พริกขี้หนูกับหมูแฮม: ฟุตโน้ตยุคปลาย 80s ต้นแบบแห่งการ ‘โยกย้าย’ ผู้มาก่อนกาล

พริกขี้หนูกับหมูแฮม: ฟุตโน้ตยุคปลาย 80s ต้นแบบแห่งการ ‘โยกย้าย’ ผู้มาก่อนกาล
“จอนคะ กว่าคุณจะได้ยินเสียงฉัน ตอนนั้นฉันก็คงไปอยู่นิวยอร์กแล้ว ... อีกครั้งแล้วสินะ ที่ฉันต้องโยกย้าย” วงการภาพยนตร์ไทยในช่วงปี 2531 อยู่ในช่วงกำลังขาขึ้นจากการมาของหนัง บุญชูผู้น่ารัก (2531) ที่สะท้อนภาพของเด็กหนุ่มใสซื่อจากต่างจังหวัดที่มาเผชิญโชคในเมืองใหญ่ จนสามารถทำเงินสูงสุดของประเทศ แต่ในปีเดียวกันนี้ ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ สตูดิโอหนังไทยสุดเก๋ในยุคนั้นก็ทำหนังสะท้อนภาพของคนเมืองใหญ่ในรูปแบบที่แตกต่างถึง 2 เรื่อง นั่นคือ ฉลุย (2531) คู่หูผู้ตามหาฝันในวงการบันเทิง และอีกเรื่องคือหนังที่กล้าฉีกขนบของหนังไทยในสมัยนั้น นั่นก็คือ รักแรกอุ้ม (2531) ที่เล่าถึงคู่รักที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกันในวันที่มีเจ้าตัวน้อยมาคั่นกลางชีวิตที่หน้าที่การงานกำลังไปได้สวย หนังกล้าที่จะนำพระเอก-นางเอกหน้าใหม่ที่ไม่ใช่พิมพ์นิยมในยุคนั้นมาแสดงนำ แถมนางเอกป้ายแดงที่เพิ่งเล่นหนังเรื่องแรกยังต้องรับบทคนอุ้มท้องและแม่ไปอีก แม้สุดท้ายหนังจะล้ำเกินไปจนกลายเป็นความล้มเหลว แต่ก็แจ้งเกิดทั้งนักแสดง และผู้กำกับในฐานะผู้สร้างหนังที่สร้างสีสันและความแปลกใหม่ให้กับวงการหนังได้เป็นอย่างดี ในปีต่อมา เรื่องราวของคนต่างจังหวัดที่มาแสวงโชคในเมืองใหญ่ ยังเป็นประเด็นในการเล่าของหนังไทยอยู่ โดยทัพหน้ายังเป็น บุญชู 2 น้องใหม่ (2532) ที่ยังคงยึดโยงประเด็นการเผชิญโชคของคนต่างจังหวัดอยู่เช่นเคย และหนังก็ทำเงินเช่นเคย แถมยังมีหนังอย่าง บ้านผีปอบ (2532) จุดกำเนิดความคัลต์ที่เล่าถึงกลุ่มนักเรียนแพทย์ที่มารักษาชาวบ้านและต้องเผชิญหน้ากับความเชื่อเรื่องของผีปอบในตำนาน แต่ยังมีหนังอีกเรื่องที่ชูประเด็นไปไกลกว่าและกว้างกว่า นั่นคือเรื่องของกลุ่มคนที่ออกไปเผชิญโชคสู่โลกกว้างที่ไกลจากเมืองไทย ไปถึงเมืองนอกเมืองนาเลยทีเดียว และผู้สร้างและกลุ่มนักแสดงก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือกลุ่มคนทำหนังหัวก้าวหน้า (ในยุคนั้น) ที่ยกทีมจากหนังรักแรกอุ้มของปีที่แล้ว กับหนังที่ชื่อ พริกขี้หนูกับหมูแฮม นั่นเอง สำหรับหนังที่ถ่ายทำนอกประเทศ ส่วนใหญ่ในสมัยนั้น มักเป็นหนังชีวิตหรือหนังโรแมนติกชวนเพ้อฝัน ในยุคที่น้อยคนนักจะสามารถตีตั๋วขึ้นเครื่องบินไปสัมผัสวิวทิวทัศน์อันแปลกตา ทั้งความจำกัดเรื่องภาษาและเงินทุน หนังที่ใช้โลเคชันจากต่างประเทศส่วนใหญ่จึงเป็นได้เพียงหนังพลอตอ่อน ๆ ที่เล่าความสัมพันธ์แบบพ่อแง่แม่งอนของพระ-นาง แต่ถมด้วยทัศนียภาพอันชวนแปลกตาของต่างประเทศมากกว่าเพื่อเซอร์วิสคนไทยในยุคกำลังพัฒนาให้ได้ฟินไปกับบ้านเมืองที่แปลกตาที่ไม่รู้ว่าชาตินี้จะได้ไปกับเขาหรือเปล่าเพียงเท่านั้น โดยผู้สร้างที่ชอบทำหนังแนวนี้ก็จะมีอย่าง พรพจน์-รัชนีวรรณ (ชมพู่แก้มแหม่ม (2529) / เลดี้ฝรั่งดอง (2527) / แรงเทียน (2531)) กับท่านทิพย์ หม่อมเจ้าทิพยฉัตร ฉัตรชัย (ด้วยรักและผูกพัน (2529) / จงรัก (2531)) หรือไม่ก็เล่าเรื่องสุดรันทดไปเลยอย่าง ทรนง ศรีเชื้อ ที่ทำกลกามแห่งความรัก (2532) ที่เล่าเรื่องของหญิงสาวที่ไปขายตัวที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ พริกขี้หนูกับหมูแฮม กลับเป็นหนังไทยที่เล่าเรื่องของกลุ่มคนไทยในเมืองนอก ที่มีทั้งลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และคนที่ท้อใจกับการทำงานแบบไม่เห็นอนาคตในไทยจึงเลือกมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ต่างประเทศ หนังเล่าเรื่องของ พิม หญิงสาวที่ผ่านการทำงานมาแล้ว 8 แห่ง ทุกที่ล้วนลงเอยด้วยการไม่ประสบความสำเร็จทั้งสิ้น จนเธอตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวไม่ฟังคำทัดทานจากพ่อแม่เพื่อตัดสินใจมาอยู่กับแฟนหนุ่มที่ซานฟรานซิสโก แต่เรื่องราวก็พลิกผันเมื่อห้องที่แฟนหนุ่มมอบกุญแจให้ในตอนนั้นกลับมีหนุ่มคนไทยที่ชื่อว่า จอน อาศัยอยู่แทน จะย้ายไปที่อื่นก็สายไปแล้ว เพราะเธอโดนล้วงกระเป๋าตั้งแต่วันแรก จึงจำต้องอยู่อย่างเสียมิได้ จอนคือโรบินฮูดที่อยู่อเมริกาอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ เขามีความหวังจะเก็บเงินสักก้อนเพื่อแต่งงานและใช้ชีวิตครอบครัวกับคนที่รัก แต่น่าเสียดายที่ทั้งสองต่างอับโชคเรื่องความรักทั้งคู่ จนนำไปสู่ความผูกพันฉันเพื่อนที่สะท้อนภาพความเปลี่ยวเหงาของคนห่างบ้านได้โรแมนติกที่สุด แม้หนังจะเล่าผ่านขนบของรอมคอม (Romantic Comedy) ที่เบาบางในการสะท้อนปัญหาของคนไทยในต่างแดน แต่บรรยากาศรายล้อมที่ดูผ่านกรอบสังคมเมื่อ 32 ปีที่แล้วได้อย่างดีผ่านคาแรกเตอร์ตัวละครไม่ว่าจะเป็น พิม ที่สะท้อนภาพของคน Gen X ชนชั้นกลางที่ฐานะทางบ้านพอมีอันจะกิน เธอเป็นตัวแทนของหญิงสาวที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ผ่านการเปลี่ยนที่ทำงานถึง 8 ครั้ง ซึ่งพิมคือตัวแทนของ Yuppie (Young Urban Professional) สาวหัวก้าวหน้าที่ใช้ชีวิตมั่นคงมาโดยตลอด เธอมีพ่อแม่ที่คอยโอ๋ มีญาติจากต่างเมืองที่คอยอุปถัมภ์ค้ำชู แม้จะมีความขบถเพราะต้องการพิสูจน์ตัวเอง แต่ในความจริงแล้วเธอเองก็ยังไม่รู้ตัวตนอยู่ดีว่าสรุปแล้วเป้าหมายชีวิตของเธอนั้นแท้จริงคืออะไร ที่ย้ายมาก็เพียงหาที่พักใจให้ห่างจากพ่อแม่ที่พร่ำบ่นเพียงเท่านั้น แม้จะมีความสามารถในการเขียนผ้าบาติกลงบนเสื้อ แต่ในหนังก็เห็นว่าเธอทำเพียงแค่วูบวาบเท่านั้น ตรงกันข้ามกับ จอน ชายหนุ่มที่เกือบจะมีชีวิตไม่ต่างกับพิมในตอนต้น พ่อของจอนส่งเขามาเรียนไฮสกูลก่อนจะประสบปัญหาล้มละลายในตอนหลัง จนสุดท้ายเขาอยู่ในสภาวะกลับไม่ได้ไปไม่ถึง เขากลายเป็นโรบินฮูดที่มีชีวิตอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ รับจ้างทำงานแรงงานแลกเงินโดยมีความใฝ่ฝันที่จะซื้อที่เล็ก ๆ เพื่อทำปั๊มน้ำมัน จอนคือคนสู้ชีวิตที่ต้องเผชิญหน้ากับสภาพสังคมอันโหดร้าย จนสุดท้ายสังคมที่เขาอยู่ที่รายล้อมด้วยความอันตรายกลับหลอมรวมให้เขาต้องอยู่กับมันอย่างแข็งขืนและต้องผ่านมันไปให้ได้ อีกหนึ่งคาแรกเตอร์ที่น่าสนใจและสะท้อนภาพของคนไทยในต่างแดนได้อย่างดี คือคาแรกเตอร์ เจ้ผอูน หญิงสาวบ้านนาสู้ชีวิตที่พบรักกับทหารจีไอ ก่อนจะย้ายถิ่นฐานตามสามีมายังอเมริกา ต้องเผชิญหน้ากับการดูถูกดูแคลนว่าเป็นเมียเช่า เป็นสาวขายตัว จนสุดท้ายคนรักได้จากไป เธอจึงต้องยืนด้วยลำแข้งจนสุดท้ายก็ได้เปิดร้านอาหารไทยในต่างแดน เจ้ผอูนคือภาพจำของคนในยุคก่อนที่มักจะมองว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาอยู่ต่างประเทศ ไม่ขายตัวก็หวังแค่มาตกทองหวังหาฝรั่งรวย ๆ ซึ่งกาลเวลาผ่านไป มุมมองนี้ก็ยังเป็นมุมมองที่กดทับทั้งศักดิ์ศรีและความเชื่อที่ผิด ๆ อยู่ดี แม้หนัง พริกขี้หนูกับหมูแฮม จะเป็นหนังรอมคอมที่พยายามจะฉีกแนวหนังไทย แต่สุดท้ายภาพลักษณ์ของมันก็ไม่พ้นความโรแมนติกชวนฝันที่เล่าเรื่องในมุมมองที่อาจจะสะท้อนความจริงเพียงผิวเผิน กระทั่งเมื่อหนังออกฉาย หนังก็สามารถแจ้งเกิดนักแสดงคู่ขวัญอย่าง จันจิรา จูแจ้ง และขจรศักดิ์ รัตนนิสัย ให้กลายเป็นหนึ่งในทางเลือกของนักแสดงในยุคที่คู่ขวัญมีเพียง สันติสุข-จินตหรา จนมีผลงานสร้างชื่อมากมายในภายหลัง และผู้กำกับอย่าง คิง ที่พิสูจน์ตัวตนในฐานะผู้กำกับที่มีชื่อเสียงได้ในหนังเรื่องที่ 3 กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ (2534) ที่ทำรายได้สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในยุคนั้น รวมไปถึงเพลง เติมใจให้กัน เพลงที่ ศุ บุญเลี้ยง บรรจงจรดเนื้อเพลงจนกลายเป็นบทเพลงอมตะเหนือกาลเวลา และในปี 2538 มีการรีเมกทำเป็นละครอีกครั้งโดยได้ ก้อง-สหรัถ และ หมิว-ลลิตา มารับบทนำ และหนังก็เลือนหายไปจากความทรงจำ จนกระทั่ง Polycat นำฟุตเตจของหนังที่สะท้อนภาพของไลฟ์สไตล์ในยุคปลายทศวรรษ 1980s ผ่านบทเพลง  ‘เพื่อนไม่จริง’, ‘เวลาเธอยิ้ม’ และเพลง ‘พบกันใหม่?’ ที่ใช้เปิดตัวในอัลบั้ม 80 Kisses โดยสะท้อนเพียงภาพโรแมนติกของตัวเอก ที่คำว่าเพื่อนกั้นขวางโดยไม่อาจจะเกินเลยกรอบเฟรนด์โซนไปได้ แต่ถึงกระนั้น วลีในหนังที่ใส่ใน MV ‘พบกันใหม่?’ ว่า “จอนคะ กว่าคุณจะได้ยินเสียงฉัน ตอนนั้นฉันก็คงไปอยู่นิวยอร์กแล้ว ... อีกครั้งแล้วสินะ ที่ฉันต้องโยกย้าย” ก็กลายเป็นวรรคทองที่โลกโซเชียลฯ พูดถึงกันอย่างแพร่หลาย และคำว่า ‘โยกย้าย’ ก็กลายเป็นคำยอดฮิตที่ชวนให้นึกถึง Group Facebook กลุ่มหนึ่งที่เริ่มอดรนทนไม่ไหวกับการบริหารประเทศของรัฐบาลจนโควิด-19 กลับมาระบาดอีกระลอกใหญ่ จนเป็นสาเหตุให้หลายคนเริ่มอยากโยกย้ายออกไปจากประเทศนี้ โดยในกลุ่ม มีคนไทยในต่างแดนผู้ที่ผ่านประสบการณ์หลากหลายสาขาอาชีพ และหลากหลายประเทศได้เสนอแนะแนวทางในการใช้ชีวิตในต่างแดน จนกลายเป็นกระแสร้อนแรง หนังพริกขี้หนูกับหมูแฮม จึงถูกพูดถึงอีกครั้งในการสะท้อนภาพตัวตนของคนนอกวงโคจรที่หลุดพ้นจากกรอบข้อบังคับและไปใช้ชีวิตในต่างแดน ที่ถึงแม้บทสรุปจะลงเอยตามขนบหนังรอมคอมทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนภาพของคนผ่านภาพยนตร์ก็คือ “ไม่มีบทสรุปไหนเลยที่พวกเขาจะย้ายกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนสักคน”