เจ้าหญิงลูอีส พระราชธิดาหัวขบถแห่งราชวงศ์อังกฤษ

เจ้าหญิงลูอีส พระราชธิดาหัวขบถแห่งราชวงศ์อังกฤษ
ข่าว เจ้าชายแฮร์รีและเมแกน ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ทรงประกาศสละสถานะพระราชวงศ์ชั้นสูง อาจทำให้หลายคนประหลาดใจไม่น้อย แต่หากตามข่าวจะพบร่องรอยว่า เจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ และเจ้าชายแฮร์รี ทรงบาดหมางกันมาช่วงหนึ่งแล้ว หลังจากเจ้าชายแฮร์รีทรงบอกเล่าความทุกข์ใจนับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ในรั้วพระราชวัง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาสุขภาพจิตของพระองค์ ส่วน เมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ยังฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในอังกฤษเพราะเผยแพร่จดหมายลับของเธอ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าการราชาภิเษกสมรสของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนยังแหวกขนบธรรมเนียมราชวงศ์อังกฤษ เพราะเมแกนเป็นหญิงอัฟริกันอเมริกันคนแรก อย่างไรเสีย ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตอนนี้เริ่มซับซ้อนมากกว่าชาติพันธุ์ของเมแกน หรือความทุกข์ใจของเจ้าชายแฮร์รี เพราะการถอนตัวของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนยังไม่อาจสื่อสารได้ชัดเจนว่าพระองค์จะทรงรับรายได้จากไหน แม้จะมีรับสั่งว่าจะทรงหารายได้ด้วยตัวเอง หากการเดินทางไปยังแคนาดาอาจหมายถึงการพึ่งพาพระราชอำนาจของ สมเด็จพระราชินี ผู้เป็นพระประมุขของแคนาดาอยู่ ความขัดแย้งและความคิดลักษณะนี้ สะท้อนภาพจักรวรรดิอังกฤษเดิมตั้งแต่ปลายศตวรรษที่สิบแปด เพราะพระประมุขมักแต่งตั้งพระราชวงศ์พระองค์หนึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่แห่งแคนาดา (Governor General of Canada) เพื่อเป็นผู้แทนพระองค์ สำนักข่าวบีบีซีเสนอว่า เจ้าชายแฮร์รีอาจเป็นพระราชวงศ์ซึ่งกลับมาดำรงตำแหน่งนี้ก็เป็นได้ หลังจากไม่มีพระราชวงศ์หรือขุนนางดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1952 แล้ว แม้ตำแหน่งนี้จะไม่มีผลทางการเมืองอย่างชัดเจนต่อแคนาดา แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าพระราชวงศ์ยังคงธรรมเนียมเดิมในสมัยจักรวรรดิอยู่ ราวกับจะเน้นย้ำอดีตของแคนาดาในสมัยที่ยังไม่มีเอกราช ความขัดแย้งในหมู่พระราชวงศ์และการเดินทางไปแคนาดาไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษ เจ้าหญิงลูอีส แคโรไลน์ อัลเบอร์ทา (Princess Louise Caroline Alberta) หรือเจ้าหญิงลูอีส ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria) ก็เป็นเจ้านายพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงดำเนินพระชนม์ชีพไม่ถูกพระทัยพระราชมารดา แม้จะไม่ได้ตัดขาดจากพระราชวงศ์โดยชัดเจน ทั้งการดำเนินพระชนม์ชีพของเจ้าหญิงลูอีสนั้นก็ยังขบถต่อธรรมเนียมเดิมของพระราชวงศ์หรือแม้แต่สังคมที่พระองค์อยู่อีกด้วย นอกจากนี้ เมื่อ จอห์น แคมป์เบล มาร์เควสแห่งลอร์น (John Campbell, Marquess of Lorne) พระสวามีของเจ้าหญิงลูอีส ได้รับตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ (Governor General) แห่งแคนาดา พระองค์ก็ต้องตามเสด็จเช่นกัน เจ้าหญิงผู้เสรีอย่างพระองค์ทรงต้องไปเผชิญโลกใหม่ซึ่งแทบจะไม่มีเจ้าขุนมูลนาย และต้องทรงพบเจอกับความเสื่อมสลายของจักรวรรดิด้วยพระองค์เอง เจ้าหญิงลูอีสเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่หกในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียกับเจ้าชายอัลเบิร์ต แม้จะทรงได้รับคำชมจากพระราชมารดาว่าเป็นเจ้าหญิงที่งามที่สุดในบรรดาพระราชธิดาทั้งหมด ทว่าพระราชมารดาและพระราชธิดาต่างทรงขัดแย้งกันบ่อยครั้ง เหตุสำคัญสองประการที่ทำให้ทั้งสองพระองค์ขัดแย้งกันคือ แนวคิดทางการเมืองของเจ้าหญิงลูอีส และ การเลือกคู่ครองของพระองค์ สมเด็จพระราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหญิงลูอีสได้เรียนรู้วิชาศิลปะจากโรงเรียนศิลปะและประติมากรชื่อดัง ทำให้พระองค์ทรงกลายเป็นประติมากรมีชื่อคนหนึ่งในยุคนั้น ทรงออกแบบพระรูปสมเด็จพระราชินีนาถ ซึ่งประดิษฐานอยู่หน้าพระราชวังเคนซิงตันด้วยพระองค์เอง และทรงออกแบบผ้าคลุมพระพักตร์ในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสด้วยพระองค์เองอีกด้วย เมื่อเจ้าหญิงลูอีสโปรดสร้างงานศิลปะ การพบปะศิลปินนักคิดนักเขียนต่าง ๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก อย่างไรก็ตาม นักคิดนักเขียนเหล่านั้นหลายคนออกจะ “หัวใหม่” เกินสมเด็จพระราชินีนาถไปมาก ไม่ว่าจะเป็น เจมส์ แอบบอท แมกนีล วิสเลอร์ (James Abbott MacNeil Whistler) จิตรกรอเมริกันแนวอิมเพรสชันนิสม์ ผู้ท้าทายขนบความงามแบบสัจนิยมในอังกฤษ จอร์จ เอเลียท (George Eliot) หรือ แมรี แอนน์ เอฟเวนส์ (Mary Ann Evans) นักเขียนหญิงผู้สนับสนุนสิทธิสตรีและสิทธิเลือกตั้งของคนทุกชนชั้น อลิซาเบธ การ์เรท แอนเดอร์สัน (Elizabeth Garret Anderson) แพทย์หญิงคนแรกของอังกฤษผู้สนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ เจ้าหญิงลูอีสทรงต้อนรับพระสหายเหล่านี้อย่างลับ ๆ และทรงออกเงินสนับสนุนกลุ่มสิทธิสตรีมากมายในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า ทั้งในอังกฤษและแคนาดา พระองค์ทรงรู้จักโลกสมัยใหม่และเข้ากับโลกสมัยใหม่มากกว่าพระราชวงศ์หลาย ๆ พระองค์ โดยเฉพาะพระมารดาของพระองค์เอง ผู้ทรงมองว่าผู้หญิงไม่ควรได้รับการศึกษามากเกินควร และไม่ควรมีบทบาททางการเมือง เรื่องคู่ครอง ก็เป็นปัญหาใหญ่อีกประการที่ทำให้ทรงขัดแย้งกับพระราชวงศ์พระองค์อื่น ๆ เจ้าหญิงลูอีสไม่มีพระดำริจะราชาภิเษกสมรสกับเจ้าชายจากเยอรมนีตามที่พระราชมารดาทรงต้องการ หากทรงเลือก จอห์น แคมป์เบล มาร์เควสแห่งลอร์น การเลือกเช่นนั้นทำให้พระวงศานุวงศ์ทรงถกเถียงกันเป็นการใหญ่ เพราะไม่เคยมีเจ้านายผู้หญิงพระองค์ใดราชาภิเษกสมรสกับคนสามัญมานับตั้งแต่ ค.ศ. 1515 แต่สมเด็จพระราชินีนาถพระราชทานพระราชานุญาต เมื่อเสร็จสิ้นพิธีราชาภิเษกสมรสได้ไม่นาน พระองค์ต้องเสด็จตามพระสวามีไปยังแคนาดา หลังพระสวามีได้รับตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ประจำแคนาดาใน ค.ศ. 1878 แคนาดาในตอนนั้นยังไม่เป็นเอกราช แต่เริ่มเป็นเขตปกครองตนเองในจักรวรรดิอังกฤษได้ไม่นานนัก เพิ่งจะมีรัฐธรรมนูญของตนเอง และเพิ่งจะมีนายกรัฐมนตรีคนแรกนาม เซอร์ จอห์น เอ. แมคโดนอลด์ (Sir John A. Macdolnald) ชีวิตของพระองค์และพระสวามีนั้นดำเนินไปอย่างราบรื่น แม้ช่วงแรก ๆ ชาวแคนาดาจะไม่พอใจที่จะต้องเจอเจ้านายมากพิธีรีตอง แต่เจ้าหญิงลูอีสทรงเป็นกันเอง มักทรงแนะนำพระองค์เองว่า มิสซิสแคมป์เบล (Mrs. Campbell) และโปรดทำงานบ้านด้วยพระองค์เอง ทรงรีดผ้าได้ และทรงประกอบอาหารได้ดี พระองค์จึงค่อนข้างเป็นที่รัก นอกจากนี้ เจ้าหญิงลูอีสยังคงสนับสนุนสิทธิสตรีและช่วยเหลือผู้หญิงในแคนาดา โดยทรงกล่าวสุนทรพจน์สนับสนุนสมาคมการศึกษาสตรีมอนทรีออล (Montreal Ladies’ Educational Association) เสด็จเยือนและทรงสนับสนุน เดอะ เฮเวน (The Haven) หน่วยงานช่วยเหลืออดีตนักโทษสตรี และเพราะพระองค์และพระสวามีรักศิลปะ พระองค์จึงร่วมสถาปนาราชวิทยาลัยศิลปะแคนาดา (Royal Canadian Academy of Arts) และทรงเลือกงานศิลปะชุดสำคัญมาจัดแสดงด้วยพระองค์เอง อย่างไรก็ตาม ชีวิตที่แคนาดาของพระองค์และพระสวามีนั้นใช่ว่าจะผาสุกและราบรื่น แม้พระองค์จะจัดงานสมโภชและทรงเป็นกันเองกับพระอาคันตุกะ แต่พระองค์และพระสวามีก็ดูจะสั่นคลอนอำนาจอธิปไตยซึ่งมีมากขึ้นในแคนาดา นับตั้งแต่สถาปนาเป็นเขตปกครองตนเอง พระสวามีเคยถูกสื่อหนังสือพิมพ์แคนาดาหลายฉบับติติงว่า ก้าวก่ายอธิปไตยของแคนาดามากเกินไป ทำราวกับแคนาดาไม่มีนายกรัฐมนตรี แม้ เซอร์จอห์น แมคโดนอลด์ จะแก้ต่างให้ก็ตาม ส่วนเจ้าหญิงลูอีสก็ทรงถูกสื่อมวลชนตำหนิว่า ไม่ค่อยมีพระปฏิสันถารกับบรรดาพระอาคันตุกะ ถึงแม้จะจัดงานสมโภชบ่อยครั้ง แม้ว่าภายหลังสื่อแคนาดาต้อนรับพระองค์และพระสวามีเป็นอย่างดีเพราะความไม่เจ้ายศเจ้าอย่างของทั้งคู่ แต่เค้าลางของปัญหาก็ก่อตัวมากขึ้น เจ้าหญิงลูอีสทรงถูกกลุ่มฟีเนียน (Fenians) กลุ่มเคลื่อนไหวกู้ชาติชาวไอริชข่มขู่คุกคาม เนื่องด้วยกลุ่มเคลื่อนไหวต้องการให้ไอร์แลนด์เป็นเอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษ และมองว่าพระราชวงศ์เป็นสัญลักษณ์ของการดำรงอยู่ของจักรวรรดิ ใน ค.ศ. 1882 พวกฟีเนียนขู่ว่าจะลักพาเจ้าหญิงลูอีสไปเป็นตัวประกัน แลกกับการปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวชาวไอริชซึ่งต้องโทษจำคุกอยู่ในอังกฤษ เมื่อการข่มขู่หนักข้อขึ้น เจ้าหญิงลูอีสตัดสินพระทัยเสด็จหนีจากแคนาดาไปเบอร์มิวดา (Bermuda) กับทหารรักษาพระองค์สองคนทันที เจ้าหญิงลูอีสไม่ได้สิ้นพระชนม์เพราะกองกำลังใด ๆ ทั้งสิ้น หากดำรงพระชนม์ชีพยืนยาวมาอีกหลายสิบปี และสิ้นพระชนม์อย่างสงบ ณ พระราชวังเคนซิงตัน ในปี 1939 รวมพระชันษาได้ 91 ปี ซึ่งระหว่างที่ทรงมีพระชนม์ชีพ เจ้าหญิงลูอีสทรงใช้ชีวิตโลดโผนต่อไปหลังจากพระสวามีทำงานจนครบวาระการเป็นข้าหลวงใหญ่แห่งแคนาดา ทรงช่วยเหลือกลุ่มสตรีและกลุ่มศิลปินมากมาย ทรงใช้ชีวิตอย่างเสรีและเข้าอกเข้าใจผู้คนมากกว่าพระราชมารดานัก อย่างไรก็ดี พระกรณียกิจต่าง ๆ อาจไม่ใช่เครื่องประกันความปลอดภัยของพระองค์ได้เสมอไป เมื่อคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงมาถึง   เรื่อง: มิ่ง ปัญหา *มิ่ง ปัญหา สนใจประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศในยุคที่สังคมต่อต้าน