น้ำตาล - พิจักขณา วงศารัตนศิลป์ ตัวแทนสาวล้านนาที่จะมาลบภาพจำของ ‘สาวเหนือผู้อ่อนช้อย’

น้ำตาล - พิจักขณา วงศารัตนศิลป์ ตัวแทนสาวล้านนาที่จะมาลบภาพจำของ ‘สาวเหนือผู้อ่อนช้อย’
ตัวแทนสาวล้านนาที่จะมาลบภาพจำของ ‘สาวเหนือผู้อ่อนช้อย’ ในบทแม่หญิงสลิดซ่านามว่า ‘ส้มป่อย’ ไม่ว่าจะตำนานรัก ‘วังบัวบาน’ ‘วิมานรักห้วยแก้ว’ ‘สาวเครือฟ้า’ หรือ ‘น้อยใจยา’ ทุกสถานที่ ภาพยนตร์ และบทเพลง ต่างคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรม ‘ล้านนา’ และการปลูกฝังภาพจำของ ‘สาวเหนือ’ ว่าเป็นคนอ่อนช้อย เรียบร้อย อ่อนหวาน และต๊ะต่อนยอน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่สาวเหนือทุกคนที่เป็นอย่างนั้น ในปี 2564 นี้ ผู้ชมจะได้พบกับสาวเอื้องเหนือผู้ฉีกทุกภาพจำที่เคยมี เธอคือสาวสลิด (ไม่เรียบร้อย) สวก (ดุ) นิด ๆ ผีบ้าหน่อย ๆ นามว่า ‘ส้มป่อย’ รับบทโดย ‘น้ำตาล - พิจักขณา วงศารัตนศิลป์’ ในภาพยนตร์แนวโรแมนติก-คอมเมดี้ สไตล์ล้านนาแท้ 100% เรื่อง ‘ส้มป่อย’ ซึ่งได้ ‘โขม - ก้องเกียรติ โขมศิริ’ เป็นโปรดิวเซอร์ และ ‘มะเดี่ยว - ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล’ เป็นที่ปรึกษาภาพยนตร์ The People ชวน น้ำตาล - พิจักขณา สาวเมืองแพร่ ดีกรีนางเอกละครโทรทัศน์ ผู้ได้รับบทนำในภาพยนตร์เป็นครั้งแรกมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความม่วน (ความสนุก) ในกองถ่าย รวมไปถึงย้อนวันวานความประทับใจที่น้ำตาลมีต่อภาคเหนือในวัยเด็ก และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อ ‘ภาพจำ’ ที่แสน ‘เรียบร้อย’ ที่ผู้คนมีต่อสาวเหนือมาอย่างยาวนาน น้ำตาล - พิจักขณา วงศารัตนศิลป์ ตัวแทนสาวล้านนาที่จะมาลบภาพจำของ ‘สาวเหนือผู้อ่อนช้อย’ ภาพยนตร์เรื่องแรก กับอุปสรรคด้านภาษา หลังได้รับโอกาสในการประกบคู่กับนักแสดงดัง ‘เคน - ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์’ ในละครเรื่อง ‘มัจจุราชสีน้ำผึ้ง’ เป็นครั้งแรกในปี 2556 ‘น้ำตาล - พิจักขณา วงศารัตนศิลป์’ ก็ได้เข้าสู่วงการละครโทรทัศน์อย่างเป็นทางการ และมีผลงานเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็น ‘เรือนริษยา’ (2557) ‘สะใภ้จ้าว’ (2558) หรือ ‘ตะวันยอแสง’ (2560) แต่ในปี 2564 นี้ เราจะได้เห็นน้ำตาลบนจอภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในเรื่อง ‘ส้มป่อย’ น้ำตาล - พิจักขณา วงศารัตนศิลป์ ตัวแทนสาวล้านนาที่จะมาลบภาพจำของ ‘สาวเหนือผู้อ่อนช้อย’ “น้ำตาลยังไม่เคยเป็นนักแสดงที่เล่นหนังจริงจัง พอรู้ว่าเป็นหนังภาคเหนือ เราก็เลยสงสัยว่ามันจะออกมาเป็นแบบไหนนะ ตื่นเต้น เขาบอกว่าเป็นเหนือแบบออริจินัลมาก ผู้กำกับ คนเขียนบทก็เป็นคนเหนือหมดเลย” น้ำตาลเผยความตื่นเต้นให้ฟัง พร้อมเล่าว่า ถึงแม้เธอจะสามารถอู้คำเมือง (พูดภาษาเหนือ) ได้ แต่เรื่องของภาษาและสำเนียงก็ยังถือเป็นอุปสรรคสำหรับเธอเช่นกัน “บทเป็นคำเมืองก็จริง แต่มีคำศัพท์บางคำที่เราไม่รู้ความหมาย ต่อให้เป็นภาคเหนือ แต่พอเป็นคนละพื้นที่ คำศัพท์รวมถึงสำเนียงจะแตกต่างกันออกไป คือเรื่องราวเกิดในจังหวัดลำพูน แต่เขาอยากได้สำเนียงแบบไหน เพราะตาลเองก็พูดได้ทั้งสำเนียงแพร่และเชียงใหม่ เพราะเราไปเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มา 3 ปี เราก็คุ้นเคย” สุดท้ายสำเนียงที่ถูกเลือกคือสำเนียงของจังหวัด ‘แพร่’ “เพราะคนแพร่เวลาด่า หรือเวลาเถียงกันมันจะมันส์กว่า แพร่จะมีสำเนียงภาคเหนือที่ค่อนข้างจะห้วน ๆ ดุ ๆ หน่อย แต่จริง ๆ คือพูดปกตินะคะ มันอาจจะไม่ได้ไพเราะ อ่อนหวานอย่างทางเชียงใหม่ หรือลำพูน” น้ำตาล - พิจักขณา วงศารัตนศิลป์ ตัวแทนสาวล้านนาที่จะมาลบภาพจำของ ‘สาวเหนือผู้อ่อนช้อย’ หลังจากเลือกสำเนียงกันแล้ว น้ำตาลและทีมงานก็มีการแลกเปลี่ยนเรื่องคำศัพท์กัน เพราะคำศัพท์บางคำถือเป็นศัพท์เฉพาะ เช่น คำว่า ‘ฝรั่ง’ จังหวัดเชียงใหม่จะเรียกว่า ‘บะก้วยก๋า’ หรือ ‘มะหมั้น’ ขณะที่แพร่เรียกว่า ‘มะแก๋ว’ แต่เมื่อเรื่องราวของส้มป่อยเกิดขึ้นที่จังหวัดลำพูน ทีมงานจึงต้องปรึกษากันต่อว่าจะใช้คำใดถึงจะเหมาะสม “ภาษาเป็นอุปสรรคอันดับหนึ่งเหมือนกัน แล้วด้วยความที่นักแสดงส่วนใหญ่เป็นคนเชียงใหม่ ก็จะมีคนแพร่อยู่ประมาณ 2 - 3 คน ทำให้เวลาเราด่า ด่ากับพระเอก จากสำเนียงแพร่ก็จะไปเป็นเชียงใหม่กับเขา เพราะเราดันจับสำเนียงเขาได้” น้ำตาลเล่าให้ฟังต่อว่า ในช่วงการถ่ายทำ พ่อและแม่ของเธอได้แวะมาให้กำลังใจเธอที่กองถ่าย เนื่องจากพวกเขาไม่ค่อยได้เห็นน้ำตาลในเวลาทำงานมากนัก ซึ่งนั่นทำให้น้ำตาลมีกำลังใจ แถมยังได้นึกถึงเรื่องราวความทรงจำในวัยเด็กที่เปรียบเสมือนสิ่งเชื่อมโยงของน้ำตาลกับส้มป่อยในภาพยนตร์เรื่องนี้ น้ำตาล - พิจักขณา วงศารัตนศิลป์ ตัวแทนสาวล้านนาที่จะมาลบภาพจำของ ‘สาวเหนือผู้อ่อนช้อย’ ความเหมือนระหว่างน้ำตาลและส้มป่อย ในสมัยเด็ก น้ำตาลเล่าว่าเธอไม่ได้มีความกล้าแสดงออกเท่าตัวละครส้มป่อยที่เธอแสดง เพราะในยุคของส้มป่อยถือเป็นยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีเข้ามามากมาย ขณะที่ยุคของน้ำตาล เธอยังเล่นดินเล่นทราย เดินเที่ยวตามทุ่งนาและงานวัดอยู่ “ตอนเป็นเด็ก เราอาจจะไม่กล้าแสดงออกเท่าตัวส้มป่อย เพราะว่าในยุคของเรามันจะไม่ได้เปรี้ยวขนาดนี้ แล้วตัวส้มป่อยจะแมนมาก มีเพื่อนทั้งผู้หญิงและผู้ชาย กินเหล้าเก่ง กินลาบดิบ ชอบเต้น สารพัดอย่าง พอมาเปรียบเทียบกับตอนที่เรา 17 - 18 เราก็อาจจะไม่เป็นทรงนี้เท่าไร “แต่ความเหมือนกันเลยน่าจะเป็นในเรื่องความจริงใจ ส้มป่อยเป็นคนให้เพื่อนเต็มร้อย ให้กับความรักเต็มร้อย เป็นคนสนุกสนาน เป็นเหมือนศูนย์กลางของเพื่อน ซึ่งเราก็ชอบเป็นแบบนั้นเหมือนกัน เราอาจจะไม่ใช่สาวเหนือในแบบที่หลายคนคิด แล้วหลายคนก็ไม่ค่อยคิดด้วยว่าเราเป็นคนเหนือ เพราะมีความฮา มีความโก๊ะ มีความแมนค่อนข้างจะสูง ก็เลยคิดว่าเราเป็นคนจริงใจและสนุกสนานเหมือนกัน” ด้วยความที่ส้มป่อยฉีกทุกภาพจำของสาวเหนือที่เคยมีมา ทำให้น้ำตาลมีทั้งความสงสัยปนความตื่นเต้นในช่วงแรกว่า คาแรกเตอร์สาวเหนือที่ ‘สลิด’ (ไม่เรียบร้อย) สุด ๆ คนนี้จะไปรอดหรือไม่? น้ำตาล - พิจักขณา วงศารัตนศิลป์ ตัวแทนสาวล้านนาที่จะมาลบภาพจำของ ‘สาวเหนือผู้อ่อนช้อย’ ส้มป่อย ฉีกทุกภาพจำสาวเหนือ สยบทุกความเข้าใจผิด “เรามีความรู้สึกกดดันแล้วก็กังวลว่า คนจะรับได้ไหมถ้าเรานำเสนอมุมของสาวเหนือในแบบส้มป่อย เพราะเขาไม่ใช่ผู้หญิงในอุดมคติของใครหลายคน มันเข้าใจได้ว่า เวลาคนจะทำหนังหรือละคร สิ่งที่เขาหยิบยกขึ้นมาเล่าในความเป็นเหนือ คือความอ่อนช้อย อ่อนหวาน พูดจาไพเราะของผู้หญิง แต่ในวันนี้มันฉีกภาพทุกอย่าง ฉีกผ้าซิ่น ฉีกคำพูดคำจา แค่เปิดเรื่องมาก็ด่าพ่อล่อแม่แล้ว มันจะโหดไปไหม? “แต่มันมีแบบนี้จริง ๆ มันมีสังคมของหมู่บ้าน ชุมชน ชนบทของเด็กที่เติบโตมากับการกินเหล้าขาว หรือกินลาบ คือเราเติบโตกันมาแบบบ้าน ๆ น้ำตาลก็คลุกคลีกับอะไรแบบนี้มาพอสมควร เราก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นอีกมุมหนึ่งที่น่ารัก มันอาจจะไม่เป็นสาวเหนือในอุดมคติของใคร แต่ก็ยังมีวัยรุ่นที่มีชีวิตจริงแบบนี้อยู่ แล้วมันเป็นความน่ารักที่สาวเหนือยุคใหม่กล้าเต๊าะผู้ชายก่อน อยากจะปรับเปลี่ยนตัวเอง ส่วนตัวตนคิดว่า อยากให้ใครหลายคนเปิดใจให้กับสาวเหนือยุคใหม่แบบนี้” น้ำตาล - พิจักขณา วงศารัตนศิลป์ ตัวแทนสาวล้านนาที่จะมาลบภาพจำของ ‘สาวเหนือผู้อ่อนช้อย’ หลังจากนั้น น้ำตาลยังได้เล่าเรื่องราวความเข้าใจผิดที่คนอื่นมีต่อสาวเหนือและคนเหนือว่า ผู้คนมักจะนิยามสาวเหนือว่าเป็นผู้หญิงที่พูดจาเรียบร้อย อ่อนหวาน หรือนิยามคนเหนือเป็นคนใจเย็น ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่ใช่ความจริงเสมอไป “ทุกคนไม่ใช่คนเรียบร้อย คนแพร่กินเหล้าดุมาก แต่เขาจะกินเหล้าอยู่กันที่บ้าน หรืออย่างเรื่องการพูดจาเรียบร้อยอ่อนหวาน เคยมีช่วงหนึ่งที่คุณย่าของตาลเสีย แล้วมีพี่ไปช่วยงานที่จังหวัดแพร่ คือเขาช็อกมาก เพราะช่วงที่เราปิดประตูเหมือนจะส่งคุณย่าขึ้นสวรรค์ เขาจะเปิดเพลงโจ๊ะมาก เป็นเพลงที่ลุกขึ้นมาเต้นได้เลย พี่เขาก็คิดว่า เพลงเหนือจะต้องบรรเลงเพราะ ๆ แต่ที่นั่นเป็นเพลงที่ครื้นเครงมาก รวมถึงการสวด การสวดของภาคเหนือทำให้ใครหลายคนตกใจ เพราะพระสวดเหมือนแร็ปเลย แต่อันนี้คือที่เราเคยเจอนะ จังหวัดอื่นไม่แน่ใจเหมือนกัน” จากความกังวลแปรเปลี่ยนเป็นความรักในตัวละคร ส้มป่อยเป็นสาวเอื้องเหนือที่ถึงแม้จะแก่นแก้ว แต่ก็มีความน่ารัก หยิกแกมหยอกให้ผู้ชมได้อมยิ้มไปตาม ๆ กัน โดยน้ำตาลได้เล่าว่า ถึงแม้ส้มป่อยจะดูเป็นตัวละครที่ตลกโปกฮา แต่เธอก็มีปมในใจ และมีเรื่องดราม่าของตัวเอง ไม่ได้มาเพียงขายขำเท่านั้น ดังนั้นตัวละครนี้จึงถือว่ามีมิติและน่าติดตามอย่างยิ่ง ทั้งตัวภาพยนตร์ยังนำเสนอความเป็นล้านนาได้อย่างลงตัว “เสน่ห์ของภาคเหนือคือการผสมผสานที่ลงตัว บางคนอาจจะคิดว่า คนเหนือเรียบร้อยอ่อนหวาน แต่ที่จริงแล้วเลือดของชาวเหนือเป็นเลือดของคนที่ชอบการสังสรรค์ สนุกสนาน ทำให้เราคิดถึงบรรยากาศสมัยก่อนในงานสงกรานต์ งานลอยกระทง มันเป็นประเพณีที่สนุกสนานมาก ๆ ได้เห็นความรักความสามัคคีของคน” ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้เราจะได้เห็นมนต์เสน่ห์เมืองล้านนากันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลยทีเดียว น้ำตาล - พิจักขณา วงศารัตนศิลป์ ตัวแทนสาวล้านนาที่จะมาลบภาพจำของ ‘สาวเหนือผู้อ่อนช้อย’ น้ำตาล - พิจักขณา วงศารัตนศิลป์ ตัวแทนสาวล้านนาที่จะมาลบภาพจำของ ‘สาวเหนือผู้อ่อนช้อย’ ร่วมผ่อวัฒนธรรมล้านนาผ่านฟิล์ม “ประเพณีสงกรานต์ เขาจะถือว่าเป็นปีใหม่เมือง วันที่ 1 มกราคม ถ้าไม่กลับบ้าน พ่อแม่ไม่ซีเรียส แต่ถ้าเป็นสงกรานต์ เขาอยากให้กลับ เพราะเป็นปีใหม่ของภาคเหนือ มันมีวันสังขารล่องเป็นวันแรกของกิจกรรมปีใหม่เมือง วันเนา ห้ามพูดคำหยาบ วันปากปีต้องกินขนุน กินลาบ แล้วก็จะมีวันรดน้ำดำหัว มันจะเหมือนวันรวมญาติ ผู้ใหญ่ชอบมาก เราก็ชอบแต่ชอบเล่นน้ำ ไม่ชอบวันรวมญาติ เพราะมันจะมีญาติบางคนที่เหมือนป้าข้างบ้าน มันก็มีมุมแบบนี้อยู่ในหนังด้วยเหมือนกัน เราเลยรู้สึกว่า ประเพณีมีทั้งเรื่องที่ตลกขบขันและมีความสนุกสนาน แต่ก็มีค่านิยมที่มันแฝงเอาไว้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย” นอกจากนี้ น้ำตาลยังพูดถึงเรื่องการทรงเจ้าเข้าผี ซึ่งตัวละครเอกของเรื่องเป็นร่างทรง (ปลอม) ทำให้เบื้องหลังการถ่ายทำ น้ำตาลได้มีส่วนร่วมในการส่งต่อวัฒนธรรมดังกล่าวด้วยการช่วยเซตฉาก และแลกเปลี่ยนสิ่งที่เคยพบเจอด้วยตัวเองเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก “เราเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีญาติเป็นร่างทรง มันก็ค่อนข้างที่จะใกล้ตัวมาก อย่างในภาพยนตร์เวลาเขาเซตฉาก หรือทำการทรงเจ้า เขาก็จะมาถามว่า ที่เราเคยเห็นเป็นแบบนี้หรือเปล่า? คล้ายแบบนี้ไหม? เราก็จะไปดู เราก็บอกว่า ตอนนั้นที่เราเห็นน่าจะเป็นแบบนี้นะ สเต็ปคนละอย่างกัน เราก็บอกเขาไป เพราะว่าเจ้าในแต่ละจังหวัดก็จะไม่เหมือนกัน ของเลี้ยงก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็จะมีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป แต่เราว่ามันก็มีเสน่ห์อยู่” นอกจากผู้ชมจะได้เห็นประเพณีดั้งเดิมและวัฒนธรรมมากมายผ่านภาพยนตร์ล้านนาเรื่องนี้ ระหว่างที่น้ำตาลเข้าฉากในภาพยนตร์ เธอก็ได้หวนนึกถึงความทรงจำในวัยเด็กจนบังเกิดเป็นความคิดถึงขึ้นมาด้วย น้ำตาล - พิจักขณา วงศารัตนศิลป์ ตัวแทนสาวล้านนาที่จะมาลบภาพจำของ ‘สาวเหนือผู้อ่อนช้อย’ ยิ่งเวลาผ่านไป บ้านกลับสวยงามยิ่งขึ้นทุกวัน น้ำตาลเกิดที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากพ่อของเธอรับราชการตำรวจที่นั่น จนกระทั่งอายุได้ประมาณ 4 ขวบจึงย้ายกลับมาที่จังหวัดบ้านเกิดของพ่อและแม่ นั่นก็คือจังหวัดแพร่ เธอเรียนอยู่ที่นั่นจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก่อนจะย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเวลา 3 ปี และย้ายมาอาศัยที่กรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน การจากบ้านไปนานทำให้การถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ‘ส้มป่อย’ ที่ต้องขึ้นไปถ่ายทำกันที่ภาคเหนือ กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการย้อนวันวานของน้ำตาล “เรานึกถึงช่วงเวลาที่เราได้ไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนตอนเราเป็นเด็ก เรารู้สึกว่าสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน พอมาอยู่กรุงเทพฯ มันค่อนข้างที่จะเหงา ตอนอยู่ที่แพร่ เรารู้สึกว่าทั้งหมู่บ้านเป็นญาติพี่น้องกันหมด มันมีวิถีชุมนุมที่ค่อนข้างกลมเกลียวแน่นแฟ้น แต่พอเรามาอยู่ที่กรุงเทพฯ มันเป็นครอบครัวเดี่ยวมากยิ่งขึ้น อย่างเรามาอยู่ที่คอนโดฯ เราอยากรู้จักห้องข้าง ๆ แต่คนส่วนใหญ่ที่กรุงเทพฯ จะต่างคนต่างอยู่มากกว่า ซึ่งบางทีเรากลับโหยหาวิถีชีวิตดั้งเดิมแบบนั้น” น้ำตาล - พิจักขณา วงศารัตนศิลป์ ตัวแทนสาวล้านนาที่จะมาลบภาพจำของ ‘สาวเหนือผู้อ่อนช้อย’ น้ำตาลเล่าให้ฟังว่า สมัยที่อยู่แพร่ หากแม่ของเธอต้องการจะทำอาหารแต่ขาดผักบางชนิดไป น้ำตาลจะรู้ว่าบ้านไหนมีผักชนิดนั้น แล้วเธอจะขี่รถไปเอา ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตที่พึ่งพาอาศัยกัน ทั้งยังเป็นความอบอุ่นแบบที่หาไหนมาเปรียบไม่ได้ “ทุกวันนี้เวลาเรากลับบ้าน ธรรมชาติบ้านเรามันสวยงามขึ้นทุกวันเลย ทั้ง ๆ ที่มันก็อยู่หลังบ้านเรามาตั้งแต่เกิด เรารู้สึกว่าพระอาทิตย์และภูเขาสวยจัง แล้วยิ่งจังหวัดแพร่เป็นจังหวัดที่มองไป 360 องศา ยังไงก็เห็นภูเขาล้อมรอบหมด แต่ก่อนเราไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับเขาสักเท่าไร แต่พอมาอยู่กรุงเทพฯ แล้วกลับไปที่แพร่ เรารู้สึกว่าบ้านเรามหัศจรรย์จังเลย ยิ่งนานวันก็ยิ่งรู้สึกคิดถึง แล้วคิดว่าบั้นปลายชีวิตก็คงจะต้องกลับไปอยู่ภาคเหนือ” ในช่วงท้ายนี้ น้ำตาลได้เล่าเรื่องราวความประทับใจที่มีต่อภาคเหนือในวัยเด็กให้ฟังเพิ่มเติมว่า เมื่อเธอเข้าไปเรียนพิเศษในเมืองช่วงที่อยู่ประมาณชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 - 6 พ่อของเธอจะให้เธอนั่งรถแดงไป - กลับเอง ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ตู้สติกเกอร์เป็นที่นิยมมากในจังหวัดแพร่ กลุ่มเพื่อนของเธอจึงชวนกันไปถ่ายรูปที่ตู้สติกเกอร์ จนสุดท้ายน้ำตาลพบว่าตัวเองเหลือเงินติดตัวเพียงแค่ 10 บาท “เราลืมไปว่าเราไม่มีเงินกลับบ้าน เพราะตอนนั้นค่ารถมันประมาณ 10 บาท แต่เราไม่มีเงินพอที่จะโทรศัพท์หยอดตู้สาธารณะเพื่อให้พ่อแม่มารับ เราก็อยู่หน้าสถานีรถที่กำลังจะขับจากในเมืองออกไปนอกเมือง เราชั่งใจว่าถ้าเราเอาเงินนี้จ่ายค่ารถ แล้วเราจะโทรฯ หาพ่อแม่ได้ยังไง “สุดท้ายก็ตัดสินใจว่า เราจะเอาเงิน 10 บาทหยอดตู้สาธารณะ แล้วก็โทรฯ หาพ่อ ให้พ่อมารอ แล้วเตรียมจ่ายค่ารถแดงให้ด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกอย่างมันจะลงตัว แต่พอไปหยอดตู้สาธารณะปุ๊บ กดโทรฯ ออก มันบอกว่ากรุณาฝากหมายเลขโทรฯ กลับ แล้วมันกินเหรียญเราไปเลย เราก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง สุดท้ายเลยนั่งร้องไห้อยู่ตรงหน้าตู้โทรศัพท์สาธารณะ” ระหว่างที่เธอนั่งร้องไห้ แม่ค้าที่ขายลูกชิ้นที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้เข้ามาหยิบยื่นน้ำใจให้ จนสุดท้ายน้ำตาลก็ได้ขึ้นรถแดงที่เบาะหน้าข้างคนขับ โดยที่เธอไม่ต้องเสียเงินค่ารถแดงแต่อย่างใด แถมยังได้ลูกชิ้นจากแม่ค้าผู้ใจดี รวมถึงน้ำจากพ่อค้าอีกคนด้วย “เขาให้เงินเราหยอดตู้แล้วก็โทรฯ เบอร์บ้านหาแม่ แม่รับโทรศัพท์แล้วก็มารับอย่างที่เราวางแผนไว้ตอนแรก คือเรารู้สึกว่ามันดีจังเลย พอได้เข้ามาในเมือง แม่ก็มาขอบคุณทุกคน ยิ่งคิดก็ยิ่งมีความสุข” น้ำตาล - พิจักขณา วงศารัตนศิลป์ ตัวแทนสาวล้านนาที่จะมาลบภาพจำของ ‘สาวเหนือผู้อ่อนช้อย’ ไม่ว่าใครที่ได้ยินเรื่องราวของเธอก็คงจะเผลอยิ้มตามอย่างอดไม่ได้ ซึ่งความประทับใจของน้ำตาลไม่ได้มีเพียงเรื่องของผู้คนเท่านั้น แต่เธอยังประทับใจในวัฒนธรรมและประเพณีอีกหลายอย่างจนนำมาบอกต่อกับทุกคนด้วย “อย่างแรกเลยที่อยากจะแนะนำก็คือน้ำพริกลาบ ทุกวันนี้เวลาเรากลับบ้านเราจะเอากลับมาเป็นกิโลเลย มันสามารถอยู่ได้ในอาหารทุกอย่าง ถ้านึกอะไรไม่ออกก็เอาหมูยอมาทอดจิ้มกับน้ำพริกลาบได้ กินกับไข่เจียวได้ มันคือน้ำพริกมหัศจรรย์ “ในภาพยนตร์เรื่อง ‘ส้มป่อย’ ก็จะมีการทำน้ำพริกลาบด้วย จะบอกว่าลาบในแต่ละจังหวัดก็ไม่เหมือนกันอีก แต่ตอนเราเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะมีการแข่งขันทำลาบ แล้วจังหวัดแพร่ชนะตลอดเลยนะ ไม่อยากจะโม้ คือลาบแพร่เราจะมีความขื่น ขึ้นจมูกในเรื่องของมะแขว่น เราชอบมากๆ “ส่วนอันดับสอง น้ำตาลยกให้เรื่องของพระธาตุ เนื่องจากพระธาตุทางภาคเหนือมีกระจายอยู่แทบจะทุกพื้นที่ในทุกจังหวัด ดังนั้นใครที่อยากจะศึกษาประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม เที่ยวชมโบราณสถาน หรือไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็แนะนำให้ลองไปสักการะพระธาตุล้านนากันดู “อย่างที่สาม ขอแนะนำเป็นประเพณีสงกรานต์ สงกรานต์ในแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน คือสงกรานต์ภาคเหนือสามารถเที่ยวตั้งแต่เชียงใหม่มาแพร่ได้ เพราะเป็นสงกรานต์ที่จัดนานมาก อย่างแพร่จะจัดถึงวันที่ 17 - 18 เลย สงกรานต์ที่แพร่ทุกคนจะใส่หม้อห้อม มันน่ารักมาก ๆ ทุกคนจะแต่งตัวเหมือนกันหมด บางคนไปซื้อเสื้อหม้อห้อมใหม่มา ก็จะมีสีน้ำเงินเต็มเท้า เต็มตัว เพราะว่าซักไม่ทัน สีหม้อห้อมก็จะตกหน่อย แต่รู้สึกว่ามันเป็นประเพณีที่สนุกมาก” สำหรับใครที่กำลังคิดถึงภาคเหนือ ภาพยนตร์เรื่อง ‘ส้มป่อย’ คงจะช่วยให้ทุกคนคลายความคิดถึงไปได้มากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศที่ราวกับทำให้ชาวเหนือได้กลับบ้าน ประเพณีและวัฒนธรรมที่ทำให้ใครก็อยากไปแอ่ว (เที่ยว) รวมไปถึงเรื่องราวความรักที่ทำให้ทุกคนได้ลุ้นไปตาม ๆ กัน ทั้งหมดคือเสน่ห์ที่อยู่ทั้งในภาพยนตร์และชีวิตจริง ซึ่งน้ำตาล - พิจักขณาแนะนำให้ทุกคนไปสัมผัสมนต์เสน่ห์เหล่านั้นจากทั้งสองทาง น้ำตาล - พิจักขณา วงศารัตนศิลป์ ตัวแทนสาวล้านนาที่จะมาลบภาพจำของ ‘สาวเหนือผู้อ่อนช้อย’ เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ภาพ: ภาพยนตร์เรื่องส้มป่อย (2564)