พิศาล อัครเศรณี: ชีวิตที่มากกว่าคำว่า “พระเอกตบจูบ”

พิศาล อัครเศรณี: ชีวิตที่มากกว่าคำว่า “พระเอกตบจูบ”

ชีวิตที่มากกว่าคำว่า “พระเอกตบจูบ”

เรื่องราวชีวิตของดาราที่ได้รับฉายาว่า “พระเอกตบจูบ” ตำนานอีกหน้าสำคัญของวงการบันเทิงเมืองไทย  “อาเปี๊ยก” พิศาล อัครเศรณี เกิดเมื่อวันที่  21 มิถุนายน 2488  เป็นน้องชายของกิตติ อัครเศรณี อดีตผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชื่อดัง ด้วยชีวิตที่ค่อนข้างยากลำบากในวัยเยาว์ พิศาลผู้มีบุคลิกแบบนักสู้มาตั้งแต่เด็ก ถึงกับเคยสมัครขึ้นชกมวยอาชีพตามเวที เพื่อหาเงินมาช่วยเหลือครอบครัว  โดยไม่ได้มีความคิดอยากเป็นนักแสดงมาก่อนเลยสักครั้ง จุดเปลี่ยนมาถึงในช่วงประมาณ ปี พ.ศ.2505 เมื่อ ถนอม อัครเศรณี อดีตนักแสดงและนักตอบปัญหาหัวใจทางหน้าหนังสือพิมพ์ชื่อดัง นามปากกาว่า "ศิราณี"  ซึ่งเป็นอาแท้ ๆ ของพิศาล ได้นำพาเขาให้เข้ามาสอบอ่านข่าวทางวิทยุที่สำนักข่าวสารอเมริกัน (USIS) พิศาลจึงเริ่มผันตัวจากนักกีฬามาเป็นสู่วงการวิทยุอย่างเต็มตัว ในเวลาเพียงไม่นาน  เขากลายเป็นทั้งผู้ประกาศข่าว นักจัดรายการ นักพากย์สารคดี รวมทั้งเล่นละครวิทยุอีกหลายสิบเรื่อง ทั้งที่สถานีวิทยุ ททท. และสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ในระหว่างที่ได้แสดงความสามารถทางการใช้เสียงอย่างเต็มที่อยู่นี้เอง  พิศาลก็ได้รับการชักชวนจาก ชาญยุทธ สระแก้ว นักเขียนบทละครเพลงทางโทรทัศน์ ให้มาเล่นละครโทรทัศน์เรื่อง "อัมพิกาเทวี"  โดยได้รับบทเป็นขุนศึก ซึ่งความยากของละครร้องในยุคนั้น คือนักแสดงต้องแสดงสดออกจอโทรทัศน์ร่วมครึ่งชั่วโมง โดยดาราใหม่อย่างพิศาล ต้องจำทั้งคำพูดและเนื้อเพลง ซึ่งแม้จะเกิดอาการสั่นเพราะความตื่นเต้น แต่เขากลับได้รับคำชมจากหลายต่อหลายคน  ว่าสามารถแสดงอารมณ์ออกมาให้ได้อย่างดีเยี่ยม  ซึ่งนับเป็นการปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งแรกในฐานะนักแสดงได้อย่างสวยงาม นับตั้งแต่นั้น พิศาลก็เริ่มเป็นที่รู้จักในบทบาทนักแสดงละครโทรทัศน์  กระทั่งช่วงต้นทศวรรษที่ 2510 จึงเริ่มมีผลงานการแสดงภาพยนตร์ อย่าง สายเลือดเดียวกัน (2512)  เรือมนุษย์ (2513)  แต่ส่วนใหญ่แล้ว เขายังคงปรากฏตัวอยู่ในจอแก้วเป็นหลัก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะในช่วงเวลานี้เขาได้เข้ามาทำงานที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3  โดยนอกจากการเป็นดาราระดับพระเอกแล้ว ยังได้แสดงความสามารถทั้งด้านการเขียนบทและกำกับการแสดงอีกด้วย  ซึ่งในช่วงปลายทศวรรษนี้ พิศาลได้เริ่มมีโอกาสกำกับภาพยนตร์เป็นเรื่องแรกคือ วิวาห์เงินผ่อน ออกฉายในปี พ.ศ.2518 ช่วงเวลาที่แท้จริงของ พิศาล อัครเศรณี ในโลกภาพยนตร์ไทยนั้น เกิดขึ้นในทศวรรษถัดมา เมื่อเขามีผลงานการแสดงภาพยนตร์ออกมามากมายกว่าสามสิบเรื่อง  ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2521-2530 เริ่มต้นจากการรับบทนำในภาพยนตร์รักโรแมนติกเรื่อง รักเอย ของ ม.จ.ทิพยฉัตร ฉัตรชัย ออกฉายในปี พ.ศ.2521 ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมในเวลานั้น แต่บทบาทที่กลายเป็นภาพแทนของพิศาล อัครเศรณี สำหรับแฟนหนังไทยนั้น  คือ บทพระเอกที่แสนโหดร้าย กักขฬะ และมักปะทะคารมกับนางเอกด้วยวาจาดุเดือด  รวมทั้งชอบโต้ตอบการตบตีของนางเอกด้วยการจูบหรือการแสดงความรักจนทำให้นางเอกใจอ่อนเสมอ ทำให้เขาได้รับฉายาว่าพระเอกตบจูบ หรือ พระเอกซาดิสม์ อย่างเช่นในเรื่อง มนต์รักอสูร (2521)  เลือดทมิฬ (2522) ไฟรักอสูร (2526) หัวใจเถื่อน (2528) อุ้งมือมาร (2529)  ฯลฯ ซึ่งเป็นบุคลิกแบบพิเศษที่ทำให้เขาแตกต่างจากพระเอกโดยทั่วไปอย่างสิ้นเชิง  นอกจากนี้ในช่วงเวลาเดียวกัน เขายังขึ้นแท่นเป็นผู้กำกับภาพยนตร์อย่างเต็มตัว และมีผลงานออกมามากมายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเป็นนักแสดง โดยมักร่วมแสดงในภาพยนตร์ที่ตนเองกำกับอยู่บ่อยครั้ง ผลงานที่โดดเด่นเหล่านี้เกิดขึ้นจากการเอาจริงเอาจังในการทำงาน ของ พิศาล อัครเศรณี  ซึ่งได้รับการยอมรับโดยทั่วกันจากผู้คนในวงการ รวมทั้งเขาเองยังเคยได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ในสาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเรื่อง พิศวาสซาตาน (2529) และสาขานักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง พ่อปลาไหลแม่พังพอน (2531)    หลังจากช่วงต้นทศวรรษที่ 2530 พิศาลเริ่มถอยห่างจากวงการภาพยนตร์ และกลับไปโดดเด่นทางจอแก้วเช่นเดิม ผลงานภาพยนตร์หลังจากช่วงเวลานี้ของเขาจึงมีออกมาไม่มากนัก ในส่วนผลงานละครโทรทัศน์เด่น ๆ ของพิศาล เขาทั้งกำกับและแสดงละครอย่างมากมายมาตลอด 50 ปีที่ผ่านมาในวงการบันเทิง (ยังไม่รวมถึงผลงานกำกับละครวิทยุกว่า 70 เรื่อง) ยกตัวอย่างผลงานละครที่แสดงก็เช่น กำแพงหัวใจ ปี 2517 (ช่อง 4) ละอองดาว ปี 2519 (ช่อง 9) แววมยุรา ปี 2519 (ช่อง 9) ขุนศึก ปี 2520 (ช่อง 5) รักประกาศิต ปี 2520 (ช่อง 9) ดอกฟ้าและโดมผู้จองหอง ปี 2521 (ช่อง 9) ค่าของคน ปี 2522 (ช่อง 5) ผู้ชนะสิบทิศ ปี 2523 (ช่อง 9) อวสานเซลล์แมน ปี 2530 (ช่อง 3) ลายหงส์ ปี 2531 (ช่อง 3) กาในฝูงหงส์ ปี 2535 (ช่อง 5) อุ้งมือมาร ปี 2537 (ช่อง 3) เชลยรัก ปี 2539 (ช่อง 9) สะพานรักสารสิน ปี 2541 (ช่อง 3) ในส่วนงานกำกับละครโทรทัศน์ ตัวอย่างผลงานเด่น ๆ ก็คือ มนต์รักอสูร ปี 2532 และปี 2547 ไฟรักอสูร ปี 2535 และปี 2552 อุ้งมือมาร ปี 2537 หัวใจเถื่อน ปี 2538 รักในสายหมอก ปี 2542 และหมูแดง ปี 2555 ปัจจุบัน ความสามารถในด้านวงการบันเทิงของเขาได้ถ่ายทอดมายังทายาทอย่าง  พิยดา อัครเศรณี  ลูกสาวผู้เป็นนักแสดงและพิธีกรที่มีชื่อเสียง รวมทั้ง อัครพล อัครเศรณี ลูกชายผู้เริ่มมีบทบาทในฐานะผู้กำกับการแสดง พิศาล อัครเศรณี จากไปด้วยวัย 73 ปี ด้วยภาวะหัวใจวาย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการบันเทิงไทย ทาง The People จึงขอร่วมไว้อาลัยกับการจากไปของ “อาเปี๊ยก” ณ ที่นี้   เรื่องและภาพ: หอภาพยนตร์(องค์การมหาชน) Thai Film Archive