ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ผู้ถวายงานคำร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์

ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ผู้ถวายงานคำร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์
ความหมายอันลึกซึ้งที่แฝงอยู่ในท่วงทำนองและจังหวะจะโคนของบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คือสุนทรียภาพแห่งคีตศิลป์ที่มีความเป็นสากล  ไม่จำกัดเพียงเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่คนทั่วทั้งโลกล้วนเข้าถึงความไพเราะงดงามนี้ได้โดยทั่วกัน ยิ่งกว่านั้นในหมู่มวลคนรักดนตรี ต่างซึมซับคุณค่าของบทเพลงพระราชนิพนธ์เสมือนหนึ่งการได้เข้าถึงผลงานศิลปะชั้นเลิศเลยทีเดียว นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมจึงมีศิลปินระดับโลกอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ไปบรรเลงอยู่เนือง ๆ ทั้งในรูปแบบของการแสดงสด และการบันทึกเสียงเพื่อผลิตเป็นผลงานอัลบั้มออกมา  ไม่ว่าจะเป็นการแสดงสดของวงดนตรี Benny Goodman ในปี ค.ศ. 1956 เรื่อยมาจนถึงผลงานบันทึกเสียงของวง The Carnegie Hall Jazz Band, วง The Preservation Hall Jazz Band, David Chesky ฯลฯ ตลอดจนนักกีตาร์อย่าง Larry Carlton และนักเปียโน John Di Martino ในยุคหลัง เมื่อกล่าวถึงบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 หนึ่งในบุคคลสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบทเพลงพระราชนิพนธ์ โดยได้รับพระราชทานโอกาสให้ถวายงานแด่พระองค์ท่าน คือ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน  ศ. ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวายไว้ 5 เพลง ประกอบด้วย เพลง ‘ใกล้รุ่ง’ ‘ชะตาชีวิต’ ‘ในดวงใจนิรันดร์’ ‘แว่ว’ และ ‘เกษตรศาสตร์’  เมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ อาจารย์ประเสริฐ สละเวลาพักระหว่างการประชุม ณ ที่ทำการสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ซึ่งตั้งอยู่ภายในรั้วของสนามเสือป่า เพื่อสนทนาถึงเบื้องหลังของการถวายงานดังกล่าวกับผู้เขียน ในวัย 98 ปี ณ ขณะนั้น ท่านดูกระฉับกระเฉงแข็งแรงกว่าวัย และที่น่าประทับใจยิ่งกว่านั้น คือความคิดอ่านที่แจ่มใสชัดเจน “คือหม่อมเจ้าจักรพันธ์ เพ็ญศิริ ซึ่งต่อมาเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงเป็นเลขาธิการ ต่อมาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วผมก็เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ และมาเป็นรองอธิการบดีอยู่กับท่าน ทีนี้ท่านได้รับพระราชทานเพลงมาประพันธ์เนื้อร้อง ซึ่งมีมากหลายเพลง ทำไม่ทัน ท่านส่งมาให้ผมช่วยเป็นบางเพลง เพลงแรก (ที่ได้รับมอบหมาย) คือเพลงใกล้รุ่ง”  อาจารย์ประเสริฐ เริ่มต้นเล่าถึงที่มาของการถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช โดยเนื้อเพลง ใกล้รุ่ง อาจารย์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเสียงไก่ขันที่ได้ยินจากข้างบ้าน “เวลานั้น สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ฯ เขาจะมีงาน แล้วคุณหลวงสุวรรณวาจกสิกิจกำลังส่งเสริมการเลี้ยงไก่เป็นอาชีพ เวลาตีสี่ตีห้า ไก่ขันเต็มไปหมด ตั้งแต่สถานีรถไฟบางเขนไปถึงถนนพหลโยธิน เพราะว่าท่านเลี้ยงไก่ใส่กรงไว้ติดต่อกันมา ... ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากอันนั้น ...  “และเนื่องจากว่าผมชอบเพลงไทยเดิม เคยร้องเพลงไทยเดิมแบบสองชั้นสามชั้นได้สัก 200-300 เพลง (คุณแม่ของอาจารย์เป็นนักร้องประจำวงดนตรีไทยของข้าราชการที่จังหวัดแพร่) ฉะนั้น ก็เลยยังติดใจอยู่ อย่างเพลง (ร้อง) ‘สายทองส่องงามอร่ามแรง จวนจะแจ้งเสียจริง ๆ จำจากจร’ ก็เลยเอามาส่วนหนึ่ง มาใส่ไปในนี้ อย่างท่อนที่ว่า ‘....เพลิดเพลินฤทัยฟังไก่ประสานเสียงกัน’ เป็นต้น” ด้วยพื้นฐานเป็นคนร้องเพลงไทยเดิม อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ขยายความว่า แต่เดิมมานั้น เพลงไทยเรามีเพียง 5 เสียง ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยามาถึงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งมาถึง ‘เขมรไทรโยค’ ก็มี 7 เสียง แต่เมื่อมาถึงบทเพลงพระราชนิพนธ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงนำทางดนตรีสากลมาใช้ มีการใช้เสียงบันได้เสียงที่เป็น ‘ครึ่งเสียง’ (Half Tone) ซึ่งเดิมไม่มีในดนตรีไทย และอาจจะไม่คุ้นหูคนไทยโดยทั่วไปในเวลานั้น “ท่านทรงนำสมัยมาสัก 16 ปีได้ เพราะว่าเมื่อทีแรกที่มีเพลงครึ่งเสียง ท่านพระราชนิพนธ์เพลง อย่าง ‘แต่ก่อนเคยคลอเคลียกัน ทุกวันคืนชื่นอุรา...’ (ฮัมเพลง’ยามเย็น’) ก็ครึ่งเสียง ตอนนั้นคนไทยเรายังรับไม่ได้ เพราะไม่คุ้นเคยกับครึ่งเสียง แล้วก็ขอแก้มาเป็น ‘ทุกวันคืนชื่นอุรา’ (ร้องโน้ตตรงเต็มเสียง) แล้วพอผ่านมา 16 ปี ก็ไปกราบบังคมทูลในหลวงว่า บัดนี้หูคนไทยฟัง (คุ้นเคยกับ) ครึ่งเสียงได้แล้ว แล้วที่พระราชนิพนธ์ไว้เดิมนั่นดีกว่าที่ขอแก้ไว้มาก ก็กลับไปใช้อย่างเดิม “ท่านทรงนำดนตรีไทยสากลไปเป็น (เวลา) 16 ปี แล้วทีนี้ท่านทรงประทับที่ยุโรป ทรงคุ้นเคยกับเพลงคลาสสิก เพลงแจ๊ส ฯ แล้วเคยทรงประทับอยู่ในพระราชวังก็มีดนตรีไทยเดิมอยู่ ทรงคุ้นเคยกับเพลงหลายชนิด ซึ่งมาปรากฏอยู่ในบางเพลง ก็จะเอาเพลงไทยเดิมมาดัดแปลงเป็นเพลงใหม่ขึ้น บางเพลงก็เอาเพลงไลท์มิวสิค ‘นอย นอย นอย’ (ฮัมเพลง) ก็ได้มา เนื่องจากท่านทรงมีพื้นฐานทั้งคลาสสิก ทั้งไลท์มิวสิค ก็มีเพลงพระราชนิพนธ์ที่แตกต่างกันออกไปอีกมากมาย” จาก ‘ใกล้รุ่ง’ มาถึงเพลง ‘ชะตาชีวิต’ ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน “เมื่อท่านทรงประทับอยู่ที่เมืองโลซานน์ พระราชนิพนธ์เพลงนี้ขึ้น ชื่อว่าเพลง H.M. Blues (พ.ศ.2489) เพลงนี้ก็ให้ข้าราชบริพารทายว่า หมายถึงเพลงอะไร ใครจะทาย ต้องเสีย 3 ฟรังซ์ ถ้าทายถูกจะให้รางวัลอย่างงาม คนก็ทายก็เสียกันคนละ 3 ฟรังซ์ แต่ไม่มีใครทายถูก เพราะทุกคนบอกว่า H.M. Blues คือ His Majesty’s Blues ก็คือเพลงบลูส์ของในหลวง แต่ท่านบอกไม่ใช่ ตกลงจึงไม่มีใครได้เงินไปเลย “ท่านตรัสว่า Hungry Men’s Blues เพลงของผู้หิวโหย เพราะเหตุว่าในขณะที่คนมาเต้นรำ เขาดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ กินแกล้มอะไรเข้าไป อิ่มหนำสำราญ แต่ข้าราชบริพารท่านที่เล่นดนตรีอยู่ ไม่ได้กินอะไรเลยก็หิว เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่มาของชื่อ Hungry Men’s Blues ทีนี้ท่านจักรพันธ์ฯ ก็ส่งทำนองมาให้ผม แต่ไม่ได้บอกว่าชื่อ H.M. Blues ส่งมาแต่ทำนอง ผมก็เลยใส่เนื้อไปตามที่เห็นทำนอง” นั่นจึงเป็นสาเหตุให้คำร้องภาษาไทยของเพลงนี้ มีความหมายแตกต่างไปคนละแบบกับคำร้องภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม อาจารย์ประเสริฐเห็นว่า ยังมีหลักให้คำร้องเพลงบลูส์ ซึ่งเป็นไปตามพระราชประสงค์ที่ว่าตอนท้ายต้องสะท้อนปรัชญาชีวิตให้มีความหวังอยู่ด้วย หลังจากปี พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นปีที่แต่งคำร้องเพลง ‘ใกล้รุ่ง’ และ ‘ชะตาชีวิต’ อาจารย์ประเสริฐ ได้รับพระราชทานโอกาสให้ถวายงานอีกครั้ง ด้วยการประพันธ์คำร้องภาษาไทยให้แก่เพลง ‘ในดวงใจนิรันดร์’ และ ‘แว่ว’ ต่อเนื่องกัน ในปี พ.ศ.2508 “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งถามว่า ‘รักนั้นจะเนาแน่นแฟ้นใน ดวงใจนิรันดร์’ ของเพลง ‘ในดวงใจนิรันดร์’ ทรงถามว่า ‘เนา’ นั่นแปลว่าอะไร คำว่า ‘เนา’ นั้นเป็นคำเขมร แปลว่า ‘อยู่’ อย่างในดนตรีไทยที่บอกว่า ‘หยาดน้ำค้างยังเนาคงใบบงกช’ คือ จริง ๆ น้ำค้างอยู่บนใบบัว ทีนี้ อีก 2-3 ปีต่อมา ผมเพิ่งมานึกได้... หรือคำว่า ‘เนา’ เนี่ย คนไทยไม่รู้จัก ให้ไปแก้เสีย แต่ท่านไม่ได้รับสั่งออกมา ด้วยความซื่อ ผมก็ทิ้งไว้อย่างนั้น มันมีสัมผัสภายใน ‘รักนั้นจะเนาแน่นแฟ้นใน ดวงใจนิรันดร์’ มัน นอ-นอ-นอ ก็ไม่ทราบ เลยปล่อยไว้” ผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยตั้งข้อสังเกตส่วนตัว ‘ในดวงใจนิรันดร์’ อยู่ในชุดเพลงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง มาจากเพลง ‘Still on My Mind’ โดยเพลงในชุดนี้ยังประกอบด้วย ‘Old Fashioned Melody’ ‘No Moon’ ‘Dream Island’ และ ‘Echo’ ซึ่งเพลงหลังนี้ โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ อาจารย์ประเสริฐ ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ซึ่งอาจารย์ประเสริฐ ประสงค์จะรักษาความหมายเดิมของบทเพลงไว้ จึงแต่งคำไทยจากคำร้องภาษาอังกฤษ และใช้ชื่อว่า ‘แว่ว’  เพลงที่ 5 และเป็นเพลงสุดท้ายของอาจารย์ประเสริฐ ที่ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทในการเขียนคำร้องเพลงไทย คือเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีชื่อว่า ‘เกษตรศาสตร์’ (พ.ศ.2509) ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า ใช้เวลาแต่งนานร่วมปี นับว่านานมากเมื่อเปรียบเทียบกับเวลาเพียงชั่วโมงครึ่งที่ใช้ในการแต่งคำร้องครั้งแรก (ในเพลง’ใกล้รุ่ง’)  “อันแรกที่แต่งได้ชั่วโมงครึ่ง ไม่ถึงสองชั่วโมง เพราะเป็นเพลงสมเด็จพระอนุชาฯ แต่อันนี้เป็นเพลงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แล้วก็เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย อีกอย่างเพลงของธรรมศาสตร์กับจุฬาฯ เนื้อเขาดีมาก ทีนี้ ถ้าเกษตรฯ ไม่ใกล้เคียงกับเขา ก็เสียชื่อเกษตรฯ หมด เป็นเวลา 9 เดือน ผมก็ยังแต่งไม่ได้ ... จนนานร่วมปี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีรับสั่งถาม ผมเลยใช้เวลาครึ่งคืน ตั้งแต่หกโมงเย็นถึงหกทุ่มแต่งเพลง ‘เกษตรศาสตร์’ แล้วก็นำเนื้อหาที่ในหลวงตรัสว่า เกษตรกรมีหน้าที่เลี้ยงโลก ใส่ว่า ‘เขียวนาป่าไพร แผ่นดินถิ่นไทยไพบูลย์หนักหนา เพราะไทยผลิตค้า ทุกแหล่งฟ้าหล้าอิ่มเอม’ ลงไป “แล้ว 2-3 ปีต่อมา สมเด็จพระเทพฯ ทรงให้คนมาถามว่า เมื่อตอนแต่งเพลง ‘เกษตรศาสตร์’ ในหลวงได้ทรงมีพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไว้อย่างไรหรือไม่ ผมบอกให้กราบบังคมทูลท่านว่า ไม่ได้ว่าอะไร ถ้าท่านทรงรับสั่งเรื่องนี้ก็ต้องมาอยู่ในเพลงแล้ว 3 ปีต่อมา ผมถึงได้รู้ว่า ท่านมีพระราชดำริให้ผมแต่งเพลงอีกเพลงหนึ่ง เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่ท่านก็ไม่ได้รับสั่งไว้ ไอ้ผมมันก็คนซื่อ (หัวเราะ) บอกไม่ได้รับทราบเรื่องนี้เลย ไม่อย่างนั้นก็มีอยู่ในเพลงแล้ว” บทสนทนาในครั้งนั้น นับเป็นบันทึกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และมีส่วนสำคัญในการเติมภาพเต็มของบทเพลงพระราชนิพนธ์ให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้นในความเข้าใจรับรู้ของมหาชน ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ด้วยวัย 100 ปี