พระสยามเทวาธิราช ผีบ้านผีเมืองผู้ปัดเป่าภัยให้สยาม

พระสยามเทวาธิราช ผีบ้านผีเมืองผู้ปัดเป่าภัยให้สยาม
พระสยามเทวาธิราช เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของไทย ซึ่งเมื่อใดที่มีภัยมาเยือน และบ้านเมืองผ่านพ้นภัยนั้น ๆ มาได้ เทวดาองค์นี้ก็มักจะได้เครดิตอยู่ร่ำไป เหมือนเช่นเมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งไทย (หรือสยาม) สามารถรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้น (โดยสมบูรณ์) ของตะวันตกมาได้ ทั้ง ๆ ที่เพื่อนบ้านน้อยใหญ่รายล้อมต่างสูญเสียเอกราชไปแทบทั้งสิ้น ทำให้เชื่อกันว่า สยามนี้มีเทวดาปกบ้านปกเมือง ช่วยให้ประเทศผ่านวิกฤตนั้นมาได้ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงขนานนามเทวดาองค์นี้ว่า “พระสยามเทวาธิราช” และเมื่อการเลือกตั้ง 2562 (ที่ชาวบ้านเฝ้ารอมานานตั้งแต่รัฐประหารปี 2557) พ้นไปได้เพียงข้ามวัน ม.จ. จุลเจิม ยุคล ผู้สืบราชสกุลท่านหนึ่งก็ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก สื่อความหมายว่าประเทศไทยเราก็เพิ่งจะผ่านพ้นภัยมาสด ๆ ร้อน ๆ เช่นกัน "กราบพระสยามเทวาธิราช ที่ดลบันดาลให้เรือล่มก่อนออกจากฝั่ง ไม่เช่นนั้น ประเทศเราคงจะได้เจ้าหญิงแสนหวี ปลายหวีเหี่ยว มาเป็นนายกรัฐมนตรี” ไม่ว่าข้อความข้างต้นจะสื่อถึงภัยอันใด และแม้มันจะหายไปจากหน้าฟีดเฟซบุ๊กของ ม.จ. ท่านนี้อย่างไร้ร่องรอย (แต่ไม่พ้นสายตาสื่อหลายเจ้าซึ่งแคปหน้าจอเอาไว้ได้ - ข่าวสด) แต่หลักใหญ่ประการหนึ่งของข้อความก็คือ การตอกย้ำฟังก์ชันของพระสยามเทวาธิราชที่สืบทอดมานานนับร้อยปี โดยมีพัฒนาการมาจาก “ผีบ้านผีเมือง” เรื่องนี้เห็นได้จากความตอนหนึ่งในศิลาจารึกหลักที่ 1 (ที่ยังมีนักวิชาการบางส่วนตั้งคำถามว่าจารึกขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงจริงหรือไม่?) ว่า "มีพระขพุงผี เทพดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้วไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอันบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย" ซึ่งก็หมายความว่า เมืองสุโขทัยนั้นมีเจ้าแห่งผีประจำเมืองที่ "ขุน" หรือผู้ปกครองจะต้องสักการะบูชา "ไหว้ดีพลีถูก" เมืองก็จะเจริญ หาไม่แล้วเมืองนั้นก็จะถึงกาลเสื่อมเอาได้ ความสอดคล้องทางความเชื่อและพิธีกรรมของการบูชาพระสยามเทวาธิราช กับการ “ไหว้-พลี” ให้กับ “พระขพุงผี” ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า การบูชาพระสยามเทวาธิราชเข้าลักษณะเป็น "พิธีผี" ประการหนึ่ง "การเซ่นสังเวยพระสยามเทวาธิราช การสังเวยเทพารักษ์ต่าง ๆ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง เหล่านี้จะเรียกว่าเกี่ยวกับศาสนาใดก็ไม่ได้ เพราะเทวดาเหล่านี้ก็ไม่มีในศาสนาพราหมณ์ ในศาสนาพุทธก็ไม่มี เห็นจะเป็นความเชื่อของคนไทยโดยเฉพาะที่นับถือผีมาตั้งแต่โบราณ" ความเชื่อเรื่องผีบ้านผีเมืองเมืองนี้ นับเป็นสิ่งที่แพร่หลายไปทั่วในกลุ่มวัฒนธรรมไทยและใกล้เคียง ซึ่งเป็นการบูชาผีบรรพบุรุษ แต่มิใช่บรรพบุรุษของชาวบ้านทั่วไป หากเป็นผีเจ้าเมืองที่เป็นผู้สร้างเมืองและเคยปกครองเมืองมาก่อน และเจ้าเมืองรุ่นหลังก็อันเชิญให้ผีเจ้าเมืองผู้ผูกพันกับชุมชนให้ช่วยปกปักคุ้มครองรักษาบ้านเมือง และเมื่ออุดมการณ์รัฐชาติแบบตะวันตกแพร่หลายมาถึงไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผีบ้านผีเมืองจึงได้กลายมาเป็นพระสยามเทวาธิราชที่ปกปักรักษารัฐสยามนั่นเอง ทั้งนี้ จากการค้นคว้าของ วีระศักดิ์ จารุโณปถัมภ์ เจ้าของวิทยานิพนธ์เรื่อง สัญลักษณ์พระสยามเทวาธิราช การวิเคราะห์และตีความหมายเชิงมานุษยวิทยา  พบว่า แม้พระสยามเทวาธิราชจะถือว่าเป็นเทวดาสำคัญ แต่กลับไม่ปรากฏประวัติการสร้างที่แน่ชัด พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4 ก็หาได้จดไว้ไม่ มีแต่การสันนิษฐานโดยผู้ใกล้ชิดราชสำนัก อย่างเช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงสันนิษฐานว่าน่าจะทำขึ้นในปี 2396 หรือราวสองปีหลังขึ้นครองราชย์ ขณะที่ หม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล พระธิดาของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เชื่อว่า พระสยามเทวาธิราชน่าจะถูกสร้างระหว่าง พ.ศ. 2401 ถึง 2403 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังไทยทำสนธิสัญญากับมหาอำนาจตะวันตก ขณะที่ญวนกำลังทำสงครามกับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เห็นข้อแตกต่างของชะตากรรมทั้งสองอาณาจักร ส่วน เกรียงไกร วิศวามิตร์ ข้าราชการสำนักพระราชวัง สันนิษฐานว่าการสร้างน่าจะเกิดขึ้นหลังรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ได้ราว 4 ปี หรือปี 2398 อันเป็นช่วงเวลาที่ เซอร์จอห์น เบาริง ทูตอังกฤษเข้ามาเจรจากับทางราชสำนัก โดยอ้างอิงจากงานเขียนของ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาอีกองค์หนึ่งของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ที่กล่าวว่า การเจรจาคราวนั้นเกิดข้อขัดแย้งสำคัญขึ้น ก่อนจะคลี่คลายมาได้ “เมื่อเหตุการณ์เรียบร้อยแล้วจึงทรงพระราชดำริว่าเมืองไทยเรานี้มีเหตุการณ์หวิด ๆ จะต้องเสียอิสรภาพมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นได้เสมอมา ชะเอยจะมีเทพยดาองค์ใดองค์หนึ่งที่คอยพิทักษ์รักษาอยู่ จึงสมควรจะทำรูปเทพพระองค์นั้นขึ้นไว้สักการบูชาแล้วโปรดให้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ นายช่างเอก ทรงปั้นรูปเทพพระองค์นั้น เป็นรูปแทรงต้นยืนถือพระขรรค์ ในพระหัตถ์ขวา ขนาด 8 นิ้วฟุตงดงามได้สัดส่วน แล้วหล่อด้วยทองคำแท่งทั้งพระองค์ทรงถวายพระนามว่าพระสยามเทวาธิราช" เกรียงไกรกล่าวกับวีระศักดิ์ผู้ค้นคว้า นอกจากประวัติที่ค่อนข้างเป็นที่รู้อย่างจำกัดแล้ว ประชาชนทั่วไปยังถูกจำกัดมิให้เข้าถึงพระสยามเทวาธิราชได้ เนื่องจากถือกันว่าเป็นปูชนียวัตถุสำหรับองค์กษัตริย์ และในอดีตก็ไม่เคยมีการอนุญาตให้จำลองภาพของพระสยามเทวาธิราชออกไป ไม่ว่าจะในรูปของภาพวาด หรือหุ่นจำลอง ช่างภาพของทางพระราชวังก็ไม่เคยถ่ายไว้ คนนอกก็แทบไม่เคยเห็น การจะจำลองแบบก็ต้องมีการขอพระบรมราชานุญาตเสียก่อน แต่ประเพณีดังกล่าวก็ได้คลี่คลายลงในรัชสมัย พระบาทสมเด็จฯ ภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ซึ่งมีพระบรมราชานุญาตให้ถ่ายภาพพระสยามเทวาธิราชให้ไปปรากฏในหนังสือต่าง ๆ ได้ ประชาชนก็มีโอกาสเข้าสักการะได้ในวาระพิเศษอย่างการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์สองร้อยปี และยังมีการจำลองพระสยามเทวาธิราชไปประดิษฐานอยู่หลายแห่ง เช่นที่พิพิธภัณฑ์สักทอง วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร ไม่ไกลจากตลาดเทเวศร์ และที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนที่เคยมีเหตุปะทะด้วยอาวุธหลายครั้ง