เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ: พระราชประวัติทางการทหาร

เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ: พระราชประวัติทางการทหาร
ยุกแห่งเอดินบะระ นอกจากจะเป็นที่รู้จักในฐานะพระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และเป็นผู้อุปถัมภ์องค์กรการกุศลอีกมากมาย แต่พระราชกรณียกิจอีกด้านหนึ่งของพระองค์ที่มักไม่เป็นที่พูดถึงกันคือการทรงงานทางการทหารของพระองค์ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วพระราชประวัติของพระองค์นั้นเกี่ยวพันกับการทหารและการสงครามมาโดยตลอด ย้อนไปเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1921 เจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซและเดนมาร์กประสูติโดยมีพระบิดาคือ เจ้าชายแอนดรูว์แห่งกรีซและเดนมาร์ก และพระมารดาคือ เจ้าหญิงอลิซแห่งบัทเทินแบร์ค ในฐานะเจ้าชายแห่งราชวงศ์กลึคส์บวร์ค (House of Glücksburg) ซึ่งสืบราชสกุลมาจากราชวงศ์แห่งเดนมาร์ก, นอร์เวย์, กรีซ และตอนเหนือของเยอรมนี  พระองค์มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดา (หลาน) ของพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งกรีซ (George I of Greece) ซึ่งครองราชย์ถึง 50 ปี จนได้รับการบันทึกว่าเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของประเทศกรีซยุคใหม่ การที่เจ้าชายฟิลิปประสูติในครอบครัวนักการทหาร เนื่องด้วยพระบิดาของพระองค์รับราชการทหารและมีส่วนร่วมในสงครามตลอดรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 1 ซึ่งเป็นรัชสมัยที่ประเทศกรีซพยายามขยายเขตการปกครองจนมีการกระทบกระทั่งกับจักรวรรดิออตโตมัน แต่ทว่าเมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 1 สวรรคต การดำเนินนโยบายทางการทหารในรัชสมัยต่อมามีความเป็นกลางมากขึ้น แต่กลับเกิดความผันผวนอย่างมากกับการเมืองภายในประเทศกรีซ ประกอบกับเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ใน ค.ศ. 1922 ราชวงศ์กรีซทั้งราชวงศ์ต้องลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งในเวลานั้นเจ้าชายฟิลิปมีพระชันษาเพียง 18 เดือน เจ้าชายฟิลิปทรงลี้ภัยไปพำนักในหลายประเทศ คือ ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร จนกระทั่ง ค.ศ 1928 เมื่อพระองค์มีพระชันษาได้ 7 ปี ทรงย้ายมาพำนักกับพระอัยยิกา (ยาย) และพระมาตุลา (น้า) ซึ่งการที่ราชสกุลบัทเทินแบร์ค (Battenburg) มีที่มาจากราชวงศ์เยอรมัน ซึ่งเมื่อราชสกุลดังกล่าวย้ายและเข้ารับราชการในอังกฤษได้มีการเปลี่ยนราชสกุลเป็น เมานต์แบ็ตเทน (Montbatten) พระองค์ได้รับการอุปการะจากพระมาตุลา ดังนั้นจึงได้ทรงเปลี่ยนราชสกุลเป็นเมานต์แบ็ตเทน แต่เพียง 2 ปีจากนั้น พระมารดาของเจ้าชายฟิลิปก็ถูกวินิจฉัยว่าเป็นจิตเภทจนต้องเข้ารับการรักษาที่สวิตเซอร์แลนด์   ค.ศ. 1939 สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อุบัติขึ้น ในเวลานั้นเจ้าชายฟิลิปมีพระชันษา 18 ปี ทรงสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และทรงเริ่มเข้าศึกษาในวิทยาลัยราชนาวีแห่งบริเตน ณ เมืองดาร์ทเมาท์ (Royal Naval College, Dartmouth) ซึ่งเจ้าชายฟิลิปทรงได้รับการพูดถึงอย่างชื่นชมจากบรรดาอาจารย์ และเพื่อนนักเรียนว่าทรงเป็นเจ้าชายที่ติดดิน และมีกิริยามารยาทที่สง่างาม แต่ก็เข้มแข็งและมีมารยาทอย่างสุภาพบุรุษ  พระองค์เคยประทานสัมภาษณ์ว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะการอบรมแบบนักการทหารของพระบิดาเป็นสำคัญ ซึ่งในปีเดียวกันนี้เอง ในระหว่างทรงทำหน้าที่เป็นผู้นำเยี่ยมชมการเรียนการสอนของวิทยาลัย เจ้าชายฟิลิปได้ทรงพบรักกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ซึ่งในเวลาต่อมาก็คือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ค.ศ. 1940 - 1941 เจ้าชายฟิลิปทรงเข้ารับราชการในราชนาวีสหราชอาณาจักร โดยเริ่มประจำการในเรือรบที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ จนกระทั่งได้ทรงร่วมรบและได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญเหรียญแรกของพระองค์จากการยุทธนาวีที่แหลมมะตะปัน บริเวณคาบสมุทรเพลอนพอนเนซุส ประเทศกรีซ ในช่วง 2 ปีต่อมา คือ ค.ศ. 1943 - 1944 เจ้าชายฟิลิปได้รับพระราชทานยศเป็นเรือตรี และได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นรองผู้บัญชาการเรือรบหลวงวอลเลซ (HMS Wallace) ที่ทำหน้าที่อารักขาน่านน้ำแถบซิซิลี ประเทศอิตาลี ก่อนจะทรงย้ายมารับตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการเรือรบหลวงเวลป์ (HMS Whelp) ซึ่งเป็นกองเรือพิฆาตที่ลอยลำอยู่บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ค.ศ. 1946 เจ้าชายฟิลิปทรงกลับมาประจำการที่อังกฤษ ซึ่งในเวลานั้นพระองค์ทรงเริ่มดำเนินการเรื่องการเข้ารับการอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ในปีต่อมาพระองค์ทรงประกาศสละสิทธิ์การครองราชย์และราชสมบัติในราชวงศ์กรีซ พร้อมประกาศตนเป็นชาวอังกฤษในชื่อ เรือเอก ฟิลิป เมานต์แบ็ตเทน หลังการอภิเษกสมรส เรือเอกฟิลิปได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ดยุกแห่งเอดินบะระ, เอิร์ลแห่งเมอเรียนเนธ และบารอนแห่งกรีนิช และเข้ารับราชการที่โรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ ณ เมืองกรีนิชนั้นเอง ช่วงปี 1948 - 1950 ดยุกแห่งเอดินบะระได้รับมอบหมายให้ทรงเป็นรองผู้บัญชาการกองเรือฟริเกต บริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และมอลตา และได้รับพระราชทานยศเป็นนาวาตรี  ทว่าในปีต่อมา ทั้งดยุกแห่งเอดินบะระและเจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงถูกราชสำนักเรียกตัวกลับมาที่อังกฤษ เนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักรทรงพระประชวรหนัก และเจ้าหญิงเอลิซาเบธต้องเสด็จปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ โดยมีดยุกแห่งเอดินบะระที่ทรงได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นองคมนตรีเพื่อรับใช้ใกล้ชิด  จนกระทั่งในช่วงต้นปี ค.ศ. 1952 ณ ประเทศเคนยา ขณะที่ดยุกแห่งเอดินบะระทรงเตรียมเสด็จเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ร่วมกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จสวรรคต เจ้าหญิงเอลิซาเบธจึงทรงประกาศพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพพระองค์ใหม่ และทรงรีบเสด็จกลับสหราชอาณาจักร จากนั้นจึงเสด็จย้ายเข้าไปประทับ ณ พระราชวังบักกิงแฮมพร้อมกับดยุกแห่งเอดินบะระ ปีต่อมาแม้พระองค์จะทรงรับราชการอยู่กับราชนาวีสหราชอาณาจักรเป็นหลัก แต่ก็มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งดยุกแห่งเอดินบะระให้ทรงได้รับพระราชทานยศเป็น จอมพลเรือ จอมพลอากาศ และจอมพล แห่งกองทัพสหราชอาณาจักร  ในช่วงเวลานี้เอง ด้วยการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ทำให้เกิดมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการเปลี่ยนชื่อราชวงศ์จากราชวงศ์วินด์เซอร์ไปเป็น ราชวงศ์เมานต์แบ็ตเทน ตามราชสกุลของดยุกแห่งเอดินบะระ ทว่าราชสำนักและรัฐสภาสหราชอาณาจักรมีมติเห็นชอบที่จะให้มีการใช้ชื่อราชวงศ์เดิมต่อไป ค.ศ. 1956 ดยุกแห่งเอดินบะระทรงริเริ่มรางวัลดยุกแห่งเอดินบะระ (The Duke of Edinburgh’s Award: DofE) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่เยาวชนที่อยากพัฒนาตนเองให้เป็นเยาวชนที่ดี มีจิตสาธารณะได้เข้าร่วมโครงการ รางวัลดังกล่าวนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และในปัจจุบันมีการมอบรางวัลดังกล่าวนี้ให้แก่เยาวชนถึง 144 ประเทศ ทว่าในช่วงเวลานี้เองก็ได้เกิดกระแสซุบซิบนินทาในหนังสือพิมพ์ในประเทศอังกฤษ ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธและดยุกแห่งเอดินบะระ เนื่องด้วยดยุกแห่งเอดินบะระต้องทรงปฏิบัติภารกิจเดินทางรอบโลกกับกองราชนาวีสหราชอาณาจักร เพื่อสยบข่าวลือนี้ ราชสำนักจึงดำเนินการให้มีพระบรมราชโองการแก่พระองค์ให้ทรงเป็นเจ้าชายแห่งสหราชอาณาจักร และทรงมีฐานันดรศักดิ์เป็น เจ้าฟ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ (His Royal Highness The Prince Philip, Duke of Edinburgh) ในช่วง ค.ศ. 1961 พระองค์ทรงให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ จากความสำเร็จของโครงการรางวัลดยุกแห่งเอดินบะระ พระองค์จึงเป็นพระราชวงศ์พระองค์แรกของสหราชอาณาจักรที่ทรงกล่าวถึงการทรงงานของพระองค์ในที่สาธารณะ และจวบจนถึงวาระสุดท้ายของพระองค์ ดยุกแห่งเอดินบะระทรงให้การอุปถัมภ์องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม กิจการอุตสาหกรรม กีฬา และการศึกษากว่า 800 องค์กร กว่า 60 ปีที่ดยุกแห่งเอดินบะระทรงงานด้านการทหารและกิจการสาธารณะในฐานะพระราชสวามีในสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธ กระทั่งในปี ค.ศ. 2017 ราชสำนักออกประกาศว่า ดยุกแห่งเอดินบะระในพระชันษา 96 ปีจะทรงลดการทรงงานและการปรากฏพระองค์ในที่สาธารณะลง เนื่องด้วยทรงพระประชวรที่พระอุระ (ทรวงอก) มาตั้งแต่ ค.ศ. 2008 ซึ่งกิจกรรมสาธารณะสุดท้ายที่ปรากฏพระองค์คือประทานโอวาทแก่ราชนาวีสหราชอาณาจักร ในปี ค.ศ. 2017 ตั้งแต่ ค.ศ. 2018 เป็นต้นมา พระพลานามัยของดยุกแห่งเอดินบะระทรงเริ่มถดถอยลง พระองค์ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง กระทั่งในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 2021 พระองค์สิ้นพระชนม์อย่างสงบ ณ พระราชวังวินเซอร์ เป็นเวลาเพียง 2 เดือนก่อนที่พระองค์จะมีพระชันษาครบ 100 ปี เป็นพระราชสวามีที่ถวายการรับใช้พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร   อ้างอิง The Editors of Encyclopaedia Britannica. (2021, 9 Apr). Philip, duke of Edinburgh. Retrieved https://www.britannica.com/biography/Philip-duke-of-Edinburgh. Aitken, P. (2021, 9 Apr). Prince Philip’s military career, World War II bravery: A look back. Retrieved https://www.foxnews.com/entertainment/prince-philips-military-career-world-war-ii. ForcesNet Editors. (2021, 9 Apr). How Prince Philip Earned The Respect Of The British Military. Retrieved https://www.forces.net/news/how-prince-philip-has-earned-respect-british-military. The Royal Household. (2021, 9 Apr) Announcement of the death of The Duke of Edinburgh. Retrieved  https://www.royal.uk/announcement-death-duke-edinburgh. Biography.com Editors. (2021, 10 Apr). Prince Philip Biography. Retrieved https://www.biography.com/royalty/prince-philip.   เรื่อง: พิสิษฐิกุล แก้วงาม