พิภพวานร: เมื่อการเมืองและการทารุณกดขี่ถูกเล่าผ่าน ‘ลิง’

พิภพวานร: เมื่อการเมืองและการทารุณกดขี่ถูกเล่าผ่าน ‘ลิง’

พิภพวานร: เมื่อการเมืองและการทารุณกดขี่ถูกเล่าผ่าน ‘ลิง’

มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของสัตว์ได้ลึกซึ้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำได้เพียงสังเกตอารมณ์ความรู้สึกผ่านท่าทางและการตอบสนอง เราอาจรับรู้เวลาพวกเขาโกรธ กลัว หรือดีใจจนแทบคลั่ง ซึ่งการรับรู้เหล่านั้นเป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของความรู้สึกที่สัตว์แสดงออกมา เหมือนกับลิงในศูนย์ทดลองที่ต้องทนกับการบาดเจ็บซ้ำ ๆ ทั้งกายและจิตใจ เกิดคำถามกันมานานหลายสิบหลายร้อยปี จะเป็นอย่างไรหากสัตว์สามารถคิดหรือพูดเหมือนคน ยกตัวอย่างได้จากผลงานวรรณกรรมของนักเขียนชาวฝรั่งเศส ปิแอร์ บูเลอ (Pierre Boulle) เรื่อง La Planete des Singes เล่าถึงนักบินอวกาศเกิดหลงไปอยู่ในเมืองที่ลิงทำทุกสิ่งเหมือนมนุษย์ งานเขียนของเขาเปรียบเสมือนจุดกำเนิดของจักรวาลพิภพวานร แสดงมุมมองของคนผ่านสัตว์ที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงกับมนุษย์ วรรณกรรมพิภพวานรถูกดัดแปลงกลายเป็นภาพยนตร์ชุดชื่อดัง Planet of the Apes ตั้งแต่ปี 1968-1973 กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เงียบหายไปนานจนกระทั่งปี 2011 มีการนำพิภพวานรกลับมารีบูทใหม่อีกครั้ง พร้อมสอดแทรกประเด็นศีลธรรมกับการเมืองที่ใกล้ตัวขึ้นกว่าเก่า เป็นปกติที่สัตว์หลายชนิดถูกนำมาเพื่อทดลองบางสิ่ง การนำกระต่ายมาทดลองกับเครื่องสำอางเพื่อดูว่าส่วนประกอบต่าง ๆ ปลอดภัยสำหรับมนุษย์หรือไม่ หรือการนำสัตว์เล็กขาประจำของแล็บอย่างหนูมาศึกษาพันธุกรรม วัคซีน และไวรัส ลิงที่มีหลายอย่างใกล้เคียงกับมนุษย์ถือเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่อยู่คู่กับนักวิทยาศาสตร์ โดยการทดลองส่วนใหญ่ล้วนเกิดขึ้นเพื่อความปลอดภัยของมนุษย์ แต่บางครั้งคนคงหลงลืมหรือคาดไม่ถึงว่าสัตว์ทดลองจะย้อนกลับมาสร้างผลกระทบใหญ่ภายหลัง โลกของพิภพวานรเวอร์ชัน 2001-2017 เล่าถึงบริษัทยาแห่งหนึ่งในซานฟรานซิสโกที่นำชิมแปนซีมาทดลอง เพื่อคิดค้นวัคซีนช่วยเหลือมนุษย์จากโรคความจำเสื่อม ตอนแรกการทดลองดำเนินไปด้วยดี ลิงตัวเมียที่ถูกฉีดยาตัวใหม่มีพัฒนาการก้าวกระโดด ฉลาด สื่อสารรู้เรื่อง แต่วันหนึ่งอยู่ ๆ เธอคลุ้มคลั่ง จนทำให้ทีมวิจัยต้องฆ่าทิ้ง ซึ่งหนึ่งในทีมพบกับความจริงว่าเธออาละวาดเพียงเพราะห่วงว่ามนุษย์จะทำร้ายลูกที่เพิ่งคลอด พิภพวานร: เมื่อการเมืองและการทารุณกดขี่ถูกเล่าผ่าน ‘ลิง’ หากบอกความจริงกับทุกคนว่าตัวอย่างทดลองก่อความรุนแรงมีทายาท ลูกชิมแปนซีไม่รู้ความต้องถูกการุณยฆาต เขาจึงตัดสินใจนำลูกลิงกลับไปเลี้ยง ให้ความรัก ความอบอุ่น สอนให้ทำสิ่งต่าง ๆ ตั้งชื่อให้ว่า ‘ซีซาร์’ ชิมแปนซีตัวนี้รับความเฉลียวฉลาดมาจากแม่ที่ถูกทดลอง แต่เกิดเหตุไม่คาดฝันทำให้ซีซาร์ถูกจับและส่งไปตัวยังสถานกักกันสัตว์ ต้องอยู่ในห้องแคบ ๆ สกปรก ถูกผู้ดูแลช็อกไฟช็อต ตะคอกใส่ ถูกทุบตีระบายอารมณ์จนสัตว์ส่วนใหญ่มีสภาพซึมเศร้า จากลิงที่เติบโตมาอย่างอบอุ่นกับครอบครัวมนุษย์ สู่การเป็นผู้นำปลดแอกฝูงวานรจากการถูกทารุณ เขาหาทางหนีออกจากสถานกักกัน ปล่อยลิงในสวนสัตว์กับศูนย์วิจัยเพื่อหนีเข้าป่าชานเมือง และได้พบกับ ‘โคบา’ ลิงทดลองที่รู้สึกเคียดแค้นเกลียดชังมนุษย์ แสดงเจตจำนงชัดเจนว่าต้องการทำสงคราม ทว่าซีซาร์มองว่าสงครามไม่ใช่ทางออกของคำตอบ คิดว่ามนุษย์ยังสามารถเจรจาได้ ฝูงจะอยู่ในป่าตามเดิม ส่วนมนุษย์ใช้ชีวิตในเมืองไม่มายุ่งเกี่ยวกับสังคมของเหล่าวานร แรกเริ่มการเจรจาเพื่อต่างคนต่างอยู่ดำเนินไปด้วยดี แต่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถลบอคติและความหวาดกลัวออกไปจากใจ ซีซาร์จับได้ว่ามนุษย์แอบพกปืนทั้งที่ตกลงไว้แต่แรกว่าห้ามพกอาวุธเข้ามายังเขตป่า นอกจากนี้ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายมนุษย์ได้เตรียมตั้งรับและโต้ตอบฝูงวานรด้วยอาวุธสงครามอยู่เสมอ พิภพวานร: เมื่อการเมืองและการทารุณกดขี่ถูกเล่าผ่าน ‘ลิง’ เมื่ออยู่ ๆ ลิงเกิดพูดนึกคิดได้ คนส่วนใหญ่ก็ต้องหวาดกลัวเป็นธรรมดา นายทหารผู้ตั้งตนเป็นผู้นำกองทัพมนุษย์ผู้นี้รู้สึกกลัวความแข็งแกร่งของเผ่าพันธุ์ลิงที่เคยด้อยกว่ามนุษย์มาตลอด วันนี้พวกลิงกลับวิวัฒนาการจนแข็งแกร่งเทียบเท่ามนุษย์ ประกอบกับโคบาที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังเกิดแตกหักกับซีซาร์จนลงมือฆ่าคนสองคน ทุกอย่างสร้างความกดดันต่อคนและลิงที่ต้องการสันติ เพราะผู้นำคลั่งพร้อมพาโลกเข้าสู่สงครามทุกเมื่อ หลังโคบาออกจากฝูง เขาแอบสังหารคนเพื่อเอาปืนของมนุษย์มายิงซีซาร์ สถาปนาตัวเองเป็นจ่าฝูงเข้ามาควบคุมสังคมวานร เปลี่ยนตัวเองกลายเป็นผู้นำเผด็จการหัวรุนแรง สั่งขังลิงที่ยังภักดีกับซีซาร์ สอนสั่งให้ทุกตัวในฝูงเกลียดชังมนุษย์เพื่อตนจะได้นำกองกำลังเข้าทำสงคราม “ใครเห็นต่างต้องตาย” โคบาไม่ได้เอ่ยวลีดังกล่าว แต่ทำให้ทุกคนเห็นผ่านการกระทำ เขานำกองทัพเข้าจู่โจมมนุษย์ จับชาวบ้านมาขัง ยิงคนที่คิดต่อสู้ หากลิงตัวไหนขัดคำสั่งสังหารมนุษย์ต้องถูกฆ่าตาย ส่วนฝั่งซีซาร์รอดจากการลอบสังหาร และตระหนักได้ว่าตนมัวแต่หวาดระแวงมนุษย์ที่แตกต่างจนหลงลืมภัยใกล้ตัวที่เป็นพวกเดียวกัน ส่วนมนุษย์ถึงจะมีพวกไม่น่าไว้ใจ หัวรุนแรง ไร้ความเมตตา ในเวลาเดียวกันยังมีมนุษย์ดี ๆ ที่ต้องการสันติและมีศีลธรรม คอยช่วยเหลือเขาโดยไม่สนว่าถูกมองเป็นพวกทรยศต่อเผ่าพันธุ์ พิภพวานร: เมื่อการเมืองและการทารุณกดขี่ถูกเล่าผ่าน ‘ลิง’ แม้ซีซาร์กับมนุษย์ที่รักสันติพยายามหลีกเลี่ยงการปะทะ และพยายามประนีประนอมมากแค่ไหน สุดท้ายการปะทะระหว่างเผ่าพันธุ์ก็เกิดขึ้นเพราะความบ้าคลั่ง ความหวาดกลัวปนอยากเอาชนะของผู้นำทั้งสองฝ่ายอยู่ดี เรื่องราวส่วนใหญ่ของพิภพวานรเดินเรื่องผ่านฝูงลิง ทว่าแสดงให้เห็นถึงประเด็นสังคม การเมือง ศีลธรรมของผู้คนได้ชัดเจน ขณะเดียวกันสะท้อนความเจ็บปวดของเหยื่อที่ถูกทารุณซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเปลี่ยนความกลัวให้เป็นความแค้น จนสามารถลงมือทำเรื่องร้ายแรงไม่คาดฝัน และการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นแม้เขาจะแตกต่างจากตัวเอง ทำให้เห็นว่าแม้สังคมเต็มไปด้วยความโหดร้าย แต่ก็ยังคงมีความดีหลงเหลืออยู่เสมอ   ที่มา   https://www.imdb.com/title/tt1318514/ https://screenrant.com/planet-apes-movie-timeline-explained/ https://www.rottentomatoes.com/m/rise_of_the_planet_of_the_apes https://lareviewofbooks.org/article/the-politics-of-the-planet-of-the-apes/   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์