ปิแอร์ การ์แดง: แกะดำวงการแฟชัน ผู้หลงรักอวกาศ และมาจากอนาคต

ปิแอร์ การ์แดง: แกะดำวงการแฟชัน ผู้หลงรักอวกาศ และมาจากอนาคต
เช เกวารา, เหมาเจ๋อตุง หรือ จิตร ภูมิศักดิ์ อาจเป็นชื่อนักปฏิวัติที่หลายคนรู้จักและคุ้นหู แต่ถ้าพูดถึงนักปฏิวัติวงการแฟชัน หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ ปิแอร์ การ์แดง (Pierre Cardin) อยู่แถวหน้า   ปิแอร์ การ์แดง โลดแล่นในวงการแฟชั่นมานานกว่า 70 ปี และได้รับฉายา “นโปเลียนแห่งผู้ครองสิทธิบัตร”   เขาปฏิวัติวงการแฟชันชนชั้นสูงของฝรั่งเศส หรือ โอต์ กูตูร์ ให้สามัญชนคนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเป็นกูตูริเยร์คนแรกที่นำชื่อตนเองไปทำเป็นโลโก้ ประทับบนสินค้าทุกชิ้นที่วางตลาด ไม่ใช่แค่เสื้อผ้าเครื่องประดับ แต่ยังรวมถึงเฟอร์นิเจอร์ ปากกา อาหาร น้ำหอม ยันรถยนต์   งานออกแบบที่ทำให้เขามีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก คือ งานดีไซน์แนวอวกาศ และแฟชั่นแห่งโลกอนาคต กล้าใช้วัสดุสังเคราะห์แปลกใหม่ตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า และมีตำนานดาราศิลปินอย่าง เดอะ บีทเทิลส์ และเอวา เปรอง ช่วยรับรองคุณภาพ   ความกล้าทำสิ่งใหม่ ๆ และฉีกขนบธรรมเนียมเก่าของวงการแฟชัน ทำให้บางครั้งเขาอาจถูกมองเป็นแกะดำ และถูกต่อต้านจากเพื่อนร่วมอาชีพ แต่นั่นก็ไม่อาจหยุดยั้งคนอย่าง ปิแอร์ การ์แดง ให้หยุดคิด เพราะตลอดชีวิตของเขาคือการก้าวไปข้างหน้าเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้วงการแฟชัน   เกิดยุคปฏิวัติอิตาลี ลี้ภัยไปฝรั่งเศส   ปิแอร์ การ์แดง หรือชื่อเดิม ปิเอโตร การ์แดง เกิดวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1922 ใกล้กับเมืองเตรวิโซ ประเทศอิตาลี เป็นลูกคนเล็กในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 11 คน ของครอบครัวพ่อค้าผู้มีอันจะกิน โดยบิดาของเขาเป็นชาวฝรั่งเศสมีอาชีพพ่อค้าไวน์   ปิแอร์ การ์แดง เกิดปีเดียวกับที่ เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์อิตาลี ก่อการปฏิวัติยึดอำนาจพอดี ทำให้ครอบครัวต้องอพยพลี้ภัยการเมืองเข้าไปในฝรั่งเศส และปักหลักใช้ชีวิตในแซงต์ เอเตียน เมืองอุตสาหกรรมของแดนน้ำหอม   ในวัยเด็ก พ่อแม่คาดหวังให้เขาโตไปเป็นนักธุรกิจดูแลสืบทอดกิจการครอบครัว แต่ ปิแอร์ การ์แดง สนใจศิลปะมากกว่า ทางบ้านจึงส่งไปเข้าเรียนเป็นสถาปนิก ซึ่งก็ยังไม่ใช่ความฝันของเขาอยู่ดี   ช่วงแรก หนุ่มน้อยปิแอร์ ฝันอยากทำงานการแสดง เพราะหลงใหลในบัลเล่ต์ และละครเวที แต่ต่อมาพอได้ทำหน้าที่ออกแบบชุดคอสตูมให้นักแสดงบนเวที เขาก็รู้ทันทีว่า ตนเองหลงรักงานดีไซน์ และอยากโตไปเป็นดีไซเนอร์   เริ่มอาชีพเด็กฝึกงาน   ปิแอร์ การ์แดง เริ่มเรียนรู้งานตัดเย็บเสื้อผ้าจริงจังตั้งแต่อายุ 14 ปี ด้วยการอาสาเป็นผู้ช่วยช่างตัดเย็บเสื้อผ้าท้องถิ่นในเมืองวีชี แม้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนอายุ 17 ปี ถูกเกณฑ์ไปทำงานในองค์การกาชาดฝรั่งเศส แต่เขาก็ยังไม่ยอมละทิ้งการเรียนรู้วิชาตัดเย็บเสื้อผ้า และยังทำงานที่รักนี้ควบคู่กันไป   ปี 1945 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ปิแอร์ มุ่งหน้าเข้ากรุงปารีส ของฝรั่งเศส เพื่อสานฝันอาชีพดีไซเนอร์ โดยเริ่มต้นด้วยการสมัครเป็นเด็กฝึกงานตามแฟชันเฮาส์ชื่อดังต่าง ๆ รวมถึง คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior)   ขณะเดียวกันก็ได้รับโอกาสให้ออกแบบชุดเสื้อผ้านักแสดง ซึ่งเป็นแพสชันเดิม โดยปิแอร์ เคยร่วมงานดีไซน์เสื้อผ้าให้กองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง โฉมงามกับเจ้าชายอสูร (Beauty and the Beast) ทำให้ได้คอนเนกชันกับคนแวดวงแฟชันชั้นสูงจาก ฌอง ก็อกโต ศิลปินผู้กำกับหนังเรื่องดังกล่าว   ปิแอร์ การ์แดง ทำงานเป็นเด็กฝึกงานตามแฟชันเฮาส์กูตูร์อยู่นาน 5 ปี ก่อนจะเริ่มออกมาก่อตั้งแฟชันเฮาส์ของตนเอง ในปี 1950   แรงบันดาลใจปฏิวัติวงการจากญี่ปุ่น   เสื้อผ้าคอลเล็กชันแรกภายใต้แบรนด์ ปิแอร์ การ์แดง คือชุดสูทและเสื้อโค้ต ที่ทำจากผ้าวูลหนา ๆ เน้นให้เห็นรายละเอียดบนตัวผ้าเด่นชัด และมีการตัดเย็บที่เน้นทรงแนวเลขาคณิต ซึ่งกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเขาในเวลาต่อมา   ปี 1954 ปิแอร์ การ์แดง สร้างความฮือฮาด้วยการเปิดตัวกระโปรงทรงบับเบิล ที่รัดรูปตรงสะโพก แต่พองหลวมช่วงต้นขา และสอบแคบแนบขาลงมาที่ปลายกระโปรง โดยแฟชันเซ็ตนี้ได้ เอวา เปรอง ดาราและสตรีหมายเลข 1 ของอาร์เจนตินายุคนั้นนำไปสวมใส่ ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดัง   อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนที่ทำให้ ปิแอร์ การ์แดง กลายเป็นนักปฏิวัติแห่งวงการแฟชันชั้นสูงอย่างจริงจัง น่าจะเป็นประสบการณ์ที่เขาได้รับกลับมาจากการเดินทางไปเปิดโลกทัศน์ในฐานะศาสตราจารย์กิตติคุณที่วิทยาลัยแฟชันบุนกะ (Bunka Fashion College) ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 1958   ปิแอร์ยอมรับว่า เขาชื่นชอบปรัชญาการออกแบบของแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งช่วงเวลานั้นยังอยู่ระหว่างการพัฒนาฟื้นฟูประเทศขึ้นมาใหม่ โดย ปิแอร์ การ์แดง เป็นกูตูริเยร์เจ้าแรกที่เข้าไปจับมือเป็นพันธมิตรทางการค้ากับญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง   ถูกขับจากสมาคมโอต์กูตูร์   หลังกลับจากญี่ปุ่นในปี 1959 ปิแอร์ การ์แดง ทำสิ่งที่ช็อกวงการ โอต์ กูตูร์ ด้วยการเป็นแฟชันเฮาส์ชั้นสูงเจ้าแรกที่ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปออกวางขายที่ พรองตองป์ ห้างหรูอายุเก่าแก่กลางกรุงปารีส ทั้งที่ยุคนั้น เหล่าแฟชันเฮาส์กูตูร์ ยังคงเน้นงาน “สั่งตัดเท่านั้น” เพื่อรักษาฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่มไฮโซ   การปฏิวัติวงการแฟชันครั้งนั้น สร้างความไม่พอใจให้กับบรรดากูตูริเยร์รุ่นเก๋า รวมถึง อีฟ แซงต์ โลรองต์ (Yves Saint Laurent) และว่ากันว่า ทำให้เขาถูกขับออกจากสมาคมการค้า โอต์ กูตูร์ อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะพิสูจน์ได้ว่า โมเดลการค้านี้ประสบความสำเร็จ และมีแบรนด์อื่น ๆ ทำตาม จึงกลับมาได้รับการยอมรับอีกครั้ง   “พวกเขามองผมว่าด้อยค่า” ปิแอร์ การ์แดง เปิดใจถึงการถูกมองเป็นแกะดำของวงการ โอต์ กูตูร์ “ผมมักชวนพวกเขาออกไปเที่ยวเล่น แต่พวกเขาไม่เคยชวนผมไปด้วยเลยสักครั้ง”   จุดสูงสุดในอาชีพดีไซเนอร์ของ ปิแอร์ การ์แดง น่าจะอยู่ในยุคทศวรรษ 1960 เริ่มตั้งแต่ต้นทศวรรษที่เขาปฏิวัติการออกแบบสูทของผู้ชาย ด้วยการเปลี่ยนทรงดั้งเดิมแบบหลวม ๆ รุ่นคุณพ่อ มาตัดเย็บให้เข้ารูปนำสมัย และเรียบง่ายไร้คอปก โดยได้แรงบันดาลใจจากแจ็คเกตของเยาวหระลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีอินเดีย   บุกเบิกชุดยูนิเซ็กส์และแฟชันอวกาศ   สูทคอลเล็กชันนี้ของ ปิแอร์ การ์แดง โด่งดังไปทั่วโลก และเป็นที่ใฝ่ฝันของวัยรุ่นยุคนั้นเกือบทุกคน เมื่อนักร้องชื่อดังอย่าง จอห์น เลนนอน และพอล แม็กคาร์ตนีย์ พร้อมผองเพื่อนสมาชิกวงเดอะ บีทเทิลส์ นำไปสวมใส่ออกรายการทีวี   นอกจากนี้ ปิแอร์ การ์แดง ยังเป็นผู้บุกเบิกแฟชันเสื้อผ้าที่ไม่อยู่ในกรอบคำจำกัดความเรื่องเพศ ทำคอลเล็กชันที่สวมใส่ได้ทั้งชายและหญิง หรือ ยูนิเซ็กส์ ออกมา   เท่านั้นยังไม่พอ เครื่องหมายการค้าของ ปิแอร์ การ์แดง ซึ่งเขาภาคภูมิใจมาก และเป็นสไตล์เฉพาะตัวที่ใครเห็นก็บอกได้ทันทีว่ามาจากยี่ห้ออะไร คือ การดีไซน์เสื้อผ้าแนวอวกาศ และโลกอนาคต โดยใช้วัสดุสังเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นฟอยล์ กระดาษ หรือไวนิลสีสันสดใส มาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสวมใส่   เขายอมรับว่า แรงบันดาลใจนี้มาจากโครงการอะพอลโล ซึ่งมีเป้าหมายส่งมนุษย์คนแรกขึ้นไปบนดวงจันทร์ขององค์การนาซา ทำให้ต่อมา เขาได้รับเกียรติจากนาซา เชิญไปร่วมออกแบบชุดนักบินอวกาศของจริงในที่สุด   “เสื้อผ้าที่ผมชอบ คือพวกที่ผมประดิษฐ์ให้สิ่งมีชีวิตที่ยังไม่เกิดมา มันคือโลกอนาคต” ปิแอร์ การ์แดง กล่าว “ผมออกแบบเพื่อวันพรุ่งนี้ ผมไม่เคยหันหลังมองกลับไป”   ทลายกำแพงการค้ายุคสงครามเย็น   อย่างไรก็ตาม ปิแอร์ ไม่ได้มองตนเองเป็นแค่ดีไซเนอร์ แต่ยังเป็นนักธุรกิจที่มีหัวคิดทันสมัยก้าวหน้า   เขาต่อยอดสินค้าแบรนด์ ปิแอร์ การ์แดง จากเสื้อผ้าเครื่องประดับ ไปสู่แว่นกันแดด น้ำหอม ปากกา เครื่องใช้ภายในบ้าน และอาหาร รวมถึงร่วมออกแบบให้รถยนต์ และเครื่องบินพาณิชย์ มีสิทธิบัตรสินค้าในครอบครองราว 800 รายการวางขายทั่วโลก จนได้รับฉายา “นโปเลียนแห่งผู้ครองสิทธิบัตร"   ขณะเดียวกันยังเป็นดีไซเนอร์ดังผู้ทลายกำแพงการเมืองและการค้า ด้วยการบุกเบิกเจาะตลาดสหภาพโซเวียต และจีน ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น เป็นกูตูริเยร์เจ้าแรกที่ไปจัดงานแฟชันโชว์กลางจัตุรัสแดง กรุงมอสโก และจ้างโรงงานในประเทศจีน ผลิตสินค้าจำนวนมากออกมาป้อนตลาดขนาดใหญ่ทั่วโลก   แม้แนวทางธุรกิจนี้ของเขาจะถูกนักการตลาดวิจารณ์ว่า ทำให้ภาพลักษณ์แบรนด์สินค้ามีมูลค่าลดลง โดยในปี 2011 ปิแอร์ การ์แดง เคยประกาศขายกิจการทั้งหมดของตนเองที่ราคา 1,000 ล้านยูโร แต่ไม่มีใครสนใจเข้าซื้อกิจการ   แต่เขายังคงเชื่อมั่นในแนวทางธุรกิจนั้นของตนเอง พร้อมชี้ให้เห็นตัวอย่างของดีไซเนอร์ผู้มีชื่อเสียงหลายคน ที่ผลิตผลงานยิ่งใหญ่ออกมา แต่กลับต้องจบชีวิตลงโดยไม่เหลืออะไร   “ผมไม่อยากตายโดยไม่มีแม้สตางค์แดงเดียว และหลังจากผมตายไป 20 ปี มีคนอื่นมาหารายได้จากชื่อเสียงของผม” ปิแอร์ กล่าว “ดูผมตอนนี้สิ ผมเป็นทั้งผู้อุปถัมภ์ ศิลปิน และเจ้าของกิจการ ผมทำงานออกแบบทุกวัน และผมก็ควบคุมได้ทุกบาททุกสตางค์”   ปิแอร์ การ์แดง เสียชีวิตในโรงพยาบาลที่เมืองนุยยี ชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2020 ในวัย 98 ปี   แม้ไม่มีใครเปิดเผยมูลค่าทรัพย์สินมหาศาลของเขาที่ครอบครองไว้ขณะเสียชีวิต แต่ผลงานที่ผ่านมาของเขา ทั้งในฐานะนักออกแบบ นักธุรกิจ และนักปฏิวัติ จะยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลัง และได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการแฟชันโลกตลอดไป   เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล   ข้อมูลอ้างอิง: https://www.nytimes.com/.../29/style/pierre-cardin-dead.html https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-44294296 https://www.theguardian.com/.../french-designer-pierre...