เจ.ดี.แวนซ์ : จากบันทึกคนหลังเขา สู่ชายผู้ได้รับโอกาสให้ยืนเคียงข้าง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

เจ.ดี.แวนซ์ : จากบันทึกคนหลังเขา สู่ชายผู้ได้รับโอกาสให้ยืนเคียงข้าง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

เจ.ดี.แวนซ์ (J.D.Vance) อดีตนาวิกโยธิน ผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ร่วมกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2024 กับเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้ราบเรียบ เกิดจากชนชั้นแรงงาน ขวนขวายทุกอย่างด้วยตัวเอง จนมายืนเคียงข้างอดีต ปธน. สหรัฐฯ

“คนอเมริกันเรียกพวกเขาว่า คนบ้านนอก คนขาวชั้นต่ำ บ้างก็เรียกว่า คนขาวที่ถูกทิ้ง แต่สำหรับผมพวกเขา คือ เพื่อนบ้าน เพื่อนที่จริงใจ และครอบครัว”

เจ.ดี.แวนซ์ (J.D.Vance) อดีตนาวิกโยธิน ให้สัมภาษณ์กับ National Public Radio (NPR) ในปี 2016 ถึงที่มาของการเขียนหนังสือบันทึกความทรงจำ Hillbilly Elegy: A Memoir of a Family and Culture in Crisis ตีพิมพ์ครั้งแรกในปีเดียวกับที่เขาให้สัมภาษณ์ จนกลายเป็นปรากฎการณ์ชาวอเมริกันฝั่งอนุรักษนิยมต่างมีไว้ครอบครอง จนติดอันดับหนังสือขายดี The New York Times แถมยังถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ของ Netflix ในปี 2020 กำกับโดย รอน ฮาวเวิร์ด (Ron Howard)

เพราะสิ่งที่ชายคนนี้เขียน บอกทุกอย่างเกี่ยวกับความเป็นคนขาวที่ถูกเหยียด คนขาวที่ไม่ได้รับการยอมรับ และเป็นคนขาวที่ไม่อยากแม้แต่จะเปิดเผยสถานะทางชนชั้นของตัวเอง ถึงจะมีผิวขาวที่น่าภาคภูมิก็ตาม

คนขาวพวกนี้ จึงไม่ต่างจาก ‘ขยะ’ รอวันถูกกำจัดทิ้ง

และแวนซ์เองก็เติบโตมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบนั้น ตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย มาจนถึงแม่ของเขา ทุกคนล้วนติดกับดักแห่งความยากจน แถมยังพัวพันกับยาเสพติด ในบ้านของเขาไม่ได้อบอุ่น ตอนอายุ 12 ปีแม่แท้ ๆ พยายามบังคับรถไปชนไหล่ทางเพื่อฆ่าตัวตาย โดยมีเด็กชายแวนซ์ตัวน้อยนั่งสั่นเทาด้วยความกลัวอยู่เบาะหลัง แถมปู่ยังติดเหล้าอย่างหนัก ย่าก็มีแต่คำพูดรุนแรงสาดใส่ไม่หยุด แต่ยังดีที่เธอเป็นคนหนึ่งที่รักและดูแลแวนซ์มาโดยตลอด เขาเติบโตมากับความรุนแรงในครอบครัว เพื่อนบ้านที่รู้จักก็ทำงานใช้แรงงานไปวัน ๆ ไม่ได้มีหน้าที่การงานน่ายกย่องเชิดชู

แต่ ‘คนบ้านนอก’ คนนี้กำลังถูกจับจ้องจากทั่วโลก หลังได้รับตำแหน่งวุฒิสมาชิก จากรัฐโอไฮโอ ไปเมื่อสองปีก่อน ปัจจุบัน แวนซ์ในวัย 39 ปี ถูกเสนอชื่อให้เป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ร่วมกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประจำปี 2024 อีกด้วย

เรียกได้ว่าแวนซ์กำลังก้าวข้ามคำครหาทุกอย่างที่ใครหลายคนตีกรอบเอาไว้ หากจะบอกว่าชีวิตของแวนซ์ คือ ‘American Dream’ คงไม่ใช่เรื่องกล่าวเกินจริง เพราะดินแดนแห่งนี้ มีระบบที่พร้อมมอบโอกาสให้ทำตามความปรารถนา เพื่อให้ความฝันของทุกคนเป็นจริงได้ในสักวันหนึ่ง

เจ.ดี.แวนซ์ : จากบันทึกคนหลังเขา สู่ชายผู้ได้รับโอกาสให้ยืนเคียงข้าง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

ซึ่งความปรารถนาของแวนซ์ไม่ใช่เรื่องอื่นไกล หากแต่เป็นการดิ้นรนทุกวิถี เพื่อให้หลุดพ้นจากบ่วงความยากจน บ่วงที่รั้งเขาเอาไว้ไม่ให้ลืมตาอ้าปาก ซึ่งเขาจะเป็นลูกหลานคนแรกของตระกูลที่ตัดบ่วงนี้ทิ้ง และความพยายามของแวนซ์ไม่สูญเปล่า หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมก็สมัครไปเป็นนาวิกโยธินช่วงปี 2003-2007 ระหว่างนั้นเขาก็เรียนปริญญาตรีไปด้วย โดยที่เขาได้รับการสนับสนุนจากกองทัพไม่ต้องหาเงินเพื่อส่งตัวเองเรียนแต่อย่างใด ก่อนเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ และโรงเรียนกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยเยล หลังจากนั้นเขาก็ได้ทำงานในบริษัทร่วมลงทุน ซิลิคอนแวลลีย์

ชีวิตแวนซ์ดำเนินไปเรื่อย ๆ ไม่ได้เรียบง่ายเหมือนกับชนชั้นกลางทั่วไป เพราะเขาคือชนชั้นแรงงาน จากระดับล่างสุดของประเทศ ไม่ได้มีต้นทุน ไม่มีเส้นสาย ไม่เคยครอบครองอำนาจ ทุกอย่างต้องขวนขวายหามาด้วยตัวเอง จึงไม่แปลกที่ช่วงก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016 แวนซ์เคยกล่าวหาว่าทรัมป์คือ ‘ฮิตเลอร์ของอเมริกา’ และเขาจะไม่มีวันเลือกชายเผด็จการคนนี้เด็ดขาด เขาไม่มีความเป็นมนุษย์ ไม่เห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมประเทศ มีแต่ยกย่องคนขาวฐานะร่ำรวย ต่างจากเขาที่เป็นเพียงคนขาวคลุกตัวอยู่กับชนชั้นรากหญ้ามาทั้งชีวิต

“ชนชั้นปกครองของอเมริกาเป็นคนออกเช็ค แต่ชุมชนของผมกลับต้องเป็นคนจ่าย” แวนซ์กล่าวถึงความไม่เป็นธรรมที่เขาเห็นและเผชิญมาโดยตลอด โดยไม่สนว่า ณ ห้วงเวลานั้น เขากำลังสร้างเครือข่ายกับนักลงทุนซิลิคอนวัลเลย์ ร่วมกับทรัมป์ และยังมีนายทุนมากหน้าหลายตา ตบเท้าเข้าร่วมงานครั้งนี้อย่างคับคั่ง แต่แวนซ์ไม่สนใจ เขาอยากจะบอกให้พวกคนรวยเหล่านี้รู้ว่า เขาจะต่อต้านการกดขี่ขูดรีด เขาจะทำให้ชาวอเมริกันทุกคนได้ลืมตาอ้าปาก ไม่ต้องหลบซ่อนชาติกำเนิดของตัวเองอีกต่อไป

“ในหนังสือของผมไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับเชื้อชาติอย่างชัดเจน แต่ผมพยายามเผยให้เห็นถึงความยากจนในอีกมุมมองหนึ่ง ย้อนกลับไปยังรากเหง้าบรรพบุรุษของครอบครัวแต่ละรุ่น ดังนั้น ประเด็นที่ผมพยายามพูดคือ คนเหล่านี้ เขาจนมาตั้งแต่แรก และความจนได้ฝังรากลึกเข้าไปในตัวพวกเขาทุกรุ่นอย่างเงียบเชียบ

“พวกเขาต้องก้มหน้ายอมรับในโชคชะตา ยอมรับความจน โอบกอดมันไว้ใกล้ใจ ความยากจนจึงเป็นสิ่งที่ตกทอดมารุ่นสู่รุ่น ผมคิดว่าส่วนหนึ่งของพวกเขาคงมีความรู้สึกเคียดแค้นต่อคนรวย แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อทุกอย่างพังทลาย ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเริ่มเกิดขึ้น หลายครอบครัวอพยพย้ายถิ่นฐาน เพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ตรงนี้แหละที่ทำให้พวกเขามองเห็นความหวัง หวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ เรียกได้ว่าเป็นการมองโลกในแง่ดีครั้งแรกของพวกเขาเลยก็ได้มั้ง ผมว่านะ แต่ท้ายที่สุดความหวังเหล่านั้นก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง” เจ.ดี.แวนซ์ : จากบันทึกคนหลังเขา สู่ชายผู้ได้รับโอกาสให้ยืนเคียงข้าง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

นี่คือสิ่งที่แวนซ์ตกตะกอนได้ตลอดสามสิบปี หลังจากช่วงชีวิตที่ผ่านมาต้องผ่านคลื่นแห่งความเกลียดชังที่ครอบครัวมอบให้ไม่หยุดหย่อน เขาบอกอย่างเปิดเผยว่า ครอบครัวไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย และเข้าใจว่าเด็ก ๆ ชาวอเมริกันอีกหลายคน ต้องเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว

“แม่ผมเธอเป็นคนดีมากนะ เธอเป็นคนดีมากจริง ๆ เธอพยายามอย่างหนักเพื่อครอบครัวของเรา แต่ก็ต้องแบกรับปีศาจร้ายในวัยเด็กที่ตามหลอกหลอนแม่ไม่หยุดเอาไว้ด้วย ตอนนั้นแม่มาหาที่บ้านคุณยาย ซึ่งผมอยู่กับคุณยายนะตอนนั้นน่ะ

“แม่บอกว่า แม่ขอโทษสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอทำไปก่อนหน้านี้ แล้วชวนผมออกไปนั่งรถเล่น มันควรจะเป็นทริปที่ชดเชยทุกความผิดที่เธอทำกับผม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ จู่ ๆ แม่ก็เร่งความเร็วรถ คุณรู้ไหม ตอนนั้นเธอน่าจะขับรถด้วยความเร็ว 100 ไมล์ต่อชั่วโมง

“แม่พูดซ้ำ ๆ ว่า แม่จะขับรถคันนี้ไปชน แม่จะชนมัน แม่จะฆ่าเราทั้งคู่นี่แหละ

“สิ่งที่ผมทำได้คือปีนไปเบาะหลังรถ เพื่อซ่อนตัวจากเธอ และนั่นยิ่งทำให้แม่โกรธ เธอจอดรถและเริ่มลงมือตีผม ผมเปิดประตูรถวิ่งหนีแม่ ตอนนั้นเราอยู่ในเขตชนบท ผมวิ่งไม่คิดชีวิต ผ่านทุ่งนาไปบ้านหลังที่ใกล้ที่สุด

“สุดท้าย แม่ผมก็ถูกจับ เธอถูกตั้งข้อหาใช้ความรุนแรงในครอบครัว และผมถูกบังคับให้นั่งรถตำรวจ จากนั้นปู่ ย่า ก็มารับผมทีหลัง ตอนนั้นแหละที่ผมถูกเจ้าหน้าที่ถามว่า จะยื่นฟ้องและไปอยู่กับบ้านอุปถัมภ์หรือว่าจะปล่อยให้เรื่องเงียบไป แล้วผมจะได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวเดิม มันเป็นการตัดสินใจที่ยากมากสำหรับเด็กอายุ 12 ปี แต่โชคดีที่ผมมีศรัทธาต่อคุณย่า ผมรู้ว่าท่านไม่ยอมให้อะไรเกิดขึ้นกับผมแน่ ผมจำได้เลยว่าตอนที่โดนถามคำถามว่า เคยเกิดเหตุการณ์ที่แม่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวนอกเหนือจากครั้งนี้อีกไหม ผมตอบว่า ไม่ ไม่เคย เพราะผมรู้ดีว่าหากตอบว่าใช่ ผมคงถูกส่งไปอยู่บ้านเด็กกำพร้า”

แต่อุดมการณ์ทางการเมืองของแวนซ์เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อเขาลงสนามการเมืองอย่างจริงจัง โดยการสมัคร สว. รัฐโอไฮโอ ในปี 2022 ทุกอย่างที่เคยปรามาสทรัมป์ก็สูญสลายภายในชั่วข้ามคืน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะก่อนหน้านี้เขาเคยเจอและพูดคุยกับทรัมป์มาก่อน และมองเห็นว่าทรัมป์คือแสงสว่าง คือชายที่พร้อมมอบโอกาสให้ทุกคนหลุดพ้นจากความทรมาน

แวนซ์เปลี่ยนจากผู้ต่อต้าน มาเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์อย่างเต็มตัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขารู้ดีว่าฐานเสียงของพรรครีพับลิกันจะครองใจชาวอเมริกันทั้งประเทศ จนทำให้เขาเอาชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นผู้แทนพรรค รวมถึง สว. คนใหม่ของโอไฮโอในที่สุด

มาจนถึงปี 2024 เส้นทางการเมืองของแวนซ์เริ่มขยับขยายใหญ่มากยิ่งขึ้น เขาได้รับความไว้วางใจจากทรัมป์ให้ยืนเคียงข้างสู้ศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ไปด้วยกัน ถึงจะมีผู้สนับสนุนพรรคหลายรายไม่เห็นด้วยกับการเสนอชื่อของแวนซ์ แต่ผลสุดท้าย คนหลังเขาคนนี้ก็ได้ใจ อดีต ปธน. ทรัมป์ไปเต็ม ๆ

หากให้ขยายแนวคิดทางการเมืองของแวนซ์คลี่ออกมาให้เห็นชัด ๆ จะสังเกตได้ว่า อุดมการณ์ทางการเมืองของทั้งคู่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันจนน่าประหลาด แวนซ์อยากเห็นชีวิตคนผิวขาวในชนบทมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยแนวคิดการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบ Protectionism ทรัมป์เองก็เช่นกัน รวมถึงลดการนำเข้าแรงงานต่างชาติ เพราะเขามองว่าพลเมืองอเมริกาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ต้องเริ่มจากจ้างงานคนของเราก่อน

“เราหยุดเปิดรับแรงงานต่างชาติเข้ามายังประเทศแล้ว ครั้งนี้เราจะสู้เพื่อพลเมืองอเมริกัน เพื่องานที่ดี ค่าจ้างที่เหมาะสม เราจะสู้เพื่อพวกเขา”

ส่วนแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศ แวนซ์มองว่าอเมริกาไม่ควรให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นมากนัก ควรอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในของประเทศอื่น (Isolationism) เพื่อนำเงินงบประมาณมาดูแลคนในประเทศแทน

และนี่คือชีวิตส่วนหนึ่งของ เจ.ดี.แวนซ์ ชายผู้เรียกตัวเองว่าคนบ้านนอก กับความพยายามก้าวข้ามความยากจน เพื่อมายืนอยู่ในจุดที่สามารถช่วยเพื่อนบ้านที่เขารักได้อย่างสุดกำลังความสามารถ

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นใคร คงต้องติดตามศึกการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างใกล้ชิด

 

เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง

ภาพ : Getty Images และ Reuters

 

อ้างอิง

Hillbilly Elegy: what can the book and movie tell us about JD Vance? 

'Hillbilly Elegy' Recalls A Childhood Where Poverty Was 'The Family Tradition' 

‘Hillbilly Elegy’ and J.D. Vance’s art of having it both ways. 

The economic mind of JD Vance.