ย้อนความทรงจำ ‘กรือเซะ-ตากใบ’ กับบทเรียน ‘กำปั้นเหล็ก’ ของทักษิณ

ย้อนความทรงจำ ‘กรือเซะ-ตากใบ’ กับบทเรียน ‘กำปั้นเหล็ก’ ของทักษิณ

เหตุการณ์ที่ กรือเซะ-ตากใบ ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่เพียงจารึกในประวัติศาสตร์ของพื้นที่ภาคใต้ แต่ยังเป็นบทเรียนสำคัญในแง่การบริหารจัดการของรัฐซึ่งเกิดขึ้นในยุคของ ทักษิณ ชินวัตร

กระแสตื่นรู้เรื่องปัญหากรือเซะและเหตุการณ์ตากใบ ตั้งแต่ปี 2547 กลับมาอีกครั้งหลังการปรากฏตัวของ ‘Tony Woodsome’ หรือ ‘พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร’ ในห้องคลับเฮาส์ เมื่อเขาถูกถามถึงเหตุการณ์สำคัญที่ชายแดนใต้ในห้วงที่เขาเป็นรัฐบาล แต่ทักษิณบอกว่า

“รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ตอนนั้นอยู่ในการควบคุมทหาร ผมได้รับรายงาน ก็เสียใจ จำไม่ค่อยได้ เสียใจ”

แต่ย้อนกลับไปในปี 2554 ทักษิณเคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์สเตรตส์ไทมส์ ว่าเสียใจต่อการกระทำที่รุนแรงต่อชาวมุสลิมในยุคที่ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี และถือเป็นความผิดพลาดที่ใช้นโยบาย ‘กำปั้นเหล็ก’ มากกว่า ‘ถุงมือกำมะหยี่’ เป็นการแสดงความเสียใจ

การแสดงความเสียใจของทักษิณขณะนั้นดูเหมือนจะช้ากว่ารัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร 2549 เมื่อ ‘พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์’ ประธานองคมนตรีที่เป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้นกล่าวขอโทษต่อเหตุการณ์ตากใบขณะเดินทางเยือนปัตตานีเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2549 หรือคล้อยหลัง 2 ปีหลังเหตุการณ์ตากใบ

ทักษิณเองก็มากล่าวถึงเหตุการณ์ภาคใต้ซ้ำอีกครั้งในปี 2554 ซึ่งเรียกได้ว่าคำขอโทษอย่างเป็นทางการ เมื่อให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘ที่นี่ตอบโจทย์’ ของ ‘ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา’ และตอนหนึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ภาคใต้ ทักษิณเสียงอ่อยลง และยอมรับว่าใช้ความรุนแรง ‘ใช้ความเป็นตำรวจมากไป’ และยืนยันในคำขอโทษต่อชาวมุสลิมชายแดนใต้เป็นครั้งแรก

จากข้อมูลเราจึงมองเห็นชุดคำ ‘กำปั้นเหล็ก’ ‘ใช้ความเป็นตำรวจมากไป’ และ ‘การควบคุมของทหาร’ ทั้งหมดเป็นภาพสะท้อนของนโยบายแก้ปัญหาภาคใต้ในยุคทักษิณ ซึ่งหากพูดถึงเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ ก็ต้องพูดถึงปฐมบทของปัญหาภาคใต้ คือเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อ 4 มกราคม 2547 เพราะทั้งหมดเกิดขึ้นในปีเดียวกัน มีความเชื่อมโยง และส่งผลต่อสถานการณ์ภาคใต้ทั้งหมดในเวลาต่อมา
 
ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง ปฏิบัติการฉีกหน้ารัฐไทย

ในค่ำคืน 4 มกราคม 2547 มีการเผาโรงเรียน 20 แห่งในจังหวัดนราธิวาสในช่วงตี 2 เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ ก่อนคนร้ายบุกกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ‘ค่ายปิเหล็ง’ ที่ อ.เจาะไอร้อง ยิงทหารยามที่เฝ้าค่าย และสังหารทหารสิบเวร 4 นายที่ถือกุญแจก่อนบุกปล้นคลังอาวุธ ได้อาวุธปืนไป 413 กระบอก มีการเผายางรถยนต์ โปรยตะปูเรือใบ ตัดต้นไม้ขวางถนนเพื่อสกัดการติดตามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

แน่นอนว่ารัฐบาลเสียหน้าอย่างมาก เพราะอยู่ในห้วงที่ประกาศชัยชนะในสงครามยาเสพติด 

ทักษิณในฐานะนายกรัฐมนตรีขณะนั้นแสดงความโกรธอย่างเห็นชัดขณะตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า “เรามีทหารทั้งกองพันยังประมาทอยู่ ก็สมควรตาย”

และยังบอกว่า กลุ่มที่ก่อเหตุไม่ใช่กลุ่มก่อการร้ายหรือแบ่งแยกดินแดน เป็นเพียง ‘โจรกระจอก’ กลุ่มคนร้ายเป็นเพียงกลุ่มมูจาฮีดีนที่ต้องการปล้นอาวุธไปขายประเทศเพื่อนบ้าน แล้วก็เฉ่งหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ขณะนั้นว่าต่างคนต่างทำงาน ต่างคนต่างอยู่ แต่จะไม่ฟื้น ‘ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ที่ยุบไป

หลังจากนั้น ยุทธการตามล่าหาขบวนการปล้นปืนก็เกิดขึ้น มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ชายแดนใต้ สอบสวนทหารเกณฑ์ 50 นาย เพราะเชื่อว่าต้องมี ‘คนใน’ เปิดทางให้ มีคนร้ายกว่า 60 คนร่วมปฏิบัติการ หลังจากนั้นจึงโปรยใบปลิวเป็นภาษาไทยและตัวอักษรยาวีจากเฮลิคอปเตอร์ให้ชาวบ้านช่วยแจ้งเบาะแส

แต่วันเวลาผ่านไปเหมือนไล่คว้าได้แต่น้ำเหลว รัฐบาลยิ่งร้อนรน ทักษิณจึงส่งตำรวจมือสืบสวนชื่อดังจากส่วนกลาง นำโดย พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ขณะนั้น เจ้าของฉายา ‘มือปราบตี๋ใหญ่’ ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในสงครามปราบปรามยาเสพติด ไปจนถึง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการกองปราบปรามลงไปช่วยตามหามือปล้นปืน

ชื่อ ‘ขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต’ เริ่มถูกเปิดการรับรู้ต่อสังคมไทย ชื่อ ‘มะแซ อุเซ็ง’ ครูสอนศาสนาโรงเรียนสัมพันธ์วิทยา อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ถูกเปิดจากหน่วยงานความมั่นคงให้เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ปลุกระดมและฝึกยุทธวิธีให้ขบวนการบีอาร์เอ็นซึ่งอยู่เบื้องหลังการปล้นปืน ชื่อ ‘อนุพงศ์ พันธชยางกูร’ กำนัน ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส จากผู้ช่วยราชการสืบหาปืน ก็ตกเป็นผู้ต้องหาพร้อมกับลูกชายคนโต เพียงเพราะนำเจ้าหน้าที่ไปค้นหาปืนตามเบาะแสแล้วไม่พบตามที่แจ้งหลายครั้ง จึงถูกมองว่าถูกขบวนการบีอาร์เอ็นส่งมาลวงเจ้าหน้าที่

เขาถูกตำรวจล็อกตัว เอาผ้าปิดตาจับมือไขว้หลังและพาไปชายทะเลเพื่อทรมานกดหัวกับน้ำทะเลสลับกับซักถามหาปืนที่ปล้นไป เมื่อปฏิเสธจึงถูกจับกดน้ำอีกหลายครั้ง ก่อนนำตัวมาควบคุมและสืบสวนต่อที่กรุงเทพมหานคร 

และต่อมาปรากฏคลิปที่เขาสารภาพพร้อมให้ข้อมูลการปล้นปืนในวันดังกล่าวพร้อมตัวละครมากมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังซัดทอดไปถึงนายนัจมุดดีน อูมา นายเด่น โต๊ะมีนา และนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ซึ่งเป็นนักการเมืองกลุ่มวาดะห์ที่ร่วมรัฐบาลอยู่ในขณะนั้นด้วย เขาจึงถูกกันตัวเป็นพยานของคดี แต่แล้วก็กลับคำให้การในชั้นศาล และให้เหตุผลต่อคลิปที่สารภาพว่า เพราะถูกซ้อมทรมานต่อเนื่องทุกวัน คำสารภาพก็เป็นไปตามข้อมูลที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมไว้ให้ และต่อมาศาลก็ยกฟ้องกำนันโต๊ะเด็งและลูกชาย รวมถึงนักการเมืองกลุ่มวาดะห์

ซึ่งต่อมา เขาเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดกับ พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ กับพวกรวม 19 คนในข้อหาร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวและทำร้ายร่างกาย (ซ้อมทรมาน) ระหว่างที่ถูกสอบปากคำ แ

ต่ท้ายที่สุด ป.ป.ช. ขณะนั้นไม่รับคำร้องไว้พิจารณาระบุว่าไม่มีมูล นายอนุพงศ์จึงถูกตำรวจแจ้งความกลับในข้อหาแจ้งความเท็จ และศาลตัดสินลงโทษจำคุกในเวลาต่อมา 

การเหวี่ยงแหจับกุมและอุ้มซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยที่สืบเนื่องจากการปล้นปืนและขบวนการก่อความไม่สงบจึงเกิดขึ้นกว้างขวางในห้วงเวลานั้น ปากต่อปาก เรื่องราวสู่เรื่องราวนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงที่ส่งผลเชื่อมโยงกันจำนวนมาก หลายคนที่ถูกอุ้มไปไม่มีโอกาสกลับมาบอกเล่าสิ่งที่ตัวเองเผชิญ เช่น อิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิตในค่ายทหาร หรือระหว่างการสอบสวนคดีปล้นปืนยังเกิดการอุ้ม ‘ทนายสมชาย นีละไพจิตร’ ทนายมุสลิมกรุงเทพฯ ที่ช่วยทำคดีให้กับผู้ต้องหาที่เกี่ยวพันกับคดีปล้นปืนและรวมถึงคดีเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายเจมาห์ อิสลามิยาห์ (เจไอ) ซึ่ง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า “นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความผู้ต้องหาคดีเจไอไม่ได้หายตัวไปไหน เพียงแต่มีปัญหาทะเลาะกับภรรยา จึงหลบมาอยู่กรุงเทพฯ และตัดขาดการติดต่อจากคนอื่น”

แต่ตราบบัดนั้นถึงปัจจุบัน ครอบครัวนีละไพจิตร ก็ไม่มีแม้แต่หลุมศพให้รำลึกถึงสามีและพ่อผู้จากไป ส่วนคดีปล้นปืนที่ชายแดนภาคใต้ ติดตามมาได้ไม่ถึงร้อยกระบอก แลกกับชีวิตคนอีกจำนวนมหาศาล และสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น
 
กรือเซะและวันแผ่นดินเดือด

กำปั้นเหล็กทำให้ปรอทความรุนแรงของภาคใต้ปะทุทะลักจุดเดือดในเหตุการณ์กรือเซะในวันที่ 28 เมษายน ไม่กี่เดือนหลังเหตุปล้นปืน

ช่วงเช้ามืดของวันที่ 28 เมษายน 2547 กลุ่มกองกำลังไม่ทราบฝ่ายได้ออกปฏิบัติการโจมตีจุดตรวจฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนับสิบจุด ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และอีก 1 จุดที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ทำให้เกิดการปะทะกันจนเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายคน

ส่วนที่มัสยิดกรือเซะ หลังจากโจมตีฐานปฏิบัติการใกล้สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวหลังมัสยิดกรือเซะ ผู้ก่อเหตุก็เข้าไปหลบอยู่ในมัสยิด พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ว่า “เป็นฝีมือของโจรกระจอกและพวกขี้ยา” ซึ่งไม่ต่างกับเหตุการณ์ปล้นปืน

ช่วงแรกการเจรจาให้ผู้ก่อเหตุในมิสยิดกรือเซะวางอาวุธเป็นไปอย่างตึงเครียด ผู้นำในการปฏิบัติการขณะนั้น คือ ‘พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี’ รองผู้อำนวยการ กอ.รมน. และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเดินทางลงไปบัญชาการ และสั่งให้เจ้าหน้าที่ระดมยิงเพื่อสังหารกลุ่มติดอาวุธในมัสยิดทั้งหมด

สรุปรวมเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 มีผู้ก่อเหตุเสียชีวิตรวม 109 รายทั่วทั้งชายแดนใต้ ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่รัฐ 5 รายที่ถูกสังหารในวันเดียวกัน บาดเจ็บ 17 ราย ส่วนคนร้าย 30 รายถูกสังหารในมัสยิดกรือเซะ

หลังเหตุการณ์นั้น เกิดเสียงประณามการกระทำของรัฐบาลที่ใช้ทางเลือกในการสังหารผู้ก่อเหตุที่หลบซ่อนในมัสยิดกรือเซะซึ่งมีอาวุธหลักเพียงมีดพร้าและกริช

ส่วนร่องรูจากคมกระสุนสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่มัสยิดอันเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลามบนแผ่นดินปัตตานี สื่อตะวันตกอย่างนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐเปิดเผยว่า จำเป็นต้องสังหารเพื่อกำราบและสั่งสอน ในห้วงเวลาที่ปัญหาภาคใต้กำลังปะทุรุนแรงขึ้น กองกำลังนักรบญิฮาดเริ่มปรากฏตัว พล.อ.พัลลภบอกว่า ตนขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

ส่วน ‘บิ๊กจิ๋ว’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออกมาปกป้อง และขนานนาม พล.อ.พัลลภว่า ‘แมคอาเธอร์เมืองไทย’

ส่วนผู้นำศาสนาที่ชายแดนใต้ขณะนั้นได้ออกมาส่งเสียงเตือนรัฐบาลว่า หากยังใช้ยุทธศาสตร์ความรุนแรงจะทำให้เหตุการณ์บานปลายจนยากจะแก้ไขได้ และท้ายที่สุดความรุนแรงบานปลายไม่ได้ผิดไปจากที่ผู้นำศาสนาชายแดนใต้เคยส่งเสียงเตือน
 
โศกนาฏกรรมตากใบ ประวัติศาสตร์บาดแผลของรัฐไทย

คำว่า “ตายเสียดีกว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างถูกกดทับทรมาน” เป็นวลีที่มาจากปากของคนรอดชีวิตบนรถบรรทุกที่ขนย้ายคนออกจากหน้า สภ.อ.ตากใบ ที่แม้ผ่านมา 17 ปีแล้ว แต่ยังตราตรึงสำหรับญาติพี่น้องคนเสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ญาติพี่น้อง รวมถึงหัวใจคนมลายูทั้งมวล

หลังเหตุการณ์ราว ๆ 2 ปี ผู้เขียนลงไปสัมภาษณ์เหยื่อตากใบกี่สิบครอบครัวจำไม่ได้ (แก้เป็น หลายสิบครอบครัว มั้ยคะ) ทุกวินาทีที่พูดคุยกันยังเห็นความเจ็บปวดทรมานแสนสาหัสปรากฏอยู่ในแววตาและคำพูด เหยื่อบางคนเกิดภาพหลอน ฝันร้ายในค่ำคืน และเริ่มปรากฏอาการทางจิตเวชในเวลาต่อมา

25 ตุลาคม 2547 ชาวบ้านทยอยมาชุมนุมหน้า สภ.อ.ตากใบเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คนที่ถูกควบคุมตัวข้อหายักยอกอาวุธปืนของทางราชการ ซึ่งพวกเขาอ้างว่าถูกคนร้ายปล้นชิงไป

วันนั้นตรงกับวันที่ 11 ของเดือนรอมฎอน พอเห็นคนไปรวม ๆ ตัวกันจำนวนมาก ชาวบ้านที่ไปตลาดใกล้สถานีตำรวจซื้อหาอาหารเพื่อละศีลอดในช่วงเย็นจึงเข้าไปสังเกตการณ์ ทำให้มีจำนวนคนมากหลายพันคน จนเจ้าหน้าที่ตัดสินใจสลายการชุมนุม ชาวบ้านที่ไปมุงจึงถูกกวาดต้อนให้อยู่ในฝ่ายเดียวกับผู้ชุมนุมทันที

หลังการสลายการชุมนุม มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตทันที 7 คนในเหตุปะทะ ส่วนเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 14 นาย ผู้ชุมนุมที่เหลือถูกควบคุมตัว 1,370 คน ขึ้นรถบรรทุกจำนวน 22 คัน (ข้อมูลบางแห่งบอก 24 คัน) คนทั้งหมดถูกถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง และปีนขึ้นรถบรรทุกจากเก้าอี้ มีกระบอกปืนในมือเจ้าหน้าที่เป็นอำนาจสั่งการ ให้คนที่ขึ้นไปก่อนประชิดเข้าข้างในแล้วนอนคว่ำหน้า คนที่เหลือตามขึ้นไป ที่ไม่พอก็ต้องเบียดให้พอ 

คนที่ขึ้นไปก่อนถูกซ้อนทับชั้นแล้วชั้นเล่า ทำให้ระยะทาง 150 กิโลเมตรจากหน้า สภ.อ.ตากใบไปค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นเวลา 5 ชั่วโมง แต่เนิ่นนานชั่วกัปกัลป์สำหรับหลายคนที่ถูกซ้อนทับ ทุกคนยังไม่ได้เปิดบวช (อาหารมื้อเย็นหลังถือศีลอดในเดือนรอมฎอน) กินอาหารมื้อแรกหลังพระอาทิตย์ตกดิน แต่เมื่อร้องโอดโอยขอความช่วยเหลือก็ถูกสั่งให้เงียบจากเจ้าหน้าที่ผู้ยืนควบคุมอยู่ท้ายรถบรรทุกยีเอ็มซี

ผู้รอดชีวิตคนหนึ่งบอกว่า บนรถคันที่เขาถูกยัดใส่มานั้น แต่ละวินาทีหายใจอย่างทรมาน บนร่างกายมีแต่น้ำปัสสาวะและอุจจาระจากคนที่อยู่ข้างบน มีบางคนบอกในวินาทีนั้นว่าไม่ไหวแล้ว อยากตายไปเสียดีกว่า บางคนปลอบเพื่อนร่วมชะตากรรมให้เอ่ยพระนามของอัลลอฮ์ให้มีชีวิตรอดออกไปจากความทรมาน เสียงหลักบนรถจึงเป็นเสียงร้องต่อพระเจ้า แม้จะเห็นว่าคนที่อยู่ล่างสุดแน่นิ่งไปนานแล้ว

และวินาทีที่ผู้ชุมนุมถูกลำเลียงไปนอนราบกับพื้นภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร ก็เห็นศพนอนตายเกลื่อนอยู่บนพื้นท้ายรถบรรทุก 77 คนเสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้าย และอีก 1 คนไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ผลชันสูตรศพชี้สาเหตุการตายว่าเกิดจาก ‘ขาดอาหารและน้ำ ขาดอากาศหายใจ ถูกกดทับที่หน้าอก ไตวายเฉียบพลัน’

คนตายหลุดพ้นจากความเจ็บปวดทรมานไปแล้ว แต่คนที่รอดชีวิตมาได้คือตายทั้งเป็น ประสบกับฝันร้ายซ้ำ ๆ เจอภาวะทุพพลภาพ พิการจากการถูกกดทับอวัยวะเป็นเวลานาน พ่อแม่ลูกเมียต้องต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรมเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้กระทำ ผู้สั่งการ และการชดเชยเยียวยาที่สมเหตุสมผล นี่คือภาวะของความกดทับความรู้สึกอย่างแท้จริง

ภายหลังเหตุการณ์ซึ่งอยู่ในภาวะอันแตกสลายทางความรู้สึก ผู้ชุมนุมบางส่วนยังถูกควบคุมตัวหลังเหตุการณ์เพื่อสอบสวน ทหารลงไปตามชุมนุมต่าง ๆ ทุกวันเพื่อกดดัน ปิดล้อมหาตัวผู้มีส่วนร่วมกับเหตุชุมนุม เหตุการณ์ความรุนแรงตามมามากมายหลังจากนั้น เกิดการผลิตซ้ำวีซีดี หรือคลิปวิดีโอจากเหตุการณ์ตากใบแพร่กระจายไปในชุมชนมลายูและประเทศเพื่อนบ้าน กลายเป็นเครื่องมือปลุกระดมที่ชี้ให้เห็นความอยุติธรรมที่รัฐไทยกระทำกับพลเมืองชาวมลายูมุสลิม

ตากใบจึงไม่เหมือนกับเหตุการณ์กรือเซะ เพราะมันเป็นประวัติศาสตร์ของการถูกกระทำจากสายตาของคนพื้นที่ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่มีอาวุธ เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาที่ถูกชักพาไปโดยสถานการณ์ให้เข้าไปร่วมชุมนุม 

ภายหลังจากเหตุการณ์นั้น รัฐต้องสูญเสียงบประมาณมากมายเพื่อเยียวยาชดใช้ผลจากการกระทำอันผิดพลาด และในรายละเอียดของกระบวนการยุติธรรม ยังปรากฏให้เห็นการไกล่เกลี่ยต่อรองเพื่อตัดตอนผู้สั่งการแลกกับการชดใช้ทางแพ่ง

เหยื่อเหตุการณ์ตากใบ ทั้งคนเจ็บ ญาติคนตาย ยอมถอยร่นจนสุดขอบของความยุติธรรมแล้ว ยอมรับการไกล่เกลี่ยเพื่อให้มันจบไป กัดกลืนความเจ็บปวดเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ฟางเส้นสุดท้ายคือคดีการไต่สวนกรณีเสียชีวิตของผู้ชุมนุม 78 ราย ที่ศาลพิพากษาเมื่อ 29 พฤษภาคม 2552 ว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการตามความจำเป็นแห่งสภาพการณ์เท่าที่เอื้ออำนวย และ ‘ผู้ตายทั้งหมดตายเพราะขาดอากาศหายใจ’ ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ 

โดยคำพิพากษานี้ถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งอัยการ โดยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นพ้องกับอัยการ คือสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด

วลี ‘ตายเสียดีกว่าถูกกดทับอย่างทรมาน’ จึงอาจไม่ได้หมายถึงผู้คนในท้ายรถบรรทุกคนนั้นอีกแล้ว แต่คนที่ยังอยู่ และมองไม่เห็นว่า อากาศที่ตนเองหายใจเข้า-ออกทุกวันนั้นพรากชีวิตของผู้คนได้อย่างไรหากไม่มีผู้กระทำ

เหตุการณ์ความรุนแรง นักรบรุ่นใหม่ ๆ ของขบวนการใต้ดินที่ปรากฏขึ้นในรอบสิบปีนี้ คือคำตอบ

หลายปีถัดมา เกิดเหตุการณ์ปะทะโจมตีฐานปฏิบัติการทหารร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 บ้านยือลอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2556 และศพของหนึ่งในผู้ก่อเหตุที่เสียชีวิตชื่อ ‘มะรอโซ จันทรวดี’ ก็คือคนที่เคยถูกจับกุมตัวเอามือไพล่หลังในวันที่ชุมนุมหน้า สภ.อ.ตากใบ เขาบาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจ เก็บเนื้อเก็บตัวอยู่หลายปี ก่อนหลบลี้จากชุมชนและจับอาวุธสู้กับรัฐไทยในเวลาต่อมา ทั้งที่หากสืบเสาะประวัติ ตัวเขาเองมีเลือดเนื้อเชื้อไขทางบิดาเป็นคนไทย นับถือศาสนาพุทธมาก่อนด้วยซ้ำ

และเราต้องไม่ลืมบริบทจัดระเบียบอำนาจภายในกองทัพไทยกับท่าทีแข็งกร้าวของทักษิณ และการขยับของชนชั้นนำที่ไม่ชอบทักษิณ ซึ่งส่งผลให้ไม่ถึง 2 ปีต่อมา ทักษิณก็ถูกโค่นอำนาจลง

หลังหมดยุคทักษิณเมื่อปี 2549 อำนาจแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ถูกถ่ายโอนให้กองทัพเกือบทั้งหมด และความรุนแรงก็ยังดำรงอยู่อีกหลายปี 

สำหรับเหตุการณ์ตากใบนั้น กระบวนการยุติธรรมก็ไม่นำความผิดพลาดของทักษิณรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอำนาจสั่งการมาสืบสวนเอาผิด จึงน่าจะเป็นคำตอบได้ว่า ต้นตอปัญหาจึงไม่ได้อยู่กับผู้นำรัฐบาลที่ชื่อทักษิณ แต่มันพันลึกอยู่ในโครงสร้างความมั่นคงของประเทศ อุดมการณ์ชาตินิยมไทยที่เป็นดั่งเส้นเลือดใหญ่ของนโยบายการปกครองชนกลุ่มน้อยซึ่งไม่มีใครกล้าถอดรื้อ

ซึ่งหากสร้างบรรทัดฐานไว้ในกระบวนการยุติธรรมย่อมส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อความเป็นระบบระเบียบที่รัฐไทยวางไว้ ไปจนถึงตัวบุคคลผู้มีอำนาจทั้งในอดีตและที่ยังเกี่ยวพันถึงปัจจุบัน

เมื่อย้อนกลับไป ‘กำปั้นเหล็ก’ ของชายที่ชื่อทักษิณ จะไม่สามารถสวมเข้ามือได้ หากไม่มีแรงส่งช่วยผลักดันจากสังคมไทยขณะนั้น ซึ่งยังไม่เข้าใจ ไม่รู้ปมปัญหา เกลียดและหวาดกลัวศาสนาอิสลาม ให้ความชอบธรรมผ่านสภาพการณ์ของความรุนแรง เห็นชอบนโยบายแบบตาต่อตา-ฟันต่อฟัน เหมือนเช่นความสำเร็จในสงครามปราบปรามยาเสพติดและผู้มีอิทธิพล ซึ่งแม้จะมีผู้เสียชีวิตกว่าสองพันศพ แต่ได้รับฉันทามติจากสังคมส่วนใหญ่ที่เบื่อหน่ายกับปัญหาซ้ำซากที่เกาะกินสังคม รวมไปถึงความสำเร็จในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศในห้วงปี 2544 จนถึง 2548 กลายเป็นยุค ‘ประชานิยม’ อย่างแท้จริง จึงไม่แปลกที่เขาจะกล้าตัดสินใจเช่นนั้น

หลายปีถัดมา ทักษิณจึงได้ทบทวนก่อนเอ่ยคำว่า เสียใจและขอโทษชาวมลายู และรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นน้องสาวก็พยายามชดเชยเยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในบรรทัดฐานเดียวกับคดีการเมืองซึ่งไม่วายถูกวิจารณ์จากฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างหนักหน่วง รวมไปถึงความพยายามเปิดพื้นที่เจรจาด้วยความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง

มีการส่งผู้แทนไปพบปะฝ่ายตรงข้าม ทว่าถูกรัฐประหารยึดอำนาจจากผู้นำกองทัพเสียก่อน กระบวนการเจรจาพูดคุยยังคงค้างคา ส่วนแนวโน้มความรุนแรงแม้จะลดน้อยลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ยังคุกรุ่นอยู่เป็นระยะจนถึงปัจจุบัน
 
อ้างอิง:

ข่าวดังข้ามเวลา ตอน ปืนหายที่ค่ายปิเหล็ง https://youtu.be/hQMa1CuB5kY
รายการ ที่นี่ตอบโจทย์ วันที่ 18 กรกฎาคม 2554 https://youtu.be/rKaIue-jG64
https://www.asiasentinel.com/p/thaksin-reveals-his-ambitions https://deepsouthwatch.org/th/node/39 https://prachatai.com/journal/2017/11/74277 https://peaceresourcecollaborative.org/deep-south/overview-analysis/nrcreport https://mgronline.com/politics/detail/9480000056727 https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1654923 https://deepsouthwatch.org/dsj/th/8985
https://www.cops-magazine.com/topic/5884/
 
เรื่อง: กัณฐ์ นครสุขาลัย