Post on 29/04/2021
‘มอลตารำลึก’ ความทรงจำช่วงชีวิตที่มีความสุขที่สุดของเจ้าชายฟิลิปและสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ

“การมาเยือนมอลตาเป็นสิ่งที่พิเศษสำหรับฉันเสมอ
“ฉันระลึกถึงคืนวันอันแสนสุขระหว่างฉันและเจ้าชายฟิลิป
“ในช่วงเวลาที่เราใช้ชีวิตคู่ร่วมกันที่นี่หลังจากเพิ่งแต่งงานกัน”
พระราชดำรัสของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ระหว่างเยือนมอลตาในปี 2015 บ่งบอกถึงความทรงจำอันแสนหวานระหว่างพระองค์และเจ้าชายฟิลิป ขณะที่ทรงใช้ชีวิตคู่ร่วมกันที่ประเทศมอลตา
มอลตาเป็นประเทศที่เป็นเกาะเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของยุโรป เมืองริมทะเลที่โอบล้อมไปด้วยความอบอุ่นของแสงแดด เมืองที่แตกต่างจากมหานครลอนดอนอันเคร่งขรึม และเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอังกฤษในน่านน้ำเมดิเตอร์เรเนียนมาอย่างยาวนาน เป็นสถานที่ที่เจ้าชายฟิลิปเข้าประจำการเป็นผู้บังคับการเรือสำรวจอันตรายใต้ทะเล HMS Magpie หลังจากทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ องค์รัชทายาทแห่งบัลลังก์สหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ
ที่แห่งนี้เอง กลายเป็นความทรงจำชั่วชีวิตของทั้งสองพระองค์
เจ้าชายฟิลิป ประสูติในราชวงศ์กรีซและเดนมาร์ก พระบิดาของพระองค์คือเจ้าชายแอนดรูว์แห่งกรีซ พระมารดาคือเจ้าหญิงอลิซแห่งบัทเทินแบร์ค ผู้เป็นเจ้าหญิงเชื้อสายเยอรมัน พระปิตุลาของพระองค์คือกษัตริย์คอนสแตนตินที่ 1 แห่งกรีซ เป็นกษัตริย์ปกครองประเทศกรีซ ก่อนที่จะถูกปฏิวัติในปี 1922 ส่งผลให้ครอบครัวของพระองค์ต้องเสด็จลี้ภัยไปยังประเทศต่าง ๆ โดยเจ้าชายฟิลิปผู้เป็นทารกน้อยในขณะนั้น ได้ถูกเคลื่อนย้ายจากประเทศกรีซโดยถูกซ่อนไว้ในลังส้มภายในเรือสินค้า
ชีวิตวัยเยาว์ของพระองค์เต็มไปด้วยความผกผัน ทรงเติบโตอย่างค่อนข้างโดดเดี่ยวในหลายประเทศ จนกระทั่งย้ายมาประทับที่สหราชอาณาจักร ภายใต้การดูแลของพระญาติฝ่ายพระมารดา ผู้มีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อพระองค์ คือ ลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบตเทน ซึ่งได้เปลี่ยนนามสกุลจากบัทเทินแบร์คเป็นเมานต์แบตเทน เพื่อให้มีความเป็นอังกฤษ แทนการเป็นเยอรมัน ที่ขณะนั้นนาซีกำลังเรืองอำนาจและเป็นประเทศที่เป็นศัตรูกับอังกฤษ
ต่อมาเจ้าชายฟิลิปได้ทรงเปลี่ยนนามสกุลตามญาติฝั่งพระมารดาเป็น ฟิลิป เมานท์แบตเทนเช่นกันเพื่อให้มีความเป็นอังกฤษอย่างเต็มตัว และหลีกเลี่ยงความหวาดระแวงต่อสายเลือดเยอรมันของพระองค์ รวมทั้งหลีกเลี่ยงข้อครหาความใกล้ชิดกับนาซี เนื่องจากพี่สาวของพระองค์แต่งงานกับนายทหารระดับสูงของนาซี
เจ้าชายฟิลิปทรงเข้าศึกษาที่กอร์ดอนสโตน ในสกอตแลนด์ และได้ตัดสินใจศึกษาต่อที่วิทยาลัยราชนาวีบริแทนเนีย ในเมืองดาร์ตมัธ วิทยาลัยทหารเรือของอังกฤษที่ทรงอิทธิพลระดับโลก โรงเรียนราชนาวีนี้เองที่ทำให้พระองค์ทรงพบกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธเป็นครั้งแรก และเป็นจุดเริ่มต้นของการสานความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างสองพระองค์ เจ้าชายฟิลิปทรงรักและมีความสามารถในการเป็นทหารเรือเป็นอย่างยิ่ง ทรงจบการศึกษาในปี 1940 และสอบได้ที่ 1 ของรุ่น
สำหรับเจ้าชายฟิลิป มอลตาไม่ใช่แค่ประเทศที่ทำให้พระองค์ได้ใช้ชีวิตทหารเรือที่พระองค์รักและภาคภูมิใจเท่านั้น แต่มอลตาเป็นสถานที่ที่เชื่อมโยงกับประวัติส่วนพระองค์และครอบครัวไว้อย่างลึกซึ้ง กล่าวคือ ตาของพระองค์เจ้าชายหลุยส์แห่งบัทเทินแบร์ค ทรงเป็นนายทหารเรือที่ถูกส่งมาประจำการที่มอลตาเป็นครั้งคราว และแม่ของพระองค์เจ้าหญิงอลิซแห่งบัทเทินแบร์ค ได้รับการเลี้ยงดูในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ดาร์มสตัดท์ ลอนดอน และมอลตา ในประเทศมอลตาพระองค์ทรงประทับที่ Villa Guardamangia ซึ่งเป็นบ้านของตระกูลฝั่งพระมารดา ที่ขณะนั้นผู้เป็นเจ้าของบ้านตามกฎหมายคือ ลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบตเทน
สำหรับเจ้าชายฟิลิปผู้เติบโตมาอย่างโดดเดี่ยวโดยไม่ได้อยู่กับครอบครัว การได้ย้อนกลับมาประจำการในสถานที่ซึ่งเป็นความผูกพันและมีร่องรอยประวัติศาสตร์ของครอบครัว จึงนับว่าเป็นความรู้สึกที่พิเศษอย่างยิ่ง
ความรู้สึกพิเศษนั้นยิ่งเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่พระองค์ได้ใช้ชีวิตนายทหารเรือในประเทศมอลตา พระองค์และเจ้าหญิงเอลิซาเบธได้ใช้ชีวิตอย่างที่เรียกได้ว่าเป็นชีวิตแบบธรรมดาสามัญชน เจ้าชายฟิลิปใช้เวลาไปกับอาชีพทหารเรืออันเป็นที่รัก ได้เป็นผู้นำครอบครัวอย่างภาคภูมิ ขณะที่เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงได้ทำหน้าที่เป็นภรรยานายทหารเรือ ที่มีหน้าที่สนับสนุนสามี และที่นี่เองเจ้าหญิงทรงได้ดูแลตัวเอง ขับรถไปร้านทำผมท้องถิ่นด้วยพระองค์เอง ฉากการขับรถด้วยพระองค์เองเพื่อปฏิบัติภารกิจอย่างสามัญชนนี้ ได้ถูกถ่ายทอดในซีรีส์เรื่องดังอย่าง The Crown ซีซั่น 1 ด้วย
ช่วงเวลานั้นเอง ทั้งสองพระองค์ทรงใช้เวลาไปกับการเดินเล่นด้วยกันรอบ ๆ เมือง จัดปาร์ตี้น้ำชา ขับเรือ ปิกนิกริมทะเล อาบแดด เต้นรำ และเล่นกีฬาทางน้ำที่ทรงโปรดปราน ทั้งสองพระองค์เคยกล่าวว่าช่วงเวลาที่มอลตาเป็น ‘ช่วงชีวิตที่มีความสุขที่สุด’ และนอกเหนือจากสหราชอาณาจักร ทั้งสองพระองค์ตรัสเรียกประเทศมอลตาว่า ‘บ้าน’
ชีวิตในมอลตาของทั้งสองพระองค์เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1949 และจบลงในปี 1951 จากอาการพระประชวรและการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดา ทำให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1952 และเจ้าชายฟิลิปต้องสละอาชีพทหารเรือเพื่อทำหน้าที่พระราชสวามีเคียงข้างสมเด็จพระราชินี
ช่วงเวลางดงามที่มอลตาที่เจ้าชายฟิลิปทรงได้ทำอาชีพที่รักและทำหน้าที่เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัว เป็นช่วงเวลาที่พร่าเลือนในความทรงจำของประชาชนโดยทั่วไป ที่มักจะมีภาพจำของการที่เจ้าชายฟิลิปต้องคอยเดินตามหลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ประมาณสองถึงสามก้าว ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ตามธรรมเนียมของราชสำนัก และทรงมีหน้าที่เปรียบเสมือนเบื้องหลังในการสนับสนุนสมเด็จพระราชินีเท่านั้น
การเสียสละของเจ้าชายฟิลิปในการละทิ้งอาชีพทหารเรือที่ทรงรัก เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนพระราชินีผู้เป็นที่รัก เป็นสิ่งที่มีความหมายต่อสมเด็จพระราชินีอย่างมาก ดังที่สมเด็จพระราชินีเคยมีพระราชดำรัสถึงเจ้าชายฟิลิปในวันครบรอบแต่งงานปีที่ 50 ว่า “เจ้าชายฟิลิปเป็นผู้ที่ไม่ยินยอมรับคำชมอย่างง่ายดายนัก แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เขาเป็นพลังอันแข็งแกร่งของฉัน”
แม้ว่าทั้งสองพระองค์จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันที่มอลตาเพียงสองปี แต่ความทรงจำและความผูกพันอันแสนพิเศษระหว่างทั้งสองพระองค์กับประเทศมอลตาปรากฏเด่นชัด จากการที่ทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จเยือนมอลตาบ่อยครั้ง และได้เลือกมอลตาเป็นประเทศที่ใช้ฉลองวันอภิเษกสมรสครบ 60 ปี ในปี 2007 นอกจากนี้สำนักข่าวของอังกฤษอย่างเดลีเมล์ ยังได้วิเคราะห์ว่าในวันพระราชพิธีพระศพเจ้าชายฟิลิป สมเด็จพระราชินีได้เลือกภาพคู่ของพระองค์และเจ้าชายฟิลิป ซึ่งถ่ายที่ประเทศมอลตา ไว้ในกระเป๋าที่เก็บรวบรวมของที่ระลึกอันเป็นความทรงจำสำคัญส่วนพระองค์ สำหรับสมเด็จพระราชินีซึ่งต้องเผชิญกับความรู้สึกว่างเปล่าจากการสูญเสียพระสวามีผู้เป็นที่รักซึ่งอยู่เคียงข้างกันมากว่า 70 ปี ความทรงจำที่มอลตาคงเป็นความทรงจำแห่งรักที่พระองค์คงจะระลึกถึงไปตลอดกาล
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.swlondoner.co.uk/news/09042021-prince-philip-queen-elizabeth-malta/
เรื่อง: ณัฎฐณิชา เหล็กกล้า
ภาพ: Pool / Getty Images
Paul Popper/ Popperfoto / Getty Images