บทสัมภาษณ์ พลอยชมพู - ญานนีน ภารวี ไวเกล: วัยเด็ก ดนตรี และชีวิตที่ไม่ได้มีแต่สีชมพู

บทสัมภาษณ์ พลอยชมพู - ญานนีน ภารวี ไวเกล: วัยเด็ก ดนตรี และชีวิตที่ไม่ได้มีแต่สีชมพู
กาลครั้งหนึ่ง ภายใต้สีเขียวของแมกไม้และภูมิอากาศที่ลมหนาวต้องผิวกายมากกว่าประเทศไทย เด็กหญิงลูกครึ่งไทย - เยอรมันคนหนึ่งถูกเลี้ยงดูด้วยอ้อมกอดของแม่ และความเอาใจใส่ของพ่อ ‘ญานนีน ภารวี ไวเกล’ เจ้าหนูตัวจ้อยที่ได้รับชื่อเล่นแบบไทยว่า ‘พลอยชมพู’ ใช้ขวบปีแรก ๆ ของชีวิตท่ามกลางธรรมชาติที่ทอดไกลสุดลูกหูลูกตา ในเมืองเล็ก ๆ ที่เธอเล่าให้เราฟังว่าเงียบสงบและธรรมดาจนต่อให้เธอบอกชื่อเราก็คงไม่รู้จัก เด็กหญิงเล่นซนกับต้นไม้ มีเพื่อนเป็นเหล่าลูกม้าและลูกวัว ในเมืองเล็ก ๆ ที่รายรอบด้วยรั้วฟาร์มนั่นเอง พลอยชมพูมีความฝัน อาจจะเป็นดวงไฟลูกเล็กที่ส่งต่อมาจากความชอบของคุณแม่ของเธอ หรืออาจจะเป็นเสียงเรียกร้องที่ติดตัวเธอมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก - พลอยชมพูอยากเป็นนักร้อง เธอฝันอย่างนั้นมาตั้งแต่จำความได้ “หนูยังจำตัวเองในตอนเด็ก ๆ สมัยที่ยังอยู่เยอรมนีได้ ที่เรามีความฝันว่าอยากจะเป็นนักร้อง แต่ว่าเราก็คิดมาตลอดว่ายังไงก็ไม่ได้เป็น เพราะว่าเราเติบโตมาในชนบท และโอกาสที่เราจะได้เข้ามาอยู่ในตัวเมือง แล้วอยู่ในที่ที่มันมีโอกาสอย่างที่มีอยู่ในทุกวันนี้มันแทบจะเป็นศูนย์เลย  “หนูจำได้ชัดเจนมากว่าตอนเด็ก ๆ ประมาณ 8 - 9 ขวบ หนูเคยมองตัวเองไว้ว่า ถ้าหนูอายุ 18 - 19 หนูก็อาจจะเป็นแคชเชียร์หรืออะไรอย่างนี้” บทสัมภาษณ์ พลอยชมพู - ญานนีน ภารวี ไวเกล: วัยเด็ก ดนตรี และชีวิตที่ไม่ได้มีแต่สีชมพู ในช่วงเวลาเหล่านั้นเด็กหญิงไม่คิดว่าความฝันวัยเยาว์ของเธอจะกลายเป็นความจริงได้ แต่ด้วยการสนับสนุนจากผู้เป็นแม่ พลอยชมพูได้เคาะประตูโลกกว้างตั้งแต่ยังเล็ก ช่องยูทูบ ‘zploychompooz’ กลายเป็นพื้นที่เก็บความทรงจำวัยเด็กของเธอ ภาพเด็กหญิงตัวจ้อยนั่งร้องเพลงโดยมีเสียงแบ็กกิงแทร็กแบบคาราโอเกะคลอ ภาพเธอร้องเพลงพลางลูบหัวสุนัขพันธุ์เล็กบนตักนั้นทำให้ผู้ผ่านไปรับชมได้รู้ว่าเด็กหญิงตรงหน้ามีความสุขกับสิ่งที่เธอทำมากเพียงใด โอกาสที่เด็กหญิงคิดว่าไม่มีมาหาเธอในขวบปีที่สิบ เมื่อครอบครัวของเธอตัดสินใจเก็บข้าวของ โบกมือลาคอกม้าและธรรมชาติที่เป็นมิตรของพวกเขามามากกว่าสิบปี และย้ายกลับมาที่ประเทศไทย ในมหานครที่วุ่นวาย พลอยชมพูได้ก้าวสองเท้าเล็ก ๆ เข้าใกล้ความฝันทีละนิด เริ่มจากการเป็นตัวประกอบในกองถ่าย และการแต่งกายชุดไทยบนเวทีประกวดหนูน้อยนพมาศ ถึงจุดหนึ่งเด็กน้อยและแม่ของเธอตัดสินใจก้าวสู่สนามใหม่ นั่นคือการประกวดร้องเพลง “การประกวดร้องเพลงทำให้รู้ว่าหนูคงมีแพสชันกับเส้นทางนี้จริงๆ” ควบคู่กับการเป็นนักแสดงเด็กและการเซ็นสัญญากับค่ายแกรมมี่ พลอยชมพูเปิดช่องยูทูบช่องใหม่ และเริ่มอัปโหลดคลิปคัฟเวอร์เพลงทั้งไทยและสากล “ช่วงแรก ๆ ยังไม่มีใครรู้จักเราเท่าไร ร้อยวิวหรือพันวิวเราก็รู้สึกว่ามันเยอะมาก ๆ แล้ว” จากร้อยยอดรับชมแรก พันยอดรับชมถัดมา ด้วยเวลากว่าครึ่งปี ชื่อ ‘พลอยชมพู’ กับเสียงร้องของเธอก็กลายเป็นไวรัลจากคลิปคัฟเวอร์เพลง ‘Let Her Go’ หลังจากนั้นไม่นาน ภาพเด็กหญิงตัวเล็ก ใบหน้าน่ารักเหมือนตุ๊กตา และเสียงร้องหวานมีเสน่ห์ของเธอก็กลายเป็นที่พูดถึงรู้จักกันทั่วในไทย โลกดนตรีของพลอยชมพูกว้างขึ้นหลังจากนั้น เช่นเดียวกันกับพาร์ตงานแสดง บทสัมภาษณ์ พลอยชมพู - ญานนีน ภารวี ไวเกล: วัยเด็ก ดนตรี และชีวิตที่ไม่ได้มีแต่สีชมพู กาลครั้งหนึ่งผ่านไป กาลครั้งใหม่พลอยชมพูในวัยสิบแปดย่างสิบเก้า ต้องเผชิญหน้ากับประสบการณ์ที่ขณะนั้นเธอยังไม่รู้ว่าจะออกดอกผลมาเป็นความผิดหวังหรือความสำเร็จ “ปี 2019 เป็นช่วงที่หนูกำลังคิดว่าอยากจะเบรกเรื่องงานบันเทิง แล้วไปเรียนเรื่องดนตรีในต่างประเทศ แบบกลับเยอรมันแล้วอาจจะไปเรียนต่อที่อเมริกา แต่ทางค่ายล่าสุดก็ติดต่อมาพอดี พอเราชั่งน้ำหนักว่าระหว่างไปเรียนต่อกับทำงานกับค่ายที่เป็นค่ายในมาเลเซีย ซึ่งเป็นค่ายลูกของค่ายใหญ่ที่อเมริกา เรารู้สึกว่าโอกาสแบบนี้มันอาจจะไม่มีมาอีกบ่อย ๆ นะ ก็เลยเลือกที่จะคว้าโอกาสนี้ไว้ก่อน” เธอตัดสินใจคว้าโอกาสตรงหน้า และเดินทางไปมาเลเซียเพื่อเดินหน้าทำงานเพลงชุดใหม่ ทว่าภายใต้ความโกลาหลของโลกยุคโควิด-19 ซึ่งอาจเป็นหรือไม่เป็นเหตุผลให้การทำงานของค่ายเพลงล่าช้าออกไปก็ตามแต่ พลอยชมพูเล่าว่าสิ่งที่เธอได้รับจากค่ายเพลงนั้นไม่ตรงกับสิ่งที่ระบุไว้ในสัญญา “ตามสัญญาก็คือต้องทำ EP ซึ่งประกอบด้วย 5 เพลงภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งพอมันครบแล้วเขาก็ไม่ได้ทำเพลงให้ครบ เราก็เลยมองว่ายังไงมันก็สิ้นสุดสัญญาแล้ว หมดก็คือหมด ซึ่งก่อนที่จะหมดสัญญาเราก็แจ้งเขาไปแล้วว่าเราจะไม่ต่อนะ เราคิดว่ามันก็ควรจะจบตรงนั้น” พลอยชมพูหมดสัญญากับค่าย และตั้งใจว่าจะทำเพลงต่อด้วยการเป็นศิลปินอิสระ แต่เธอกลับพบว่าหลังจากปล่อยเพลงที่ทำเองลงในแพลตฟอร์มต่าง ๆ งานเพลงที่เธอทำเองโดยค่ายเพลงไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอีกต่อไปแล้ว กลับถูกเคลมสิทธิ์โดยค่ายเก่า จึงเป็นที่มาของการฟ้องร้องที่ยังดำเนินคดีอยู่ แต่นับจากการเซ็นสัญญาครั้งนั้น สิ่งที่เธอต้องผ่านไปให้ได้ไม่ได้มีแค่เรื่องถูกเคลมสิทธิ์ที่จัดการได้ด้วยกระบวนการทางกฎหมาย พลอยชมพูเป็นเด็กสาวที่ไม่เคยห่างบ้าน การเดินทางไปอาศัยแรมปีในมาเลเซียคนเดียวคราวนั้นคือสิ่งที่เธอไม่เคยทำมาก่อน นอกจากความเหงาที่เธอต้องเจอ พลอยชมพูเล่าว่ายังมีความกดดันรูปแบบอื่น ๆ อีก ความกดดันเหล่านั้นกลั่นรวมกันเป็นอาการซึมเศร้าและนอนไม่หลับ ถึงขั้นที่ทำให้เธอเกือบยอมแพ้กับความฝัน และบอกว่า ‘เลิกร้องเพลงก็ได้’ บทสัมภาษณ์ พลอยชมพู - ญานนีน ภารวี ไวเกล: วัยเด็ก ดนตรี และชีวิตที่ไม่ได้มีแต่สีชมพู “เรารู้สึกเหมือนเราถูกขังเอาไว้ สิ่งที่เรารักที่สุด สิ่งที่เราชอบที่สุด เราก็ไม่ได้ทำแม้แต่เรื่องของการแต่งตัว ทุกอย่างเราถูกบีบบังคับให้อยู่ในกรอบหมด แม้แต่ตัวตนตัวเราเอง เรายังไม่สามารถที่จะเป็นอะไรได้เลย เหมือนกับทุกอย่างมันเป็นคำสั่งไปหมด เราก็รู้สึกว่ามันอึดอัด เราไม่สามารถที่จะ express ตัวเองได้เลย  “มันทำให้เรารู้สึกว่ามันสิ้นหวัง เพลงอะไรต่าง ๆ ที่เราเคย แผนในการทำงานทุกอย่างเหมือนมันหายวับไปเลย รู้สึกว่าเออ…เลิกร้องเพลงก็ได้ ทำอะไรอย่างอื่นก็ได้ คือจริง ๆ แพสชันมันไม่ได้หายไป แต่ว่ามันรู้สึกว่าอนาคตมันหาย ไม่ใช่แพสชันนะ แต่ว่าเป็นอนาคตที่หายไป ถามว่าตอนนั้นยังอยากทำเพลง ยังรักไหม ก็ยังรักอยู่ แต่มันแค่รู้สึกว่าโอกาสมันหายไปแล้ว” สำหรับเราที่ได้คุยเรื่องนี้กับเธอในวันที่พลอยชมพูผ่านช่วงเวลานั้นมาได้แล้ว ความสิ้นหวังของเธอมีความยาวเท่าคำพูดที่เธอบอกเล่า นั่นคือไม่มากไม่น้อยเกินกว่า 5 นาที แต่เราไม่มีทางรู้ว่าแท้จริงแล้ว ความสิ้นหวังดังกล่าวอยู่กับเธอนานเท่าใด ที่เรารู้คือเธอผ่านช่วงเวลาที่เกือบจะยอมแพ้นั้นมาได้ด้วยการเขียนเพลง “หนูใช้การแต่งเพลงในการระบายความรู้สึก บางทีบางอย่างมันอัดอั้นเราก็จะใช้เวลากับเพลง กับการลองหัดแต่งเพลงดู มันทำให้เรารู้สึกว่า อย่างน้อยถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ปล่อยเพลง แต่ว่าเรายังได้ทำอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับเพลง ถึงแม้ว่าเราจะทำแล้วก็ฟังเองก็ตาม  “จริง ๆ มันก็เป็นจุดที่ดีตรงที่ว่าเราได้ฝึกในการแต่งเพลงมาเรื่อย ๆ เป็นเวลาเกือบ 2 ปี ซึ่งมันทำให้เราเหมือนกับรู้มากขึ้นว่าแนวทางของเรามันเป็นอย่างไร แล้วเราได้ค้นหาตัวเองในช่วงเวลานั้นด้วย ว่าเราต้องการที่จะไป direction ไหนในฐานะศิลปิน” ส่วนเรื่องอาการซึมเศร้าและนอนไม่หลับนั้น พลอยชมพูเล่าว่าเธอผ่านมาได้เพราะกำลังใจจากครอบครัว การกลับไปพักผ่อนที่เยอรมัน และการพบแพทย์ “พอเราไปอยู่ที่อื่น มันให้ความรู้สึกว่าเราห่างไกลจากปัญหาขึ้นมาอีกหน่อยหนึ่ง มันก็ทำให้สภาพจิตใจเราค่อย ๆ ดีขึ้น ควบคู่กับการที่เราไปหาคุณหมอเป็นประจำด้วยในช่วงนั้น “ตอนนี้หนูไม่คิดว่าหนูเป็นซึมเศร้าแล้วนะคะ เพราะว่าในจุดนี้หนูรู้สึกมีความสุขกับชีวิตมาก ถึงแม้ว่ามันจะมีปัญหาอะไรที่มันค้างคาอยู่ก็ตาม แต่ว่าหนูมีความสุขที่หนูได้ทำสิ่งที่หนูชอบ” คือคำที่เธอเล่าสรุปด้วยรอยยิ้ม ก่อนที่บทสนทนาของเราจะวกกลับมาที่ ‘สิ่งที่เธอชอบ’ นั่นก็คือเสียงเพลงอีกครั้ง เราถามเธอว่าเพลงที่ดีคืออะไร พลอยชมพูลังเลเล็กน้อย ก่อนจะตอบกลับมาอย่างฉะฉาน “สำหรับหนูเพลงที่ดีคือเพลงที่เราร้องแล้วเรามีความสุข แฮปปี้ ไม่ว่าเพลงจะเพราะแค่ไหน ถ้าคนร้องแล้วไม่มีความสุข ยังไงมันก็ไม่ดี หนูคิดว่าจุดเริ่มต้นคือเราต้องทำเพลงที่ตัวเองมีความสุขก่อน เพราะความสุขมันเป็นอะไรที่เหมือนโรคติดต่อ คือถ้าเรามีความสุข คนรอบข้างของเราก็จะมีความสุข อะไรที่เราทำออกมาด้วยความรัก คนจะสามารถสัมผัสได้  “ซึ่งบางทีเราอาจจะทำเพลงที่เนื้อหาไม่ได้มีอะไรมากมาย อย่างเพลง Location อย่างนี้อาจจะไม่ได้มีอะไรมาก แต่หนูคิดว่าเพลงมันสามารถเป็นอะไรบางอย่างในชีวิตของคนได้ มันฟังแล้วมันมีความสุข อันนั้นหนูรู้สึกว่ามันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของงานของเรา” บทสัมภาษณ์ พลอยชมพู - ญานนีน ภารวี ไวเกล: วัยเด็ก ดนตรี และชีวิตที่ไม่ได้มีแต่สีชมพู พูดถึงเพลง ‘Location’ พลอยชมพูพูดถึงผลงานล่าสุดของเธอว่า เพลงนี้เป็นเพลงที่จะบอกทุกคนว่า ‘พลอยชมพูกลับมาแล้วนะ’ แรกเริ่มเดิมที ‘Location’ เกิดจากการร่วมแต่งเพลงระหว่างเธอกับฮาย วง Paper Planes ที่ร่วมงานทางไกล ไทย - เยอรมันอยู่หลายเดือนจนออกมาเป็นเพลงเพราะฟังสนุกหูที่พูดถึงความรักหนุ่มสาว ที่มักจะคุยกันผ่านโซเชียลมีเดีย และลงท้ายด้วยการส่ง ‘Location’ เพื่อมาเจอกัน ตลอดช่วงเวลาแห่งการพูดคุย พลอยชมพูสนทนากับเราด้วยรอยยิ้ม ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เราถามถึง ‘กาลครั้งหนึ่ง’ ความทรงจำครั้งเธอยังเด็ก หรือ ‘กาลครั้งนั้น’ เรื่องราวยุ่งยากใจที่เธอเพิ่งผ่านมาหมาด ๆ เธอมักจะตบท้ายทุกคำถามด้วยรอยยิ้มเล็ก ๆ เสมอ และรอยยิ้มนั้นก็ยิ่งชัดเจน เมื่อเราถามคำถามสุดท้าย มีอะไรอยากจะบอกพลอยชมพูในตอนเด็กไหม เราถาม กาลครั้งนี้ คำตอบของเธอได้เดินทางผ่านห้วงทรงจำและวันเวลา ไปถึงเด็กหญิงใบหน้าน่ารักที่เราคุ้นตาและคุ้นเคยกันว่าเธอมักจะมาพร้อมเสียงร้องเพราะ ๆ เสมอ “ถ้าพูดกับตัวเองตอนเด็ก ๆ ได้ คงอยากจะบอกตัวเองว่าเก่งแล้ว ทำดีแล้ว เพราะว่าเรารู้สึกว่าพอมองย้อนกลับไป เราเคยคิดว่าถึงแม้ว่าตัวเองจะทำมากแค่ไหนก็ยังดีไม่พอ โอเคไม่พอ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ตอนนั้นเราก็เด็กมาก อายุแค่หลักสิบเอง พอเราเห็นตัวเองในจุดนี้ เรารู้สึกว่าเราไม่ต้อง push ตัวเอง hard on yourself มากขนาดนั้น  “เพราะว่าบางทีถ้าเรามัวแต่โฟกัสในส่วนที่มันเป็นอนาคตมากเกินไป มันกลายเป็นว่าเราไม่ได้สัมผัสปัจจุบันเลย จนในถึงจุดที่มันผ่านไปแล้ว เราถึงนึกย้อนกลับไปว่าจริง ๆ ตอนนั้นมันก็ดีนะ ทำไมเราเครียดอะไรอย่างนี้ ทำไมเราถึงกดดันตัวเองมากเกินไป  “ก็อยากจะบอกตัวเองในตอนเด็ก ๆ ว่าทำดีแล้ว ทำเก่งแล้ว”   สัมภาษณ์: จิรภิญญา สมเทพ