ที่มาของวาทะ “ผมต้องการมีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ” โดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ข้อความอมตะในไทย

ที่มาของวาทะ “ผมต้องการมีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ” โดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ข้อความอมตะในไทย

‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ปูชนียบุคคลอีกท่านหนึ่งในไทย เจ้าของข้อเขียน “ผมต้องการมีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ” เป็นข้อเขียนที่ทรงพลังและไร้กาลเวลาอีกชิ้นหนึ่ง

ภาพ: รูปปั้น ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และปรีดี พนมยงค์ ณ อุทยานเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต   ท่ามกลางสภาพมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ใครหลายคนโพสต์และแชร์ข้อความของชายผู้ตายไปแล้ว 20 ปี ซึ่งเขียนข้อความนี้เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ที่ว่า ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ ซึ่งมาจากบทความสั้น ๆ แต่ทรงพลังของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาการทำงานภาครัฐ (Government Service) เมื่อ พ.ศ. 2508 และได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในวาระ 100 ปีชาตกาล เมื่อ พ.ศ. 2559 แต่หลายคนคงไม่ทราบว่า เหตุใดป๋วยถึงเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมา ที่มาของวาทะ “ผมต้องการมีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ” โดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ข้อความอมตะในไทย ที่มาของวาทะ “ผมต้องการมีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ” โดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ข้อความอมตะในไทย

ต้นฉบับลายมือของป๋วย เรื่อง การอยู่ดีกินดีของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ปฏิทินแห่งความหวังจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน) ซึ่งภายหลังปรับปรุงเป็นบทความที่พวกเรารู้จักกันในชื่อ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

ป๋วยคือใคร คำถามที่ว่า ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คือใครนั้น ตอบได้หลายรูปแบบ แต่ถ้าจะกล่าวสั้น ๆ ถึงความคิดของเขา ก็คงบอกได้ว่า เขาคือชายธรรมดาสามัญผู้หนึ่งซึ่งเกิดมาแล้วมีความทะเยอทะยานที่จะทิ้งโลกและประเทศไทยไว้ให้ลูกหลาน เป็นโลกและประเทศที่มีความสงบสุข มีเสรีภาพ และมีความเจริญ(เทียบ จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง เรียนนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ (2515) )โดยที่ไม่ได้เป็นการพัฒนาโลกและประเทศโดยมิได้คำนึงถึงชีวิตของผู้คน เพราะเขามีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชื่อว่า “ประชาธรรม” ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ คือ (1) เสรีภาพและสิทธิของคนแต่ละคน (จำกัดความตามเอกสารสหประชาชาติเรื่องสิทธิของมนุษยชน) ภายในขอบเขตที่จะไม่ทำลายเสรีภาพและสิทธิ์ของผู้อื่น และ (2) การมีส่วนร่วมกำหนดโชคชะตาของสังคมที่เราอาศัยอยู่ แต่ละคนมีสิทธิหน้าที่เท่ากันในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะมีฐานะเพศ หรือกำเนิดมาอย่างใด (แนวทางสันติวิธี (2520)) ซึ่ง “ประชาธรรม” นี้จะได้มาก็โดยวิถีทางสันติวิธีเท่านั้น บทความสำคัญชิ้นหนึ่งที่สะท้อนความคิดของป๋วย ที่พูดถึงคุณภาพชีวิตของผู้คน ไม่เพียงแต่ในประเทศเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปทั้งอุษาคเนย์ ก็คือ ข้อคิดเรื่องการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับ ค.ศ. 1980 [http://puey-ungpakorn.org/index.php/writer/academic/academic01?id=190] ที่มีภาคผนวกเป็นบทความสั้น ๆ ซึ่งภายหลังรู้จักกันในชื่อ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” นั่นเอง ที่มาของวาทะ “ผมต้องการมีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ” โดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ข้อความอมตะในไทย ที่มาของวาทะ “ผมต้องการมีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ” โดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ข้อความอมตะในไทย

การอยู่ดีกินดีของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ปฏิทินแห่งความหวังจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน) 

เผยแพร่ครั้งแรกใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516

การกินดีอยู่ดีของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2516 ระหว่างที่เป็นศาสตราจารย์รับเชิญที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ  ป๋วยได้รับเชิญไปร่วมประชุมกับกลุ่มที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEADAG) ของสมาคมเอเชีย (Asia Society) ที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา จึงได้เขียนบทความเรื่อง ข้อคิดเรื่องการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับ ค.ศ. 1980 ขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ โดยมี ฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ เป็นผู้ช่วย และแปลเป็นภาษาไทยในเวลาต่อมา (ภาคผนวกแปลก่อนในปี 2516 และแปลบทความเต็มในปี 2517 -ดู อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ น.ส.สันธนา เทพวัชรานนท์, หน้า 55-75. ) ป๋วยแสดงทัศนะถึงเรื่องคุณภาพชีวิตไว้หลายประการ ซึ่งไม่ได้คิดถึงเพียงคนไทยเท่านั้น แต่ยังกว้างขวางครอบคลุมไปถึงผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว เขาสรุปว่าการวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือการกินดีอยู่ดีของผู้คนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้ (ก) สันติภาพ การปลอดจากความกลัว การพ้นจากสงคราม การปล้น การกดขี่ข่มเหง การเบียดเบียนประทุษร้าย และการบีบบังคับเผด็จการของข้าราชการและนักการเมือง (ข) สุขภาพอันดีทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ การแพทย์ที่ดีและใช้ได้ง่าย (ค) การปลอดจากความหิวโหยอดอยาก (ง) การประกอบอาชีพที่เป็นประโยชน์ น่าสนใจและมั่นคง มีรายได้พอใช้ (จ) ที่อยู่อาศัยสะอาดและสบาย (ฉ) สิทธิที่จะยึดกรรมสิทธิ์ในผลของการออมทรัพย์ (ช) เสรีภาพในการเชื่อถือและศาสนา เสรีภาพที่จะปฏิบัตินอกแบบ (ซ) โอกาสในการหย่อนใจด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และอื่น ๆ (ฌ) มีส่วนในชุมชนท้องถิ่น (ญ) การรักษาและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม และ (ฎ) ความสามารถช่วยตนเองและช่วยผู้อื่นซึ่งกันและกัน และภาคผนวกของบทความชิ้นยาวนี้ เป็นบทความสั้น ๆ ที่พูดถึงความหวังที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ของผู้คน ซึ่งในครั้งแรกใช้ชื่อว่า การอยู่ดีกินดีของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ปฏิทินแห่งความหวังจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน)  โดยหลังจากการนำเสนอในที่ประชุม ข้อเขียนภาคผนวกนี้ ฉบับภาษาอังกฤษตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ส่วนฉบับภาษาไทยลงเผยแพร่ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับเดือนตุลาคม 2516   ความหวังของรัฐสวัสดิการ ต่อมาในปี 2519 เมื่อป๋วยอายุครบ 60 ปี ได้แสดงปาฐกถาเรื่อง เหลียวหลัง แลหน้า [http://puey-ungpakorn.org/index.php/writer?id=237] และจบลงด้วยว่า “ผมเคยเขียนไว้แล้วในที่อื่น แต่อยากจะยกเอามาให้ท่านทั้งหลายได้อ่านกันอีกเป็นความหวังสำหรับอนาคต และเป็นการแสดงทัศนคติเรื่องคุณภาพแห่งชีวิตที่ผมถืออยู่  คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน โดยมีการปรับปรุงถ้อยคำสำนวน และขยายความมากขึ้นในบางวรรค  ซึ่งเนื้อหาหลักของบทความเป็นข้อเรียกร้องถึงรัฐสวัสดิการ ตั้งแต่ก่อนเกิดไปจนหลังตายในมิติต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่การเป็นทารกในครรภ์ของแม่ ความอบอุ่นในครอบครัว การศึกษา การทำงาน การเมืองการปกครอง การค้าระหว่างประเทศ การเป็นเกษตรกร การอ่านหนังสือ การโฆษณา การรักษาพยาบาล การใช้เวลาว่าง การมีสวนสาธารณะที่เขียวชอุ่ม การมีอากาศและน้ำที่ดี การร่วมมือกันในรูปสหกรณ์ การเสียภาษีอากร การมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ การไม่ตายอย่างน่าเศร้า การจัดการมรดก ไปจนถึงการจัดการศพ และงานศพ  ดังนี้ ที่มาของวาทะ “ผมต้องการมีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ” โดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ข้อความอมตะในไทย

คุณภาพแห่งชีวิต

ปฏิทินแห่งความหวัง

จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับความเอาใจใส่และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากอย่างที่พ่อแม่ผมมีอยู่ และแม่จะต้องไม่มีลูกถี่นัก พ่อกับแม่จะแต่งงานกันถูกกฎหมายหรือธรรมเนียมประเพณีหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่พ่อกับแม่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ทำความอบอุ่นให้ผมและพี่น้อง ในระหว่าง 2–3 ขวบแรกของผม ซึ่งร่างกายและสมองผมกำลังเติบโตในระยะที่สำคัญ ผมต้องการให้แม่ผมกับตัวผมได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาวผมหรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียน จะได้ความรู้หากินได้ และจะได้รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมมีสติปัญญาเรียนชั้นสูง ๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวยหรือจะจน จะอยู่ในเมืองหรือชนบทแร้นแค้น เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ผมต้องการงานอาชีพที่มีความหมาย ทำให้ได้รับความพอใจว่าตนได้ทำงานเป็นประโยชน์แก่สังคม บ้านเมืองที่ผมอาศัยอยู่ จะต้องมีขื่อมีแป ไม่มีการข่มขู่ กดขี่ หรือประทุษร้ายกัน ประเทศของผมควรจะมีความสัมพันธ์อันชอบธรรมและเป็นประโยชน์กับโลกภายนอก ผมจะได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงความคิดและวิชาของมนุษย์ทั้งโลก และประเทศของผมจะได้มีโอกาสรับเงินทุนจากต่างประเทศมาใช้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ผมต้องการให้ชาติของผมได้ขายผลิตผลแก่ต่างประเทศด้วยราคาอันเป็นธรรม ในฐานะที่ผมเป็นชาวนาชาวไร่ ผมก็อยากมีที่ดินของผมพอสมควรสำหรับทำมาหากิน มีช่องทางได้กู้ยืมเงินมาขยายงาน มีโอกาสรู้วิธีทำกินแบบใหม่ ๆ มีตลาดดีและขายสินค้าได้ราคายุติธรรม ในฐานะที่ผมเป็นมนุษย์ ผมก็ต้องการอ่านหนังสือพิมพ์และหนังสืออื่น ๆ ที่ไม่แพงนัก จะฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ก็ได้ โดยไม่ต้องทนรบกวนจากการโฆษณามากนัก ผมต้องการสุขภาพอนามัยดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมอย่างฟรี กับบริการการแพทย์รักษาพยาบาลอย่างถูกอย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอหาพยาบาลได้สะดวก ผมจำต้องมีเวลาว่างสำหรับเพลิดเพลินกับครอบครัว มีสวนสาธารณะที่เขียวชอุ่ม สามารถมีบทบาทและชมศิลปะวรรณคดี นาฏศิลป์ ดนตรี วัฒนธรรมต่าง ๆ เที่ยวงานวัด งานลอยกระทง งานนักขัตฤกษ์ งานกุศลอะไรได้พอสมควร ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำบริสุทธิ์สำหรับดื่ม เรื่องอะไรที่ผมทำเองไม่ได้หรือได้แต่ไม่ดี ผมก็จะร่วมมือกับเพื่อนฝูงในรูปสหกรณ์ หรือสโมสร หรือสหภาพ จะได้ช่วยซึ่งกันและกัน เรื่องที่ผมเรียกร้องข้างต้นนี้ ผมไม่ได้เรียกร้องเปล่า ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ ผมต้องการโอกาสที่มีส่วนร่วมในสังคมรอบตัวผม ต้องการมีส่วนร่วมในการวินิจฉัยโชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ เมียผมก็ต้องการโอกาสต่าง ๆ เช่นเดียวกับผม และเรา 2 คนควรจะได้รับความรู้และวิธีการวางแผนครอบครัว เมื่อแก่ ผมและเมียก็ควรได้ประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคม ซึ่งผมได้จ่ายบำรุงตลอดมา เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ ๆ อย่างบ้า ๆ คือ ตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ เมื่อตายแล้ว ยังมีทรัพย์สินสมบัติเหลืออยู่ เก็บไว้ให้เมียผมพอใช้ในชีวิตของเธอ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็เก็บไว้เลี้ยงให้โต แต่ลูกที่โตแล้วไม่ให้ นอกนั้นรัฐบาลควรเก็บให้หมด จะได้ใช้ประโยชน์ในการบำรุงชีวิตของคนอื่น ๆ บ้าง ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตองในงานศพให้วุ่นวายไป นี่แหละคือ ความหมายแห่งชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาที่จะควรให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน ข้อสุดท้าย ขอขอบพระคุณท่านทั้งหลายที่อุตส่าห์อ่านมาจนจบ ขอความสุขสวัสดีและสันติสุขจงเป็นของท่านทั้งหลาย และพระท่านกล่าวไว้ดังนี้ เกี่ยวกับความสวัสดี “เราตถาคตไม่เห็นความสวัสดีอื่นใดของสัตว์ทั้งหลาย นอกจากปัญญา เครื่องตรัสรู้ ความเพียร ความสำรวมอินทรีย์ และความเสียสละ” ... คุณภาพชีวิตข้างต้นนี้ย่อมไม่ใช่ความหวังของป๋วยเพียงคนเดียว แต่นับเป็นความหวังของพวกเราทุกคนด้วย จะมีใครในเวลานี้ที่ไม่  “ต้องการมีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ” หรืออยาก “ตายอย่างโง่ ๆ อย่างบ้า ๆ คือ ... ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ”  และพวกเรา “ไม่ได้เรียกร้องเปล่า” พวกเราได้ “เสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ” กันมาแล้ว พวกเรา “ต้องการมีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ” และต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเป็นอยู่ในเวลานี้เป็นแน่    เรื่อง: กษิดิศ อนันทนาธร