เพทาย พันธุ์มณี: นักออกแบบที่เปลี่ยนการอ่านป้ายในพิพิธภัณฑ์ให้เป็นประสบการณ์แสนสนุก

เพทาย พันธุ์มณี: นักออกแบบที่เปลี่ยนการอ่านป้ายในพิพิธภัณฑ์ให้เป็นประสบการณ์แสนสนุก
หากพูดถึงคำว่า พิพิธภัณฑ์ (Museum) ภาพจำของบางคนอาจเป็นการเดินชมภาพหรือวัตถุที่ตั้งไว้พร้อมคำบรรยายความเป็นมาข้างใต้ คงจะน่าเบื่อถนัดสำหรับคนที่ชอบความตื่นตาตื่นใจ เขาคนนี้จึงอยากสร้างความหมายใหม่ของคำว่าพิพิธภัณฑ์  The People ได้มีโอกาสคุยกับ ‘เพทาย พันธุ์มณี’ นักออกแบบพิพิธภัณฑ์ที่เคยฝากผลงานการออกแบบให้มิวเซียมสยาม เกี่ยวกับแรงบันดาลใจของการสร้างพิพิธภัณฑ์ให้น่าสนใจ การเล่าเรื่องที่แตกต่างออกไปจากสูตรสำเร็จในอดีต ซึ่งผู้ชมจะได้รับความรู้โดยไม่ต้องอ่านป้าย ตลอดจนความคาดหวังในการสร้างกิจกรรมใหม่ให้คนไทย   จุดเริ่มต้นของนักออกแบบพิพิธภัณฑ์ “ตอนเด็กที่เราไปทัศนศึกษากับโรงเรียน ก็ไปเห็นและอ่าน ซึ่งต้องยอมรับว่าเราก็ไม่ได้สนใจ 100% หรอก เพราะครูให้มาเราก็มา และในฐานะผู้เยี่ยมชมก็ไม่ได้รู้อะไรมากเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ แต่พออยู่ในสถานะคนทำ เรารู้สึกว่า ถ้าเราจะเปลี่ยนความคิดของเด็ก ๆ เหล่านั้น เราต้องทำให้เด็กไม่ได้รู้สึกว่าต้องมา แต่ต้องเปลี่ยนให้เป็นมาแล้วได้อะไร อันนี้มันเลยเป็นความสนใจจะทำด้านพิพิธภัณฑ์” สถานที่ยอดฮิตของการไปทัศนศึกษาในวัยเด็กรองจากสวนสัตว์ คงจะหนีไม่พ้นสถานที่ให้ความรู้อย่างพิพิธภัณฑ์ ซึ่งหากไม่ได้สนใจเป็นทุนเดิม เด็กก็อาจมีความรู้สึกเบื่อและไม่สนุก เพทายก็เป็นหนึ่งในเด็กกลุ่มนั้น ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการออกแบบพิพิธภัณฑ์จึงไม่ได้มาจากความสนใจในวัยเด็ก แต่มาจากการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เพทายได้เล่าย้อนไปถึงสมัยเรียนมหาวิทยาลัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรมภายใน เขาได้ทำโปรเจกต์ออกแบบอาคารสาธารณะ ขณะที่เพื่อน ๆ เลือกออกแบบตามความสนใจเฉพาะด้าน อย่างสนามบิน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ส่วนตัวเพทายเองเลือกออกแบบพิพิธภัณฑ์ นี่จึงเป็นครั้งแรกที่เขาได้สัมผัสการออกแบบพิพิธภัณฑ์อย่างจริงจัง เมื่อได้เริ่มออกแบบอย่างจริงจัง เพทายจึงเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การออกแบบพิพิธภัณฑ์นั้นแตกต่างจากการออกแบบอาคารสาธารณะอื่นอย่างสิ้นเชิง เพราะการจะออกแบบพิพิธภัณฑ์ให้ออกมาดีได้ ต้องเข้าใจเนื้อหาที่ต้องการสื่อสารเสียก่อน อย่างตัวเพทายได้มีโอกาสออกแบบพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เขาต้องหาข้อมูลว่าไดโนเสาร์มีกี่ประเภท พันธุ์ไหนมีขนาดใหญ่ที่สุด หรือพันธุ์ไหนสามารถบินได้ เพื่อสร้างอาคารที่รองรับการใช้งาน และที่สำคัญคือ คนในปัจจุบันไม่เคยเห็นไดโนเสาร์แน่นอน จึงต้องออกแบบให้คนรู้สึกเหมือนอยู่ในยุคไดโนเสาร์จริง ๆ และได้รับความรู้เต็มกระเป๋ากลับบ้าน   สร้างความหมายใหม่ของพิพิธภัณฑ์  “มันไม่ใช่แค่เดินดู ฉันชอบชิ้นนี้ก็อ่าน ไม่ชอบก็ไม่อ่าน แต่กลายเป็นว่าของทุกชิ้นมันถูกเล่าเป็นเค้าโครงเรื่อง (Storyline) แล้วก็สร้างเนื้อหา (Content) ให้เรารู้สึกเหมือนดูหนัง โอ้โห! เข้าไปในถ้ำเกือบ 2000 ปี ได้ยินเสียงคนกำลังเคาะอะไรบางอย่าง ปรากฏว่า อ้าว! แร่หินนี่ ได้ความรู้เรื่องหินอีกด้วย” เพทายมักจะใช้กระบวนการเล่าเรื่องแบบ Visitor Journey ให้ผู้เยี่ยมชมผจญภัยอยู่ในสถานที่หนึ่ง อย่างที่เขาออกแบบพิพิธภัณฑ์พระราม 9 เรื่องระบบนิเวศทั่วโลก ซึ่งมีเนื้อหาค่อนข้างเยอะ เพราะฤดูกาลของไทยและต่างประเทศนั้นแตกต่างกัน เพทายได้ยกตัวอย่างระบบนิเวศป่าไม้เขตอบอุ่น (Temperate Forest) ต้นไม้จะมีขนาดใหญ่มาก อย่างต้น Sequoia ในรัฐแคลิฟอร์เนียร์ มีขนาดประมาณ 200-300 เมตร ใช้คนโอบมากถึง 20-30 คน ในขณะที่ประเทศไทยมีต้นไม้ใหญ่คนโอบแค่ 8-12 คน  ดังนั้นโจทย์คือจะทำอย่างไรให้คนที่มาชมได้รับความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ขนาดนี้โดยไม่ต้องท่องจำ “เราก็ทำหน้าที่มอบประสบการณ์ให้กับเด็ก ให้เขามีกิจกรรมในพื้นที่นั้นแล้วก็จะได้รู้ว่า หนึ่ง, ต้นนี้มันตั้งขึ้นกี่ร้อยกี่พันปี โครงสร้างแบบนี้สามารถสร้างบ้านต้นไม้ได้ สอง, ในต้นไม้ใหญ่ขนาดนั้นมันมีบ้านต้นไม้ที่เราสามารถไปเล่นได้ และสาม, เรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ที่อาศัยในต้นไม้ ซึ่งบ้านเราพบได้น้อยมาก นอกจากจะได้รับความรู้ ยังได้รับความตื่นตาตื่นใจ และเมื่อในเวลาต่อมาถามถึงต้นไม้ ความทรงจำเหล่านี้จะกลับมาทันที” แทนที่จะวางรูปภาพและคำบรรยายข้างใต้ เพทายกลับจำลองต้นไม้ยักษ์ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในเขตนั้น นั่นคือบ้านต้นไม้ เพราะต้นไม้ในต่างประเทศส่วนใหญ่แข็งแรง จึงเป็นรากฐานที่ดีในการสร้างสิ่งก่อสร้าง รวมถึงจะพบในหนังที่พ่อแม่มักจะสร้างบ้านต้นไม้ให้ลูก มีสไลเดอร์และเสาชิงช้า ดังนั้นประสบการณ์ที่เด็กมาชมจะได้รับมากกว่าการเดินดูต้นไม้ใหญ่และอ่านข้อมูล    หนังสือและการ์ตูนสร้างแรงบันดาลใจ “ส่วนตัวผมเนี่ยเติบโตมากับการ์ตูนมังงะของญี่ปุ่นอย่าง Astro Boy เจ้าหนูอะตอม เขาพูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ที่ล้ำไปอีก 50 ปีข้างหน้า คือการ์ตูนมันมีจินตนาการ สร้างหุ่นยนต์ที่มีชีวิตเหมือนคนในศตวรรษที่ 21 แต่เขาเขียนเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ในการ์ตูนมันก็จะมี Story แล้วการสร้างเรื่องที่ดีจะต้องมี Storyboard “อย่างโดเรมอนที่ทุกคนก็อยากมีอยู่ข้างกาย ซึ่งโดเรมอนก็ Create Idea จากคนเขียนนะ อย่างไทม์แมชชีน ไฟฉายย่อส่วน ผมเลยเติบโตมากับ Storytelling แบบการ์ตูนที่มีจินตนาการผสม และเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเลือกเรียนสายศิลปะ แล้วผมก็มาเรียนด้านสถาปัตย์ ทาง Interior เวลาทำงานเลยทำให้ผมวาดได้เร็ว แล้วมันก็เกิดจินตนาการไปด้วย อันนี้เลยเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เราชอบเล่าเรื่องผ่านวิธีการวาดรูป พอมาทำโปรจกต์เรื่องมิวเซียม มันเลยต่อยอดกันไปหมด” ‘Storytelling ที่ดี จะต้องเกิดจาก Storyteller ที่ดีด้วย’ คือคำพูดของ สตีฟ จอบส์ ที่เพทายประทับใจจากการอ่านหนังสืออัตชีวประวัติของเขา และได้นำบางแนวคิดมาปรับใช้กับการออกแบบพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะเรื่อง Storytelling ดังกล่าว เพราะถ้าเรามีข้อมูล (data) มากมาย แต่ยังขาดการร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่า และไม่มีผู้เล่าเรื่องที่ดี ข้อมูลเหล่านี้อาจส่งไปไม่ถึงผู้รับสารอย่างเต็มอิ่ม   การเล่าเรื่องที่ดีคือการเล่าแบบไม่ชี้นำ “ถ้าพูดถึงสมัยก่อนในบริบทประมาณ 70-80 ปีก่อน สื่อมันมีสื่อเดียวคือสื่อวรรณกรรม สิ่งพิมพ์ เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงหนังสือในหลาย ๆ เรื่อง เขาเรียกว่า สื่อสร้างโลก สื่อเปลี่ยนโลก เลยทำให้มีพลังในการเปลี่ยนแปลงมาก หรือบางการปฏิวัติต่าง ๆ บางเรื่องก็ใช้วิธีการทำสื่อเสียดสีไปในเชิงของการ์ตูน อย่าง Animal Farm เพราะเราไม่สามารถพูดอะไรได้ตรง ๆ ก็เป็น Dynamic ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในยุคนั้นได้ “ทีนี้กลับมาในสมัยเรา เนื่องจากสื่อมีหลายมิติมาก ทั้งโซเชียลมีเดีย สิ่งพิมพ์มีอยู่แต่อาจน้อยลง ทีวี YouTube เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญคือ คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์แล้วเล่าในสมัยนี้ได้แล้วนะ เพราะว่าคนสมัยนี้เขาสามารถจะหาข้อมูลที่ย้อนไปได้มากถึง 100 ปี ดังนั้นคุณจึงต้องเอาทฤษฎีที่พิสูจน์แล้วมาเล่า ไม่ว่าจะมีกี่ทฤษฎีก็ตาม แต่ต้องเปิดโอกาสให้เขาไปคิดต่อ ผมจะไม่ทำทฤษฎีชี้นำ แต่ผมจะให้ทางเลือกเสมอ” ในฐานะนักออกแบบพิพิธภัณฑ์ที่งานส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ เราจึงให้เพทายแสดงถึงมุมมองการนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์ว่าสามารถแก้ไขอดีตหรือเปลี่ยนแปลงความคิดได้หรือไม่ โดยเพทายตอบว่า ประวัติศาสตร์แก้ไขไม่ได้ แต่สามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตได้ เพราะในปัจจุบันมีสื่อที่สามารถหาข้อมูลได้หลากหลาย ดังนั้นสิ่งที่พิพิธภัณฑ์ทำได้คือ การแสดงข้อมูลเป็นปลายเปิด เพื่อให้ผู้ชมสามารถต่อเติมเรื่องราวได้ด้วยตนเอง ซึ่งช่วยสร้างการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด “เมื่อเรานำเสนอแบบให้ทางเลือกเขา มันจะถูกตัดสินใจเองผ่านสิ่งที่เขาได้ชม แล้วเขาก็จะเลือกสนับสนุนข้อมูลที่เขาเชื่อ นี่คือความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ถ้าเรามีข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ แล้วเรานำมาเล่าให้สนุก จากอดีตที่เป็นแค่ Textboard เราก็นำมาทำเป็น Storytelling”   สร้างกิจกรรมใหม่ในวันหยุด ถ้าพูดถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดของประเทศไทย แน่นอนว่าคืออาหารไทย ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เคยมาเยือนประเทศไทย เพทายก็คิดเช่นกัน เขากล่าวว่า “ผมอยากทำพิพิธภัณฑ์อาหารไทย ซึ่งอาหารไทยเนี่ยมันมีเกร็ดนะ บางอันก็ไม่ใช่อาหารaไทยแท้ อย่างน้ำพริกกะปิ เราจะเคลมว่าเป็นของเราไม่ได้นะ ลาวเขาก็เคลม พม่าก็เหมือนกัน มันน่าสนใจ ไม่ใช่แค่ด้านวัตถุดิบ แต่อาหารยังพูดถึงเรื่องบริบทวัฒนธรรมจีน ฝรั่ง อิสลาม โดยเฉพาะการเมือง “ผัดไทยก็เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของเรายุคหนึ่งที่อยากให้มีอาหารเส้นเป็นชื่อไทย ก็เลยเกิดเป็นผัดไทย ถ้าทำพิพิธภัณฑ์อาหารไทย ผมคิดว่าตอนนี้ยังไม่มีแบบ Public แต่มีหน่วยงานเขาทำกัน แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงไทย ถ้าผมทำนะ จะทำกลางสยามไปเลย แล้วให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติได้ดู และทำอาหารของตัวเอง เพราะมี Cooking Class จะได้รู้ว่าวัตถุดิบแบบนี้ช่วยเรื่องขับถ่ายนะ ส่วนวัตถุดิบนี้ช่วยลดไขมันนะ “อยากทำนะครับ มันเล่าเรื่องได้สนุก มีบริบทเกี่ยวข้องกันเต็มไปหมด ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม มีความแข็งแรงด้านวัตถุดิบสูงมาก แล้วอาหารไทยก็ติดอันดับท็อป 5 ในโลกไปแล้ว ร้านอาหารไทยในลอนดอน โห! แพงสุด ๆ สูสีกับร้านอาหารฝรั่งเศสไปแล้ว ทำไมเราจะไม่ทำ ญี่ปุ่นยังทำ Ramen Museum เยอรมันยังทำ Sausage Museum เรามีมากกว่าราเมนและไส้กรอก สารพัดอย่างที่วางบนโต๊ะ วางยังไงก็วางไม่หมดนะอาหารไทย “เวลาเราไปมิวเซียมเมืองนอก เราจะเห็นคุณพ่อคุณแม่พาลูกไป แล้วก็เล่าสิ่งเหล่านั้นให้ลูกฟัง ลูกก็จะซึมซับในเรื่องนั้น ๆ เมื่อโตมาจึงเล่าต่อ ในขณะที่บ้านเรา ผมเชื่อว่า ทุกคนไปพิพิธภัณฑ์จำอะไรไม่ได้เลย จำได้อันเดียวคือ ไอ้นั่นน่ะ มีสไลด์ แล้วก็กลับ แต่ถ้าข้อมูลมันเข้าไปซึมซับผ่านประสบการณ์ที่เราเล่า มันจะทำให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไป” นอกจากแนวทางพิพิธภัณฑ์ที่เขาอยากทำในอนาคต เพทายยังบอกอีกว่า อยากนำเสนอวิถีชีวิตและกิจกรรมใหม่ ๆ ให้คนไทย นอกเหนือจากการไปห้างสรรพสินค้าในวันเสาร์และวันอาทิตย์ เขาจึงอยากให้พิพิธภัณฑ์เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของการใช้เวลาร่วมกันของครอบครัว อีกทั้งยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ เป็นนักพิพิธภัณฑ์ตัวน้อยอีกด้วย   เรื่อง: ขวัญจิรา สุโสภา (The People Junior)