ศิริภา อินทวิเชียร เชื่อมั่นในสิทธิเท่าเทียม ให้กรุงเทพฯ สู่เมืองปลอดภัย

ศิริภา อินทวิเชียร เชื่อมั่นในสิทธิเท่าเทียม ให้กรุงเทพฯ สู่เมืองปลอดภัย

รู้จัก แนน - ศิริภา อินทวิเชียร จากเชื่อมั่นในสิทธิอันเท่าเทียม เพื่อการขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครสู่เมืองปลอดภัย

ศิริภา อินทวิเชียร คือใคร? ก้าวสู่เส้นทางการเมืองได้อย่างไร? ถ้าจะทำความเข้าใจ คงต้องย้อนไปตั้งแต่ครั้งยังอยู่ในห้องเรียน เธอคือเด็กหญิงคนหนึ่งที่สนุกกับการนำวิชาที่ร่ำเรียนมาเปลี่ยนชีวิตคนให้ดีขึ้น ความฝันอยากเปลี่ยนแปลงสังคมถูกบ่มเพาะจากชั่วโมงทัศนศึกษา พอเข้าสู่วัยมหาลัยเธอกลายเป็นนักกิจกรรมตัวยง 

ชีวิตเบนเข็มสู่ภาคการเมืองเข้มข้นขึ้นเมื่อเธอได้รับการโหวตให้เป็น ประธานสภาเสรีภาพและประชาธิปไตยแห่งเอเชีย (เยาวชน) องค์กรระดับภูมิภาคของพรรคการเมืองที่ยึดหลักเสรีนิยมประชาธิปไตยแห่งเอเชีย นำมาสู่นักการเมืองรุ่นใหม่ผู้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนงานในพรรคประชาธิปัตย์ 

ช่วงการเลือกตั้งปี 2562 เธอได้รับความไว้วางใจจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ดำรงตำแหน่งรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะได้ควบอีกตำแหน่งที่ทำให้เธอได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากปูชนียบุคคลทางการเมืองของไทย ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ชวน หลีกภัย 

ในปี 2564 เธอมีส่วนสำคัญในการส่งเสียงเรียกร้องต่อรัฐไทยให้เคารพในสิทธิมนุษยชน ช่วยเหลือพระผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาเดินทางสู่ประเทศที่ให้การรับรองสถานะผู้ลี้ภัยได้อย่างปลอดภัย 

ในการเลือกตั้ง 2566 นี้ เธอขอฝากเนื้อฝากตัวกับพี่น้องชาว กทม. เขตคลองสาน-ธนบุรี-ราษฎร์บูรณะ ในฐานะผู้สมัคร ส.ส. กทม. หมายเลข 11 พรรคประชาธิปัตย์ 

The People สนทนากับ ศิริภา อินทวิเชียร หรือ ส.ส.แนน ถามถึงบทเรียนการเมืองไทยตลอด 8 ปี และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากผู้นำรุ่นเก๋าอย่าง ชวน หลีกภัย นอกจากนี้ ในฐานะของคนรุ่นใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ เธอมองสนามเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร โอกาสและความท้าทายอยู่ตรงไหน และอะไรคือจุดแข็งที่จะซื้อใจประชาชนชาวฝั่งธนฯ 
ศิริภา อินทวิเชียร เชื่อมั่นในสิทธิเท่าเทียม ให้กรุงเทพฯ สู่เมืองปลอดภัย

เส้นทางที่ต้องพิสูจน์ 
หลายคนเข้าสู่แวดวงการเมืองเพราะการผลักดันของครอบครัว แต่เธอไม่ได้เป็นเช่นนั้น ศิริภาเติบโตมาในครอบครัวนักธุรกิจ พ่อและแม่ไม่ต้องการให้เข้าสู่เส้นทางการเมือง เพราะรู้สึกว่าการเมืองไทยเต็มไปด้วยความโหดหินและไม่เหมาะกับผู้หญิง 

“คุณแม่จะพูดอยู่ตลอดว่า การเมืองเราเข้าไปเรียนรู้ได้ แต่อย่าเป็นนักการเมืองเลย ส่วนคุณพ่อพอรู้ว่าเราอยากจะเอาจริงเอาจังกับเส้นทางนี้ เขาออกปากเตือนเราเลยว่า ถ้าอยากจะร่ำรวยจากกอาชีพนักการเมือง ป๊าจะไม่สนับสนุนเด็ดขาด เพราะความร่ำรวยจากอาชีพการเมืองมาจากการทุจริต คอรัปชัน” 

“เรารู้ว่าท่านหวังดีและเป็นห่วงเรามาก แต่เราจำเป็นต้องเลือกทำในสิ่งที่เขาอาจจะไม่ได้อยากให้เราเป็น เพราะนี่คือความตั้งใจของเรา เรารู้ตัวดีว่าเราไม่ได้อยากร่ำรวยจากการเมือง เราอยากทำการเมืองเพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคม ก็เลยพยายามพิสูจน์ตัวเองในเส้นทางการเมืองมาเรื่อยๆ” 
ศิริภา อินทวิเชียร เชื่อมั่นในสิทธิเท่าเทียม ให้กรุงเทพฯ สู่เมืองปลอดภัย

จากเด็กกิจกรรมสู่นักการเมือง 
ถามว่า เมื่อครอบครัวไม่ซัพพอร์ตแล้วอะไรคือสิ่งที่ผลักดันสู่เส้นทางการเมือง เธอเล่าถึงชั่วโมงทัศนศึกษาในวัยประถมฯ ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจต่อสังคม 

“แนนเป็นเด็กที่ชอบทำกิจกรรมมากๆ ช่วงประถมได้เรียนวิชา Design Realization จำได้ว่ามีอยู่วันหนึ่งที่คุณครูพาเราไปทัศนศึกษาที่โรงเรียนในชุมชน แล้วให้เราใช้วิชาที่เรียนมาออกแบบสร้างโต๊ะเรียนให้เด็กที่นั่น ซึ่งทำให้เราต้องกลับมาคิดว่า โต๊ะเรียนที่ออกแบบเพื่อเด็กคนหนึ่งจะต้องมีอะไรบ้าง ความสูงเท่าไหร่ ต้องหลบมุมกี่องศา นอกจากนี้ โต๊ะเรียนของเรายังมีฟังก์ชันต่างๆ ที่ช่วยเสริมพัฒนาการของเด็กด้วย นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้สึกว่า เรามีความสุขที่ได้ทำอะไรเพื่อคนอื่น” 

“จากนั้นเราก็เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนเรื่อยมา จนกระทั่งได้มีโอกาสเป็นประธานสภาเสรีภาพและประชาธิปไตยแห่งเอเชีย เยาวชน (Council of Asian Liberals and Democrats Youth) ซึ่งเป็นองค์กรระดับภูมิภาคของพรรคการเมืองที่ยึดหลักเสรีนิยมประชาธิปไตยแห่งเอเชีย มีสมาชิกจากหลากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียและยุโรป โดยบทบาทของประธานสภาฯ คือการเข้าร่วมรับฟังปัญหาจากสมาชิกประเทศต่างๆ และหาทางออกร่วมกัน” 

การทำงานเพื่อสังคมที่เธอสั่งสมมาทั้งชีวิตจึงบ่มเพาะให้เธอมีทักษะในการรับฟังอย่างเข้าใจ และมีความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิอันเท่าเทียม ไม่มีใครสมควรถูกละเมิดสิทธิ 

รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์
ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ศิริภาเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยความตั้งใจที่จะเรียนรู้การทำงานทางการเมืองแบบเต็มตัว เธอได้รับความไว้วางใจจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ดำรงตำแหน่งรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 

“บทบาทหน้าที่ของรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์คือ การเป็นตัวแทนประชาชนในการพูดหรือเรียกร้องในสิ่งที่พวกเขากำลังเดือดร้อน สะท้อนให้สังคม รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยแนนจะยึดหลักของความถูกต้อง ความยุติธรรม และหลักของสิทธิมนุษยชน” 

รัฐต้องเคารพสิทธิมนุษยชน
“เวลาแนนพูดหรือส่งเสียงเรียกร้องเพื่อสิทธิมนุษยชน แนนไม่ได้พูดเพื่อคนไทยเท่านั้น แต่แนนพูดให้กับประชากรโลก เพราะเชื่อว่าทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์มีสิทธิเท่ากัน ไม่มีใครควรถูกละเมิดสิทธิ” 

ประเด็นที่เธอขับเคลื่อนในฐานะรองโฆษกฯ มีตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น สิทธิในการเข้าถึงนมโรงเรียนของเด็กในช่วงโควิด-19 ไปจนถึงการค้ามนุษย์ และการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย เมื่อถามถึงผลงานที่ภาคภูมิใจที่สุด เธอตอบว่าคือการเรียกร้องต่อรัฐไทยให้ปฏิเสธการส่งตัวพระผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชากลับประเทศ ซึ่งนับเป็นการช่วยผู้บริสุทธิ์คนหนึ่งให้รอดพ้นจากบทลงโทษที่ถึงแก่ชีวิต 

“เคสนั้นเป็นเคสพระที่ลี้ภัยจากกัมพูชามาอยู่ในประเทศไทย ท่านถูกจับกุมโดยทางการไทยและกำลังจะถูกส่งกลับไปยังประเทศกัมพูชา โดยพระท่านนี้เป็นบุคคลที่ผ่านการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการจาก UNHCR และสิ่งที่ทำให้ท่านโดนหมายหัวจากรัฐบาลกัมพูชาคือการที่ท่านเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักศึกษาที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้น สิ่งที่เราทำก็คือ การทำหนังสือเรียกร้องให้รัฐไทยเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน รวมถึงประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ท่านได้รับการปล่อยตัว และเดินทางไปยังประเทศที่รับรองสถานะของผู้ลี้ภัยโดยเร็วที่สุด ผลจากความพยายามติดตามทุกๆ กระบวนการของเราทำให้ในที่สุดพระรูปนี้ก็ปลอดภัย นี่คือความภูมิใจและคุณค่าในการทำงาน” 

“สิ่งที่เป็นอุปสรรคใหญ่ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนคือทัศนคติที่ว่า ‘เรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา’ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่คนมักมองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ศิริภา อินทวิเชียร เชื่อมั่นในสิทธิเท่าเทียม ให้กรุงเทพฯ สู่เมืองปลอดภัย
ขับเคลื่อนไทยสู่เมืองปลอดภัย

ในปี 2022 ผลสำรวจจาก World Population Review ในปีที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 10 ของเมืองที่อันตรายที่สุดในโลก 

“ปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยของการใช้ชีวิตในเมืองคือหนึ่งในปัญหาของไทยที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพราะส่งผลต่อความปลอดภัยของชีวิตและภาพลักษณ์ของประเทศไทย แนนมองว่ารากของปัญหาไม่ได้มาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งแต่มาจากหลายๆ สิ่งที่เป็นปัญหาถูกสะสมไว้มาเนิ่นนาน ทั้งการไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเครียดสั่งสม ตลอดจนกฎหมายครอบครองอาวุธปืนที่ทำให้คนเข้าถึงปืนได้ง่าย ทำให้หลายๆ เคสที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างเช่นกรณีกราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเกิดขึ้น” 

ชีวิตในเมืองของคนไทยต้องดีและปลอดภัยกว่านี้ โดยการแก้ปัญหาต้องทำพร้อมๆ กันในหลากหลายมิติ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหา 

“จะเห็นได้ว่ากรณีกราดยิงเกิดขึ้นในศูนย์เด็กเล็กฯ จริงๆ แล้วเป็นพื้นที่เอกชนกึ่งสาธารณะ สื่งที่รัฐจะต้องทำก็คือ การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นรวมทั้งนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ อย่างเช่น AI มาใช้ในการช่วยเฝ้าระวังความปลอดภัยในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในสถานศึกษา โรงพยาบาล และห้างสรรพสินค้า แนนเชื่อว่า ด้วยการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น จะทำให้คนใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม” 

ศิริภา อินทวิเชียร เชื่อมั่นในสิทธิเท่าเทียม ให้กรุงเทพฯ สู่เมืองปลอดภัย
อุปสรรคโหดหินในการเลือกตั้ง 2566 

การเลือกตั้ง 2566 คืออีกก้าวสำคัญในการพิสูจน์ความสามารถและความฝันในการเปลี่ยนแปลงสังคม ศิริภาตัดสินใจลุยสนาม ส.ส. กทม. เขตคลองสาน ธนบุรี และราษฎร์บูรณะ ในฐานะผู้สมัครหมายเลข 11 จากพรรคประชาธิปัตย์ 

“นอกจากการลงสมัคร ส.ส. เขตเป็นครั้งแรก สิ่งที่ท้าทายเรามากที่สุดก็คือ การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ของ กกต. ที่ส่งผลกระทบต่อเขตเลือกตั้งทั่วกรุงเทพมหานคร”

“จากการปรับเปลี่ยนเขตเลือกตั้งทำให้แนนคือหนึ่งในผู้สมัครที่มีเวลาน้อยที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ ยอมรับว่าตอนแรกมีความกังวลมากพอสมควร แต่พอลงพื้นที่ ในเขตคลองสาน ธนบุรี และราษฎร์บูรณะ กลับได้พบว่า คนที่นั่นรักและผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 คนรุ่นก่อนได้สร้างผลงานในการพัฒนาพื้นที่ไว้มากมาย มีความใกล้ชิดกับชาวบ้านและมีความผูกพันร่วมกันมาอย่างยาวนาน จากความกังวลจึงกลายเป็นกำลังใจสำคัญให้เราสู้ต่อในทุกวัน” 

ศิริภา อินทวิเชียร เชื่อมั่นในสิทธิเท่าเทียม ให้กรุงเทพฯ สู่เมืองปลอดภัย
ลูกศิษย์ประธานสภาฯ ชวน หลีกภัย 

หากติดตามการลงพื้นที่ของเธอจะพบกับภาพของประธานสภาฯ ชวน หลีกภัย คอยยืนเคียงข้างในระหว่างหาเสียง แนนบอกว่า เธอโชคดีที่ได้โอกาสเข้าไปเรียนรู้การทำงานจากปูชนียบุคคลของการเมืองไทย ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร แถมตอนหาเสียงท่านก็ยังมาช่วยให้การสนับสนุน 

“พอรู้ว่าเขตเลือกตั้งเปลี่ยน ก็คิดว่าไว้รอสมัยหน้า แต่พอท่านชวนทราบเข้า ท่านก็สอนว่า ‘อย่าหนีปัญหา ไม่ว่าจะลงเขตไหน เจอความท้าทายอย่างไรก็ต้องสู้ เพราะเราตั้งใจจะเป็นนักการเมือง ทำงานเพื่อประชาชน อยู่ที่ไหนก็ต้องทำงานให้ได้’ คำพูดของท่านทำให้เราฮึดสู้ และท่านก็ยังมาช่วยรับรองคุณภาพการทำงาน และความซื่อสัตย์ในฐานะคนที่ทำงานร่วมกับท่านมา” 
ศิริภา อินทวิเชียร เชื่อมั่นในสิทธิเท่าเทียม ให้กรุงเทพฯ สู่เมืองปลอดภัย

ความเป็นผู้นำของชวน หลีกภัย ที่เธอได้เรียนรู้ในฐานะผู้ชวยเลขานุการฯ ศิริภามองว่าคือความละเอียด ความซื่อตรง ความยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย และหลักการความถูกต้อง

“ถามว่าในฐานะผู้ช่วยเราได้ช่วยอะไรท่านบ้าง แนนมองว่าเอาจริงๆ เราช่วยท่านได้ไม่มากหรอกค่ะ (ยิ้ม) เพราะท่านเป็นคนเก่งและละเอียดมากในการทำงานหลายๆ อย่าง ไม่มีใครมาทำแทนท่านได้เลย สิ่งที่เราทำก็คือ พยายามเรียนรู้จากท่านให้ได้มากที่สุด รวมทั้งซึมซับวิธีคิดในการทำงานการเมือง ให้ยืนอยู่บนหลักการความถูกต้อง และทำเพื่อประชาชน” 

ถึงแม้สนามการเลือกตั้ง 2566 จะเป็นสนามที่มีการขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น เต็มไปด้วยความท้าทายและความไม่แน่นอน แต่ว่าที่ ส.ส. หญิงคนนี้เชื่อว่า ความมุ่งมั่นตั้งใจ การยืดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน และการยืนข้างประชาชน จะทำให้เธอยืนอยู่ในสนามการเมืองได้อย่างหนักแน่น และมั่นคง ไม่หวั่นแม้ผลการเลือกตั้งจะปรากฎแบบไหน เพราะอาชีพนักการเมืองคือการทำเพื่อประชาชนตลอดชีวิต