#พิมรี่พาย กระตุกสังคมตั้งคำถาม ‘การบริจาค vs ปัญหาเชิงโครงสร้าง ?’

#พิมรี่พาย กระตุกสังคมตั้งคำถาม ‘การบริจาค vs ปัญหาเชิงโครงสร้าง ?’

‘การบริจาค vs ปัญหาเชิงโครงสร้าง ?’

ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่กระแสในสังคมออนไลน์ กรณีพิมรี่พายนำโซลาร์เซลล์ แปลงผักและทีวีไปติดตั้งให้หมู่บ้านแม่เกิบ อ.อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ต่อยอดให้เกิดประเด็นการถกเถียงว่า การบริจาคหรือให้ความช่วยเหลือในลักษณะนี้ เป็นการแก้ปัญหาเชิงปัจเจกชน แต่ที่สุดแล้วไม่ได้แก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างหรือไม่ ?  "เรากำลังจะไปในที่ที่ทุรกันดารมากที่สุด แล้วก็การศึกษาเข้าไม่ถึงมากที่สุดในประเทศไทย หมู่บ้านแม่เกิบค่ะ" เสียงของพิมรี่พาย ยูทูบเบอร์ชื่อดังที่มีคนติดตามกว่า 2.86 ล้านคน ในคลิป ‘สุขสันต์วันเด็ก พิมรี่พายจัดใหญ่ให้น้องบนดอยสูง (https://www.youtube.com/watch?v=nAkBXvUA-gM )’ ก่อนจะพาผู้ชมไปทำความรู้จักกับหมู่บ้านที่แม่เกิบ อ.อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ไม่มีแม้แต่ไฟฟ้าใช้ "เด็กที่นี่ไม่มีความฝัน เพราะว่าเขามองภาพอะไรไม่ออก ยังไม่มีใครเรียนจบถึง ม.ต้นเลยครับ เขานึกจินตนาการไม่ออกว่า ถ้าไปเรียนต่อ มันจะเป็นยังไงต่อ เนื่องด้วยที่นี่เขาไม่ได้ดูทีวี ไม่ได้มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตอะไร" ครูเจตน์ สนธิ คุณครูประจำหมู่บ้านแม่เกิบกล่าวถึงเด็ก ๆ 40 กว่าคนในหมู่บ้าน พิมรี่พาย จึงตัดสินใจขึ้นดอยไปเซอร์ไพรซ์วันเด็กด้วยการทุ่มเงินกว่าครึ่งล้าน ซื้อรองเท้า ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ แปลงปลูกผัก และโทรทัศน์ตั้งไว้กลางลานหมู่บ้าน  หนึ่งทุ่มของวั้นนั้น เธอแจกไฟฉาย นัดหมายเด็ก ๆ มาพร้อมหน้า ก่อนเปิดผ้าคลุมทีวีที่ซื้อมาเซอร์ไพรซ์พวกเขา   “เด็ก ๆ รู้ไหมว่านี่เขาเรียกว่าอะไร”  เสียงเงียบกริบ คือ คำตอบที่ส่งกลับมา “มีใครเคยเห็นทีวีมั่ง” เด็ก ๆ ส่ายหน้า "โตขึ้น ถ้าไม่รู้ว่าอยากเป็นอะไร พอพี่พิมลงไปแล้วเนี่ยให้คุณครูเปิดให้ดูนะลูก ในนี้มีอาชีพเยอะแยะ พี่พิมให้เครื่องนี้เอาไว้เลย เปิดได้ตลอดเวลา มีโซลาร์เซลล์เรียบร้อยแล้ว"   ภาพสุดท้ายในคลิป คือเด็กน้อยในหมู่บ้านแม่เกิบมอจอตรงหน้าด้วยแววตาใส่ซื่อและตื่นเต้น คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ในวันศุกร์ที่ 8 มกราคม 2563 ก่อนยอดผู้เข้าชมคลิปจะทะลุหลักล้านในชั่วข้ามคืน กลายเป็นไวรัลที่ผู้คนพูดถึงจน #พิมรี่พาย ติดเทรนด์อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ประเทศไทย โดยมีทั้งเสียงชื่นชม การตั้งคำถามถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ไปจนถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกระทำของพิมรี่พาย   พิมรี่พายขายทุกอย่าง ชื่อเต็ม ๆ ของพิมรี่พาย คือ พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์  ส่วนชื่อ ‘พิมรี่พาย’ เป็นชื่อที่ตั้งตาม ‘แพรี่พาย อมตา จิตตะเสนีย์’ แฟชั่นไอคอนและบิวตี้กูรูชื่อดังผู้เป็นไอดอลในดวงใจเธอ ก่อนหน้านี้ เธอมีฐานแฟนคลับจำนวนมากและโด่งดังจากโลกออนไลน์ในฐานะยูทูบเบอร์สาวที่มีผู้ติดตามหลักล้าน และแม่ค้าฝีปากกล้าเจ้าของเพจ ‘พิมรี่พายขายทุกอย่าง’ ที่ไลฟ์สดขายของตั้งแต่เครื่องสำอาง น้ำหอม เครื่องรางของขลังไปจนถึงอาหาร แถมผลงาน ‘เพลงอย่านะคะ’ เพลงล่าสุดของเธอ เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2563 มามียอดวิว 20 กว่าล้านในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน อาจเพราะบุคคลิกโดดเด่นที่พูดตรง พูดแรง และเอ็นเตอร์เทนผู้ชมได้อยู่หมัด จึงทำให้เธอมีผู้ติดตามจำนวนมาก  ไม่นานมานี้ พิมรี่พายเริ่มผันตัวมาทำคลิปช่วยเหลือผู้คนที่ขาดแคลน เธอกล่าวถึงจุดเปลี่ยนที่หันมาทำคลิปเกี่ยวกับการทำความดีในไลฟ์สดเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2564 ใจความว่า “ขณะที่ไลฟ์สดขายของ ลูกค้าพิมว่าคุณพิมขายมาเลยค่ะเดี๋ยวซื้อเอง ขายมาเลยค่ะ รักคุณพิมค่ะ ชอบคุณพิมค่ะ สังคมแม่งรักกูขนาดนี้ มันก็เกิดความคิดว่า กูไม่ทำคอนเทนต์บ้า ๆ บอ ๆ แล้ว กูทำคอนเทนต์ความดี เริ่มที่คอนเทนต์ความดีเลย ไปช่วยคน เอาตังค์ที่ได้ที่มึงบอกว่ามึงกินข้าวแล้วมันอิ่มแค่นี้ ที่มันสุดความสามารถที่มึงจะต้องใช้เงินแล้ว ได้จากสังคมมาเท่าไร คืนให้สังคมเท่านั้น ให้สังคมแบบเต็มที่และเต็มใจที่สุด”   เสียงสะท้อนจากสังคม นอกจากกระแสชื่นชมแล้ว ยังมีผู้ที่ออกมาพูดถึงประเด็นนี้จำนวนมากโดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาเชิงโครงสร้าง นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแส #พิมรี่พาย ว่าคลิปนี้สะท้อนความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย ทั้งปัญหาเด็กด้อยโอกาสและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษารวมทั้งการจัดสรรงบประมาณของรัฐ  ส่วนศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะลดโลกร้อน กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการกระทำของพิมรี่พายที่ต้องการทำความดี แต่สิ่งที่ตนสนใจก็คือหมู่บ้านแม่เกิบ เป็นหมู่บ้านเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ประมาณ 6-7 ปีเท่านั้น ทำไมหน่วยงานรัฐจึงปล่อยให้เกิดหมู่บ้านแบบนี้ขึ้นมาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ  “ผมไม่ได้ตำหนิพิมรี่พายเขานะ น้องเขาทำดีแล้ว แต่ตำหนิหน่วยงานราชการที่ปล่อยให้เกิดหมู่บ้านแบบนี้ได้อย่างไร ปล่อยให้บุกรุกป่าสงวนทรัพยากรของแผ่นดินได้อย่างไร กรณีนี้จะมาอ้างสิทธิการเป็นชนเผ่า เป็นคนดั้งเดิมบนพื้นที่ไม่น่าจะได้” ศรีสุวรรณกล่าว นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า อรอานันท์ แสงมณี ออกมาชี้แจงว่าพิมรี่พายให้ข้อมูลบางอย่างที่คลาดเคลื่อนไป อย่างประเด็นไข่เจียวที่เด็ก ๆ ไม่รู้จัก เพราะเขาเรียกไข่เจียวกันว่า “ทอดไข่” และหากเด็ก ๆ ไม่รู้จักวิธีปลูกผัก เขาจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่มีผักรับประทาน พร้อมตั้งคำถามถึงประเด็นอื่น ๆ และชี้ชวนให้เข้าไปติดตามเพจของ เพจ ‘ศศช.บ้านแม่เกิบ กศน.อมก๋อย ที่คอยดูแลเรื่องนี้มาตลอด’ ซึ่งล่าสุด ทาง กศน.อมก๋อย ได้มีประกาศห้ามโพสต์ขอรับบริจาคผ่านโซเชียล ห้ามตอบโต้หรือแสดงความคิดเห็นในแง่ลบผ่านโซเชียล และห้ามรับบริจาคของทุกประเภทจากหน่วยงานภาคีหรือเครือข่ายอื่น ๆ ก่อนจะขอยกเลิกประกาศดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่ามีการสื่อสารคลาดเคลื่อน   เสียงตอบกลับจากพิมรี่พาย หลังจากที่มีประแสโซเชียลออกมาพูดถึงคลิปของพิมรี่พายหลากหลายประเด็น เธอเองก็ได้ไลฟ์สดตอบกลับเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมาว่า  “พิมมั่นใจว่าพิมไม่ผิด เด็กผู้หญิงคนหนึ่งแม่งอยากทำความดี แม่งมองโลกใหม่ ไม่ด่ากราด ไม่ทำคอนเทนต์บ้า ๆ บอ ๆ ทำความดีสู่สังคม กูผิดอะไร ถ้าจะผิด พิมโทษตัวเอง พิมกราบขอประทานโทษทุกท่าน ถ้ามันจะผิดเรื่องนี้พิมผิดที่พิมบกพร่อง ไม่ได้ประสานเจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่ตรงนั้น ตรงนี้ขอประทานอภัยจริง ๆ” เธอยังกล่าวอีกว่าจุดประสงค์ของเธอครั้งนี้ เพียงต้องการทำความดี มีเจตนาที่ดีเพื่อตอบแทนบุณคุณแผ่นดินและยืนยันจะทำต่อไป เธอกล่าวถึงดราม่าในโซเชียลมีเดียว่า “ดราม่าอะไรกันก่อน เอากูไปโยงทำไม เอากูไปเป็นเครื่องมือความสนุกให้พวกมึงทะเลาะกันทำไม แล้วอย่างนี้คนที่เขาจะทำความดีเขาจะทำต่อได้ไหม เงินกูหาเองเดี๋ยวแจกเองไม่ต้องสอน ” “กูจะทำต่อไป ไม่มีทางหวั่นไหวแน่นอนไม่ต้อง save ไม่มีใครรังแกอะไรพิมทั้งนั้น ไม่มีผู้ใหญ่ที่ไหนมารังแกพิมทั้งนั้น เขารู้ว่าเด็กคนนี้ต้องการทำความดี” เธอกล่าวทิ้งท้ายในไลฟ์สด  ล่าสุดวันที่ 11 มกราคม ไลฟ์สดดังกล่าวมีผู้เข้าชม 7.2 ล้านครั้ง และมีออร์เดอร์เข้ามาทำรายได้ให้เธอถึง 8 ล้านเศษ  แม้จะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่เห็นต่าง ซึ่งไม่มีคำตอบที่สุดท้ายตายตัวว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดจาก #พิมรี่พาย แม้จะเป็นการแก้ปัญหาในเชิงปัจเจกชน แต่มันสามารถต่อยอดให้เกิดการกระตุก กระตุ้นให้สังคมคิดและลุกมาตั้งคำถามและสนใจประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของของสังคมไทยที่มีมาอย่างยาวนาน   ที่มา https://women.kapook.com/view236084.html https://www.youtube.com/watch?v=nAkBXvUA-gM https://www.facebook.com/june.june.jung/posts/4972244199513766  https://www.facebook.com/watch/live/?v=167567754699486&ref=watch_permalink https://thestandard.co/pimrypie-solar-cell-national-park/ https://www.facebook.com/MGRonlineLive/photos/a.654644807900440/4113641525334067/  https://www.matichon.co.th/politics/news_2521269