‘ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี’ นายกฯอิตาลีจอมคัมแบ็ค ทวงตำแหน่งคืนได้ทั้งที่เจอสารพัดคดีฉาว

‘ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี’ นายกฯอิตาลีจอมคัมแบ็ค ทวงตำแหน่งคืนได้ทั้งที่เจอสารพัดคดีฉาว

‘ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี’ มหาเศรษฐีเจ้าของสื่อผู้เต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาว แต่ก็วนกลับมาเป็น ‘นายกรัฐมนตรีอิตาลี’ อีกหลายสมัย

  • ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี เจ้าพ่อสื่อและนายกรัฐมนตรีอิตาลีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่หลังสงคราม ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 86 ปี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2023
  • นายกรัฐมนตรีอิตาลี 3 สมัยผู้นี้ เคยถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาฉ้อโกงภาษีในปี 2014 และถูกห้ามไม่ให้ลงรับสมัครตำแหน่งทางการเมืองจนถึงปี 2019
  • เรื่องอื้อฉาวที่โด่งดังที่สุดของเขาคือการจัดปาร์ตี้ ‘บุงกาบุงกา’ ซึ่งเต็มไปด้วยนางโชว์ ทำให้เขาถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์กับหญิงขายบริการที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

‘ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี’ เป็นนักการเมืองที่ ‘รอบจัด’ ชนิดยากจะหาใครมาเทียบ เสน่ห์ของเขาสามารถมัดใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอิตาลีได้อยู่หมัด แม้เขาจะมีเรื่องอื้อฉาวยาวเป็นหางว่าว ทั้งคดีทุจริต และคดีทางเพศ ที่กลายเป็นข่าวฉาวโฉ่ไปทั่วโลก

แบร์ลุสโกนี เป็นนายกรัฐมนตรีอิตาลีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่หลังสงคราม เขาได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีอิตาลีถึง 3 สมัย รวมทั้งสิ้น 9 ปี ได้แก่ ระหว่างปี 1994 - 1995, 2001 - 2006, และ 2008 – 2011 

ชายผู้เป็นทั้งเจ้าพ่อสื่อ เจ้าของสโมสรฟุตบอล นักธุรกิจมหาเศรษฐี และนักการเมืองที่ไม่เคยยอมแพ้ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 86 ปี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2023 ด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เหลือไว้เพียงตำนานที่เขาได้สร้างไว้มากมาย

ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของ ‘ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี’ ซึ่งบางสื่อขนานนามว่าเป็น “บุคคลสาธารณะที่มีสีสันที่สุดของอิตาลี”

‘ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี’ นายกฯอิตาลีจอมคัมแบ็ค ทวงตำแหน่งคืนได้ทั้งที่เจอสารพัดคดีฉาว

เจ้าสัวชาวมิลาน

ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 29 กันยายน 1936 เขาเติบโตที่หมู่บ้านแถบนอกเมืองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ชายผู้มีชื่อเล่นว่า ‘อิล คาวาลิแยร์’ ที่แปลว่า อัศวิน ฉายแววหาเงินเก่งตั้งแต่สมัยเรียน เขาทั้งร้องเพลงและเล่นดับเบิลเบสในวงดนตรีขณะยังเป็นนักศึกษากฎหมาย ทั้งยังเคยทำงานบนเรือสำราญและรับจ้างเขียนบทความให้เพื่อนเพื่อหาเงินเรียนด้วยตัวเอง พอโตขึ้นอีกหน่อยก็ใช้เสน่ห์ของตัวเองไปเอาดีด้านธุรกิจ ด้วยการเป็นพนักงานขายเครื่องดูดฝุ่น 

หลังเรียนจบเขาก็เริ่มตั้งบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ชื่อว่า ‘Edilnord’ เพื่อสร้างอะพาร์ตเมนต์ขนาดมหึมาแถบชานเมืองมิลาน แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าเขาไปเอาเงินมากมายจากไหนมาตั้งบริษัท 

ปี 1973 นักธุรกิจหนุ่มแบร์ลุสโกนีหันไปเปิดบริษัทเคเบิลทีวีท้องถิ่นชื่อ ‘Telemilano’ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในโครงการก่อสร้างของเขา และ 4 ปีต่อมา เขาก็ได้เป็นเจ้าของสถานีอีก 2 แห่ง และสตูดิโอ 1 แห่ง ย่านใจกลางเมืองมิลาน ก่อนที่ในช่วงท้ายทศวรรษ 1970 เขาจะตั้งบริษัทโฮลดิ้งชื่อ ‘Fininvest’ เพื่อดูแลจัดการธุรกิจของเขาที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว 

ซึ่งบริษัท Fininvest นี้เอง ที่ตอนหลังได้กลายเป็นเจ้าของ ‘Mediaset’ อาณาจักรสื่อที่ใหญ่ที่สุดในอิตาลี รวมถึงเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ ‘Mondadori’ ด้วย 

ในช่วงที่เขาเสียชีวิต เขายังได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในอิตาลี โดยทรัพย์สินของครอบครัวแบร์ลุสโกนีซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ถูกแบ่งให้กับลูก ๆ ทั้ง 5 คน ที่เกิดจากการแต่งงานทั้ง 2 ครั้งของเขา

นอกจากธุรกิจที่สร้างเงินเป็นกอบเป็นกำ แบร์ลุสโกนียังทุ่มเงินไปกับความชื่นชอบส่วนตัว ด้วยการช่วยสโมสรฟุตบอลในบ้านเกิดของเขาอย่าง ‘เอซี มิลาน’ ให้รอดพ้นจากการล้มละลายในปี 1986 และการลงทุนครั้งนี้ก็คุ้มค่าใน 3 ทศวรรษต่อมา เพราะในปี 2017 เขาได้ขายสโมสรแห่งนี้ให้กับนักลงทุนชาวจีนในราคา 740 ล้านยูโร 

ต่อมาเขายังได้ซื้อสโมสรฟุตบอล ‘มอนซา' ซึ่งสร้างความปลาบปลื้มใจให้เขาสุด ๆ เมื่อได้เห็นมอนซาผงาดขึ้นสู่ลีกสูงสุดของอิตาลีได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

‘ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี’ นายกฯอิตาลีจอมคัมแบ็ค ทวงตำแหน่งคืนได้ทั้งที่เจอสารพัดคดีฉาว

อำนาจทางการเมืองและคดีทุจริต

ความสามารถที่โดดเด่นของแบร์ลุสโกนีในการเดินขึ้นศาลซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ยังรักษาคะแนนนิยมทางการเมืองเอาไว้ได้ ยังกลายเป็นอีกหนึ่งตำนานที่หาคนเทียบได้ยาก 

เขามักจะพูดอยู่เสมอว่าตัวเองตกเป็น ‘เหยื่อ’ ของอัยการเมืองมิลาน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาเอง ครั้งหนึ่งเขาอ้างว่า ตลอดช่วง 20 ปี เขาขึ้นศาลมาแล้ว 2,500 ครั้ง ใน 106 คดี 

ข้อกล่าวหาที่เขาเผชิญในช่วงหลายปี มีทั้งการยักยอก ฉ้อโกงภาษี การทำบัญชีเท็จ และพยายามติดสินบนผู้พิพากษา ซึ่งมีทั้งที่พ้นผิดและถูกตัดสินใจลงโทษ 

ข้อพิพาทต่าง ๆ ตามหลอกหลอนเขาตลอดเวลาที่เดินบนเส้นทางการเมือง โดยเฉพาะคดีติดสินบนพยานเพื่อให้โกหกเรื่องในงานปาร์ตี้ ‘บุงกา บุงกา’ อันสุดฉาวโฉ่ ที่เขาจัดขึ้นที่วิลล่าในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ที่เขาพ้นโทษจากคดีนี้

แบร์ลุสโกนีก่อตั้งพรรคการเมืองของตัวเองเมื่อ 30 ปีก่อน ในช่วงต้นปี 1993 ด้วยความหลงใหลในฟุตบอล เขาจึงตั้งชื่อพรรคตามเสียงเชียร์ของแฟนบอลที่ตะโกนว่า ‘ฟอร์ซา อิตาเลีย’ (Forza Italia) แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Go Italy’

ในเวลานั้นเป็นช่วงสุญญากาศทางการเมืองพอดี หลังเกิดเรื่องอื้อฉาวที่ส่งผลต่อฝ่ายกลางขวาของอิตาลี แบร์ลุสโกนีซึ่งมีสื่ออยู่ในมือ จึงกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอิตาลี ทำให้เขาสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งปี 1994 ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศที่พรรคของตัวเองไม่เคยเป็นรัฐบาลมาก่อน

แต่การกลับมาชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ของเขา กลับถูกมองเป็นความพยายามว่าจะหลีกเลี่ยงข้อหาทุจริต เพราะในเวลานั้นธุรกิจหลายอย่างของเขากำลังถูกสอบสวน แต่เขาก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้น ซ้ำยังบอกด้วยว่า “ผมไม่จำเป็นต้องเข้ารับตำแหน่งเพื่อให้มีอำนาจก็ได้นะ เพราะผมมีบ้านอยู่ทั่วโลก มีเรือลำใหญ่มหึมา มีเครื่องบินหรู มีภรรยาแสนสวย มีครอบครัวที่ดีงาม แต่ผมกำลังเสียสละอยู่ต่างหากล่ะ” 

แต่กลายเป็นว่าเมื่อเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง รัฐบาลของเขาได้ผ่านกฎหมายที่ทำให้เขาและบุคคลชั้นนำอื่น ๆ รอดพ้นจากการถูกฟ้องร้องในขณะที่ดำรงตำแหน่ง 

จอมคัมแบ็คสู่อำนาจ 

ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก รัฐบาลผสมของแบร์ลุสโกนีมีอายุอยู่เพียงไม่กี่เดือน ส่วนหนึ่งเพราะความแตกร้าวภายใน อีกส่วนหนึ่งเพราะเขาถูกศาลมิลานฟ้องร้องในข้อหาฉ้อโกงภาษี เขาจึงพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งปี 1996 

กระทั่งปี 2001 แบร์ลุสโกนีกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยเป็นผู้นำรัฐบาลผสมที่ชื่อว่า House of Freedom ชูนโยบายยกเครื่องเศรษฐกิจอิตาลี ลดความซับซ้อนของระบบภาษี และเพิ่มเงินบำนาญ 

แต่เนื่องจากการเงินของอิตาลีกำลังประสบปัญหาจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย แบร์ลุสโกนีจึงไม่สามารถปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ได้ เขาจึงพ่ายให้ฝ่ายซ้ายในการเลือกตั้งปี 2006 แล้วก็กลับมาชนะอีกครั้งในปี 2008 

แต่ไม่ใช่ประชาชนทุกคนจะรักเขา ปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงท้าย ๆ ของการปกครองประเทศ แบร์ลุสโกนีถูกชายโรคจิตใช้รูปปั้นจำลองมหาวิหารแหงนครมิลานฟาดใส่หน้าจนดั้งหัก ฟันหายไป 2 ซี่ แต่ถึงกระนั้นเขายังมีกะจิตกะใจจับมือทักทายประชาชนต่ออีก 2-3 นาที 

ปี 2011 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีและเป็นปีที่ท้าทายที่สุดของแบร์ลุสโกนี ปรากฏว่าต้นทุนจากการกู้ยืมของอิตาลีพุ่งสูงปรี๊ดในช่วงวิกฤตหนี้ยูโรโซน นายกรัฐมนตรีสุดอื้อฉาวผู้นี้ขาดการสนับสนุนอย่างรุนแรงและถูกบีบให้ลาออก หลังสูญเสียเสียงข้างมากในสภา 

ปีเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีตกกฎหมายที่ทำให้เขาและรัฐมนตรีอาวุโสคนอื่น ๆ ได้รับการคุ้มครองชั่วคราว

เมื่อสิ้นอำนาจ ในเดือนตุลาคม 2012 เขาถูกตัดสินจำคุก 4 ปีในข้อหาฉ้อโกงภาษี และถูกสั่งห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกหลายปี แต่แบร์ลุสโกนียังคงยืนยันในความบริสุทธิ์ของตัวเอง โดยอ้างว่าตัวเองถูก ‘รัฐประหารโดยศาล’ (judicial coup)

ในตอนนั้นเขามีอายุเกิน 75 ปี จึงต้องไปทำงานรับใช้สังคมแทนเข้าคุก เขาต้องไปดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม สัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง 

ปาร์ตี้ ‘บุงกา บุงกา’ สุดฉาวโฉ่

นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว แบร์ลุสโกนียังตกเป็นพาดหัวข่าวอยู่บ่อยครั้งจากเรื่องชีวิตส่วนตัว ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก นายกรัฐมนตรีที่ใช้ชีวิตอย่างมีสีสันชอบผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า อย่างคนรักคนล่าสุดของเขาที่ชื่อว่า ‘มาร์ตา ฟาสซินา’ เธอก็มีอายุน้อยกว่าเขาถึง 50 ปี 

เพื่อกระชากวัยให้ดูคู่ควรกับสาว ๆ แบร์ลุสโกนีลงทุนปลูกผมและทำศัลยกรรม เพื่อทำให้ตัวเองดูอ่อนกว่าวัย

‘ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี’ นายกฯอิตาลีจอมคัมแบ็ค ทวงตำแหน่งคืนได้ทั้งที่เจอสารพัดคดีฉาว

ก่อนจะคบกับฟาสซินา แบร์ลุสโกนีก็เคยมีข่าวฉาวกับภรรยาคนที่ 2 ที่ชื่อว่า ‘เวโรนิกา ลาริโอ’ อดีตนักแสดงละครที่เคยรับบทเปลือยอก ภรรยาของเขาคนนี้มักจะแสดงความไม่พอใจออกสื่อ เมื่อสามีมีข่าวไปก้อร้อก้อติกหญิงอื่น ต่อมาเธอได้ฟ้องหย่าเขา หลังปรากฏภาพถ่ายขณะแบร์ลุสโกนีไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิดของนางแบบสาววัย 18 ปี อย่าง ‘โนเอมิ เลติเซีย’ ซึ่งแบร์ลุสโคนีอ้างว่าเธอเป็นลูกสาวของเพื่อน และเขาไม่ได้ทำอะไรผิด

แต่เรื่องอื้อฉาวทั้งหมด ไม่มีอะไรจะแรงไปกว่าการจัดปาร์ตี้ บุงกา บุงกา ที่วิลล่าของเขา 

เรื่องนี้จะไม่แดงเลย ถ้าแบร์ลุสโกนี ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่โทรศัพท์ไปที่สถานีตำรวจ เพื่อขอให้ตำรวจปล่อยตัว ‘คาริมา เอล มาห์รูก’ ที่มีฉายาว่า ‘รูบี้ นักโจรกรรมหัวใจ’ ซึ่งถูกควบคุมตัวในข้อหาลักทรัพย์ 

ตอนนั้นแบร์ลุสโกนีอ้างกับตำรวจว่า หญิงสาวคนนี้เป็นหลานสาวของประธานาธิบดีอียิปต์ ถ้าไม่ปล่อยตัวไปจะส่งผลกระทบทางการทูต แต่เรื่องมาโป๊ะแตกเมื่อรูบี้สารภาพว่า เธอเป็นนักเต้นระบำหน้าท้องอายุ 17 ปี ไม่ได้เป็นหลานสาวผู้นำประเทศแต่อย่างใด โดยวันนั้นเธอก็ไปร่วมงานปาร์ตี้บุงกา บุงกา ซึ่งคล้ายกับปาร์ตี้มั่วเซ็กส์ แถมยังมีพิธีกรรมชื่อประหลาดว่า บุงกา บุงกา แล้วเธอก็ได้เงินมาจากแบร์ลุสโกนี 

เรื่องนี้ทำให้แบร์ลุสโกนีถูกตัดสินว่ามีความผิดในการจ่ายค่าบริการทางเพศ และใช้อำนาจในทางที่ผิดในปี 2013 แต่มีการยกเลิกคำตัดสินในปีต่อมา 

แบร์ลุสโกนียืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า เขาจ่ายเงินให้ผู้หญิงทุกคนเพื่อมีเพศสัมพันธ์ โดยเขาบอกว่าการทำเช่นนั้นจะสูญเสียความสุขจากการได้พิชิตใจสาว แต่ก็ยอมรับว่าตัวเองไม่ใช่นักบุญ

การกลับมาของ ‘ฟอร์ซา อิตาเลีย’

หลังถูกรุมเร้าด้วยปัญหางบประมาณของประเทศ และเรื่องอื้อฉาวส่วนตัวของหัวหน้าพรรค พรรคฟอร์ซา อิตาเลีย จึงทำผลงานได้ย่ำแย่ในการเลือกตั้งท้องถิ่นปี 2011 ถึงขั้นแพ้ในเมืองมิลาน ซึ่งเป็นเมืองบ้านเกิดและฐานเสียงสำคัญของแบร์ลุสโกนี 

นักเศรษฐศาสตร์มองว่า ตอนนั้นแบร์ลุสโกนีไม่มีอำนาจทางการเมืองมากพอที่จะผลักดันการตัดรายจ่ายรัฐบาล และก็ไม่กล้าที่จะไปรีดภาษีชาวอิตาลี ในขณะที่ตัวเขาเองกำลังถูกพิจารณาคดีในข้อหาต่าง ๆ 

ในที่สุดพรรคฟอร์ซา อิตาเลีย ก็แตก หลังคว้าคะแนนมาได้เพียง 1% ในการเลือกตั้งระดับประเทศเมื่อปี 2013 แต่แบร์ลุสโกนีก็กลับมาเปิดตัวพรรคใหม่อีกครั้งในชื่อเดิม ซึ่งก็ไม่ทำให้เขาผิดหวัง เมื่อพรรคของเขาได้กลายเป็นพรรคอันดับ 3 ในการเลือกตั้งปี 2018 ตามหลังพรรค Five Star ที่ต่อต้านประชานิยม และพรรค The League ที่เป็นพันธมิตรของพรรคฟอร์ซา อิตาเลีย 

แบร์ลุสโกนีให้คำมั่นว่าจะให้การสนับสนุน ‘มัตเตโอ ซัลวินี’ ผู้นำพรรค The League ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่สุดท้าย The League เลือกที่จะปกครองประเทศโดยไม่มีพรรคฟอร์ซา อิตาเลีย 

เป็นอีกครั้งที่ดูเหมือนอาชีพทางการเมืองของแบร์ลุสโกนีจะสิ้นสุดลง กระทั่งในปี 2018 ศาลตัดสินว่าเขาสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อีกครั้ง โดยประกาศว่า เขาผ่านการฟื้นฟูแล้ว 

แต่น่าเสียดายที่คำตัดสินนี้เกิดขึ้นช้าเกินไปสำหรับการเลือกตั้งปี 2018 อย่างไรก็ตามในปี 2019 เขาก็ประกาศว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในรัฐสภายุโรป ซึ่งเขาก็สามารถคว้าที่นั่งมาได้อย่างง่ายดาย 

3 ปีต่อมา เขากลับมาในรัฐสภาอิตาลีอีกครั้ง และพรรคฟอร์ซา อิตาเลีย ของเขาก็ได้เข้าร่วมรัฐบาลของ ‘จอร์เจีย เมโลนี’ จนได้

‘ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี’ นายกฯอิตาลีจอมคัมแบ็ค ทวงตำแหน่งคืนได้ทั้งที่เจอสารพัดคดีฉาว

แบร์ลุสโกนียังตกเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งในปี 2022 เมื่อเขาเปิดเผยว่าเขาได้สานสัมพันธ์กับ ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ ประธานาธิบดีรัสเซีย ด้วยการส่งวอดก้า 20 ขวดให้เขาเนื่องในวันเกิด ทั้งยังวิจารณ์ประธานาธิบดียูเครน ‘โวโลดีมีร์ เซเลนสกี’ ว่า “เป็นผู้เริ่มสงคราม” ซึ่งทำให้เขาขัดแย้งกับพันธมิตรและนายกรัฐมนตรีเมโลนี

แม้จะถูกวิจารณ์ว่าเย่อหยิ่ง ใช้ภาษาลามกอนาจาร คลั่งชาติ และทำให้เส้นแบ่งระหว่างธุรกิจกับการเมืองพร่ามัว แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่า เขาได้ทำให้ชาวอิตาลีเห็นถึงความสำเร็จในการบริหารธุรกิจที่หลากหลาย จนเกิดความเชื่อมั่นว่าเขาจะสามารถบริหารประเทศได้ 

แบร์ลุสโกนีเองก็เคยออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า เขานำธุรกิจกับการเมืองมาผสมกันเพื่อประโยชน์ของตัวเองมากกว่าประเทศ ซึ่งเขาตอบโต้ว่า 

“หากต้องดูแลผลประโยชน์ของทุกคน ผมก็ต้องดูแลผลประโยชน์ของตัวเองด้วย คุณจะมาพูดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ได้” 

 

ภาพปก: Getty Images, ภาพประกอบเนื้อหา: อินสตาแกรม silvioberlusconi_official

อ้างอิง: 

bbc

The guardian

cnbc

reuters

forbes

cnn