'ขนมโอเดนย่า' และ 'การ์ดดรากอนบอล' ในความทรงจำของ ปอ-วุฒิชัย อนุชิตนานนท์

'ขนมโอเดนย่า' และ 'การ์ดดรากอนบอล' ในความทรงจำของ ปอ-วุฒิชัย อนุชิตนานนท์
โอเดนย่า (น.)  ชื่อขนมกรุบกรอบห่อละ 20 บาท แต่ของแถมในซองบางชิ้นราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักแสน  บรรทัดข้างต้นคงเป็นนิยามใหม่ของโอเดนย่าที่ผลิตออกมาอีกครั้งในรอบ 30 ปีพร้อมกับการ์ดดรากอนบอลในความทรงจำของ ‘เด็กหนวด’ หรือผู้ใหญ่อายุประมาณ 30 - 40 ปีในปัจจุบัน  หากย้อนไปในวัยเด็ก บางคนอาจจะเก็บเงินค่าขนมจากพ่อแม่มาซื้อโอเดนย่าเพื่อรอลุ้นการ์ดดรากอนบอลที่แถมมากับขนม ไม่ว่าจะเป็นการ์ดพลังโกคู ทรังคซ์ ฟรีเซอร์ และอีกหลายตัวละครดรากอนบอล ให้เราหยิบมาวัดพลังแข่งกับเพื่อน ๆ หรืออวดการ์ดใบที่หายากกว่า  การกลับมาของ ‘โอเดนย่า’ ในครั้งนี้จึงทำให้หลายคนพร้อมควักกระเป๋าจ่ายเงินแลกกับการย้อนวันวานผ่านของเล่น แถมโอเดนย่าที่ผลิตมาใหม่ ได้เริ่มกลายเป็นมากกว่าการซื้อมาสะสม แต่ยังนับเป็น ‘การลงทุน’ ในเวลาเดียวกัน  เพราะความไม่ธรรมดาของโอเดนย่าที่มีทั้ง ‘คุณค่า’ ทางใจและ ‘มูลค่า’ สูงลิ่วในเวลาเดียวกัน The People จึงนัดหมายพูดคุยกับ วุฒิชัย อนุชิตนานนท์ นักสะสมของเล่นที่เป็นของแถมมากับซองขนม ในช่วงยุค 80s - 90s และเป็นเจ้าของเพจ ‘ปอ ยูโร่ ของเล่นในความทรงจำ’ ล่าสุด ปอมีโอกาสได้ถ่ายโฆษณาโอเดนย่าในช่องทางเฟซบุ๊กร่วมกับนักพากย์การ์ตูนในตำนานอย่าง ‘น้าต๋อยเซมเบ้’ และเป็นหนึ่งในคนที่สะสมการ์ดโอเดนย่าที่ผลิตเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว  'ขนมโอเดนย่า' และ 'การ์ดดรากอนบอล' ในความทรงจำของ ปอ-วุฒิชัย อนุชิตนานนท์ “มันมีความทรงจำครับ เพราะเคยเล่น เคยเห็น เคยมีความทรงจำ” ปอเริ่มเล่าถึงเหตุผลที่เขาตัดสินใจสะสมของเล่นครั้งแรกเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว เพราะตอนเด็ก ๆ เขาไม่สามารถซื้อของเล่นราคาแพงบนห้างสรรพสินค้าได้ ของเล่นส่วนใหญ่จึงมักจะเป็นของแถมที่มาพร้อมกับซองขนม ทำให้ปอรู้สึกผูกพันกับของเล่นชนิดนี้มากเป็นพิเศษ แต่ช่วงวัยเยาว์ใครเล่าจะคิดว่าของเล่นที่แถมมาฟรี ๆ จะกลายเป็นของมีค่าที่ผู้คนตามหาในเวลาต่อมา ช่วงวัยเด็กปอจึงไม่เคยเก็บของเล่นเหล่านั้นเอาไว้ และเพิ่งจะเริ่มสะสมในวันที่เติบใหญ่จนมีกำลังซื้อ “ตอนนั้นผมไปเดินตลาดนัด แล้วไปเจอตุ๊กตุ่นในเรื่องดรากอนบอลตัวหนึ่งที่แถมมากับขนมยูโร่ ผมก็ เฮ้ย! ตอนเด็ก ๆ เคยมีตัวนี้นี่นา มันมาได้ยังไง ก็งง ๆ ตอนนั้นก็ไม่แพงมาก ตัวละ 50 บาท เลยซื้อมาตัวหนึ่ง หลังจากนั้นผมก็เอาใหญ่เลย เริ่มหาค้นคว้าข้อมูลว่าเราจะซื้อได้ที่ไหน หายังไง จนเป็นเหมือนทุกวันนี้ครับ” ปอเริ่มสะสมของเล่นที่เป็นของแถมมาเรื่อย ๆ จากราคาหลักสิบในวันนั้น ค่อย ๆ ขยับขึ้นมาตามความหายากและสภาพที่สมบูรณ์ จนเริ่มแตะหลักพันไปจนถึงหลักหมื่น “สูงสุดที่เคยซื้อเป็น ยูโร่จอย กล่องละ 28 บาทสมัยนั้นก็แพงอยู่ ปี พ.ศ. 2533 - 2534 แถมเป็นหุ่นเรื่องเซย่า ตอนนี้ถ้ามีกล่องด้วย น่าจะประมาณ 40,000 - 50,000 บาท เอาเรื่องอยู่เหมือนกันครับ” 'ขนมโอเดนย่า' และ 'การ์ดดรากอนบอล' ในความทรงจำของ ปอ-วุฒิชัย อนุชิตนานนท์ 'ขนมโอเดนย่า' และ 'การ์ดดรากอนบอล' ในความทรงจำของ ปอ-วุฒิชัย อนุชิตนานนท์ แม้จะไม่ได้เล่นบ่อยอย่างช่วงวัยเด็ก แต่ปอเล่าว่า สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนการย้อนความทรงจำผ่านสิ่งของ โดยไม่ต้องมี ‘ไทม์แมชชีน’ “เพราะเราซื้ออดีตไม่ได้ เราไม่มีไทม์แมชชีน เรากลับไปเจอผู้คนที่เราเคยเจอในอดีต อย่างปู่ย่าตายายหรือผู้มีพระคุณของเราไม่ได้ บางทีถ้าเรามีของเล่นอันนี้กลับมา เราก็จะได้นึกถึงพวกเขาด้วย มันก็เป็นอะไรที่ทำให้มีความสุขดีนะ อันนี้ก็คือในแง่ความสุข แต่มันก็จะมีในแง่การลงทุน สมัยนี้ก็เหมือนการลงทุน อย่างการ์ดโอเดนย่านี่แหละครับ”   โอเดนย่าและการ์ดดรากอนบอลในความทรงจำ “โอเดนย่าตอนนั้น ช่วง 80s - 90s มันก็จะมีตุ๊กตุ่นมาก่อนก็เป็นตุ๊กตุ่นยาง หลังจากนั้นก็มีรูปลอก ก็คือสติกเกอร์นี่แหละ แต่สมัยนั้นเขาจะเรียกว่ารูปลอก ต่อมาก็จะเป็นการ์ด ซึ่งโอเดนย่าเป็นเจ้าแรกที่ทำการ์ดพลังดรากอนบอล ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2533 - 2534 ก็ประมาณ 30 ปีที่แล้ว ทำมาทั้งหมด 27 การ์ด “ตอนเด็ก ๆ ถ้าการ์ดส่วนใหญ่จะเอามาตบแปะ มีการ์ดอยู่ในมือตบ ของใครร่วง แล้วหงายหน้าก็ชนะ ใครหงายหลังก็แพ้ ก็เหมือนกับเดิมพันกันนิดหน่อย บางคนก็เอามาเปิดพลังวัดกันเลย ใครชนะก็กินไปครับ ตอนนั้นการ์ดก็จะมีลูกเล่นเยอะ มีพวกการ์ดวัดพลังด้วย” ปอย้อนถึงความทรงจำด้วยน้ำเสียงเป็นสุข แม้ว่าโอเดนย่าที่ผลิตขึ้นมาครั้งนี้จะยังคงมีรสอร่อยและเป็นการ์ดดรากอนบอลเช่นเดิม แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือการแบ่งการ์ดเป็น 4 ระดับ และผลิตออกมาในจำนวนจำกัด “ตอนนี้จะไม่ใช่แบบของเก่าที่แบ่งเป็นการ์ด normal กับเลเซอร์ มันมีเป็น 4 ระดับ มีการ์ด normal ที่เป็นการ์ดธรรมดาสุด แล้วก็มีการ์ R คือ Rare ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง แล้วก็จะมี SR (Super Rare / Special Rare) บางคนก็เรียก UR (Ultimate Rare หรือ Ultra Rare) มันจะเป็นการ์ดโฮโลแกรมปั๊มทองครับ  “แล้วก็จะมาถึงระดับ 4 ที่หายากที่สุดจะเป็น SSR (Super Secret Rare / Super Special Rare) ทำมาทั้งหมด 150 ใบในโลก เพราะถึงจะขายแค่ในประเทศไทยก็จริง แต่คนต่างชาติก็ซื้ออยู่เหมือนกัน คนฮ่องกงอะไรอย่างนี้ เพราะสมัยก่อนประเทศเขาก็มีขาย ส่งไปเมืองนอกเหมือนกันครับ เพราะพวกเขาก็ชอบเหมือนกัน อินเหมือนกัน แล้วเหมือนมีคนฮ่องกงคนหนึ่งจับการ์ด SSR ไปในราคา 60,000 จากคนที่ผมรู้จักที่สุรินทร์ พอดีเพื่อนเขาได้ ก็เลยเสนอไปให้คนฮ่องกงคนนี้ที่กำลังหาอยู่พอดี 'ขนมโอเดนย่า' และ 'การ์ดดรากอนบอล' ในความทรงจำของ ปอ-วุฒิชัย อนุชิตนานนท์ “ตอนนั้นคือไม่มีใครคิดเลย แม้แต่ตัวผมเองยังคิดเลยว่าการ์ด SSR เต็มที่ก็ 20,000 บาท แต่พอลงขายวันแรก คนมาลงตั้งรับ 50,000-60,000 บาท บางคนก็ 100,000 บาท กลายเป็นบรรทัดฐานว่าต้องเป็นราคานี้ไปเลยหรือเปล่าผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน” นอกจาก SSR จำนวน 150 ใบนี้แล้ว การ์ดใบอื่น ๆ ก็ยังคงมีราคาสูงกว่าค่าขนมหนึ่งซอง โดย SR หรือ UR ราคาจะอยู่ราว ๆ หลักพันบาท ส่วน R จะอยู่ที่หลักร้อย และอีกหนึ่งใบที่ถูกจับตามองไม่แพ้กันคือการ์ดที่ใส่ตัวละครผิดจนกลายเป็นการ์ดหายากไปโดยปริยาย “จะมีใบที่เขาไม่ผ่าน QC ครับ เหมือนมีตำหนิ ก็เลยกลายเป็นของหายากไป เหมือนเขาใส่ตัวละครผิดลงไปในรูป มันเลยกลายเป็น Rare ไปเลย แต่ก็ไม่แพงถึงขั้น SSR หรอก เห็นเขาตั้ง rate ตอนนี้อยู่ประมาณใบละ 4,000 - 5,000 บาท”   เพราะเป็นมากกว่าของเล่น ตั้งแต่โอเดนย่าวางจำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่น เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564 จนถึงวันนี้ (1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564) โอเดนย่าก็ยังคงเป็นขนมที่ขายดีจนขาดตลาด ซึ่งปอเล่าว่าส่วนหนึ่งเพราะจำนวนการ์ดที่มีอย่างจำกัดและผู้สะสมไม่ได้มีแค่คนไทยเท่านั้น “รุ่นเก่าไม่มีใบไล่ระดับ 3 - 4 ระดับ มีแค่ 2 ระดับก็เลยไม่ถึงขนาดนี้ครับ อย่างอันนี้มันไล่ระดับมา แต่ว่าของเก่าบางใบก็ Rare ก็แพงอยู่เหมือนกันนะครับ อย่างที่ผมบอก มันไม่ใช่แค่คนไทยเล่น มีคนฮ่องกง คนฝรั่งเศสด้วย “จริง ๆ แล้วการ์ตูนก็มีผลนะ แล้วก็ด้วยความที่เป็นโอเดนย่า คือโอเดนย่าเขาเป็นตำนาน เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว ก็เลยกลายเป็นว่าพอเขาทำอะไรออกมาก็มีคนติดตาม มีความคิดถึง เพราะคนที่ซื้อคือความคิดถึง ความทรงจำทั้งนั้นเลยนะ สมมติว่ามีคนทำการ์ดขึ้นมาที่ไม่ใช่โอเดนย่าก็ไม่น่าปังขนาดนี้ ผมว่าก็เป็นเพราะชื่อบริษัทเขาด้วยแหละ และที่สำคัญ ขนมอร่อยมาก อร่อยจริง ๆ ครับ ส่วนใหญ่ก็เลยเป็นไวรัล เป็นกระแสอย่างที่เห็น” 'ขนมโอเดนย่า' และ 'การ์ดดรากอนบอล' ในความทรงจำของ ปอ-วุฒิชัย อนุชิตนานนท์ ในมุมของการลงทุนเราอาจจะพอเข้าใจว่าทำไมโอเดนย่าจึงขายดีจนแทบผลิตไม่ทัน แต่ในแง่ของนักสะสม การยอมจ่ายเงินหลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน เพื่อแลกมากับซองขนมและของเล่น อาจเป็นเรื่องที่ใครบางคนไม่เข้าใจ และกลายเป็นคำถามที่ปอเจอบ่อยที่สุดว่า ‘ซื้อของเล่นที่เป็นของแถมไปทำไม ?’ “เอาจริง ๆ ก็ไม่ค่อยได้เล่นเท่าไรแล้ว ส่วนมากยืนดูมากกว่า พอกลับมาบ้านเหนื่อย ๆ หรือทำงานเครียด ๆ อะไรมาก็มาเปิดไฟที่ตู้ดูของเล่น ก็เพลินแล้วนะ ช่วยได้เยอะเลย พวกนักสะสมก็เป็นเหมือนผมนี่แหละ ถ้าคนไม่เข้าใจเขาก็จะคิดว่าเราบ้า แต่เราไม่ได้บ้า เราแค่ชอบไม่เหมือนเขา” เพราะสำหรับบางคน ‘ของเล่น’ ไม่ได้หมายถึงสิ่งของที่มีไว้เล่นเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นเหมือนเพื่อนที่เติบโตมาด้วยกัน เป็นความทรงจำชวนให้ยิ้มทุกครั้งที่นึกถึง เป็นสิ่งของที่พาเรามาชิดใกล้อดีตซึ่งไม่มีวันหวนคืน จึงไม่น่าแปลกใจที่มูลค่าจะสูงไปตามคุณค่าทางจิตใจของแต่ละคน   โอเดนย่า (น.) ชื่อขนมกรุบกรอบห่อละ 20 บาท แต่ของแถมในซองบางชิ้นราคาตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสน ...‘และเป็นความทรงจำในวัยเยาว์ของใครบางคนที่หาซื้อได้โดยไม่ต้องนั่งไทม์แมชชีน’   ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก ปอ ยูโร่ ของเล่นในความทรงจำ