Pink Floyd - Another Brick in the Wall, Pt.2: เบื้องหลังกำแพงแห่งระบบการศึกษาคือเครื่องบดเนื้อมนุษย์

Pink Floyd - Another Brick in the Wall, Pt.2: เบื้องหลังกำแพงแห่งระบบการศึกษาคือเครื่องบดเนื้อมนุษย์
/ We don’t need no education. We don’t need no thought control / ท่ามกลางดนตรีจังหวะดิสโกอันเป็นที่นิยมอยู่ในยุค 70s ตอนปลาย ภายในบทเพลงของวงไซคีเดลิกร็อก ‘Pink Floyd’ เสียงใส ๆ ของเหล่าเด็กนักเรียนโรงเรียน Islington Green กำลังขับร้องถ้อยคำที่ขัดกับความเป็นนักเรียนอย่างร้ายกาจ ประโยค ‘เฮ้! คุณครู ปล่อยให้เด็กพวกนั้น (พวกเรา) อยู่กันเองซะ’ ที่เด็ก ๆ จำนวน 23 คนขับร้องออกมาและถูกบรรจุไว้ในเพลงเสียดสีระบบการศึกษาที่ชื่อว่า ‘Another Brick in the Wall Pt.2’ นั้นทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียนของพวกเขาถึงกับหน้าชาเมื่อเพลงถูกปล่อยออกมา แถมยังดังเป็นพลุแตก ‘Another Brick in the Wall Pt.2’ คือแทร็กที่โด่งดังที่สุดจากอัลบั้ม ‘The Wall’ สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 7 เมื่อปี 1979 ของ ‘Pink Floyd’ ที่ได้กลายเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกันภายใต้คอนเซปต์เพลงชุดนี้ที่เล่าถึงชีวิตของตัวละครสมมติ ‘พิงก์ ฟลอยด์’ เรื่องราว ‘การสร้างกำแพง’ ของเขาถูกถ่ายทอดลงใน ‘The Wall’ อย่างหมดเปลือก ตั้งแต่การสูญเสียพ่อผู้จากไปในสงครามโลกครั้งที่สอง การอยู่กับแม่ที่ปกป้องเขาจนเกินกำลัง ชีวิตในโรงเรียนที่น่าเหนื่อยหน่ายและถูกครูทำร้ายจิตใจจนเขาเฝ้าคิดว่า ‘เราไม่ต้องการการศึกษา’ ไปจนถึงวันที่เติบโตเป็นร็อกสตาร์ เสพยา และ ‘หลุดลอยจากโลกอย่างสิ้นเชิง’   พิงก์ในกำแพง ทุกครั้งที่ต้องผ่านเรื่องเลวร้าย มนุษย์ไม่อาจทำอะไรได้มากไปกว่าสร้างกำแพง – นี่คือความคิดเบื้องหลัง ‘The Wall’ ของ ‘โรเจอร์ วอเทอร์ส’ (Roger Waters) มือเบส นักร้อง และนักแต่งเพลงหลักของ Pink Floyd ในอัลบั้มชุดนี้ ไอเดียของการสร้างกำแพงผุดขึ้นในหัวโรเจอร์ตั้งแต่ครั้งปี 1977 ที่เขาและวงต้องแสดงสดท่ามกลางผู้คนมากมายในเทศกาลดนตรี “คนดูบางคนก็มาที่นี่เพื่อดูเรา เพื่อฟังดนตรีจริง ๆ แต่บางคนก็ไม่ พวกเขามาเพื่อดื่ม เพื่อพูดคุย เพื่อทะเลาะและโหวกเหวก บนเวทีนั้นผมรู้สึกถึงกำแพงขนาดใหญ่ที่กั้นกลางระหว่างผมกับผู้ชมด้านล่าง” โรเจอร์จึงเริ่มเขียนบทเพลงเหล่านั้น หลังจากสองปีให้หลังเรื่องราวของเด็กชายพิงก์ในกำแพงก็ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง โดยชีวิตวัยเด็กของพิงก์อ้างอิงจากชีวิตของโรเจอร์เอง ส่วนชีวิตเมื่อครั้งเป็นผู้ใหญ่นั้นคลับคล้ายกับชีวิตของ ‘ซิด บาร์เร็ต’ (Syd Barrett) อดีตมือกีตาร์และนักแต่งเพลงของ Pink Floyd ในช่วงแรกเริ่ม   Hey, teachers, leave them kids alone. แม้ภาพยนตร์ ‘The Wall’ ที่เผยแพร่เมื่อปี 1982 สามปีให้หลังนับจากการวางแผงและประสบความสำเร็จของอัลบั้ม จะเป็นการเปลือยเปล่าและบอกเล่าชีวิตที่โดดเดี่ยวอยู่หลังกำแพงของตัวละครพิงก์ได้อย่างลงตัวในตลอดทั้งเรื่อง หากฉากจำของภาพยนตร์ดังกล่าวก็ยังล้อไปกับชาร์ตเพลง ‘Another Brick in the Wall Pt.2’ ที่ขึ้นอันดับหนึ่งในสองฟากฝั่งของแอตแลนติก – ทั้งในอังกฤษและสหรัฐฯ หลังจากการถากถางอันไร้ความเป็นธรรมที่ครูคนหนึ่งกระทำต่อบทกวีของพิงก์ – เขาอ่านมันด้วยน้ำเสียงเยาะเย้ยอย่างเต็มขั้น เด็ก ๆ ในห้องเรียนได้ยินดังนั้นจึงหัวเราะตามโดยไม่มีใครทันได้นึกถึงความรู้สึกของพิงก์ หลังจากบทเพลง ‘The Happiest Days of Our Lives’ นั่นเองที่ ‘Another Brick in the Wall Pt.2’ ภายในภาพยนตร์เริ่มขึ้น ภาพเด็ก ๆ ที่ย่ำเท้าในจังหวะเดียวกันและเดินไปข้างหน้าในจังหวะเดียวกันภายในสถานที่ที่ดูเหมือนโรงงานนั้นชวนให้รู้สึกถึงคำ ‘ควบคุมความคิด’ ที่ปรากฏในเนื้อเพลงอยู่ไม่น้อย เด็ก ๆ เหล่านั้นเดินลับหายไปเบื้องหลังกำแพงที่ก่อด้วยอิฐ และเมื่อออกมายังอีกฟากฝั่ง ใบหน้าของพวกเขากลับถูกสวมด้วยหน้ากากน่าขนลุก เด็กหญิงและเด็กชายเหล่านั้นยังเดินต่อไป ต่อไป และต่อไป จนถึงก้าวเดินสุดท้ายของพวกเขา ปลายทางของสถานที่แห่งนั้นคือการร่วงหล่นลงสู่ ‘เครื่องบดเนื้อ’ ขนาดยักษ์ ภาพเด็กหญิง-ชายที่กลายเป็นเนื้อบดถูกแทนที่ด้วยฉากที่เด็ก ๆ ถอดหน้ากากและหลุดพ้นจากการควบคุมความคิด พวกเขาโยนหน้ากากขึ้นฟ้า วิ่งวุ่น ทุบและทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า คว้าค้อนขึ้นทุบอิฐก้อนแล้วก้อนเล่า พวกเขาจุดไฟ และเผาโรงเรียนของตนให้ไหม้เป็นจุณ ภาพยนตร์ได้ดึงเรากลับมาอย่างทันท่วงทีก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายไปมากกว่าที่เป็น ฉากถัดมาแสดงให้เห็นว่าเรื่องราวทั้งหมดเป็นเพียงการฝันกลางวันถึง ‘การแก้แค้น’ ที่เกิดขึ้นในหัวของพิงก์แต่เพียงเท่านั้น    We don't need no education. หลังจากฉากดังกล่าวใน ‘Another Brick in the Wall Pt.2’ เป็นที่แพร่หลาย แม้นัยหนึ่งจะฟังคล้ายกับว่า Pink Floyd ต้องการล้างบางการศึกษาทิ้งทั้งระบบ หากโรเจอร์กลับบอกว่าโดยเนื้อแท้แล้วเขาสนับสนุนและเห็นความสำคัญของการศึกษายิ่งกว่าอะไรทั้งหมด “ผมว่ามันยากทีเดียวถ้าคุณจะหาใครที่ ‘pro-education’ ไปมากกว่าผม ผมสนับสนุนการศึกษามาก ๆ แต่ด้วยการศึกษาที่ผมเคยได้รับมาจากโรงเรียนมัธยมฯ ชายล้วนในช่วงทศวรรษ 1950 น่ะเต็มไปด้วยการควบคุมที่ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกอยากกบฏ อันที่จริงเพลงนี้คือเพลงต่อต้านรัฐเสียมากกว่า – ต่อต้านคนที่มีอำนาจเหนือและกดขี่คุณเอาไว้” ท่ามกลางการถกเถียงของแฟนเพลงถึงความผิดแกรมมาร์ของรูปประโยค ‘We don’t need no education. We don’t need no thought control’ ที่หลายคนบอกว่าเป็นไปเพื่อความ ‘เข้าปาก’ เวลาร้องเท่านั้น หากหลาย ๆ คนก็กลับขบคิดว่ามีความหมายแฝงซ่อนอยู่ในประโยคปฏิเสธเชิงซ้อนเหล่านี้ บางคนแปลมันโดยยึดหลัก ‘don’t’ หักล้าง ‘no’ และถอดใจความที่แท้จริงได้ว่า ‘เราต้องการการศึกษา’  นำมาซึ่งการถอดความอีกประการว่า แม้พิงก์ ฟลอยด์ (ตัวละครในภาพยนตร์) จะต้องการการศึกษา แต่เขากลับ ‘ไม่ได้ต้องการการศึกษาแบบนี้’ และ ‘ไม่ได้ต้องการการควบคุมความคิดแบบนี้’ เช่นเดียวกับโรเจอร์และ Pink Floyd (วงดนตรี) ที่เชื่อว่าการศึกษานั้นสำคัญยิ่ง แต่การศึกษาที่กัดเซาะ – ทุบตีตัวตนของเด็กจนแหลกละเอียดราวกับเครื่องบดเนื้อและขึ้นรูปใหม่เป็นมนุษย์แรงงานที่คิดและทำอะไรเหมือน ๆ กันไปหมดไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการ “ผมไม่ได้เหมารวมว่าครูทุกคนเป็นคนชั่วร้าย หรือครูที่โรงเรียนนั้นทั้งหมดเป็นคนไม่ดี ครูหลาย ๆ คนเป็นคนดีมาก ๆ แต่คนที่แย่ก็แย่มาก ๆ เหมือนกัน ครูบางคนที่โรงเรียนนั้นปฏิบัติตัวกับนักเรียนแย่อย่างไม่น่าเชื่อ เขาเอาแต่ดูถูกและกดดันเด็ก ๆ ไม่เคยให้กำลังใจหรือกระตุ้นให้พวกเขาทำอะไรนอกจาก ‘อยู่นิ่ง ๆ’ กับ ‘เงียบ ๆ’ ครูเหล่านั้นทุบตีพวกเขาให้อยู่ในรูปร่างที่ถูกต้องสำหรับการเข้ามหาวิทยาลัย”   “How can you have any pudding when you don’t eat your meat?” นอกเหนือไปจากการหัวเราะเยาะบทกวีของพิงก์แล้ว ประโยคข้างต้นที่ถูกบรรจุลงในช่วงท้ายของเพลงก็เป็นอีกสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างกำแพงของเด็กชาย ประโยค “ถ้าแกไม่กินข้าวแกจะไม่มีวันได้กินพุดดิ้ง” ทำให้พิงก์ เด็กอีกหลายคน และผู้ฟังเพลงนี้เกิดความสงสัยว่าหากเขาไม่ต้องการกินพุดดิ้งล่ะ? ถ้าเป็นเช่นนั้นจะยังจำเป็นอยู่หรือที่เขาต้องกล้ำกลืนมื้ออาหารที่ตนไม่ชอบ? หรือถ้าจะมองว่าประโยคดังกล่าวคือถ้อยคำเปรียบเปรยว่า ถ้าไม่ผ่านเรื่องทุกข์บางเรื่องไปก็จะไม่เจอเรื่องสุข ก็อาจจะนำมาซึ่งคำถามอีกว่าความเจ็บปวดหรือเรื่องทุกข์บางประการนั้นจำเป็นต่อการเติบโตจริงหรือ? หรือแท้จริงแล้วเราสามารถกินพุดดิ้งได้โดยไม่ต้องทนกับรสชาติที่เราไม่ต้องการ แม้ ‘มื้ออาหาร’ จะสำคัญ หากมื้ออาหารที่ถูกจัดสรรโดยผู้ใหญ่ที่ไม่เคยแม้แต่จะชิมมันด้วยตัวเองสักครั้ง กระนั้นแล้วพวกเขาก็ยังกล่าวว่าสิ่งนั้น ‘ถูกต้องและจำเป็น’ หรืออย่างไร? เหล่านี้คือคำถามที่ ‘Pink Floyd’ ฝากไว้ โดยเก็บเกี่ยวจากประสบการณ์ของตนในยุค 50s เพื่อเล่าผ่านเพลงในยุค 70s อาจจะฟังดูตลกร้ายไปสักหน่อยที่แม้วันเวลาจะล่วงเลยมาร่วมสี่สิบปี หากคำถามจากวันวานเหล่านั้นก็ยังดูเข้าเค้าและใช้ได้ดีแม้ในยุคปัจจุบัน   ที่มา: https://www.lyrics.com/lyric/3447777/Pink+Floyd/Another+Brick+in+the+Wall%2C+Pt.+2 https://www.songfacts.com/facts/pink-floyd/another-brick-in-the-wall-part- https://societyofrock.com/the-story-behind-another-brick-in-the-wall-part-2-by-pink-floyd/ http://www.thewallanalysis.com/another-brick-in-the-wall-part-2/ https://www.angelfire.com/punk/kissme/wall.htm https://www.pinkfloydz.com/interviews/the-wall-interview-with-tommy-vance-1979/