18 มี.ค. 2566 | 22:50 น.
เข้าสู่ฤดูเลือกตั้ง 2566 สมรภูมิระยองมีความน่าสนใจไม่แพ้สนามชลบุรี เพราะสองจังหวัดนี้ มีประชากรเพิ่ม จำนวน ส.ส.ก็เพิ่ม เฉพาะเมือง ‘ระยองฮิสั้น’ มี ส.ส. 5 คน จากเดิม 4 คน
20 ปีมานี้ ระยองได้เข้าสู่เมืองอุตสาหกรรม และเมืองเกษตรกรรมเพื่อการส่งออก มีประชากรจากต่างถิ่นเคลื่อนย้ายเข้ามาปักหลักทำมาหากิน ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งระดับหนึ่ง
ความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ ระยอง ถูกจับตามองมากที่สุด เนื่องจากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พรรคนี้กวาดเก้าอี้ ส.ส.ระยอง ยกจังหวัด ยกเว้นสมัยที่แล้วที่ถูกพรรคพลังประชารัฐแย่งไป 1 ที่นั่ง
สำหรับเลือกตั้ง 66 พรรค ปชป.ระยอง ส่งผู้สมัคร ส.ส. นามสกุล ‘ปิตุเตชะ’ ลงสนามถึง 4 คน จากจำนวน ส.ส.ระยอง 5 คน
การปราศรัยใหญ่ที่หาดแหลมเจริญ จ.ระยอง เมื่อปลายเดือน ก.พ.2566 สาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง 4 สมัย ย้ำว่า “ผมอยู่ไหนไม่สำคัญ เท่ากับทีมสาธิต จะทำอะไรให้กับคนภาคตะวันออก”
เบื้องหลังประโยคนี้ น่าจะมาจากข่าวลือเรื่อง สาธิต ปิตุเตชะ จะย้ายไปพรรคโน้นพรรคนี้ แต่สุดท้ายเขาเลือกที่จะอยู่กับพรรค ปชป.ต่อไป และที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ ‘ทีมสาธิต’
คำว่า ทีมสาธิต ในมิติการเมืองนั้นหมายถึง ‘กลุ่มบ้านค่าย’ บ้านใหญ่เมืองระยองที่อยู่เบื้องหลัง ส.ส.ระยอง และ อบจ.ระยอง มายาวนานกว่า 30 ปี
บ้านใหญ่แห่งบ้านค่าย
ในยุทธจักรบูรพา ชลบุรีมีกำนันเป๊าะ บ้านใหญ่แสนสุข เฮียโหยด - ประโยชน์ เนื่องจำนงค์ เจ้าพ่อบ้านบึง ระยองก็มี ‘กำนันสาคร’ บ้านใหญ่แห่งบ้านค่าย
ชื่อเสียง สาคร ปิตุเตชะ กำนันตำบลบางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โด่งดังไปทั่วภาคตะวันออก ในวัยหนุ่ม กำนันสาครรูปหล่อเนื้อหอม เป็นนักเลงไม่กลัวใคร เป็นผู้นำที่เด็ดขาด กล้าตัดสินใจ มีประวัติการต่อสู้อย่างโชกโชน เสียสละแก่ส่วนรวม ใจดีต่อลูกน้องและผู้อยู่ในความปกครอง
กำนันสาคร เสียชีวิตเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2561 ทิ้งมรดกกลุ่มบ้านค่ายให้ลูกชายคนโตคือ ช้าง - ปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง และลูกชายคนเล็ก ตี๋ - สาธิต ปิตุเตชะ ร่วมกันขับเคลื่อนการเมืองของบ้านใหญ่
ช่วงปี 2528-2538 กำนันสาคร ส่งลูกชาย ปิยะ ปิตุเตชะ ลงเล่นการเมืองท้องถิ่น ทำให้ชื่อ สจ.ช้าง เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในฐานะตัวแทนบ้านใหญ่กลุ่มบ้านค่าย
เวลานั้น เมืองระยอง มีบ้านใหญ่อยู่ 2 กลุ่มคือ กลุ่มบ้านค่าย นำโดย สจ.ช้าง ปิยะ ปิตุเตชะ และกลุ่มบ้านเพ ยงยศ อรุณเวสสะเศรษฐ์ ส.ส.ระยอง (ปี 2535-2548) น้องชาย กิมห่อ ลี้เซ่งเฮง หรือเจ๊ฮ้อ ที่ได้ฉายาว่า เจ้าแม่บ้านเพ
หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ได้เปิดการเจรจากับกำนันสาคร ขอให้ สจ.ช้าง ลงสมัคร ส.ส.ระยอง แต่การลงสนามครั้งแรก สจ.ช้าง พ่ายแพ้
ปี 2538 ปิยะ จึงได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ระยอง สังกัดพรรคชาติพัฒนา และกำนันสาคร ได้ปั้นลูกชายอีก 3 คนคือ เปี๊ยก - เศรษฐา ปิตุเตชะ และ ตี๋ - สาธิต ปิตุเตชะ เป็น ส.อบจ.ระยอง
การเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2544 มีการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งเป็นเขตเดียว เบอร์เดียว บ้านใหญ่ตระกูลปิตุเตชะ สร้างความแปลกใจให้คนระยอง เมื่อ สจ.ตี๋ สาธิต ลงสมัคร ส.ส.ระยอง เขต 1 สังกัดพรรค ปชป. ส่วนพี่ชาย ช้าง - ปิยะ ลงสมัคร ส.ส.ระยอง เขต 3 พรรคชาติไทย
ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น สจ.ตี๋ พลิกชนะ ยงยศ อรุณเวสสะเศรษฐ อดีต ส.ส.ระยอง พรรคไทยรักไทย ส่วนเสี่ยช้าง - ปิยะ ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ระยอง สมัยที่ 3
ปี 2548 ปิยะ หันไปลุยสนามท้องถิ่น เป็นนายก อบจ.ระยอง และหนุนน้องชาย ธารา ปิตุเตชะ สวมเสื้อพรรคไทยรักไทย ลงสนามแทนตัวเอง และได้เป็น ส.ส.ระยอง เขต 3
เวลานั้น บ้านใหญ่กลุ่มบ้านเพ สังกัดพรรค ทรท. และเลือกตั้ง 48 พรรค ทรท.ชนะเลือกตั้งยกจังหวัดระยอง ทำให้สาธิต ที่สวมเสื้อตัวเดิม พ่ายแพ้คู่ปรับเก่า ยงยศ น้องชายเจ้าแม่บ้านเพ
ยกแรกบนถนนการเมืองระดับชาติของบ้านใหญ่บ้านค่าย กำนันสาครได้เปิดโอกาสให้ลูกชายเลือกตามที่ใจชอบ ช้าง ปิยะ มาแนวบ้านใหญ่ใจถึงพึ่งได้ จึงเลือกชาติพัฒนา, ชาติไทย และไทยรักไทย ส่วน ตี๋ สาธิต ตัวแทนคนรุ่นใหม่ในยุคโน้น ก็เลือก ปชป.
ยุคเสื้อเหลือง
ช่วงต้นปี 2549 สนธิ ลิ้มทองกุล นำมวลชนลงสู่ท้องถนน ในนามกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ ‘คนเสื้อเหลือง’ ปรากฏว่า คนเสื้อเหลืองชลบุรี และระยอง กลายเป็นขุมกำลังหลักฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทักษิณ
ผลพวงของขบวนการคนเสื้อเหลืองใน จ.ระยอง ส่งผลให้พรรค ปชป. และตระกูลปิตุเตชะ ยึดครองเก้าอี้ ส.ส.ระยองแบบยกจังหวัด ทั้งในการเลือกตั้งปี 2550 และปี 2554
เลือกตั้งปี 62 พรรคปชป.ที่เคยได้อานิสงส์กระแสคนเสื้อเหลือง กลับเจอการเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึง เมื่อพลังอนุรักษ์นิยมหันไปเลือกพรรคพลังประชารัฐ และคลื่นลูกใหม่ที่ถาโถมใส่บ้านใหญ่ระยอง
แม้บ้านใหญ่ ยังได้เก้าอี้ ส.ส. 3 ที่นั่ง แต่ก็ถูกพรรคพลังประชารัฐแย่งชิงไปได้ 1 ที่นั่ง ส่วนพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้ ส.ส.ก็จริง แต่คะแนนไล่จี้แชมป์เก่าทุกเขต
ดังนั้น การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ค.2566 สองพี่น้อง ปิยะ และสาธิต จึงหันหน้ามาจับมือกันในนาม ทีมสาธิต หรือบ้านใหญ่ปิตุเตชะ ฝ่าคลื่นลูกใหม่ในเมืองระยองฮิ
รายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ระยอง สังกัดบ้านใหญ่ ประกอบด้วยเขต 1 พศิน ปิตุเตชะ, เขต 2 สาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง 4 สมัย, เขต 3 นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง 3 สมัย, เขต 4 ธารา ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง 4 สมัย และเขต 5 ฉัตรชัย ปิตุเตชะ
หากบ้านใหญ่แห่งบ้านค่ายพ่ายแพ้แค่ 2 เขต ก็ส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลง และการนับถอยหลังของตระกูลปิตุเตชะ ในเวทีการเมืองระดับชาติ
เรื่อง: ชน บทจร
ภาพ: (ซ้าย) สาธิต ปิตุเตชะ (กลาง) ธารา ปิตุเตชะ และปิยะ ปิตุเตชะ ไฟล์ภาพจากกรุงเทพธุรกิจ และพรรคประชาธิปัตย์