เจ้าชายผู้สังหาร กษัตริย์ไฟซาล แห่งซาอุดิอาระเบีย

เจ้าชายผู้สังหาร กษัตริย์ไฟซาล แห่งซาอุดิอาระเบีย
"ริยาด ซาอุดิอาระเบีย วันที่ 25 มีนาคม (1975) กษัตริย์ไฟซาลแห่งซาอุดิอาระเบียถูกลอบปลงพระชนม์ในวันนี้โดยพระนัดดาผู้มีประวัติป่วยทางจิต" รายงานของ The New York Times  กล่าวถึงเหตุการณ์ปลงพระชนม์กษัตริย์ไฟซาล บิน อับดุลอะซีซ (Faisal bin Abulaziz) เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความตื่นตะลึงให้กับชาวซาอุดิอาระเบียเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างที่กษัตริย์ไฟซาลเปิดพระราชวังรับแขกบ้านแขกเมืองเนื่องในโอกาสฉลองวันคล้ายวันเกิดของศาสดามูฮัมหมัด และผู้ก่อเหตุยังเป็นพระนัดดาของพระองค์เองคือ เจ้าชายไฟซาล บิน มูซาอิด (Faisal bin Musaid) วัย 27 ปีนักเรียนนอกจากสหรัฐฯ  โอรสของเจ้าชายมูซาอิด บิน อับดุลอะซีซ (Musaid bin Abdulaziz) ซึ่งเป็นพระอนุชาของกษัตริย์ไฟซาล โดยแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของราชสำนักเบื้องต้นรายงานว่าพระนัดดารายนี้มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตด้วย "สำนักพระราชวังในนามของมกุฎราชกุมาร ราชวงศ์ และประเทศขอประกาศการสวรรคตของกษัตริย์ไฟซาลด้วยความเศร้าโศกและเสียใจอย่างสุดซึ้ง กษัตริย์ไฟซาลสวรรคตลงที่โรงพยาบาลริยาดด้วยบาดแผลจากการปองร้ายของเจ้าชายไฟซาล บิน มูซาอิด อับดุลอะซีซ ผู้มีอาการจิตวิปริต" ประกาศจากสำนักพระราชวังซาอุฯ ทางวิทยุระบุ รายงานกล่าวว่า ระหว่างที่กษัตริย์ไฟซาลทรงต้อนรับทักทาย เจ้าชายไฟซาลก็ชักอาวุธปืนออกมากระหน่ำยิงกษัตริย์ไฟซาลไปหลายนัด องค์กษัตริย์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที ภายหลังจึงได้มีประกาศออกมาว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยกระสุนขนาดจุด 38 ที่ยิงเข้าพระเศียรของพระองค์ในระยะเผาขนจำนวนสองนัด เหตุการณ์สลดนี้เกิดขึ้นโดยมีช่างภาพของสถานีโทรทัศน์ถ่ายภาพไว้ได้เป็นหลักฐาน เจ้าชายไฟซาลหลังก่อเหตุก็ถูกราชองครักษ์จับทุ่มลงกับพื้นและถูกตีด้วยพานท้ายปืนจนหมดสติ ก่อนที่สมาชิกราชวงศ์จะเข้ามาขวางก่อนที่เจ้าชายมือสังหารจะถูกฆ่าโดยเจ้าหน้าที่ตามไป หลังการสวรรคต เจ้าชายคาลิด บิน อับดุลอะซีซ (Khalid bin Abdulaziz) มกุฎราชกุมาร และพระอนุชาของกษัตริย์ไฟซาลได้ขึ้นครองราชย์ต่อ พิธีราชาภิเษกมีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังการสวรรคต ด้วยทางการได้เริ่มเตรียมพร้อมรับเหตุการณ์สวรรคตในบางส่วนแล้ว เนื่องจากกษัตริย์ไฟซาลมีสุขภาพไม่ค่อยดีนัก เจ้าชายไฟซาลผู้ก่อเหตุมีประวัติพัวพันยาเสพติด เคยถูกจับกุมในสหรัฐฯ ระหว่างที่ยังเรียนอยู่ในข้อหาจำหน่ายยาเสพติดซึ่งเขาให้การรับสารภาพ แต่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง (คงด้วยปัจจัยทางการทูต) คนใกล้ตัวบอกว่า เจ้าชายไฟซาลมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ เคยต้องเขารับการรักษาด้านสุขภาพจิตมาก่อน รายงานบางชิ้นอ้างว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเจ้าชายไฟซาลเคยพูดว่าอยากจะสังหารกษัตริย์ไฟซาลด้วย ด้านทางการซาอุดิอาระเบียหลังทำการสอบสวนได้ไม่กี่วันก็ออกมาให้ข่าวในทางตรงกันข้ามกับแถลงการณ์ชั้นต้น โดยชี้ว่าจากการสอบสวนถึงปัญหาสุขภาพจิตของเจ้าชายไฟซาล ผลสรุปว่าขณะก่อเหตุเขามีสภาพจิตปกติดีและมีการวางแผนมาเป็นอย่างดี จึงต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย กระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปโดยปิดลับและรวดเร็ว ในวันที่ 18 มิถุนายนปีเดียวกัน ศาลได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษประหารเจ้าชายไฟซาล โดยการประหารเกิดขึ้นภายในวันเดียวกัน เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังการประกาศโทษต่อสาธารณะ เจ้าชายไฟซาลถูกพาตัวไปยังลานประหารหน้าสำนักข้าหลวงใหญ่กรุงริยาดที่มีสักขีพยานมารอชมนับหมื่น เวลา 16 นาฬิกา 30 นาที ทันทีที่เพชฆาตใช้ดาบด้ามทองตัดคอเจ้าชายไฟซาลจนขาดด้วยดาบเดียว ฝูงชนก็โห่ร้องว่า  "พระเจ้ายิ่งใหญ่ที่สุด" (The New York Times) ในทางคดี เจ้าหน้าที่ไม่พบหลักฐานการสมรู้ร่วมคิดกับฝ่ายการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์อื่นใด เจ้าชายไฟซาลจึงน่าจะก่อเหตุเพียงลำพัง ส่วนอะไรเป็นแรงจูงใจให้เขาก่อเหตุนั้นมีการสันนิษฐานอยู่หลายข้อ แต่ที่พอมีน้ำหนักก็คือ การที่กษัตริย์ไฟซาลปฏิเสธคำขอขึ้นเงินกินเปล่ารายปีของเขาในฐานะสมาชิกราชวงศ์ และต้นปีก่อนเกิดเหตุเขายังเคยถูกปฏิเสธไม่ให้หนังสือเดินทางเพื่อป้องกันไม่ให้เขาเดินทางออกนอกประเทศโดยสาเหตุเชื่อว่ามาจากปัญหาที่เขาเคยถูกจับกุมในสหรัฐฯ บ้างก็เชื่อว่า เจ้าชายไฟซาลอาจจะลงมือเพื่อแก้แค้นให้กับพี่ชายผู้เคร่งศาสนาซึ่งผู้นำต่อต้านการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ในซาอุดิอาระเบียก่อนถูกยิงตายระหว่างเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมเมื่อหลายปีก่อน (1966)