พรศักดิ์ ส่องแสง: ไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร จากหนุ่มนานครพนม ถึงสาวจันทร์กั้งโกบ

พรศักดิ์ ส่องแสง: ไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร จากหนุ่มนานครพนม ถึงสาวจันทร์กั้งโกบ
"สุดแท้แต่วาสนา ชีวิตเกิดมาไม่แน่นอน โลกนี้เหมือนดังละคร..." ชีวิต “พรศักดิ์ ส่องแสง” ก็เหมือนลำเต้ย "แล้วแต่วาสนา" หลังวูบหมดสติในห้องน้ำภายในบ้านพัก ก่อนมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลหนองบัวลำภู ตอนค่ำวันที่ 15 ต.ค.2564 ในวัย 60 ปี พรศักดิ์ ส่องแสง ใช้ชีวิตชาวไร่ชาวนา ที่บ้านจานใหญ่ ต.บ้านขาม อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด ยามว่างกลางวันออกไปทอดแหหาปลา ตามวิถีของลูกอีสาน ไม่ว่าจะให้สัมภาษณ์สื่อกี่ครั้งกี่หน พรศักดิ์ ส่องแสง ได้ย้ำถึงเรื่องชีวิตอย่าฝืนธรรมชาติ บาปบุญมีจริง โลกสร้างมาแบบนี้ เราต้องอยู่อย่างนี้ ไม่มีใครฝืนธรรมชาติได้หรอก บนเส้นทางชีวิตนักร้องหมอลำเกือบ 50 ปี พรศักดิ์ ส่องแสง ร้องเพลงและขับลำบันทึกเสียงมานับไม่ถ้วน แต่มีอยู่ 2 ผลงานที่จดจำไว้เป็นตำนานชีวิตคือ "หนุ่มนานครพนม" และ "เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ"    'เพลงแจ้งเกิด' ครอบครัวยากจน พ่อแม่จึงพา บุญเสาร์ ประจันตะเสน ออกจากบ้านเกิดที่บ้านโนนสมบูรณ์ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ไปทำมาหากินที่บ้านหนองหญ้าลังกา ต.ปะโค อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี อายุได้ 17-18 ปี "สัก" หรือบุญเสาร์ จึงออกไปเผชิญโลกกว้างกับวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำดาวสวรรค์ ของคำหอม พ่อฮ้างน้อย (รักษ์ วัฒนยา)  คำหอม พ่อฮ้างน้อย เป็นโฆษกนักจัดรายการวิทยุชื่อดังเมืองอุดรฯ ได้ตั้งวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำรับงานแสดงทั่วไป บุญเสาร์มาสมัครเป็นเด็กคอยวอยดูแลเวที และเริ่มร้องเพลงลูกทุ่งหน้าเวที ก่อนเปิดการแสดงลำเรื่องต่อกลอน บุญเสาร์นั่งฟังหมอลำอาชีพลำกลอนทุกคืนจนร้องลำตามได้ คำหอมเห็นแววจึงนำมาทดลองบันทึกเสียงลำล่อง "เสือสำนึกบาป" นำเผยแพร่ผ่านรายการวิทยุของตนเอง และตอนนั้น คำหอมได้ตั้งชื่อ พรศักดิ์ ส่องแสง โดยนำมาจากชื่อเล่น "สัก"  ปี 2524 คำหอมตัดสินใจนำเพลง "หนุ่มนานครพนม" มาให้พรศักดิ์ ร้องอัดแผ่นเสียง เมื่อออกจากบันทึกเสียง พรศักดิ์จับได้ใบแดงต้องเป็นทหารเกณฑ์อยู่ 2 ปี ออกค่ายทหารมา ปรากฏว่าเพลงหนุ่มนานครพนม ได้รับความนิยมทั่วภาคอีสาน พรศักดิ์จดจำคำสอนของครูคำหอมได้เป็นอย่างดี จะร้องหรือลำ ก็อย่าให้เหมือนใคร ต้องสร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง "อย่านำเขา ให้เขานำเฮา" หมายถึงอย่าเลียนแบบเขา ให้เขาเลียนแบบเรา จะว่าไปแล้ว พรศักดิ์เป็นศิลปินพรสวรรค์ล้วน ๆ ไม่มีครูบาอาจารย์ด้านกลอนลำ อาศัยจดจำจากการฟัง และนำมาประยุกต์ให้เป็นลีลาของตัวเอง โดยมีแต่ครูคำหอมเป็นเทรนเนอร์  อย่างเพลงหนุ่มนานครพนม เคยมีนักร้องในวงลูกทุ่งดาวสวรรค์ เคยร้องไว้แล้ว แต่ไม่ดัง ครูคำหอมนำมาให้พรศักดิ์ร้องใหม่ กลับได้รับความนิยม เพราะลีลาการร้องต่างกัน คำว่า "ร้องให้ดี" กับ "ร้องให้ดัง" นั้นขึ้นอยู่กับพรสวรรค์ของนักร้องแต่ละคน พรศักดิ์เองยอมรับว่า เพลงหนุ่มนานครพนม เขาร้องผิดเนื้อผิดคำ "ลืมหนุ่มนครพนม เคยนั่งเรือชมสองฝั่งเวียงจันทน์.." ซึ่งคำร้องที่ถูกต้องคือ "ลืมหนุ่มนครพนม เคยนั่งเรือชมสองฝั่งเคียงกัน.." และโดยความเป็นจริง นครพนมอยู่ตรงข้ามกับแขวงคำม่วน ไม่ใช่นครหลวงเวียงจันทน์ เนื่องจากพรศักดิ์ เป็นนักร้องที่อาศัยจดจำคำร้องจากผู้แต่ง จึงร้องผิดเนื้ออยู่หลายเพลง แต่ครูคำหอมบอกว่า "มึงอย่าไปสนใจ ร้องให้ดัง เพลงดังแล้ว คนก็ไม่สนใจว่าร้องผิดร้องถูกตรงไหน"    'เต้ยสะท้านโลก' เมื่อเพลงหนุ่มนานครพนม มีกระแสตอบอย่างล้นหลาม ครูคำหอม จึงตั้งวงดนตรีแชมป์อีสาน ให้พรศักดิ์ ส่องแสง พร้อมอัดแผ่นเพลงลูกทุ่งอีสาน กลอนลำเพลิน ลำแพน ออกเดินสายรับงานการแสดงทั่วประเทศ สำหรับฉายา "ไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร" นั้นมาจากสมัยวัยรุ่น พรศักดิ์ให้ช่างสักแถว อ.บ้านไผ่ สักรูปมังกรไว้ที่แขนซ้าย โดยจ่ายค่าสักเป็นกระทิงแดง 1 ขวดและยาทันใจ เมื่อเพลงดัง เขาอยากลบรอยสัก ก็ลบไม่ได้ ครูคำหอมจึงบอกว่า ไม่ต้องลบ เอาลายสักเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เลยเป็นที่มาของฉายา "ไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร พรศักดิ์ ส่องแสง" ปี 2529 ครูคำหอมเตรียมแผนการใหญ่จะเอา "หมอลำเข้าเธคให้ได้" เพราะสมัยนั้น สถานบันเทิงที่เรียกว่า ดิสโก้เธค ได้รับความนิยมของนักเที่ยวกลางคืน จึงติดต่อ สุมทุม ไผ่ริมบึง (แสนคม พลโยธา) ผู้ประพันธ์เพลง "สาวอีสานรอรัก" และเพลง "คิดถึงทุ่งลุยลาย" แต่งกลอนลำเต้ยสลับเพลงลูกทุ่งอีสาน สุมทุม ไผ่ริมบึง เขียน "เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ" โดยนำเอาเพลง "คักใจเจ้าแล้วบ่" ของ ศักดิ์สยาม เพชรชมภู  "พอใจของเธอหรือยัง บอกแล้วบ่ฟังเลยหนีแม่หนีพ่อ.." มาใส่ในเต้ยสาวจันทร์ฯ "พอใจหรือยังสาวจันทร์ หรือฝันหาชายคนใหม่.." เบื้องต้นครูคำหอม ต้องการให้เต้ยสาวจันทร์ฯ เป็นเพลงลูกทุ่งหมอลำที่ฟังกันได้ทั้งประเทศ และให้พรศักดิ์ ร้องขยี้สไตล์ตัวเอง ไม่ได้เอาตามที่สุมทุม คนแต่งที่เขียนเป็นกลอนผญา  เมื่อปล่อยเทปเพลงชุด "เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ" ออกสู่ท้องตลาด ก็เป็นไปตามที่ครูคำหอมคาดการณ์ไว้ ด้วยจังหวะการลำร้อง และดนตรีที่เร้าใจ หมอลำก็ได้เข้าดิสโก้เธคจริง ๆ เมื่อทุกเธคต้องเปิดเต้ยสาวจันทร์ฯ คำว่า "กั้งโกบ" ก็เป็นเสน่ห์ที่ชวนให้ภาคอื่นค้นหาคำตอบ ซึ่ง "กั้งโกบ" หมายถึง อาการยกมือขึ้นป้องหน้า สาวจันทร์กั้งโกบก็หมายถึง สาวจันทร์ยืนป้องหน้า มองหาชายคนรัก  ความโด่งดังของเต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ ที่ถูกบันทึกไว้ เล่าขานกันไม่เลิกรา นั่นคือคอนเสิร์ตชื่อว่า "คอนเสิร์ตสองคนสองคม" พรศักดิ์ ส่องแสง ปะทะ เบิร์ด ธงไชย แม็คอินไตย์ เมื่อ 1 พ.ค.2530 ที่สนามกีฬาเวโลโดรม หัวหมาก  ไม่กี่ปีมานี้ พรศักดิ์ ส่องแสง ได้ขึ้นเวทีคอนเสิร์ต "คำภีร์ ไลฟ์ ก็ใจมันบงการ" ของ ปู พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ที่ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี เมื่อ 26 มี.ค.2559 โดยทั้งคู่ร่วมร้อง "เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ" และ "หนุ่มนานครพนม" เพลงในตำนานชีวิตราชาลูกทุ่งหมอลำ หลังครูคำหอม เสียชีวิตในปี 2532 พรศักดิ์ก็ยุบวงดนตรี เพราะไม่มีความสามารถด้านบริหารจัดการ และหันไปเดินสายร้องเพลงเยี่ยงศิลปินอิสระ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พรศักดิ์ ส่องแสง จดจำคำสอนของครูหอมไม่ลืม "อย่าเฮ็ดคือไผ" ออกไปหน้าเวที ไม่ต้องฟ้อนเหมือนหมอลำ ไม่ต้องยักคิ้วหลิ่วตาเหมือนนักร้องลูกทุ่ง พรศักดิ์บนเวทีวันแรก จนเวทีสุดท้ายของชีวิต จึงเป็นศิลปินคนบ้านบ้านอย่างเราเห็นกัน  "เฮาอย่านำเขา แต่ให้เขานำเฮา"    ที่มา: https://youtu.be/nRaWRxFsYcI   เรียบเรียง: ชน บทจร  ภาพ: เพจ พรศักดิ์ ส่องแสง