พิษณุ ศัตรูลี้ CEO สยามบอร์ดเกม ผู้นำเข้าและแปลบอร์ดเกมมากที่สุดในเมืองไทย

พิษณุ ศัตรูลี้ CEO สยามบอร์ดเกม ผู้นำเข้าและแปลบอร์ดเกมมากที่สุดในเมืองไทย
หากคุณเคยสวมบทบาทพ่อค้าหน้าเลือดใน “Splendor: เกมค้าเพชร”, หัวร้อนเวลาถูกคนอื่นวางทับเส้นทางใน “Ticket to Ride: เกมต่อรถไฟ” หรือโกหกหน้าตายในฐานะหมาป่า “Ultimate Werewolf: เกมล่าปริศนา มนุษย์หมาป่า” เชื่อได้ว่าคุณคงติดใจกับการเล่นบอร์ดเกมอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณไม่เคยสัมผัสมันละก็ เราอยากให้คุณลองมาเล่นบอร์ดเกมดูสักครั้ง “คนที่รู้จักบอร์ดเกมแทบจะไม่มีใครไม่ชอบ แล้วเขารู้สึกอยากกลับมาเล่นใหม่ ใครมียังไม่เคยลอง อยากให้ลองเดินเข้าไปบอร์ดเกมคาเฟใกล้บ้านดู เข้าไปคนเดียวก็ได้ อย่างน้อยพนักงานก็ต้องเล่นกับคุณ แล้วเขาจะพาคุณไปรู้จักเพื่อนใหม่ผ่านเกม เราจะไม่เขินอายเพราะเราเล่นเกมอยู่ แล้วเกมจะทำให้เรารู้จักเขาขึ้นมาอัตโนมัติ” นี่คือคำพูดของ พิษณุ ศัตรูลี้ CEO สยามบอร์ดเกม (Siam Board Game) บริษัทที่แปลบอร์ดเกมเป็นภาษาไทยกว่า 30 เกม และงานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งที่ 47 นี้ ก็กำลังจะมี 2 เกมใหม่ “Colt Express: ขุมทรัพย์ม้าเหล็ก” เกมคาวบอยแย่งชิงขุมทรัพย์บนรถไฟ และ “8BitBox: 8บิทบ๊อกซ์”  บอร์ดเกมที่เลียนแบบเกม console สมัยก่อน The People จึงชวนเขามานั่งคุย ในฐานะผู้นำเข้าและแปลบอร์ดเกมชื่อดังมากมายให้กลายเป็นภาษาไทย ด้วยความหวังว่าอยากให้คนไทยได้เข้าใจและสร้างวัฒนธรรมการเล่นบอร์ดเกมให้เกิดขึ้นจริงในสังคม พิษณุ ศัตรูลี้ CEO สยามบอร์ดเกม ผู้นำเข้าและแปลบอร์ดเกมมากที่สุดในเมืองไทย The People: เล่าประสบการณ์เล่นบอร์ดเกมครั้งแรกให้ฟังหน่อย พิษณุ: ต้องถอยไป 3 รอบ ครั้งแรกคือตอนเล่นกับพ่อตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ พ่อจะเอาเกมเซ็ตที่เป็นไพ่หรือการ์ดมาเล่น ครั้งที่สองคือตอนเล่นกับเพื่อนที่ออสเตรเลียสมัยเรียนปริญญาตรี เกมชื่อว่า “Risk” เป็นเกมทหารยึดพื้นที่สู้กัน จำได้ว่าการเล่นบอร์ดเกมสนุกดี แต่ยังไม่ได้ลงลึกอะไรมาก แต่ก่อนทำบอร์ดเกมจริงจัง ตอนนั้นผมเรียนการบินที่นครพนม ผมกลัวไม่มีอะไรทำ กลัวเบื่อที่ไปอยู่ต่างจังหวัด เพราะไปอยู่เมืองชายแดนติดลาวเลย ผมก็เลยซื้อบอร์ดเกมไปเล่นกับเพื่อน ๆ เป็นเกมรถแข่ง “Formula D” แล้วเพื่อน ๆ รู้สึกบันเทิงกับมัน   The People: ความสนุกของการเล่นบอร์ดเกมคืออะไร เพราะบอร์ดเกมหลาย ๆ เกมค่อนข้างซีเรียสเลยนะ พิษณุ: จริง ๆ แล้วเกมมีหลายประเภท อยู่ที่ว่าเราจะเลือกเล่นอะไร มันเหมือนหนังแหละครับ มีหนังตลก หนังรัก หนังดรามา บอร์ดเกมก็เหมือนกัน เช่ม เกมหมาป่าจะเป็นเกมปาร์ตี้เน้นเอาฮา หรือเกมโรงไฟฟ้าจะแข่งขันเป็นตัวเลข เช่น ตานี้ฉันผลิตได้เงินเท่านี้ ก็จะเชือดเฉือนกันว่าใครคิดเงินได้พอดีกว่ากัน บอร์ดเกมมีหลากหลายประเภทครับ คนเล่นบอร์ดเกมก็จะเล่นเกมส์ใหม่ ๆ ด้วย เพื่อจะได้รู้จักและสัมผัสกับบอร์ดเกมมากขึ้น ส่วนตัวผมชอบเกมที่ไม่ต้องคิดเยอะ (หัวเราะ) แต่บางคนคิดเยอะแล้ว enjoy ก็มีนะ เขาบันเทิงที่จะแสดงออกมาว่า “ฉันเก่งกว่าเพื่อน” แต่บอร์ดเกมมีความสนุกมากกว่าแค่การเอาชนะ ผมเลยชอบเกมที่เข้าใจง่าย อธิบายครั้งเดียวรู้เรื่อง เล่นซ้ำได้ มันทำให้เราได้เล่นกับคนหลากหลายมากขึ้น   The People: หลายคนบอกว่า “การเล่นบอร์ดเกมทำให้เห็นธาตุแท้ของคนคนนั้น” จริงไหม พิษณุ: บอร์ดเกมจะคล้าย ๆ กลับเกมดิจิทัลหรือเกมคอมพิวเตอร์อย่างหนึ่งว่า มันทำให้เราได้ถอดหัวโขนปัจจุบันที่เราเป็นอยู่ อย่างผมเป็นเจ้าของบริษัท พอเล่นบอร์ดเกม “เกมค้าเพชร” ก็จะกลายเป็นพ่อค้าเพชร เล่น “เกมหมาป่า” ก็กลายเป็นหมาป่า เป็นแวมไพร์ ทำให้คนรู้สึกว่าเราไม่ใช่คนเดิมตรงนั้นแล้ว เราออกจากสถานภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่ ทำให้เราได้เข้าไปในโลกของบอร์ดเกม สรุปที่ถามว่าเห็นธาตุแท้ไหม มันจะตอบตรงนี้ว่า เฮ้ย! ฉันไม่ใช่แบบนั้น แล้วเราสามารถมีข้อแก้ตัวได้ว่า ฉันโกหกไปเพราะฉันเล่นในเกมอยู่ มีลูกค้ามาที่เกมหมาป่าที่ร้านแล้วทะเลาะกับแฟน แฟนวิ่งออกจากร้านไปเลย (หัวเราะ) เพราะไปโกหกแฟนว่า “ไม่ได้เป็นหมาป่า” สุดท้ายก็โดนแฟนตัวเองฆ่า คือบอร์ดเกมทำให้คนได้แสดงสิ่งที่เขาคิดอยู่ โดยมีตัวเกมเป็นตัวบอกบทบาท ไม่ได้เป็นตัวจริง เราเคยส่งเดโมเกมเข้าไปกับบริษัทหนึ่ง ให้ลูกน้องมาเล่นกับหัวหน้า ชีวิตจริงบางทีลูกน้องไม่กล้าพูดตรง ๆ กับหัวหน้าเลย แต่พอมาเป็นโปรแกรมบอร์ดเกมก็กล้าแสดงออกมากขึ้น อย่างน้อยเขาก็เปิดใจกัน บางทีพูดเล่น ๆ ในเกมแล้วพบว่าหัวหน้าไม่ได้เป็นคนซีเรียส มันก็เปลี่ยนมุมมองในการทำงานของเขาไปเลยก็ได้ แล้วพวกเขาก็จะเปิดใจกันมากขึ้น ข้อดีอีกอย่างของบอร์ดเกมคือการเคารพกติกา การเล่นบอร์ดเกมสอนให้เด็กรู้จักการเล่นตามกติกา ซึ่งเรื่องนี้ในสังคมไทยยังขาดค่อนข้างมาก เห็นได้ชัดจากตอนอธิบายเกมแบบหมาป่า จะมีคำถามออกมาจากผู้ใหญ่เรื่อย ๆ ว่า "ถ้าแอบเปิดตาล่ะ",  "ถ้าโกงล่ะ" คือมันกลายเป็นพื้นฐานความคิดคนไทยไปแล้วว่า โกงแล้วจับไม่ได้ เท่ากับ ไม่ผิด   The People: ทำไมถึงกล้าเอาบอร์ดเกมมาแปลเป็นภาษาไทย พิษณุ: เริ่มจากการทำร้านบอร์ดเกมประมาณ 2 ปี แล้ว publisher ที่เราซื้อลิขสิทธิ์ถามว่าจะลองแปลดูไหม เพราะการแปลมันทำให้ตลาดโตขึ้นเร็วมาก จากประสบการณ์ของเขาพบว่า ทุกครั้งที่มีการแปลเป็นภาษาถิ่น ตลาดบอร์ดเกมจะโต เขาใช้คำว่า exponential ขึ้นมา มันจะโตเร็วมาก เราก็เลยลองดูสักเกม ซึ่งเกมแรกที่ลองคือ “เกมค้าเพชร” เหมือนถูกหวย เกมดัง เกมดี เกมใหม่ และคนชอบ มันก็เลยติดตลาด คนไทยจำนวนพอสมควรที่อ่านภาษาอังกฤษไม่ได้ หรืออ่านได้เป็นคำ ๆ แปลเป็นประโยคต่อเนื่องไม่เก่งนัก เวลาเขาอ่านกติกา rule book ไม่เข้าใจ สุดท้ายแล้วก็ไม่เล่น แต่เหตุผลที่ตอนนี้บอร์ดเกมคาเฟเปิดกันเยอะเพราะคนไทยส่วนหนึ่งชอบให้สอน สิ่งที่ผมคิดก็คือ “เฮ้ย! เราอยากให้คนเล่นเยอะ ๆ ว่ะ” พอเขาเสนอให้ลองแปลไทย ก็เลยคิดว่า มันน่าจะดีนะ อย่างน้อยเขาอ่านเองได้ แปลได้ ซื้อไปเล่นที่บ้านโดยไม่ต้องมีคนสอนก็ได้ การแปลน่าจะทำให้คนรู้จักบอร์ดเกมมากขึ้น เรามั่นใจว่าบอร์ดเกมเป็นสินค้าที่ดี เป็นสินค้าสร้างสรรค์ พ่อแม่บางคนเคยบอกผมว่า บอร์ดเกมทำให้ลูกเลิกเล่นมือถือ เลิกเล่นเกมดิจิทัล และเลิกอยู่คนเดียว ผมก็เป็นคนเล่นเกมออนไลน์นะ RoV ก็เล่น สิ่งที่บอร์ดเกมแตกต่างจากเกมพวกนั้นคือ face to face เพราะฉะนั้นปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจะเปลี่ยนไปเลย เช่นเดียวกับคนวัยทำงานที่บอกว่า บอร์ดเกมเป็นสิ่งที่ทำให้เขานัดเพื่อนมาเจอได้ง่ายขึ้น ก่อนหน้านี้อาจเป็นกิจกรรมดูหนัง กินข้าว ร้องคาราโอเกะ หรือโยนโบว์ลิง แต่บอร์ดเกมจะมีเกมใหม่ ๆ ออกมาตลอดทุกเดือน ทำให้เรากลับมาเจอกันอีกครั้ง พิษณุ ศัตรูลี้ CEO สยามบอร์ดเกม ผู้นำเข้าและแปลบอร์ดเกมมากที่สุดในเมืองไทย The People: มีบอร์ดเกมภาษาต่างประเทศจำนวนมาก แล้วคุณมีเกณฑ์ในการคัดเลือกบอร์ดเกมที่จะนำมาแปลอย่างไร พิษณุ: ตอนแรกเลือกจากบอร์ดเกมในร้านว่าอันไหนคนเล่นเยอะ ซื้ออันไหนกลับบ้านเยอะ โดยเฉพาะดูจากคนซื้อ เพราะมีคนเล่นแล้วไม่ซื้อเยอะเหมือนกัน (หัวเราะ) มันจะมีเกมที่คนเล่นแล้วไม่ซื้อหรือเล่นครั้งเดียวพอ เราจับสังเกตได้ว่า เกมที่คนจะซื้อต้องเป็นเกมที่จบแบบเชือดเฉือนกันนิดเดียว เกมที่ดีเขาจะออกแบบมาให้แพ้-ชนะห่างกันนิดเดียว มันจะทำให้คนเกิดความรู้สึกอยากเล่นซ้ำ พออยากเล่นซ้ำ เขาจะเริ่มรู้สึกว่าเล่นที่ร้านมันเปลือง เขาก็จะซื้อกลับบ้านไป นี่คือเหตุผลในการเลือก อย่างที่สองคือเกมดัง ถ้าเป็นเกมดังจากเมืองนอก มันจะ prove ตัวเองมาแล้วว่า “ใช่” เช่น “เกมเหมียวระเบิด” (Exploding Kittens) ที่เมืองนอกดังมาก่อน ก็ลองมาแปลในตลาดเมืองไทยดูว่าจะเวิร์กไหม อย่างน้อยในประเทศอื่นก็มีคนชอบในระดับหนึ่งแล้ว ตอนนี้มีประมาณ 30 เกมในแคตตาล็อก ตอนแรกเราคาดหวังว่าจะออกเกมใหม่อย่างน้อยเดือนละเกม แต่พอทำไปสักพักมันหยุดไม่อยู่ เหมือน Shopping เพลิน (หัวเราะ) เกมนี้ก็ดี เกมนี้ก็ดี ก็เลยเริ่มเกินกว่าเดือนละเกมแล้วครับ ตอนนี้วางแผนอย่างน้อยเดือนละสองเกมไปแล้ว   The People: หรือเพราะตลาดบอร์ดเกมในประเทศไทยกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ? พิษณุ: คือ channel การขายของเรามีอยู่สองอย่าง หลัก ๆ คือตามร้านคาเฟ ส่งไปร้านบอร์ดเกมแล้วไปขายลูกค้าในร้านอีกทีหนึ่ง อีกทางหนึ่งก็คือขายใน B2S อันนี้เป็น mass market ซึ่งไม่เหมือนกับการขายส่งร้าน โดยเฉพาะการไม่มีคนมานั่งอธิบายว่าเกมนั่นเล่นอย่างไร มันจะเป็นกล่องวางเฉย ๆ แต่ยอดขายก็ขึ้นเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่เราเอาเกมใหม่มา เราก็เลยตัดสินใจทำต่อ เราคิดว่ามันมีตลาดนะ ไม่ใช่แค่เฉพาะคนในกรุงเทพฯ สาขาต่างจังหวัดก็มีขาย และยอดขายก็ไม่ได้น้อยเลย ผมจึงคิดว่าตลาดบอร์ดเกมในไทยไม่เล็กหรอก ยังมีที่ให้โตอีกเยอะ เพราะว่าคนยังมีที่ไม่รู้จักบอร์ดเกมอีกเยอะ แล้วทุกคนที่รู้จักบอร์ดเกมก็ยังไม่มีเสียง negative ออกมา ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่า บอร์ดเกมดี สิ่งไม่ดีอย่างเดียวก็คือการติดเกม แต่ว่ามันไม่ใช่การมอมเมา บอร์ดเกมยังมีตลาดอีกเยอะครับ ถ้าเขารู้จักตัวเกมส์เมื่อไหร่ เขาจะเปิดรับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สยามบอร์ดเกมกำลังพยายามคือ ทำให้คนรู้จักบอร์ดเกมให้ได้ก่อน พอเขารู้จัก มาเล่น แล้วติดใจ เขาก็จะซื้อ แต่ปัญหาก็คือเป็นภาษาอังกฤษนี่แหละ ทาง B2S บอกว่า เขาเคยเอาภาษาอังกฤษมาวาง ลูกค้าหยิบหมุนดู พอเห็นภาษาอังกฤษก็วางเลย แต่พอเป็นภาษาไทย เขาหยิบแล้วคิดเลือกว่าจะเอาหรือไม่เอา   The People: มันสะท้อนว่าภาษาอังกฤษของคนไทยยังไม่แข็งแรงหรือเปล่า พิษณุ: ต้องยอมรับจริง ๆ ว่า ภาษาอังกฤษคนไทยยังไม่ดีพอ คือคนที่เขาเก่งไปเลยมีอยู่แหละ แต่เปอร์เซ็นเทจคนที่มีความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษ เก่งพอที่จะเล่นได้มันจะมีกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกลุ่มนั้นเขาจะซื้อเกมภาษาอังกฤษไปเลย ขณะที่อีกกลุ่มพอเล่นเกมยาก ๆ เขาก็ต้องมานั่งแปลการ์ดทีละใบๆ คนกลุ่มนี้จะไม่ enjoy แล้ว เริ่มไม่สนุกกับบอร์ดเกม เราก็เลยพยายามให้คนกลุ่มนี้ได้อ่านภาษาไทย ทำให้เขาสนุกกับบอร์ดเกมโดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้ภาษาอังกฤษมากขนาดนั้น   The People: คุณมีวิธีการแปลอย่างไร ในเมื่อเกมแต่ละเกมมีภาษา อารมณ์ และบรรยากาศของมันอยู่ พิษณุ: คล้ายกับการแปลหนังสือ คือมีธีมของตัวเกม เกมสองเกมแรกแปลกันเอง... ไม่เวิร์ก หลังจากออกขายไปสักพัก คนจะเริ่มถามและไม่เข้าใจในจุดยาก ๆ ของเกม เราจึงใช้ professional หรือนักแปลอาชีพเข้ามาแปล ซึ่งนักแปลอาชีพคนนี้ก็เป็นลูกค้าเก่าเรา ก็คือเป็นคนที่เล่นอยู่แล้ว และเป็นนักแปลด้วย น่าจะเหมาะที่สุด   The People: ในแง่การขาย บอร์ดเกมภาษาไทยจะสู้กับบอร์ดเกมภาษาอังกฤษได้หรือไม่ พิษณุ: ตอนแรกก็ห่วงนะ เพราะมีบางบริษัทที่แปลก่อนเราพยายามทำให้เป็นภาษาไทยคู่กับภาษาอังกฤษในกล่องเดียว ซึ่งทำให้บอร์ดเกมภาษาอังกฤษดั้งเดิมไม่สามารถแทรกเข้ามาในตลาดได้ แต่เราก็พยายามขอเกมภาษาไทยกับภาษาอังกฤษด้วยในบางเกม ซึ่งยอดขายไม่ต่างกัน ไม่มีผลกระทบอะไรมาก ถ้าให้วิเคราะห์อาจสรุปได้ว่า คนที่เล่นภาษาไทย เขาก็จะซื้อภาษาไทย คนที่เล่นภาษาอังกฤษ เขาก็จะซื้อภาษาอังกฤษ ถึงแม้จะมีภาษาไทยเขาก็ไม่ซื้อ ฉะนั้นเขาไม่ใช่ target audience ของเรา ถามว่าสู้กันไหม? มันจะไม่ใช่การสู้กัน แต่เราต้องไปเปิดตลาดใหม่ เพราะตลาดเก่าเขาเล่นภาษาอังกฤษกัน พิษณุ ศัตรูลี้ CEO สยามบอร์ดเกม ผู้นำเข้าและแปลบอร์ดเกมมากที่สุดในเมืองไทย The People: ย้อนกลับไปที่บอกว่า “การแปลทำให้ตลาดโต” แล้วปัจจุบันตลาดโตขึ้นจริงไหม พิษณุ: เท่าที่สังเกต ตอนเปิดร้านของตัวเอง 3-5 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีร้านบอร์ดเกมอยู่ประมาณ 5-6 ร้านใหญ่ ตอนนี้มีประมาณเป็น 80-100 ร้านเฉพาะกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัดอีกประปราย 20-30 ร้าน ก็เลยคิดว่าตลาดคงโตขึ้นแหละ คนเล่นมากขึ้นจริง สุดท้ายถึงตลาดจะกว้างขึ้นแค่ไหน แต่คนเล่นก็ยังเป็นคนกลุ่มเดิม เราก็จะพยายามเอาภาษาไทยให้คนทั่วไปได้รู้จักมากขึ้น   The People: ในเชิงตัวเลขทางธุรกิจ มันคุ้มค่าไหมกับการลงทุนซื้อลิขสิทธิ์มาแปลในเมืองไทย พิษณุ: ค่าใช้จ่ายมากกว่าที่คิด เพราะว่ามันเป็นสินค้าใหม่ เป็นสินค้าที่คนไม่รู้จัก ตัวเลขต่าง ๆ หมดไปกับ marketing ให้คนรู้ว่า เฮ้ย! นี่คืออะไร เช่น เราไปออกบูธที่ศูนย์สิริกิติ์ที่สัปดาห์หนังสือเพื่อทำให้คนรู้จักมากขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายมันก็เยอะตาม เราพยายามจะทำให้ราคาถูกลงด้วยเมื่อเทียบกับเกมส์ภาษาอังกฤษ สมมติภาษาอังกฤษกล่องละ 1,000 บาท พอนำเข้ามาขายบวกค่า import และภาษีราคาจะกลายเป็น 2,200 บาท แต่พอเราผลิตภาษาไทยเอง ต้นทุนจะต่ำลงนิดหน่อย เราจะพยายามให้ราคาในเมืองไทยถูกกว่าเมืองนอก เพื่อให้คนเลือกซื้อของเมืองไทย ถามว่าตอนนี้คุ้มค่าไหม? return ยังไม่กลับมาเท่าไหร่ เพราะว่าเรานำเงินไปซื้อเกมใหม่ ๆ หมดเลย (หัวเราะ) แต่สำหรับเรามันคุ้มในแง่ได้เห็นคนเล่นบอร์ดเกมมากขึ้น บอร์ดเกมเราไปอยู่ในที่ต่าง ๆ ที่ไม่เคยพูดถึงมันมาก่อน อันนี้คุ้มค่าที่สุดแล้ว ทำให้คนรู้จักบอร์ดเกมมากขึ้น   The People: เหมือนที่คุณนำบอร์ดเกมเข้าไปแนะนำในโรงเรียนต่าง ๆ ? พิษณุ: ถูก อย่างที่บอกว่าบอร์ดเกมเป็นสินค้าที่ดี เพราะฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องเข้าผ่านพ่อแม่อย่างเดียว เราอยากให้เด็กเป็นคนบอกพ่อแม่ให้รู้จักสิ่งนี้ ให้เขาพ่อแม่ได้รู้ว่าคำว่า “เกม” ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี คำว่า “เกม” เป็นสิ่งที่ดีได้ เกมทำให้ฝึกคิด ทำให้ฝึกทักษะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ทักษะการคิด ทักษะการสื่อสารทุกอย่าง ตอนนี้เด็กส่วนใหญ่จะรู้จักบอร์ดเกมกันไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เข้าไปสอนเด็กชัด ๆ ก็คือเรื่องของลิขสิทธิ์ เด็กบางคนเขาบอกว่า เกมหมาป่า ผมรู้จัก ผมเคยเล่นโดยเขียนกระดาษเป็นใบเลย เอามาให้ดูอย่างภาคภูมิใจด้วยนะ (หัวเราะ) เพราะเรื่องลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่เรื่องใหญ่ แต่มันเป็นปัญหาของเกมเวอร์ชันภาษาอังกฤษมากกว่า เพราะว่า copy ภาษาไทยมันขายไม่คุ้มเท่าไหร่ แล้วราคาบอร์ดเกมภาษาอังกฤษปลอมถูกมาก ซึ่งเราก็ต้องพยายามบอกเด็กให้รู้ว่า สินค้าลิขสิทธิ์นี้มันมีมูลค่าอยู่นะ ทุกอย่างมีค่าคิดค่าที่เขาต้องใช้เวลาในการผลิตออกมาเป็นสินค้าตัวหนึ่ง ถ้าเกิดว่าคุณไปสนับสนุนของปลอม ของดี ๆ พวกนี้จะไม่ออกมาอีก เพราะเงินมันไม่ได้กลับไปหาคนคิด เขาก็จะไม่คิดต่อ มันก็จะไม่มีของเกมสนุก ๆ ออกมาให้เล่น เราจึงเริ่มสอนที่เด็กนี่แหละ ว่าลิขสิทธิ์สร้างปัญหานะ ไม่ใช่คุณจะซื้อเอาถูกอย่างเดียว   The People: แปลบอร์ดเกมแล้ว สนใจอยากทำบอร์ดเกมไทยออกมาเองบ้างหรือไม่ พิษณุ: เจ้าอื่นก็มีทำบอร์ดเกมไทยกันอยู่บ้าง แต่สยามบอร์ดเกมจะมีไหม? มี เพราะเราก็อยากให้มันมี ผมคิดว่าคนไทยมีศักยภาพพอที่จะดีไซน์เกมออกมาสู้กับเกมต่างชาตินะ แต่ดีไซเนอร์ไทยส่วนใหญ่ใจร้อน เวลามาเสนอเกมจะชอบถามว่า “แล้วผมจะได้ขายเมื่อไหร่” บอกเลยว่า ส่วนใหญ่ตั้งแต่ที่คุยนับไปเลย 2 ปี เกมส์ถึงจะเสร็จออกขายได้ เพราะมันต้องทดลองเยอะมาก กว่าจะดีไซน์การ์ด กว่าจะทำชิป เหรียญ หรืออะไรต่าง ๆ กระบวนการมันเยอะมาก มันต้องใช้เวลาครับ   The People: ในอนาคตคุณคาดหวังอยากเห็นวัฒนธรรมบอร์ดเกมไปอย่างไร พิษณุ: อยากให้เวลาพูดว่า “ขายบอร์ดเกม” แล้วเขาไม่ถามกลับว่า “บอร์ดเกมคืออะไร” เวลาพูดว่าเปิดร้านบอร์ดเกม แปลบอร์ดเกม “บอร์ดเกมคืออะไร” ผมยังเจออยู่เรื่อย ๆ แต่ก็น้อยลงแล้วถ้าเทียบกับประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว ผมอยากให้คนคิดว่า มีกิจกรรมอย่างอื่นนอกเวลาให้ทำ นอกจากการไปดูหนัง ดูทีวี ซีรีส์ แล้วคิดว่าบอร์ดเกมเป็นกิจกรรมสำหรับครอบครัวในวันหยุด ไม่ว่าจะไปเล่นที่ร้าน ซื้อไปเล่นที่บ้าน หรือไปเที่ยวทะเลพกบอร์ดเกมไปด้วย อยากให้บอร์ดเกมแทรกซึมอยู่ในทุกวัน ทุกชีวิตของคนทั่วไป พิษณุ ศัตรูลี้ CEO สยามบอร์ดเกม ผู้นำเข้าและแปลบอร์ดเกมมากที่สุดในเมืองไทย