ไทชิ โชโตกุ: เชื้อพระวงศ์เพียงคนเดียวที่ได้อยู่บนธนบัตรญี่ปุ่น

ไทชิ โชโตกุ: เชื้อพระวงศ์เพียงคนเดียวที่ได้อยู่บนธนบัตรญี่ปุ่น
ทำไมประเทศญี่ปุ่นถึงมีเชื้อพระวงศ์เพียงคนเดียวที่ได้มีพระพักตร์อยู่บนธนบัตร ? หากญี่ปุ่นมีเกณฑ์คัดเลือกบุคคลจากการสร้างคุณงามความดีให้ประเทศชาติ แล้วเพราะเหตุใดตั้งแต่ ค.ศ. 1872 ที่ญี่ปุ่นเริ่มสร้างธนบัตร ถึงมีคนจากชนชั้นปกครองเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ผ่านการคัดเลือก ? มีการถามคำถามข้างต้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศญี่ปุ่น ทุกคนต่างรู้ดีว่าดินแดนแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานไม่แพ้เมืองใดบนโลก เป็นประเทศสุดท้ายของโลกที่ยังมีจักรพรรดิ ยังคงพระราชประเพณีชั้นสูงของราชวงศ์เอาไว้ แต่ความน่าสนใจเกี่ยวกับราชวงศ์ญี่ปุ่นและธนบัตรคือ ช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมากลับมีเชื้อพระวงศ์เพียงคนเดียวเท่านั้นได้อยู่บนธนบัตรญี่ปุ่น เชื้อพระวงศ์เพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่มีพระพักตร์อยู่บนธนบัตรคือ เจ้าชายไทชิ โชโตกุ (Prince Taishi Shotoku) พระโอรสองค์ที่สองของจักรพรรดิองค์ที่ 31 พระนามว่าโยเม ช่วงเวลานั้นคงไม่มีใครคาดคิดว่าเจ้าชายโชโตกุจะกลายเป็นบุคคลผู้มีความสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์อารยธรรมญี่ปุ่น มีบทบาทโดดเด่นเรื่องการทำนุบำรุงพุทธศาสนา จนได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘พระเจ้าอโศกแห่งญี่ปุ่น’ ไทชิ โชโตกุ: เชื้อพระวงศ์เพียงคนเดียวที่ได้อยู่บนธนบัตรญี่ปุ่น ก่อนเจ้าชายโชโตกุจะมีบทบาททางการเมือง จักรพรรดิโยเมผู้เป็นพระบิดาพยายามนำพุทธศาสนาที่ถูกละเลยกลับมาอีกครั้งท่ามกลางเสียงไม่เห็นด้วยของเหล่าขุนนางที่นับถือศาสนาชินโต เวลาดังกล่าวเกิดสงครามการแย่งชิงอำนาจของตระกูลใหญ่ทางการเมืองอย่าง โซกะ กับ โมโนโนะเบะ ต่อมาปี 587 จักรพรรดิโยเมสิ้นพระชนม์จากพระอาการประชวร (นักประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยเชื่อว่าพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยยาพิษ) การแย่งชิงบัลลังก์เข้มข้นกว่าเก่า เจ้าชายโชโตกุต้องเลือกข้างอยู่กับฝ่ายโซกะเพราะเป็นพระญาติ สุดท้ายตระกูลโซกะได้รับชัยชนะ สถาปนาเป็นจักรพรรดิพระองค์ที่ 32 แต่ถูกลอบปลงพระชนม์เมื่อปี 592 เมื่อตำแหน่งผู้นำว่างต้องหาคนมาแทนที่ เหล่าขุนนางลงความเห็นว่าควรเชิญเจ้าหญิงโตโยมิเคะ คะชิกิยะ (Toyomike Kashikiya)  ขึ้นเป็นจักรพรรดินีโดยใช้พระนามว่าซูอิโกะ เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 33 ถือเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่นที่สตรีได้ขึ้นสู่ตำแหน่งจักรพรรดิ อย่างไรก็ตาม จักรพรรดินีซูอิโกะทรงแต่งตั้งเจ้าชายโชโตกุ (พระราชนัดดา) ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนตั้งแต่ปี 594-622 เจ้าชายผู้รักษาการแทนทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาไม่ต่างจากบิดาและจักรพรรดินี มองว่าแนวคิดของชาวพุทธก่อให้เกิดปัญญา สามารถประยุกต์ให้เข้ากับการเมืองการปกครอง เจ้าชายโชโตกุทรงปฏิรูประบอบการปกครองส่วนกลาง บัญญัติกฎหมายแห่งรัฐโดยยึดหลักธรรมทางพุทธศาสนา ประกาศใช้ ระบบศักดินา 12 ขั้น แบ่งขุนนางออกเป็น 12 ระดับตามความสามารถ โดยใช้สีของชุดและหมวกเป็นเครื่องบอกบรรดาศักดิ์ โดยระดับสูงสุดใช้สีม่วงแสดงถึงความงดงามหรูหรา จากนั้นร่าง รัฐธรรมนูญ 17 มาตรา (Seventeen Article Constitution) มีเนื้อหาสำคัญหลายประการ เช่น ระบุว่าจักรพรรดิมีอำนาจสูงสุด บรรยายถึงหลักจริยธรรมของผู้ปกครองที่พึงมีต่อประชาชน มุ่งเน้นให้ขุนนางข้าราชการมีศีลธรรม เชิดชูความสามัคคี มีศรัทธาในพระศรีรัตนตรัย และใส่ใจด้านการศึกษา รัฐธรรมนูญ 17 มาตรา เกิดจากการนำแนวคิดจากลัทธิขงจื๊อมาผสมผสานกับพุทธศาสนา แม้ใจความสำคัญส่วนใหญ่มุ่งเน้นเรื่องศีลธรรมและจริยธรรมมากกว่าการประมวลกฎหมาย หรือมีวิธีบังคับใช้อย่างเป็นทางการเหมือนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ 17 มาตรา เป็นต้นแบบให้กับรัฐธรรมนูญยุคหลัง มาตรฐานที่วางไว้ตั้งแต่ปี 604 มีส่วนให้ญี่ปุ่นมีรัฐธรรมนูญเพียง 3 ฉบับเท่านั้น (ถือเป็นจำนวนน้อยมากหากเทียบกับประเทศไทยที่มีรัฐธรรมนูญกว่า 20 ฉบับ ในเวลาไม่ถึงร้อยปี) เจ้าชายโชโตกุนำหลักคำสอนของพุทธศาสนามาปรับเข้ากับกฎหมาย ให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ (ในช่วงเวลานั้น) ทรงส่งคณะทูตเดินทางไปยังประเทศจีนบ่อยครั้งเพื่อศึกษาพุทธศาสนา เก็บเกี่ยวความรู้เกี่ยวกับลัทธิขงจื๊อ พัฒนาเทคนิคการเจรจาแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ มีกฎข้อบังคับชัดเจนกว่ายุคก่อน ๆ สามารถลดบทบาทขุนนาง รวมศูนย์อำนาจไว้ที่จักรพรรดิได้ตามแบบราชวงศ์ซุยและราชวงศ์ถังของจีน ระหว่างที่เจ้าชายโชโตกุรักษาการแทนจักรพรรดินี ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดชิเทนโนจิ (Shitennoji) วัดพุทธแห่งแรกของญี่ปุ่นในเขตจังหวัดโอซาก้า ตอนนี้อายุกว่าพันปี เก็บรายละเอียดละเมียดละไม ชั้นในประกอบด้วยเจดีย์ห้าชั้นแบบญี่ปุ่น (Gojunoto) หอธรรม (Kodo) และวิหารทองคำ (Kondo) เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพพระโพธิสัตว์เนียวไร รับอิทธิพลจากศิลปะจีน แต่ใช้ช่างฝีมือจากอาณาจักรแพกเจของเกาหลี รวมถึงสร้างวัดโฮริวจิ (Horyuji) ในปี 607 ที่เมืองยามาโตะ (ปัจจุบันคือจังหวัดนารา) ก่อสร้างด้วยอาคารไม้ทั้งหลังเพื่อสักการะพระไภษัชยคุรุ หรือ ยาคุชิเนียวไร ปัจจุบันกลายเป็นวัดอาคารไม้เก่าแก่อันดับต้น ๆ ของโลก [caption id="attachment_23476" align="aligncenter" width="1200"] ไทชิ โชโตกุ: เชื้อพระวงศ์เพียงคนเดียวที่ได้อยู่บนธนบัตรญี่ปุ่น วัดโฮริวจิ[/caption] ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสให้ขุนนางเริ่มบันทึกพงศาวดารเหมือนกับราชวงศ์จีน การเริ่มทำสิ่งใหม่ นำศาสนาที่ถูกลืมกลับมามีบทบาทอีกครั้งถือเป็นมรดกตกทอดแสนสำคัญต่อประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น พระองค์ทรงวางรากฐานของพุทธศาสนาส่งต่อให้กับยุคนารา แม้ภายหลังศาสนาพุทธแตกแขนงเป็นหลายนิกาย บางนิกายผสมผสานเข้ากับศาสนาชินโต แต่ครั้งหนึ่งก็เคยรุ่งเรืองถึงขีดสุดและเหลือร่องรอยมาถึงปัจจุบัน เจ้าชาติโชโตกุปรากฏอยู่บนธนบัตร 100 1,000 5,000 และ 10,000 เยน ตั้งแต่ปี 1950 ถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จิตรกรผู้ออกแบบร่างฉลองพระองค์แบบขุนนางจีน ส่วนพระหัตถ์ทรงถือวัตถุรูปร่างคล้ายไม้พายที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาแทนการถือดาบที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางการเมือง ต่อมาปี 1984 รัฐบาลตัดสินใจนำพระบรมสาทิสลักษณ์ของเจ้าชายโชโตกุออกจากธนบัตรทั้งหมด โดยธนบัตร 10,000 เยน ถูกเปลี่ยนเป็นเซตสุดท้ายในปี 1986 โดยเลือกใช้ภาพของ ฟุคุซาวะ ยูอิจิ (Fukuzawa Yukichi) นักปฏิรูปแห่งยุคเมจิแทน ปัจจุบันทางการญี่ปุ่นระบุว่า เงินถือเป็นสิ่งของที่ถูกเปลี่ยนมือบ่อยครั้ง หากใช้พระบรมสาทิสลักษณ์ของจักรพรรดิผู้เป็นดั่งสมมุติเทพจะทำให้พระองค์ต้องแปดเปื้อน บางครั้งคนทำเงินหล่น ฉีกขาด ถูกเหยียบ หรือใช้จ่ายของผิดกฎหมาย เลยตัดปัญหาไม่เอารูปคนในราชวงศ์ไว้บนธนบัตร รวมถึงเหตุผลว่าจักรพรรดิจะไม่เข้าร่วมกิจอันใดของโลก (แม้สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะจะเคยเข้าร่วมกิจของโลกไปแล้วในสงครามโลกครั้งที่ 2) ด้วยเหตุผลหนักแน่นทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิไม่เคยปรากฏอยู่บนธนบัตรแม้แต่ครั้งเดียว เจ้าชายโชโตกุจึงกลายเป็นชนชั้นปกครองเพียงผู้เดียวที่ทันได้อยู่บนธนบัตร ไทชิ โชโตกุ: เชื้อพระวงศ์เพียงคนเดียวที่ได้อยู่บนธนบัตรญี่ปุ่น บุคคลที่ได้อยู่บนธนบัตรญี่ปุ่นต้องผ่านการคัดเลือกหลายขั้นตอน อาทิ ต้องเป็นผู้สร้างประโยชน์ให้กับประเทศหรือโลก มีบทบาทด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรมของญี่ปุ่น ใบหน้าของผู้รับการคัดเลือกต้องมีเอกลักษณ์ชัดเจน ไม่ผิดเพี้ยนจากภาพของตัวจริง หากเป็นคนในประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ ไม่มีหลักฐานใบหน้าชัดเจนจะไม่ได้รับการคัดเลือก และจะเปลี่ยนแบบทุก 20 ปี ไม่ใช่แค่ชาวญี่ปุ่นเท่านั้นที่ต้องมีธนบัตรไว้ใช้จ่าย นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนญี่ปุ่นต่างต้องพกธนบัตรติดตัวไปด้วยทุกที่เช่นกัน ยามว่างหรืออยู่ระหว่างการเดินทาง หลายคนมักหยิบแบงก์ขึ้นมานั่งดูแก้เบื่อ เพ่งพินิจผู้ได้รับการยกย่องให้อยู่บนธนบัตร เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติผู้มาเยือนได้เห็นใบหน้าคนสำคัญของประเทศ ทิ้งประเด็นชวนสงสัยใคร่รู้ว่าคนบนธนบัตรมูลค่าต่าง ๆ เป็นใครมาจากไหน ทำคุณงามความดีหรือสร้างชื่อเสียงอะไรทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง ถือเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวที่แต่ละประเทศก็มีเรื่องราวแตกต่างกันไป   ที่มา http://factsanddetails.com/japan/cat16/sub106/entry-5297.html https://www.britannica.com/biography/Taishi-Shotoku https://www.onmarkproductions.com/html/shotoku-taishi.html https://www.ancient.eu/Prince_Shotoku/ https://www.npb.go.jp/en/intro/kihon/kako/index.html   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์