ปีเตอร์ ฟิตเซก อดีตพ่อครัวผู้อ้างตัวเป็นกษัตริย์แห่งเยอรมนี

ปีเตอร์ ฟิตเซก อดีตพ่อครัวผู้อ้างตัวเป็นกษัตริย์แห่งเยอรมนี
“ด้วยจิตตั้งมั่นที่จะรับใช้พระผู้สร้าง (The Creator) และประชาชน เพื่อสันติภาพ และความก้าวหน้าของโลก และเพื่อก่อตั้งถิ่นฐานที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงของชาวเยอรมัน หลังต้องรอมานานกว่า 60 ปี เราชายหญิงผู้เป็นไทด้วยเจตจำนงอิสระจึงได้ร่วมกันสร้างรัฐเยอรมันใหม่ขึ้นที่นี่ในวันนี้วันแห่งประวัติศาสตร์”  ปีเตอร์ ฟิตเซก (Peter Fitzek) ผู้สถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเยอรมนี ประกาศในวันก่อตั้งราชอาณาจักรเยอรมนี เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2012 (Vice) สงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงให้เยอรมนี ในครั้งแรกระบอบกษัตริย์ได้ถูกล้มเลิกไป ในครั้งที่สองพวกเขาถูกแบ่งเป็นสองประเทศและถูกยึดครองโดยสองอภิมหาอำนาจ ซึ่งนักทฤษฎีสมคบคิดใช้เป็นเหตุอ้างว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีถูกสร้างขึ้นภายใต้การยึดครองของฝ่ายสัมพันธมิตร และยังไม่มีอธิปไตยเป็นของตนเองมาจนถึงปัจจุบัน  การสถาปนา “ราชอาณาจักรเยอรมนีใหม่” จึงถือเป็นการประกาศ “เอกราช” ให้กับเยอรมนีอย่างแท้จริง (ตามคำกล่าวอ้างของฟิตเซก)   ราชอาณาจักรของฟิตเซกตั้งอยู่ในเมืองวิตเทนเบิร์ก (Wittenberg) เมืองที่ มาร์ติน ลูเธอร์ ผู้นำขบวนการปฏิรูปศาสนา ใช้เป็นฐานต่อสู้เพื่อปลดแอกความเชื่อและการควบคุมใด ๆ จากวาติกันศูนย์กลางคริสตจักรคาทอลิกเมื่อราว 500 ปีก่อน มาร์ติน ลูเธอร์ จึงเป็นหนึ่งในบุคคลที่ฟิตเซกชื่นชมและมักยกตนเองขึ้นเทียบเคียงอยู่เสมอ ฟิตเซกอ้างว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีลักษณะเป็นเพียงโครงสร้างบริหารงานลักษณะเดียวกับ “สมาคม” เขากล่าวว่า “ถ้าประธานสมาคมทำอะไรที่ผมไม่ชอบ หรือตั้งเป้าหมายทำอะไรที่จิตสำนึกของผมไม่ให้การยอมรับแล้ว ผมก็ย่อมมีสิทธิออกจากสมาคม กับสหพันธ์สาธารณรัฐมันก็เหมือนกันนั่นแหละ” (Financial Times) จากข้อมูลของ Bloomberg ฟิตเซกเกิดเมื่อปี 1965 ในเยอรมนีตะวันออก เขาเคยเป็นอินโทรเวิร์ตเพื่อนน้อย มีพ่อติดเหล้ากับแม่ที่เคี่ยวเข็ญเข็มงวด ตอนเด็ก ๆ เขาอยากเป็นครู แต่ด้วยผลการเรียนไม่ดีนัก เขาจึงได้มาเป็นพ่อครัว ก่อนไปเป็นครูสอนคาราเต้ ตามด้วยการเป็นพนักงานประจำร้านวิดีโอ  ต่อมาในปี 1991 หลังการสลายของกำแพงเบอร์ลินมีคนชวนเขาไปลงทุนทำธุรกิจเครื่องเล่นสล็อต ตอนแรกก็ประสบความสำเร็จดี ก่อนที่หุ้นส่วนที่มีความรู้ทางกฎหมายที่เหนือกว่าฮุบเอาบริษัทไป ฟิตเซกจึงมุ่งค้นคว้าศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ตั้งแต่เรื่องไสยศาสตร์ไปจนถึงระบบกฎหมาย จนนำไปสู่ข้อสรุปที่ทำให้สามารถเข้าใจถึงความล้มเหลวในชีวิตของตัวเองได้ นั่นก็คือ เยอรมนีไม่ใช่ประเทศที่มีอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ นักทฤษฎีสมคบคิดที่โปรโมตความเชื่อเช่นนั้นมีไม่น้อย พวกเขาถูกเรียกว่าเป็นขบวนการ “พลเรือนแห่งอาณาจักรไรช์” (Reichsbürger) มักเป็นกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงต่อต้านสหรัฐฯ ทุนนิยม และชาวยิว ซึ่งฟิตเซกพยายามบอกว่าตัวเองไม่ควรถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เพราะเขาไม่นิยมความรุนแรง ไม่เชื่อในการปกครองด้วยความกลัว ขณะเดียวกันเขาเชื่อในทฤษฎีที่ว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซี เป็นเพียงฉากหน้าของกลุ่มทุนที่สร้างความหายนะให้กับเยอรมนี  “ในความคิดของผม อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อยู่ในอำนาจได้ไม่ใช่เพราะตัวเขาเอง มีนักอุตสาหกรรมและนายธนาคารที่ให้เงินสนับสนุนเขา แล้วก็มีคนที่ช่วยฝึกฝนเขาให้เขาไปอยู่ในตำแหน่งนั้นได้ เพราะเขามีทักษะบางอย่าง เช่น ทักษะด้านภาษา เพื่อให้เขาทำหน้าที่ที่บุคคลเหล่านี้ต้องการให้เขาแสดง” ฟิตเซกกล่าวก่อนเสริมว่า “มีตระกูลเครือข่ายระดับนานาชาติที่คอยให้การสนับสนุนทางการเงินกับเขา” ขึ้นศตวรรษที่ 21 ยุคแห่งอินเทอร์เน็ต กลุ่มคนที่ผิดหวังกับรัฐบาล ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การอพยพเข้ามาของแรงงานต่างชาติ การเสียอิสรภาพทางนโยบายเนื่องจากข้อผูกมัดภายใต้ระบบสหภาพยุโรป สามารถรวมตัวกันง่ายขึ้น  ฟิตเซกที่เคยลงเลือกตั้งตามระบบมา 2 ครั้ง แต่สอบตก จึงอ้างว่า เขาไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานของระบบได้ และเริ่มขายไอเดียเกี่ยวกับรัฐทางเลือกกับผู้ผิดหวังเหล่านี้ มีการเสนอขายระบบสมาชิกและเปิดรับการลงทุนในรูปแบบบัญชีธนาคาร ทำให้เขาสามารถระดมทุนได้จำนวนมากเพื่อใช้ในการจัดตั้งรัฐในฝันขึ้น  “ราชอาณาจักรเยอรมนีมีระบบการศึกษาที่ทั่วถึงสำหรับคนทุกช่วงอายุ ซึ่งช่วยส่งเสริมพัฒนาการของประชาชนแต่ละคนอย่างเหมาะสมที่สุด  “ราชอาณาจักรเยอรมนีมีระบบสาธารณสุขที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของมนุษย์อย่างแท้จริง และได้มีการบัญญัติลงไว้ในรัฐธรรมนูญ “ระบบบำเหน็จบำนาญรูปแบบใหม่ยังช่วยขจัดปัญหาความยากจนในกลุ่มผู้สูงอายุหลังเกษียณอายุ “นอกจากนี้ ราชอาณาจักรเยอรมนียังมีระบบการเงินที่ปลอดดอกเบี้ยและหนี้สิน ด้วยเงินตราที่มีกฎหมายและสินทรัพย์รับรอง ร่วมกับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมปลอดภาษี ที่จะให้โอกาสกับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และไม่มีใครต้องเป็นผู้แพ้”  บางส่วนของประกาศบนเว็บไซต์ Königreich Deutschland หรือราชอาณาจักรเยอรมนีกล่าว  “เราต้องการสร้างรัฐที่ไม่ได้รับใช้ทุนนิยม แต่รับใช้ประชาชน รัฐใหม่แห่งนี้จะไม่รับใช้ชนชนสูงผู้ร่ำรวยส่วนน้อยที่คิดว่า พวกเขาจะใช้ชีวิตได้บนการทำงานอย่างบากบั่นของประชาชนคนอื่น ๆ” ฟิตเซกกล่าวกับ Vice เมื่อมีผู้ติดตามมากขึ้น ฟิตเซกจึงได้ตั้งหลักสร้างราชอาณาจักรขึ้นบนพื้นที่ขนาด 9 เฮกตาร์ (ราว 56 ไร่) โดยได้พื้นที่ขนาดใหญ่เป็นโรงพยาบาลร้างที่สามารถนำมาดัดแปลงให้สามารถรองรับผู้คนได้จำนวนนับพันคน  การสร้างราชอาณาจักรทับซ้อนบนสหพันธ์สาธารณรัฐใช่จะราบรื่น ฟิตเซกต้องเผชิญกับการถูกดำเนินคดีหลายครั้ง เช่น ข้อหาขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ เนื่องจากเขาเลือกใช้ใบขับขี่ที่ราชอาณาจักรของเขาออกใช้เอง ทำให้ถูกจับกุมอย่างน้อย 20 ครั้ง นอกจากนี้ การเปิดรับฝากเงินซึ่งเข้าข่ายประกอบกิจการธนาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตระหว่างปี 2009 ถึง 2013 อัยการสั่งฟ้องเขาในข้อหายักยอกทรัพย์จำนวน 1.3 ล้านยูโร หลังตรวจค้นที่พักที่ทำการของฟิตเซกแล้วพบแต่ความว่างเปล่า ทำให้เขาถูกศาลพิพากษาจำคุกเมื่อปี 2017 เป็นเวลา 3 ปี กับอีก 8 เดือน  แต่หลังจากติดคุกได้ราว 1 ปี ศาลอุทธรณ์ก็กลับคำพิพากษาเมื่อพิจารณาว่า สลิปเงินฝากของสาวกมีเนื้อหาเหมือนแบบฟอร์ม “บริจาค” มากกว่าการฝากเงิน และผู้ฝากหลายคนก็ขึ้นให้การต่อศาลว่า พวกเขาไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เงินคืนแต่อย่างใด ทำให้ “พระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 แห่งเยอรมนี” พ้นจากการคุมขังมาได้ แม้ว่าจะยังต้องต่อสู้กับอีกหลายคดี ทั้งข้อหาขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ที่ยังค้างคา รวมกับคดีละเมิดอำนาจศาลที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา (Welt) แม้จะมีอดีตพสกนิกรแห่งราชอาณาจักรเยอรมนีที่เกิดตาสว่าง เห็นว่าการติดตามปีเตอร์เป็นเหมือนกลุ่มลัทธิและพากันล่าถอยไป แต่สื่อออนไลน์โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียอย่าง YouTube ก็เป็นช่องทางที่จะช่วยหาพสกนิกรกลุ่มใหม่ ๆ เข้ามาทดแทนเสมอ และการถูกดำเนินคดีก็มิได้ทำให้เหล่าพสกนิกรหวั่นไหว แต่กลับทำให้ความเชื่อในระบบราชอาณาจักรเข้มแข็งขึ้นไม่ว่าผลแห่งคดีจะเป็นอย่างไร ถ้าชนะก็แสดงให้เห็นว่า พระเจ้าปีเตอร์ของพวกเขาเป็นฝ่ายถูก และต่อให้แพ้ก็สามารถนำไปอ้างได้ว่า ระบบศาลของสหพันธ์สาธารณรัฐนั้นฉ้อฉล ทำให้กษัตริย์ของพวกเขาต้องพ่ายแพ้ “สภาพที่คุณเห็นคือความไม่พอใจที่ฝังรากลึกอย่างสุดขั้ว ถึงขนาดที่ทำให้ประชาชนต้องการละทิ้งระบบสหพันธ์สาธารณรัฐ” เดิร์ก วิลกิง (Dirk Wilking) นักวิจัยจาก Demos Institute ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับขบวนการพลเรือนแห่งอาณาจักรไรช์กล่าวกับ Financial Times “มันยังเป็นการแสดงออกถึงความไม่ไว้วางใจต่อสถาบันต่าง ๆ ของรัฐอย่างรุนแรง ในกรณีของ AfD (พรรคทางเลือกแห่งเยอรมนี พรรคนโยบายขวาจัดที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน แต่กลายเป็นพรรคใหญ่อันดับ 3 ของประเทศไปแล้ว) ความไม่ไว้วางใจผลักดันให้พวกเขามีที่นั่งในรัฐสภา ส่วนกรณีของขบวนการพลเรือนแห่งอาณาจักรไรช์ ความไม่ไว้วางใจขับให้พวกเขาทิ้งรัฐไปเลย” วิลกิงกล่าว