Pretty Woman: หนังแจ้งเกิดจูเลีย โรเบิร์ตส สู่สถานะ “ผู้หญิงบานฉ่ำ”

Pretty Woman: หนังแจ้งเกิดจูเลีย โรเบิร์ตส สู่สถานะ “ผู้หญิงบานฉ่ำ”
ภาพหญิงสาวผู้อาภัพ ก่อนได้รับโอกาสให้เฉิดฉายและได้กลายเป็นเจ้าหญิงผู้เลอโฉมและครองสุขกับเจ้าชาย มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในหนังการ์ตูนตระกูลเจ้าหญิงของดิสนีย์ที่มีมาตั้งแต่ยุค Snow White แต่มีหนังอยู่เรื่องหนึ่งที่บทเริ่มต้นและลงท้ายที่ชวนฝันไม่ต่างกันนัก แต่ที่แตกต่างและสร้างความแปลกใจให้กับคนดูในยุคนั้นอย่างมาก ก็คือ หญิงสาวผู้กลายร่างเป็นเจ้าหญิงในชั่วข้ามคืนผู้นั้นทำอาชีพโสเภณี แถมหนังเรื่องนี้ยังอยู่ในชายคาสตูดิโออย่าง Disney เสียด้วย นั่นก็คือหนังเรื่อง Pretty Woman (1990) นั่นเอง Pretty Woman หรือ ผู้หญิงบานฉ่ำ หนังโรแมนติก-คอเมดี้ ประเดิมทศวรรษที่ 90s ที่เปลี่ยนศักราชแห่งหนังโรแมนติกอย่างสิ้นเชิง ด้วยการผสมผสานเรื่องราวชวนฝัน กับความจริงอันแสนเศร้า ทำให้หนังเรื่องนี้ กลายเป็นบิ๊กเซอร์ไพรซ์ และเป็นหมุดหมายสำคัญแห่งหนังรอมคอมยุคปัจจุบัน พร้อมกันนั้นยังแจ้งเกิดนักแสดงสาว จูเลีย โรเบิร์ตส ให้กลายเป็นดาวค้างฟ้า และมีฉายาที่คนไทยตั้งว่า “บานฉ่ำ” ที่มักจะยกคำ ๆ นี้ไปตั้งเป็นชื่อไทยในหนังหลายเรื่องที่เธอได้แสดง แต่กว่าที่หนังเรื่องนี้จะเดินทางสู่จอภาพยนตร์ให้คนยุคนั้นได้ซาบซึ้งจนกลายเป็นหนังทำงานมหาศาลนั้น กลับเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย แบบที่ไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะหนักหนาสาหัสได้ขนาดนี้ มาดูกันว่าหนังเรื่องนี้ต้องพบกับสิ่งกีดขวางอะไรบ้าง ก่อนจะกลายเป็นตำนาน   โสเภณีมูลค่าบทหนังที่แรกเริ่มไม่ได้ตลก Pretty Woman เรื่องราวของ วิเวียน วอร์ด โสเภณีริมถนน Hollywood Boulevard ที่อยู่ในเมืองแสงสีของฮอลลีวูด จนกระทั่งได้เจอกับมหาเศรษฐี เอ็ดเวิร์ด ลูอิส ที่ในตอนแรกเขาเพียงจ้างเธอหลับนอน แต่เมื่อได้พูดคุยและพบกับทัศนคติและการมองโลกของเธอ จากเพียงแค่ 1 คืน ก็กลายเป็น 1 สัปดาห์ และในช่วงเวลานั้นก็เปลี่ยนชีวิตของวิเวียนไปตลอดกาล  อ่านเรื่องย่อแบบนี้ หลายคนก็คงไม่คาดคิดว่า ก่อนหน้าที่จะเป็นหนังเรียกรอยยิ้ม บทร่างแรกจากการเขียนโดย เจ.เอฟ.ลอว์ตัน กลับมืดหม่นอนธกาลเพราะมันคือเรื่องของโสเภณีติดยา ที่ได้รับโอกาสจากหนุ่มเศรษฐี แต่เพราะเธอไม่ยอมเลิกยา ชายหนุ่มจึงทิ้งเธอไปโดยไม่เหลือเยื่อใย ทิ้งไว้เพียงเงิน 3,000 เหรียญ และความฝันที่พังทลาย โดยเบื้องหลังบทนี้มาจากการที่เขานั่งเขียนในร้านโดนัทย่าน Hollywood Boulevard และมองออกไปนอกร้านเห็นเหล่าสาวขายบริการกำลังโบกรถเพื่อหาลูกค้า ในค่ำคืนเหงา ๆ เขาจึงเขียนบทนี้ในชื่อเรื่องตอนต้นว่า “3,000”  เจ.เอฟ.เอาบทไปปรึกษาโปรดิวเซอร์ แกรี ดับเบิลยู โกล์ดสไตน์ ที่เคยร่วมงานด้วยกัน แกรีสนใจในบทดาร์กดรามาเรื่องนี้มาก เขาจึงพยายามที่จะไปเร่ขายกับสตูดิโอต่าง ๆ จนได้ทำกับค่ายหนัง Vestron Pictues ค่ายหนังเกรดบีที่มีหนังที่คนรู้จักโด่งดังเพียงเรื่องเดียวนั่นก็คือ Dirty Dancing (1987) แต่สุดท้ายโปรเจกต์ก็ถูกพับไปเนื่องจากค่ายหนังล้มละลาย แกรีจึงตระเวนไปอีกหลายสตูดิโอ จนกระทั่งมาลงเอยที่ Touchstone Pictures บริษัทลูกของ Disney Studio ซึ่งเป็นที่ ๆเดียวที่พวกเขาไม่คิดที่จะไป เพราะทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับอาชีพขายตัว หรือในบทหนังที่ตอนสุดท้ายได้อ้างอิงถึงดิสนีย์แลนด์ สถานที่แห่งความฝันที่โสเภณีอย่างวิเวียนอยากจะไปสักครั้งนั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง แต่ Disney ในยุคนั้น ที่บริหารโดย เจฟฟรีย์ แคทเซ็นเบิร์ก กลับเปิดกว้างกว่าที่คิด เขาขอเพียง 3 อย่างในการแก้ไขบทหนังเรื่องนี้ 1). ปรับบทให้เครียดน้อยลง 2). ช่วยเปลี่ยนตอนจบให้ห่างไกลดิสนีย์แลนด์หน่อย และ 3) เปลี่ยนชื่อหนัง 3,000 ที่ฟังดูเหมือนหนังอวกาศ ซึ่งในระหว่างประชุมนั้น เจฟฟรีย์ได้ชวนผู้กำกับอย่าง แกรี มาร์แชล มาร่วมประชุมด้วย เขาเสนอไอเดียหลายอย่างให้กับหนังเรื่องนี้ จนเจฟฟรีย์ถาม “ทำไมคุณไม่ลองกำกับหนังเรื่องนี้ดูล่ะ ?” ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะดีใจลิงโลดแล้วที่ได้รับโอกาส แต่กับแกรี แม้เขาจะผ่านการกำกับมามากมายตั้งแต่ยุค 60s แต่มันก็คือซีรีส์ซิตคอมที่ฉายทางทีวีเท่านั้น ประสบการณ์ในการทำหนังโรงของเขากลับมีแค่ศูนย์ เขาจึงลังเลที่จะทำมัน เพราะการกำกับหนังรอมคอมในวัย 55 ปี อาจจะเฉิ่มเชยเกินไป แต่สุดท้ายเขาก็ยอมรับทำ เพราะไอเดียที่เขาเสนอนั้นเข้าท่าและน่าจะทำให้หนังเรื่องนี้มีด้านสดใสและสว่างกว่าที่คิด   เปิดตัวนางเอกคนใหม่ จูเลีย โรเบิร์ตส “ช่วยตอบตกลงเถอะค่ะ” ในตอนนี้คอหนังคงไม่มีใครไม่รู้จัก จูเลีย โรเบิร์ตส แต่ถ้าย้อนกลับไปในช่วงปี 1988-1989 คนดูหนังรวมไปถึงผู้สร้างคงได้แต่เกาหัวมึนงงว่าจูเลียคือใคร เพราะในตอนนั้น จูเลีย โรเบิร์ตส ยังใหม่ในวงการภาพยนตร์ แต่ผู้เขียนบทและผู้สร้างได้เห็นการแสดงที่เต็มเปี่ยมด้วยชีวิตชีวาของเธอในหนัง Mystic Pizza (1988) แล้วคิดว่าเธอเหมาะกับบทวิเวียน หากแต่สตูดิโอกลับรู้สึกว่าเธอยังมีเสน่ห์ไม่พอ เม็ก ไรอัน, มิเชล ไฟเฟอร์ ไปจนถึง เดมี มัวร์  คือชอยส์แรก ๆ ที่สตูดิโอต่างเลือก แต่ในตอนนั้นบทหนังร่างใหม่ยังไม่สมบูรณ์ พวกเธออ่านเวอร์ชันเก่าที่ดาร์กต่างก็บอกปัดบทบาทนี้ไป เพราะแรงเกินจะรับไหว จนสุดท้าย จูเลีย ก็ได้รับบทนั้นเพราะเธอเข้าใจในบทบาทของวิเวียนดี แม้บทที่เธออ่านจะดาร์กขนาดไหนก็ตาม  แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่กลับไม่ใช่นางเอก แต่เป็นพระเอกที่ไม่รู้จะหาเคมีที่ลงตัวกับดาราหน้าใหม่ในยุคนั้นอย่าง จูเลีย ได้อย่างไร ริชาร์ด เกียร์คือตัวเลือกแรก ๆ ในการมารับบทเอ็ดเวิร์ด แต่เขากลับเลือกปฏิเสธไปตั้งแต่แรก ทีมงานจึงทำการควานหากันใหม่ โดยรายชื่อมากมายทั้ง คริสโตเฟอร์ รีฟ, ไมเคิล ดักลาส, แดเนียล เดย์ ลูอิส, อัล ปาชิโน ไปจนถึง เดนเซล วอชิงตัน ก็อยู่ในตัวเลือก แต่ทุกคนก็รู้สึกว่าวัยจะเกินบทเอ็ดเวิร์ดทั้งนั้น สุดท้ายทีมผู้สร้างรวมไปถึงจูเลีย ก็บุกไปยังบ้านของริชาร์ด เกียร์อีกรอบ เพื่อขอร้องให้เขารับบทนี้ ในขณะที่ผู้กำกับรอด้วยใจจดจ่อ แต่ริชาร์ด เกียร์ ก็ยังลังเลในตัวนางเอกใหม่ว่าเคมีจะตรงกับเขาหรือไม่ จนจูเลีย โรเบิร์ตขอคุยกับริชาร์ดเป็นการส่วนตัว เธอยื่นโพสต์อิทให้เขาระหว่างที่ผู้กำกับโทรหาเขาว่า ในโพสต์อิทเขียนว่า “ช่วยตอบตกลงเถอะค่ะ” สุดท้ายริชาร์ดก็ยอมใจอ่อนและรับเล่นในที่สุด    หนังมุกชนมุกแบบนี้ จะไปรอดจริงหรือ พอบทหนังที่ลดความดาร์กได้สำเร็จเสร็จสิ้นโดยที่ยังไม่รู้ว่าหนังเรื่องนี้ชื่อเรื่องอะไร ทีมงานถ่ายทำก็ดำเนินการถ่าย แม้ทีมงานจะเกร็ง ๆ เพราะผู้กำกับรุ่นพ่ออย่างแกรีนั้นใหม่ทั้งการทำหนัง และอายุมากเกินกว่าจะทำหนังรักวัยรุ่นได้ แต่สิ่งที่แกรีทำกลับสร้างความแปลกใจให้กับกองถ่ายอย่างมาก เพราะเขาเลือกที่จะถ่ายแต่ซีนตลกก่อน ด้วยเพราะประสบการณ์ในการทำซิตคอมของเขานั้น ทำให้เขาช่ำชองกับการต่อมุก ซึ่งข้อดีก็คือทำให้ช่วยละลายพฤติกรรมของเหล่านักแสดงได้ดี โดยเฉพาะริชาร์ด เกียร์ ที่แม้จะผ่านหนังมาหลายเรื่อง แต่กับการเข้าพระเข้านางกับ จูเลีย โรเบิร์ตส กลับทำให้เขารู้สึกประหม่าอย่างบอกไม่ถูก ซึ่งตรงกันข้ามกับ จูเลีย ในวัย 21 ปี ดูเธอจะโดดเด่นและเป็นธรรมชาติอย่างมาก ไม่ว่าจะในตอนที่เธอต้องแต่งชุดรัดรูปที่ชวนเย้ายวนใจในตอนที่เธอเป็นโสเภณีข้างถนน หรือตอนเป็นหญิงผู้สูงศักดิ์ที่ต้องอยู่ในสังคมชนชั้นสูง จูเลีย กลับทำหน้าที่ทั้งสองทางได้เป็นอย่างดี แต่ข้อเสียในการถ่ายแต่มุกตลกนั้น ทีมงานต่างพากันกลัวว่า “หนังมันจะไปรอดไหม” (อย่าลืมว่าบทตั้งต้นของหนังเรื่องนี้คือหนังดรามาสุดดาร์ก) จนผู้บริหารของดิสนีย์ต้องขอพักกองเมื่อหนังถ่ายทำไปได้ครึ่งทาง เพื่อขอดูฟุตเตจหนังที่ถ่ายมาบางส่วน แต่เมื่อได้ดูมุกตลกอันเฉียบคม แล้ว ผู้บริหารก็ไฟเขียวให้ทำต่อแบบไม่เป็นกังวลใด ๆ  จนเมื่อหนังเข้าสู่กระบวนการตัดต่อ มุกตลกที่กอง ๆ แบบจับต้นชนปลายไม่ได้ แต่เมื่อเรียงร้อยจนเสร็จสมบูรณ์กลับเฉิดฉายทั้งความฮาและความรักที่อวบอวลทั้งเรื่องอย่างน่าประหลาดใจ โดยเปลี่ยนชื่อหนังเป็น Pretty Woman จากชื่อเพลง "Oh, Pretty Woman" ของ รอย ออร์บิสัน   มาตรฐานใหม่แห่งหนังรอมคอม หากจะพูดถึงคำว่า “โรแมนติก-คอเมดี” ในยุคนั้นอาจจะมีน้อยเรื่องที่ทำรายได้ดี จะมีก็เพียงหนัง When Harry Met Sally (1989) เท่านั้นที่เข้าข่าย แต่เมื่อหนัง Pretty Woman ออกฉายกลับสร้างปรากฏการณ์บิ๊กเซอร์ไพรซ์ในระดับที่เกินคาด โดยการอยู่ในตารางหนังทำเงิน Top 10 ถึง 16 สัปดาห์ และทำรายได้ทั่วโลกไปถึง 463 ล้านเหรียญฯ แจ้งเกิดนักแสดงโนเนมอย่าง จูเลีย โรเบิร์ตส ให้เฉิดฉายในเวทีประกาศรางวัล ไม่ว่าจะเป็นการเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขานักแสดงนำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม และ กลายเป็นซูเปอร์สตาร์หญิงที่ค่าตัวสูงลิบลิ่วในเวลาต่อมา ด้วยรอยยิ้มของเธอที่เปี่ยมไปด้วยความสุขและความจริงใจ รวมไปถึงการวางตัวที่ดีเสมอมา ทำให้เธอได้รับโอกาสมากมายที่ผู้สร้างหนังมักคิดถึงเธอเสมอยามต้องการนักแสดงสาวสักคนที่เหมาะสมกับบทบาทการแสดง แม้หนัง Pretty Woman จะพาเธอไปไกลได้เพียงแค่ผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ แต่ในอีก 11 ปีต่อมา ในที่สุดเธอก็คว้ารางวัลนี้ไปครองได้สำเร็จ จากหนัง Erin Brockovich (อีริน บรอคโควิช: ยอมหักไม่ยอมงอ, 2011)  ส่วนริชาร์ด เกียร์ ก็ตอกย้ำสถานะของพระเอกสุภาพบุรุษสุดหล่อไปได้อีกหลายปีเช่นกัน ทั้ง 3 คน ได้แก่ จูเลีย โรเบิร์ตส, ริชาร์ด เกียร์ และผู้กำกับแกรี มาร์แชล โคจรกลับมาพบกันอีกครั้งในอีก 9 ปีต่อมา แม้ไม่ใช่หนังภาคต่อของผู้หญิงบานฉ่ำ แต่ Runaway Bride (สาวกลัวฝน อลวนทุกวิวาห์, 1999) แต่ก็ยังเรียกรอยยิ้มและความสดใสของนักแสดงนำทั้ง 2 ได้อย่างดี  เพดานของหนังรอมคอม ถูกผลักให้กว้างมากขึ้น จากแนวหนังที่ผู้สร้างคิดว่ามีแต่ผู้หญิงดู กลับกลายเป็นหนังที่คู่รักจูงมือกันไปดู จนกลายเป็นอีกหนึ่งแนวที่ผู้สร้างมักหยิบมาทำ โดยส่วนใหญ่ก็อ้างอิงจากสูจรสำเร็จของหนังเรื่อง Pretty Woman อยู่เสมอ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Pretty Woman ไม่ใช่เพียงแค่หนังที่สร้างปรากฏการณ์ของหนังรักเรียกรอยยิ้มเท่านั้น แต่ยังเป็นหนังที่มีความกล้าหาญ ไม่ว่าจะเป็นการเสนออีกหนึ่งมุมมองของอาชีพโสเภณีข้างถนนที่หลายคนดูแคลนให้รับรู้ถึงชีวิตจิตใจของเธอ และไม่ว่าตัวละครอย่าง วิเวียน วอร์ด ในหนัง หรือ จูเลีย โรเบิร์ตส ในชีวิตจริง การได้รับโอกาสอันแสนวิเศษและใช้โอกาสนี้ลงมือทำอย่างเต็มที่ ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จก็จะตามมาอย่างงดงามเช่นกัน