พระพยอม กลฺยาโณ พระนักพัฒนา ครีเอทีฟทางธรรม และวิบากกรรม "โฉนดถุงกล้วยแขก"

พระพยอม กลฺยาโณ พระนักพัฒนา ครีเอทีฟทางธรรม และวิบากกรรม "โฉนดถุงกล้วยแขก"
หากคุณเคยขับรถไปละแวกบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี จะพบวัดแห่งหนึ่งซึ่งเป็นเสมือนป่ากลางกรุง บ้างก็ว่าเป็นที่พึ่งของคนยากไร้ ศูนย์รวมใจและความศรัทธาในพื้นที่ 2,000 กว่าไร่ “วัดสวนแก้ว” ยังคงเป็นสถานที่ที่ชาวพุทธให้ความเคารพและศรัทธา ไม่ใช่เพียงในสถานะสถานที่ปฏิบัติธรรม แต่เป็นมูลนิธิที่สร้างงานสร้างอาชีพให้คนจน ตำราแห่งการบริหารที่ซับซ้อนทั้งเป็นที่พึ่งของคนจน เป็นผลผลิตให้สังคม และยังเป็นที่พักฟื้นทางจิตใจนี้ ไม่ได้มีซีอีโอสมองเพชรหรือซีเอฟโอนักการเงินมือฉมังคนไหนมาจัดการให้ แต่มาจากความตั้งใจของพระรูปหนึ่งที่อยากเห็นความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น หรือที่เรามักจะเรียกกันว่าพระนักพัฒนา ทุกวันนี้ในวัย 71 พรรษา พระราชธรรมนิเทศ หรือที่รู้จักกันดีในนาม “พระพยอม กลฺยาโณ” ยังคงปฏิบัติกิจของสงฆ์ร่วมกับการพัฒนาสังคมอยู่ทุกวัน รายการคนค้นฅนที่ออกอากาศในปี 2563 เคยติดตามชีวิตพระพยอมว่าใน 24 ชั่วโมงท่านทำอะไรบ้าง เริ่มตั้งแต่ตีสาม เพื่อเตรียมตัวออกไปบิณฑบาต การออกบิณฑบาตของพระพยอมนั้นเป็นทั้งการให้และการรับ เมื่อประชาชนร่วมทำบุญก็จะได้ผลผลิตทางการเกษตรจากวัดสวนแก้วเป็นการตอบแทน และในแต่ละวันพระพยอมก็ยังไปควบคุมไซต์งานก่อสร้างต่าง ๆ ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นในวัดสวนแก้วหรือวัดสาขา ทั้งยังคงออกเทศนาแสดงธรรมอยู่เป็นนิจ ท่านยังใช้เวลาก่อนจำวัดในการติดตามข่าวสารบ้านเมือง เพื่อจับประเด็นความสนใจของสังคมมาประยุกต์กับหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ครีเอทีฟทางธรรม” ก็ว่าได้ คนที่อายุ 30 ขึ้นไป อาจยังพอจำกันได้ว่าพระพยอมเป็นพระรูปแรก ๆ ที่มีเทปธรรมะออกมาให้ญาติโยมได้รับฟังเทศน์กัน ด้วยวิธีการเล่าที่เข้าใจง่าย สนุก และได้สาระ จึงกลายเป็นต้นแบบให้พระนักเทศน์ยุคหลัง ๆ ทั้งน้ำเสียงที่เป็นกันเองของท่าน และการตั้งอยู่บนหลักธรรมคำสอนที่หนักแน่น เทปธรรมะพระพยอมจึงเป็นเหมือนธรรมะประจำบ้านหรือประจำรถยนต์ของใครหลายคน นอกจากนี้ พระพยอมยังสอนข้อคิดธรรมะผ่านโครงการสร้างสรรค์ต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อกระแส “จตุคามฯ ฟีเวอร์” ราวปี 2549-2550 ที่หันไปทางไหนก็เจอแต่ร้านให้เช่าบูชาองค์จตุคามรามเทพ ตอนนั้นพระพยอมได้เตือนสติชาวพุทธไม่ให้งมงาย ด้วยการผลิตคุกกี้ “จตุคำ” รุ่นฉุกคิด 4 คำโคตรรวย เป็นคุกกี้ที่ระบุคำว่า “อุ อา กะ สะ” ที่มาจากคาถาหัวใจเศรษฐี โดย “อุ” มาจากคำว่า อุฏฐานสัมปทา คือความขยันหมั่นเพียรในการประกอบสัมมาอาชีพ “อา” มาจากคำว่า อารักขสัมปทา คือการเก็บรักษาทรัพย์สินที่ได้มา “กะ” มาจากคำว่า กัลยาณมิตตา คือการคบหาสมาคมกับคนดี มีคุณธรรม มีน้ำใจ และสุดท้าย “สะ” มาจากคำว่า สมชีวิตา คือ การใช้จ่ายอย่างประหยัดพอเพียง ใช้ชีวิตสมถะ ซึ่งการสื่อสารดังกล่าวของพระพยอมได้เตือนสติสังคมได้เป็นอย่างดี “โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า ไม่โกรธดีกว่า ไม่บ้าไม่โง่” ยังคงเป็นหนึ่งในคำสอนของพระพยอมที่ถูกนำมากล่าวถึงกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลั่นกรองมาจากการศึกษาธรรมะของ พยอม จั่นเพชร คนบางใหญ่ นนทบุรี ที่เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ในวัย 21 ปี ในปี 2513 ณ วัดสังวรพิมลไพบูลย์ จังหวัดนนทบุรี ด้วยความที่สติปัญญาเป็นเลิศและเป็นที่รักใคร่ดุจคำว่า “กลฺยาโณ” เมื่อท่านเติบใหญ่ก็ได้ฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อปฏิบัติธรรมกับ พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปญฺโญ) หรือ “พุทธทาสภิกขุ” ที่สวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่าง 7 พรรษาที่ได้ศึกษาธรรมกับท่านพุทธทาสภิกขุ สิ่งหนึ่งที่พระพยอมได้เรียนรู้ก็คือ ท่านพุทธทาสภิกขุปรารภว่าประเพณีบางทีบังสัจธรรมที่ควรจะรู้ เพราะเดี๋ยวนี้ชาวพุทธเน้นพิธีกรรม ทั้งที่มีหลักอยู่ว่าต้องเชื่อกรรม “กรรมวาที” เชื่อความเพียร “วิริยวาที” ถ้าเชื่อว่าอันนี้ดีแล้ว กระทำอันนี้ดีแล้ว พยายามทำให้เต็มที่ อาจจะอยู่เหนือโชคชะตาราศีดวงดาวอะไรก็แล้วแต่ สิ่งเหล่านี้ทำให้พระพยอมเชื่อในเรื่องความเพียรและการลงมือทำ ดังนั้นเมื่อศึกษาธรรมะกับท่านพุทธทาสภิกขุอย่างถี่ถ้วนแล้ว จึงนำหลักคิดนี้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด วัดแก้ว จังหวัดนนทบุรี แต่เดิมเป็นวัดรกร้างขาดการบูรณะ จนปี 2521 เมื่อพระพยอมเดินทางมาเพื่อจะทำโครงการบวชสามเณรของสวนโมกขพลาราม จึงได้ร่วมกับพระสงฆ์ที่พำนักอยู่ก่อนหน้าแต่ขาดกำลังจะบูรณะ ทำการฟื้นฟูพัฒนาวัดแห่งนี้ขึ้น และในปี 2522 พระพยอมก็ได้รับมอบหมายจากพระสงฆ์ที่พำนักอยู่เดิมนั้นให้เป็นผู้ดูแลรักษาวัดแก้ว เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสถานที่จำลองสวนโมกขพลารามให้เกิดขึ้นในเมือง ตามคำที่ท่านพุทธทาสภิกขุเคยปรารภเมื่อคราวที่ยังศึกษาธรรมะอยู่ที่สวนโมกข์ ให้พระพยอมนำเอาธรรมะมาใกล้กับเมือง โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสวนแก้ว” ในภายหลัง พระพยอมได้ก่อตั้ง “มูลนิธิวัดสวนแก้ว” ที่นอกจากจะทำหน้าที่เผยแผ่คำสอนทางพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นสถานที่พัฒนาชีวิตและส่งเสริมสัมมาชีพให้ประชาชนด้วย หากมองย้อนไปในวัยเด็กที่ยากไร้ของท่านจะพบว่า พระพยอมเองก็ลงมือทำอาชีพเสริมเพื่อช่วยครอบครัว ทั้งการรับจ้างดายหญ้าในร่องสวน ขึ้นเก็บมะพร้าว เก็บต้นหมาก สิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียนจากการลงมือทำที่นำมาบริหารวัดและคนงานกว่าพันชีวิตของวัด ระบบบริหารจัดการของวัดสวนแก้วถือว่าครบวงจร เมื่อมีคนเข้ามาขออาศัยใบบุญของวัดก็จะมีการคัดกรอง โดยไม่เปิดรับบุคคลที่มีลักษณะ 4 ขี้ คือ “ขี้เกียจ ขี้เมา ขี้ขโมย ขี้ขอ” ซึ่งผู้ที่เข้ามาอยู่ในวัดมีทั้งคนยากไร้ คนพิการ ผู้ต้องขังที่พ้นโทษ และคนชรา โดยระบบการประเมินของวัดขึ้นอยู่กับความขยัน ค่าแรงที่ได้ก็จะถูกออมไว้กับทางวัดจนกว่าจะตัดสินใจออกจากวัด เงินก้อนนั้นก็จะถูกนำออกไปเป็นทุนตั้งต้นชีวิต ในวัดยังมีซูเปอร์มาร์เก็ตทางธรรม โดยนำของที่ได้จากการบิณฑบาตมาให้ผู้คนได้จับจ่ายในราคาย่อมเยาอีกด้วย   เรื่องหนึ่งที่พระพยอมตระหนักในช่วงแรก ๆ ของการรับกิจนิมนต์หลังจากมาจำวัดที่วัดสวนแก้วก็คือ โอกาสของคนยากไร้นั้นมีไม่มาก ทำให้ต้องเข้าสู่วงจรที่นำไปในทางเสื่อม ท่านจึงได้รวบรวมทุนทรัพย์ที่มีไม่มากเพื่อซื้อที่ดินบริเวณรอบวัด เพื่อใช้เป็นพื้นที่สร้างงานสร้างอาชีพให้คนเหล่านี้ โดยมองว่าเป็นกิจของสงฆ์ที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ จนมูลนิธิวัดสวนแก้วได้รับรางวัลวัดพัฒนาตัวอย่างประจำปี 2555 จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และได้รับรองเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ในปี 2548 ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดังนั้น การสร้างงานของพระพยอมจึงตามมาด้วยการขยายพื้นที่รองรับผู้ยากไร้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงเรียนทักษะชีวิต โครงการสะพานบุญจากผู้เหลือเจือจานผู้ขาด โครงการซูเปอร์มาร์เก็ตผู้ยากไร้ โดยการนำเสื้อผ้าและสิ่งของเบ็ดเตล็ดที่ได้รับบริจาคมาขายให้ผู้ยากไร้ในราคาถูก และโครงการเพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นไปที่การผลิตปุ๋ยน้ำชีวภาพจากขยะเศษอาหารจากโรงครัวและพืชผักใบไม้จากสวนภายในวัด ทำให้การขยายพื้นที่ของวัดใหญ่ออกไปเรื่อย และยังแตกไปยังวัดสาขาในต่างจังหวัด แต่แล้ววัดสวนแก้วกลับมีปัญหา เมื่อในปี 2547 พระพยอมในนามของมูลนิธิวัดสวนแก้วได้ซื้อที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 55 ตารางวา ซึ่งอยู่ติดกับวัดจาก นางวันทนา สุขสำเริง ในราคา 10 ล้านบาท เดิมที่ดินผืนนั้นเป็นที่ดินที่นางวันทนา “ครอบครองโดยปฏิปักษ์” กล่าวคือเมื่อปี 2546 ศาลมีคำสั่งให้นางวันทนาได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนดังกล่าวเนื่องจากครอบครองที่ดินมากกว่า 30 ปี  แต่ในปี 2549 ทายาทของเจ้าของเดิมชื่อ นายถนอม หิรัญประดิษฐ์ ได้ยื่นคัดค้านสิทธิครอบครองปฏิปักษ์ของนางวันทนา โดยสิทธิแล้วนางวันทนาสามารถต่อสู้ในชั้นศาลได้ แต่กลับยอมความให้นายถนอมโดยให้ศาลเพิกถอนสิทธิที่ดินผืนนั้น ทั้งที่ก่อนหน้าการซื้อขาย พระพยอมได้ให้เจ้าหน้าที่วัดสวนแก้วตรวจสอบว่าสามารถซื้อขายได้ และมีการลงมือถมที่ดินเพื่อทำโครงการสาธารณประโยชน์ไปแล้วเช่นกัน ส่วนเงิน 10 ล้านบาทที่นางวันทนาได้จากการขายที่ดิน เจ้าตัวชี้แจงว่าได้นำไปใช้หมดแล้ว ต่อมาปี 2550 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการครอบครองโดยปฏิปักษ์ของนางวันทนา ทำให้โฉนดของวัดสวนแก้วเป็นโมฆะ พระพยอมมองว่าแทนที่จะนำที่ดินนั้นไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ของสังคม แต่กลับกลายเป็น “โฉนดถุงกล้วยแขก” โดยนำภาพของโฉนดดังกล่าวไปทำถุงกล้วยแขกบ้าง ถุงผ้าบ้าง เพื่อเป็นอุทธาหรณ์สอนใจคน และสร้างอนุสาวรีย์ถุงกล้วยแขกขึ้นตรงข้ามที่ดินพิพาท ช่วงเวลาระหว่างเกิดข้อพิพาท ทายาทได้เสนอขายที่ดินผืนดังกล่าวให้วัดอีกครั้ง ทางวัดสวนแก้วเสนอเงินเพิ่มให้ 3 ล้านบาท แต่ทางเจ้าของที่ดินต้องการ 15-45 ล้านบาท ทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้ ในปี 2560 วัดสวนแก้วยื่นศาลขอครอบครองปฏิปักษ์ในที่ดินผืนพิพาท เพราะครอบครองมาตั้งแต่ปี 2547 แต่ศาลยกฟ้องวัด และวัดได้ยื่นอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่ง ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2563 วัดได้รับแจ้งจากทายาทเจ้าของที่ดินว่ามีการนำสังกะสีมาล้อมที่ดินผืนดังกล่าว และให้วัดย้ายสิ่งของออกจากพื้นที่ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน พระพยอมให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐว่า “หลังเกิดปัญหาช่วงนั้นอาตมาก็ตัดสินใจสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ เขียนข้อความที่มาที่ไปของเรื่องราวที่เกิดขึ้น พร้อมนำโฉนดดังกล่าวไปทำเป็นถุงกล้วยแขกขาย ตอนที่ทำครั้งนั้นขายดีมากผู้คนที่ทราบข่าวแห่มาซื้อกันที่วัดทำกันไม่ทัน ต้องตั้งกระทะทอดกล้วยแขกจำนวน 8 กระทะ ขายได้เงินมา 800,000 กว่าบาท และยังไปเอาไปทำกระเป๋าสะพาย ปรากฏว่าขายดีมาก ตอนนี้อาตมาปลงแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้รับความเห็นใจจากเจ้าของที่ดิน แต่เราก็ได้กำลังใจจากญาติโยมที่โทรมาให้กำลังใจกันเป็นจำนวนมาก” นับเป็นบททดสอบของวัดสวนแก้วอีกครั้ง หลังพระพยอมพลิกฟื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นพื้นที่ธรรมะกลางกรุงและฝึกอาชีพผู้ยากไร้ ว่าจะผ่านข้อพิพาทดังกล่าวไปได้อย่างไร เพราะที่ดินผืนนั้นหมายถึงโอกาสที่จะได้ช่วยเหลือสังคมและผู้ยากไร้ของพระสงฆ์ผู้อุทิศตนมาตลอดจนถึงวัย 71 พรรษา “พระพยอม กลฺยาโณ” แห่งวัดสวนแก้ว   ที่มา https://www.posttoday.com/dhamma/581319 https://mgronline.com/uptodate/detail/9500000069664 https://www.youtube.com/watch?v=9PeIUqE-NEc https://news.thaipbs.or.th/content/293669   เรื่อง: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ