” ให้กับสิ่งของ หรือแม้กระทั่งสัตว์ ทั้งที่มันไม่มีคุณลักษณะเช่นนั้น หรือเรียกกันว่า personification ในภาษาอังกฤษ (หรือ บุคลาธิษฐาน ในภาษาไทย) (ยังมีปรากฏการณ์คล้าย ๆ กันที่เรียกกันว่า pareidolia หรือ การมองเห็นสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เช่น เห็นท้องฟ้าเป็นรูปร่างต่าง ๆ ที่คุ้นเคย โดยเฉพาะ “ใบหน้า” เหมือนคนเห็นกระต่ายบนดวงจันทร์ หรือหน้าคนบนดาวอังคาร เป็นต้น) การใส่ความเป็นคนให้กับสัตว์ สิ่งของ แม้กระทั่งความคิด หรือรูปแบบที่เป็นนามธรรมโดยเสแสร้งว่ามันเป็นเหมือนคนฟังดูเป็นเรื่องแปลก แต่ก็ดูเหมือนจะเป็น "ธรรมชาติของมนุษย์" โดยเฉพาะกับอะไรบางอย่างที่คนคนนั้นมีความผูกพันเป็นพิเศษ เช่น ของเล่นของเด็กเล็ก หรือสัตว์เลี้ยง  (ทั้งนี้ การเรียกสิ่งของบางอย่างโดยใช้สรรพนามอย่างคน เช่น เรือ ที่ในภาษาอังกฤษมักใช้สรรพนามเรียกอย่างผู้หญิงนั้น ไม่ถือว่าเป็น personification แท้ ๆ แต่เป็น pseudo-personification - Morton W. Bloomfield, A Grammatical Approach to Personification Allegory) วิธีการนี้ยังเป็นหนึ่งในกลวิธีเล่าเรื่องที่มนุษย์ใช้มายาวนาน ตั้งแต่การสร้าง พระเจ้า เทพ เทวดา ขึ้นมาจากสิ่งที่มองไม่เห็นให้มีภาพเป็นมนุษย์ หรืองานของ โฮเมอร์ นักประพันธ์กรีกโบราณ มาจนถึงนักประพันธ์ยุคใหม่ (เช่นในการ์ตูนของวอลต์ ดิสนีย์) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ในการจินตนาการ  แต่นั่นก็ไม่ใช่ความเห็นที่เป็นเอกฉันท์เช่น จอห์น รัสกิน (John Ruskin) นักวิจารณ์บทประพันธ์ในยุควิกตอเรีย ที่เรียกการใส่ความเป็นคนให้กับสัตว์และสิ่งของว่าเป็นความวิบัติทางอารมณ์ (pathetic fallacy) รัสกินยกตัวอย่างเนื้อหาท่อนหนึ่งในงานของ ชาลส์ คิงส์ลีย์ เรื่อง Alton Locke ที่กล่าวว่า "พวกเขาพายเธอ (เรือ) ฝ่าเกลียวฟองคลื่น ฟองคลื่นอันโหดร้ายที่ค่อย ๆ คืบคลาน" รัสกินให้ความเห็นว่า "ฟองคลื่นมันไม่โหดร้าย แล้วมันก็ไม่ได้คลานด้วย สภาวะทางจิตใจของมันซึ่งเป็นคุณลักษณะของสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมาจากความโศกเศร้าที่ทำให้เราละทิ้งเหตุผล ความรู้สึกที่รุนแรงต่าง ๆ ต่างก็ให้ผลที่คล้ายกัน มันสร้างภาพปลอม ๆ ของสิ่งภายนอก ซึ่งผมอยากจะจัดกลุ่มเข้าด้วยกันเรียกว่า 'ความวิบัติทางอารมณ์'" สำหรับรัสกิน การใส่อารมณ์ให้กับสิ่งของนั้น นักประพันธ์ชั้นยอดมักไม่ทำกัน มีแต่นักประพันธ์ชั้นสองเท่านั้นที่นิยม  "เมื่อดันเต้ (Dante Alighieri ยอดนักประพันธ์ชาวอิตาลี) บรรยายถึงดวงวิญญาณที่หล่นจากฝั่งแม่น้ำแอเคอรอน (Acheron แม่น้ำแห่งความตาย) ว่า 'ราวกับใบไม้แห้งปลิวสะบัดออกจากกิ่งไม้' เขาทำให้เห็นภาพที่สมบูรณ์ชัดเจนซึ่งความบอบบาง ไร้น้ำหนัก ไม่อาจขัดขืน และความสิ้นหวังที่แผ่กระจาย อย่างไรก็ดี เขามิได้สูญเสียมุมมองที่แจ่มชัดว่า สิ่งเหล่านี้คือดวงวิญญาณ และสิ่งเหล่านั้นคือใบไม้ เขามิได้สับสนเห็นสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง" รัสกินกล่าว  นอกจากนี้ personification ยังเป็นหนึ่งในหัวข้อวิจัยเกี่ยวกับผู้ป่วยออทิสติก ซึ่งนักวิจัยมองว่าเป็นภาวะที่ย้อนแย้งไม่น้อย เพราะผู้มีอาการออทิสติกมักจะมีปัญหาในการ “แสดงอารมณ์” ของตัวเอง และเข้าใจในอารมณ์ของผู้อื่น แต่พวกเขากลับแสดงความเห็นอกเห็นใจในสิ่งของได้ "กลุ่มอาการที่ถูกจัดกลุ่มจากปัญหาการระบุความรู้สึกของตัวเอง ด้วยภาวะที่ยากลำบากดังกล่าว การชี้ว่า การใส่ความเป็นคนให้กับวัตถุเป็นลักษณะหนึ่งของออทิซึมย่อมดูเหมือนกับความย้อนแย้ง ทำไมคนคนหนึ่งถึงได้มีความรู้สึกเห็นใจในสิ่งของ เมื่อตัวเขายังยากที่จะเข้าใจหรืออธิบายเป็นคำพูดถึงความรู้สึกของคนอื่น รวมถึงของตัวพวกเขาเอง"  สองนักวิจัยจาก Oxford และ University College London กล่าว (Object personification in autism: This paper will be very sad if you don’t read it) เพื่อสำรวจว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวปรากฏมากน้อยแค่ไหน นักวิจัยจึงได้ทำการทดสอบกับผู้ป่วยออทิสติกจำนวน 87 คน กับผู้ใหญ่ที่ไม่มีอาการออทิสติกอีก 263 คน ซึ่งพวกเขาพบว่า personification เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยออทิสติกมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอายุมากขึ้น ส่วนสาเหตุนั้นมีคำอธิบายว่า ผู้ป่วยออทิสติกใช้การ personification เพื่อลดการตัดขาดจากสังคม ลดความอ้างว้างโดดเดี่ยวของตัวเอง ผู้ป่วยออทิสติกยังไม่ชอบภาวะที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะสิ่งเร้าจากภายนอกที่พวกเขาไม่อาจคาดเดา การใส่ความเป็นมนุษย์ให้กับวัตถุจึงช่วยให้สิ่งเร้าจากภายนอกดูคาดเดาได้ สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น และลดความไม่แน่นอนที่พวกเขากังวลลงได้  และก็เป็นไปได้ว่ามันเป็นผลมาจาก synesthesia ภาวะไม่ปกติที่เกิดจากการควบรวมประสาทสัมผัสต่างชนิดเข้าด้วยกัน (เช่น กินอาหารแต่รับรู้ได้ถึงสีบางอย่าง) ซึ่งเป็นภาวะที่พบในผู้ป่วยออทิสติกมากกว่าคนทั่วไป  personification จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งของมนุษย์ในการแสดงออกซึ่งความรู้สึก ตั้งแต่เด็ก จนถึงผู้ใหญ่ ซึ่งบางครั้งเราเองก็อาจไม่ได้คิดมาก่อนว่า สิ่งนั้น ๆ เป็น personification เพราะมันไม่ได้จำกัดไว้เพียงแค่ การพูดคุย การวาดภาพ แต่มันยังปรากฏอยู่ในงานประพันธ์ การเล่าเรื่องลักษณะต่าง ๆ และการศึกษาเรื่องนี้ยังทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยออทิสติกมากขึ้นอีกด้วย