ประวิทย์ สะสีสังข์ วินมอเตอร์ไซค์บำราศนราดูร “ไม่กลัวโรค แต่กลัวอดตาย”

ประวิทย์ สะสีสังข์ วินมอเตอร์ไซค์บำราศนราดูร “ไม่กลัวโรค แต่กลัวอดตาย”
“อยู่หน้าบำราศฯ เขาบอกมันเสี่ยง เสี่ยงแล้วจะให้ทำยังไง อาชีพเราอยู่ตรงนี้ ทุกคนก็กลัวกันหมดนั่นแหละ แต่ถ้าไม่วิ่งวินฯ ที่นั่งหน้าสลอนกันอยู่จะเอาที่ไหนกิน เขาจะมาบอกว่า เฮ้ย อยู่บ้าน นอนอยู่บ้าน โธ่...เขาก็พูดได้ ก็เขามีสตางค์ แต่รากหญ้าอย่างเราจะอยู่ยังไง” คือเสียงสะท้อนของ ประวิทย์ สะสีสังข์ หนึ่งในสมาชิกวินมอเตอร์ไซค์หน้าสถาบันบำราศนราดูร ที่หลายคนว่าเสี่ยง เพราะ สถาบันบำราศนราดูร เป็นสถาบันที่ดูแลเรื่องโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ต่าง ๆ รวมทั้งยังมีหน้าที่กักกันผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามข้อตกลงระหว่างประเทศ เวลามีข่าวโรคติดต่อร้ายแรงเมื่อไหร่ ชื่อสถาบันบำราศฯ ก็จะปรากฏขึ้นมาเป็นด่านหน้าทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดเป็นวงกว้างในไทย สถาบันบำราศฯ ก็เป็นอีกแห่งสำคัญที่รับหน้าที่ดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยของผู้ติดเชื้อโควิด-19 โรคที่หลายครั้งไม่อาจสังเกตได้ด้วยตา เพราะผู้ป่วยหลายคนแทบไม่ปรากฏอาการรุนแรง แต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้อย่างง่ายดายโดยไม่รู้ตัว เรื่อง ‘social distancing’ หรือ ระยะห่างทางสังคม จึงเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ต้องพาผู้โดยสารซ้อนท้ายไปยังจุดหมายปลายทาง “เมื่อก่อนขับ 6 โมงถึง 9 โมงเช้า 3 ชั่วโมงได้ 300 บาทแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีเลย ขับตั้งแต่เช้าได้ 4 เที่ยว เที่ยวละ 10 บาท ได้ 40 บาท คิดว่าอยู่ได้ไหมล่ะ” ฉากดรามาไม่ได้เริ่มต้นขึ้นตอนที่ประวิทย์พูดประโยคนี้ แต่ชีวิตที่ต้องต่อสู้กับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม และหนักกว่าเดิมตั้งแต่มีการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน ทั้งที่ก่อนหน้านั้น วินมอเตอร์ไซค์บำราศฯ ถือเป็นวินฯ ที่มีลูกค้าหนาตามากวินฯ หนึ่งในย่านนั้น อาจเพราะในซอยติวานนท์ 14 เป็นที่ตั้งของหน่วยงานสาธารณสุขหลายแห่ง ทั้ง กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ไปจนถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา วินมอเตอร์ไซค์ปากซอยสถาบันบำราศนราดูร หรือ ‘วินบำราศ’ ตามคำเรียกติดปาก จึงเป็นที่พูดถึงกันในวงการคนขับวินมอเตอร์ไซค์ว่า “วินบำราศคนต่อแถวยาวไปจนถึงหน้าปากซอย ใคร ๆ ก็อยากมาขับกันทั้งนั้น” แต่เมื่อโควิด-19 แพร่กระจาย ภาพที่เห็นจึงดูเหมือนจะค้านสายตาผู้มาเยือนอยู่มากนัก ถนนหนทางแทบจะร้างผู้คน มีเพียงประวิทย์และเพื่อนร่วมวินมอเตอร์ไซค์อีกราว 10 คน ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ กัน นาน ๆ ทีถึงจะหันมาคุยกันบ้าง ราวกับฆ่าเวลาเพื่อรอลูกค้าสักคนเดินเข้ามา ‘วินบำราศ’ ในวันนี้ จึงกลายสภาพจากวินฯ ที่คึกคัก สู่การนั่งรอคนนานนับชั่วโมงแต่ก็ไร้วี่แวว ประวิทย์ สะสีสังข์ วินมอเตอร์ไซค์บำราศนราดูร “ไม่กลัวโรค แต่กลัวอดตาย” “คุณก็เห็นอยู่ คุณนั่งกับผมมาเป็นชั่วโมงแล้ว เห็นพวกผมออกกันหรือยังล่ะ กว่าจะได้สักคนต้องรอเป็นชั่วโมง รอบละ 10 บาท วันหนึ่ง 8 ชั่วโมง ก็ 80 บาท นี่เที่ยวแรกผมยังไม่ได้ออกเลย” ประวิทย์เล่าด้วยท่าทางเคร่งเครียด แววกังวลฉายชัดในดวงตา ไม่ต่างจากบรรดาเพื่อนวินมอเตอร์ไซค์ที่หันมาพยักหน้ารับคำพูดของประวิทย์ ก่อนจะตามมาด้วยเสียงแค่นหัวเราะที่ดูเป็นเรื่องตลกร้ายเหลือเกินกับชีวิตช่วงนี้ ประวิทย์เล่าว่า วินมอเตอร์ไซค์บำราศนราดูรมีด้วยกันถึง 70 คน ปกติช่วงเวลาทองคือ 6-9 โมงเช้า ทุกคนจะมาตั้งแถวรับส่งคนกันอยู่ที่วินฯ หลัง 3 ชั่วโมงนั้นคือเวลานับสตางค์ของพี่น้องชาววินฯ ซึ่งจะได้กันคนละไม่ต่ำกว่า 300 บาท จากนั้นแต่ละคนจะกระจายไปอยู่ตามจุดต่าง ๆ บ้างก็ปักหลักที่กรมควบคุมโรค บ้างก็เลือกที่กระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งช่วง 5-6 โมงเย็นที่คนเริ่มเลิกงาน จากนั้นสมาชิกวินฯ ส่วนใหญ่จะแยกย้ายเข้าบ้านเพื่อพักผ่อนในราว 1-2 ทุ่ม เฉลี่ยแล้วแต่ละวันจะได้กันคนละ 600-700 บาท ด้วยเวลาและรายได้การขับวินมอเตอร์ไซค์ โดยเฉพาะวินฯ บำราศนราดูร เป็นเหตุผลให้ประวิทย์ตัดสินใจเข้ามาทำอาชีพนี้หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 อันเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เขาซึ่งเป็นแรงงานในสายพานการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าต้องตกงาน อาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างสร้างรายได้ให้ประวิทย์ได้อย่างใจหวัง มันเพียงพอที่จะทำให้เขาสร้างเนื้อสร้างตัว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เขาก็ไม่คิดเลยว่าวันหนึ่งมันจะมาสู่ทางตันอีกครั้งแบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อโรคระบาดลุกลามเข้ามาเมืองไทย หลายฝ่ายรณรงค์ให้ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ แต่นั่นยิ่งเป็นสิ่งย้ำชัดถึงความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างกว่าเดิม การหยุดอยู่บ้านไกลายเป็นเรื่องของ ‘อภิสิทธิ์ชน’ ที่มีเพียงบางคนเท่านั้นที่จะทำได้ ขณะที่ยังมีคนจำนวนมากไม่สามารถหยุดอยู่บ้านได้ ความเสี่ยงในการติดโรคเทียบไม่ได้เลยกับภาระที่คนรายวันเหล่านี้ต้องแบกรับ ไหนประวิทย์จะต้องดูแลแม่กับพ่อวัยชรา รถกระบะที่ต้องผ่อนเดือนละ 7,500 บาท ซึ่งยังเหลืออีก 8 เดือน ไหนจะต้องหาเงินจ่ายค่าบ้านที่ค้างอยู่กว่า 3 แสนบาทกับภาวะเศรษฐกิจเป็นพิษเช่นนี้ จากชีวิตที่ยากอยู่แล้วในแต่ละวัน ทุกวันนี้แทบปางตาย “ไม่ต้องกลัวหรอกโรคน่ะ จะกลัวอะไร หากินก่อนดีกว่า เดี๋ยวอดตาย” ประวิทย์สรุป ประวิทย์ สะสีสังข์ วินมอเตอร์ไซค์บำราศนราดูร “ไม่กลัวโรค แต่กลัวอดตาย” เมื่ออาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่สร้างรายได้ให้เหมือนเดิม เขาจึงเพิ่มโอกาสให้ตัวเองจากแรงงานออฟไลน์อย่างเดียว เป็นแรงงานออนไลน์ควบคู่กันไปด้วยเสียเลย “มันเป็นตัวช่วยได้ดีมาก เราเลือกเวลาเข้างานได้” ประวิทย์พูดถึงการตัดสินใจสมัครเป็นพนักงานส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันเจ้าดังรายหนึ่ง โดยเขาจะได้ค่าจ้าง 39 บาทต่อรอบ และจะรับงานผ่านแอปฯ วันละ 2 กะ สำหรับกะแรกของวันคือตั้งแต่ 9 โมงถึงเที่ยง เขารับงานได้เฉลี่ย 6-7 รอบ ส่วนกะบ่ายซึ่งเลือกกะไว้ตั้งแต่บ่ายโมงกว่าถึง 2 ทุ่ม ก็ได้อีกราว 7 รอบ ซึ่งสำหรับเขาก็เป็นเงินที่เพียงพอแล้วในหนึ่งวันที่ควรหาได้ “ผมต้องแบ่งเวลาในการวิ่ง จะไปวิ่งแอปฯ อย่างเดียวไม่ได้ เพราะมันเป็นเงินแห้ง ออกทุกวันที่ 15 ของเดือน แต่วิ่งวินฯ เราได้เงินสด เราต้องจัดการเวลามาวิ่งหาเงินสด เพื่อเอาเป็นต้นทุนไปวิ่งแอปฯ เช่น ช่วงเช้าก็วิ่งวินฯ ก่อนให้มีเงินติดตัว เราจะได้มีกิน มีเงินหมุนเวียนในกระเป๋าแต่ละวัน ส่วนเงินจากการวิ่งแอปฯ ค่อยเป็นเงินเก็บและค่าใช้จ่ายหลักของเรา” เพราะฉะนั้น ตอนนี้ตารางชีวิตของประวิทย์จึงเป็นการออกจากบ้านตั้งแต่ 6 โมงเพื่อวิ่งวินฯ จนถึง 9 โมงเช้า แล้วเข้ากะรับงานผ่านแอปฯ ส่งอาหารจนถึงเที่ยง จากนั้นเข้าวินฯ อีกครั้งเพื่อวิ่งรับส่งลูกค้า พอบ่ายโมงกว่าก็เข้ากะรับงานผ่านแอปฯ อีกครั้งจนไปจบที่ 2 ทุ่ม และวิ่งวินฯ ต่อถึง 3 ทุ่ม โดยเป็นการทำงานหนักขึ้นอีก 2 ชั่วโมง เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัวและบรรเทาภาระหนี้สิน ขณะที่เงิน 5,000 บาทจากการเยียวยาในโครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ที่รัฐมอบให้ ประวิทย์บอกว่าลงชื่อไปแล้ว แต่ไม่ตื่นเต้นอะไร และที่จริงก็ไม่ควรมาคัดกรองอีกทีว่าใครจะได้หรือไม่ได้ เพราะมันคือสิทธิ์ที่ประชาชนต้องได้รับ “ความหวังในวันนี้ก็หากินไปวัน ๆ มีเลี้ยงชีพไปวัน ๆ คงไม่มีจังหวะที่ดีกว่านี้ แต่ก็หวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นกว่านี้เร็ว ๆ ชีวิตจะได้กลับมาปกติเหมือนเดิม”   เรื่องและภาพ: (ในวงเล็บ)