ปรีดิ์ หวังเจริญ : ผู้ส่งมอบความสุขด้วยความเข้าใจในนาม ShobShop

ปรีดิ์ หวังเจริญ : ผู้ส่งมอบความสุขด้วยความเข้าใจในนาม ShobShop
“ทุกคนชอบพูดว่าเข้าใจลูกค้าดี บางคนชอบคิดไปก่อนว่าลูกค้าต้องการอะไร แต่จะมีใครที่เคยเดินเข้าไปคุยกับเขาจริง ๆ ไหมว่าพวกเขาต้องการอะไร” นี่ไม่ใช่คลาสสอนทำธุรกิจ แต่มาจากประสบการณ์จริงของ ปรีดิ์ หวังเจริญ CEO และผู้ก่อตั้งแห่ง ShobShop แพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง “รับหิ้ว” ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่มียอดออเดอร์มากกว่าเดือนละ 50,000 ครั้ง และมีผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดียมากกว่า 4.8 ล้านคน จากครั้งแรกที่เขาโพสต์รูปโปรโมชันเด็ด ๆ ของสินค้าขึ้นไปบนพื้นที่ออนไลน์ และมีคน inbox เข้ามาถามว่า “รับหิ้วสินค้าไหมคะ” นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เขาได้ทดลองทำในสิ่งที่จะทำให้รู้จักกับลูกค้าของเขาได้ดี ด้วยการเดินทางออกไปยังร้านค้า ลองเฟ้นหาดีลดี ๆ ของสินค้าในกระแส และถ่ายรูปไปให้คนที่ฝากซื้อดู โดยแต่ละครั้งก็ใช้เวลาอยู่ในร้านค้ากว่า 3 ชั่วโมง และจัดส่งสินค้าให้ถึงปลายทาง ทำงานแบบ “end-to-end” และนั่นเองคือจุดกำเนิดของ ShobShop จากกระแสปากต่อปาก พัฒนากลายเป็นธุรกิจแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ปรีดิ์ หวังเจริญ : ผู้ส่งมอบความสุขด้วยความเข้าใจในนาม ShobShop ปรีดิ์ จบปริญญาโทมหาวิทยาลัยคาร์เนกี-เมลลอน สหรัฐฯ สาขา Mechanical Engineering และก่อนที่จะเริ่มงานที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ในส่วนงานของ “โมบายแอปพลิเคชัน” ด้วยความสนใจในด้านบริหารธุรกิจ ทำให้สามารถนำศาสตร์ด้านธุรกิจและการพัฒนาระบบมาใช้ร่วมกันได้ และงานแรกที่เขาทำสะท้อนตัวตนในการ “สร้างความสุข จากความเข้าใจในกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงด้วยเทคโนโลยี” “Autistic Application” คือแอปพลิเคชันเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็ก ที่ปรีดิ์พยายามทำความเข้าใจกับกลุ่มออทิสติกอย่างแท้จริง ทั้งการเข้าไปคุยกับจิตแพทย์ กลุ่มผู้ปกครองของเด็กออทิสติก และนักวิชาการก่อนที่จะพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันดังกล่าว จุดนั้นเองเขาค้นพบว่าเทคโนโลยีสามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ และทำให้ชีวิตของคนเราดีขึ้นได้อย่างไร โดยใช้สมาร์ทโฟนเป็นสื่อกลาง ปรีดิ์บอกว่า “ในยุคนี้ทุกคนมีสมาร์ทโฟนแบบพกพา ทำให้เราเข้าถึงความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้ง่ายขึ้น ทำให้การเรียนรู้สามารถทำได้ทุกวันโดยทำร่วมกับพ่อแม่ได้ครับ” ก้าวต่อมาของเขากับการทำ ShobShop จึงเหมือนการต่อยอดจากบทเรียนแรกในการ “ส่งมอบความสุข” ปรีดิ์เล่าให้ฟังว่า “มันมีเคสที่ผมประทับใจคือเป็นผู้ใช้จากพิษณุโลก เขาต้องการรองเท้าคู่หนึ่งจากที่กรุงเทพฯ มาก ซึ่งถ้าหากเขาอยากจะได้จะต้องเดินทางไปซื้อที่เมืองใหญ่ ๆ อย่างเชียงใหม่ ที่ต้องเดินทางกว่า 3 ชั่วโมง เพราะในพิษณุโลกไม่มีจำหน่าย แต่เราสามารถรับหิ้วและจัดส่งให้เขา นี่เลยเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งความสุขไปถึงผู้รับได้” การสร้างประสบการณ์ การสร้างความสุข และการทำความเข้าใจความต้องการลูกค้าเพื่อพัฒนาอยู่เสมอ คือหัวใจของ ShobShop ความพิเศษของแพลตฟอร์มดังกล่าวคือการบอกเล่า (Storytelling) ถึงสินค้าชิ้นนั้นว่ามีความพิเศษอย่างไร เหมาะกับลูกค้าหรือโอกาสแบบไหน ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นจะยิ่งเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าดังกล่าว ลูกค้าของกลุ่มมีตั้งแต่คนต่างจังหวัดที่ไม่สามารถเข้าถึงสินค้านั้น ๆ ได้ หรือลูกค้าในกรุงเทพฯ เองที่ชีวิตประจำวันและการเดินทางทำให้ไม่สะดวกในการเดินทางเพื่อไปซื้อสินค้าชิ้นนั้นได้ โดยมี “คนรับหิ้ว” เป็นตัวกลางในแพลตฟอร์ม ShobShop ปรีดิ์ หวังเจริญ : ผู้ส่งมอบความสุขด้วยความเข้าใจในนาม ShobShop เริ่มจากวันหนึ่งที่มีคนใช้งาน 7-8 คน พอขยายมาเป็น 50,000 ออเดอร์ต่อเดือน หน้าที่ของของแพลตฟอร์มก็คือจะทำอย่างไรให้ค่านิยมหลักในการทำงานขององค์กร ส่งต่อไปถึง “คนรับหิ้ว” ของ ShobShop โดยทุกคนจะต้องเข้ามาลงทะเบียนในระบบเพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้ปัจจุบันมีคนลงทะเบียนมากกว่าพันคน หน้าที่ของ ShobShop ก็คือการส่งต่อหัวใจหลักของการบริการลูกค้าในแบบของเรา เช่น การรีวิวสินค้าแบบจริงใจและโปร่งใสให้กับลูกค้า สินค้านั้นมีตำหนิแบบไหน ลูกค้ารับตำหนินั้นได้หรือไม่ แต่ถ้าเกิดทำผิดกระบวนการขาดความโปร่งใส “คนรับหิ้ว” ก็ต้องพร้อมรับผิดชอบในสินค้านั้น แต่ในทางกลับกันหากเกิดปัญหาจากลูกค้า แพลตฟอร์มก็ต้องเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยให้เช่นกัน ShobShop จะเป็นตัวกลางกำหนดกฎเกณฑ์ในการใช้งานและควบคุมให้เป็นไปตามระบบ โดยการวางระบบตั้งแต่การสั่งซื้อ การให้ข้อมูลสินค้า การทำธุรกรรมทางการเงิน และการจัดส่ง รวมไปถึงการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้บริการด้วย โดยทางแพลตฟอร์มจะส่งเสริมให้คนรับหิ้วสามารถสร้างฐานลูกค้าของตัวเองได้ เพราะเมื่อคนรับหิ้วมีความจริงใจกับลูกค้า ให้ข้อมูลสินค้าดีและพอเพียง รักในการบริการลูกค้าแล้ว การสร้างฐานลูกค้าของตนเองบนแพลตฟอร์มก็ไม่ยากอีก ซึ่งปัจจุบันหลายคนก็ทำงานเป็นคนรับหิ้วแบบเต็มเวลา ในช่วงเกิดวิกฤติ COVID-19 พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เดินทางออกไปซื้อของที่ห้างน้อยลง ซึ่งกระทบกับร้านค้า ในส่วนนี้ ปรีดิ์เล่าว่า ShobShop เป็นเสมือนตัวกลางที่ทำให้ธุรกิจยังพอเดินไปได้ ร้านค้ายังขายสินค้าได้ คนรับหิ้วก็ยังมีงานมีรายได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนไทย และปรีดิ์ยังมองไปยังอนาคตในธุรกิจส่งความสุขนี้ว่า จะมีแผนขยายในการรับหิ้วในภูมิภาคอื่น ๆ มากขึ้นนอกจากสินค้าในกรุงเทพฯ เช่น ตาม Outlet ใหญ่ ๆ ต่างจังหวัด ก็เป็นแหล่งที่มีสินค้าดีมีคุณภาพเช่นกัน และส่วนต่อมาก็คือกลุ่มคนกรุงเทพฯ ที่ต้องการสินค้าประเภทพรีออเดอร์ หรือ สินค้าจาก duty free ทาง ShobShop เองก็มีแผนที่จะขยายความร่วมมือและโอกาสทางธุรกิจในส่วนนี้เช่นเดียวกัน รวมไปถึงขยายความสัมพันธ์กับผู้ผลิต เพื่อให้ผู้บริโภคได้สินค้าราคาที่คุ้มค่าและขายสินค้าได้โดยตรงไม่ต้องรอจัดงานเซลส์ โดยกระจายผ่านแพลตฟอร์มของ ShobShop และอีกยุทธศาสตร์ก็คือการขาย Voucher และคูปอง จะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ครบทั้ง 360 องศา เมื่อถามว่าคนรุ่นใหม่อย่างเขาอยากจะพาองค์กรไปต่อในทิศทางไหน ผู้ก่อตั้ง ShobShop มองว่าในช่วงนี้เป็นช่วงการขยายทีม “เราจะสร้างวัฒนธรรมขององค์กรคือ เราต้องสร้างคนที่พร้อมจะเข้าใจลูกค้า เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เรากำลังมองหาคนที่มีแพสชั่นที่อยากจะทำให้สิ่งดี ๆ เกิดขึ้นขึ้นจริงได้ เราพร้อมจะสนับสนุน (Empowerment) ให้เขาไปข้างหน้า และที่สำคัญต้องมีความรับผิดชอบ” “ตอนนี้เราก็เปิดรับคนที่พร้อมเปิดรับและอยากจะร่วมทีมเพื่อสร้างสิ่งใหม่ ๆ ด้วยกัน สำหรับใครที่สนใจก็สามารถส่ง CV มาได้ที่อีเมล [email protected] ครับ” ปรีดิ์ หวังเจริญ : ผู้ส่งมอบความสุขด้วยความเข้าใจในนาม ShobShop ปรีดิ์ทิ้งท้ายว่าการทำสิ่งที่ทุกคนคิดว่าง่ายนั้นยากที่สุด เพราะสิ่งสำคัญคือเราต้องทำความเข้าใจอย่างแท้จริงว่าผู้บริโภคต้องเจอกับปัญหาอะไร ระบบของเราจะทำงานอย่างไรเพื่อแก้ปัญหานั้น แล้วดีไซน์ให้ออกมาดูเข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายที่สุด นี่คือหัวใจหลักในการทำงานของ CEO หนุ่มผู้ส่งมอบความสุขจากความเข้าใจอย่างแท้จริง