พูลไท ลวากร: ท่านกำลังเข้าสู่บริการ ‘รับฝากสว.’ โมเดลธุรกิจแห่งความปรารถนาดีในยุคสังคมผู้สูงอายุ

พูลไท ลวากร: ท่านกำลังเข้าสู่บริการ ‘รับฝากสว.’ โมเดลธุรกิจแห่งความปรารถนาดีในยุคสังคมผู้สูงอายุ
ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเดินทางเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่เข้าใกล้สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 และในปี พ.ศ.2564 ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มเป็น 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยสมบูรณ์แบบตามหลักของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียบร้อยแล้ว เมื่อยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนผ่าน รูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ จึงเติบโตขึ้นเพื่อตอบโจทย์ของสังคม เช่นเดียวกับตึกอาคารพาณิชย์เล็ก ๆ ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งมีป้าย ‘รับฝาก สว.’ ตั้งอยู่หน้าอาคาร แต่ สว. ที่ว่านี้ไม่ได้ย่อมาจากสมาชิกวุฒิสภาแต่อย่างใด หากหมายความถึง ‘สูงวัย’ ซึ่งเปิดรับฝากผู้สูงอายุชั่วคราวตั้งแต่ 08.00 – 15.00 น. ที่มีพร้อมทั้งอาหาร ของว่าง เครื่องดื่ม และฟรี Wifi    ท่านกำลังเข้าสู่บริการรับฝาก สว. นายพูลไท ลวากร เจ้าของธุรกิจรับฝาก สว. แห่งนี้ ได้กลับมาใช้ชีวิตวัย 55 ปีที่เบตง ในแต่ละวันเขาจะเดินออกกำลังกายและนั่งดื่มน้ำชายามเช้ากับผู้คนในพื้นที่ ได้พูดคุย รับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน จนวันหนึ่งมีการพูดคุยในประเด็นที่ว่า เบตงเริ่มเข้าสู่ภาวะของผู้สูงวัยแล้ว โดยมีผู้สูงอายุจำนวนมากต้องอาศัยอยู่บ้านเพียงคนเดียว หรือบางคนที่อาศัยอยู่กับลูกหลาน แต่ด้วยภารกิจของลูกหลานในบางครั้งก็จำเป็นจะต้องทิ้งผู้สูงอายุไว้ที่บ้านเพียงลำพัง นายพูลไทจึงเกิดความคิดที่ว่าอยากใช้ประโยชน์จากอาคารพาณิชย์ของตนเองที่เปิดรับสอนหนังสือเพียงช่วงเย็น โดยเปลี่ยนเป็นที่พักพิงให้ผู้สูงอายุมาใช้ชีวิตในช่วงเวลากลางวันที่นี่ได้ เขาจึงเริ่มปรับปรุงสถานที่ให้เป็นแบบ ‘อารยสถาปัตย์’ คือออกแบบสภาพแวดล้อมให้สนองการใช้งานของสมาชิกในสังคม ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นคนทั่วไปวัยเด็กจนไปถึงวัยชรา ใช้รถเข็นผู้ป่วย หรือคนทุพลภาพที่มีความผิดปกติทางร่างกาย อย่างห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุที่เข้าไปแล้วไม่เสี่ยงต่อการลื่นล้ม ปัจจุบัน 'รับฝากสว.' ได้เปิดกิจการมารวมระยะเวลา 3 ปี ซึ่งกระแสตอบรับของสถานที่แห่งนี้เริ่มมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การเปิดรับฝากผู้สูงอายุสำหรับเขานั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากความชำนาญอย่างนักธุรกิจ หากแต่ใช้ประสบการณ์ที่เคยดูแลคนในครอบครัวมาปรับใช้กับธุรกิจแห่งนี้  เขาสร้างบรรยากาศให้ผู้สูงอายุที่นี่รู้สึกสนุกสนานและมีความสุขไปพร้อมกับกิจกรรมที่จัดขึ้น ทั้งการทำอาหาร การเล่นหมากรุก ร้อยลูกปัด หรือจะเล่นกีต้าร์ร้องเพลงให้ผู้สูงอายุได้โยกตัวเบา ๆ คล้ายกับการเต้นแอโรบิก ซึ่งเป็นการเสริมสร้างด้านสุขภาพไปในตัว  นอกจากนายพูลไทแล้ว ยังมีผู้ที่มาดูแลหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชนที่ทำอาชีพดูแลผู้สูงอายุและสามารถอยู่ได้ตลอดทั้งวัน ส่วนพยาบาล บุรุษพยาบาล หรือผู้ช่วยพยาบาลที่เกษียณอายุ จะมาที่นี่เมื่อมีผู้สูงอายุแจ้งความจำนงว่าต้องการให้มาดูแล และมีจิตอาสาที่เป็นอาสาสมัคร (อสม.) รวมทั้งบริบาลผู้สูงวัย เข้ามาช่วยดูแลเป็นครั้งคราว นายพูลไทเล่าว่า เงินรับฝากครั้งละ 300 บาท เขานำมาใช้เป็นค่าตอบแทนคนที่มาดูแลผู้สูงอายุ ส่วนตัวเขาเองจะพอมีรายได้เล็กน้อย จากการบริจาคในกระปุกเล็ก ๆ เท่านั้นเพราะไม่ได้หวังผลกำไรเป็นหลัก หรือบางครั้งเงินจากกระปุกนี้ก็แปรเปลี่ยนเป็นค่ารับฝากให้กับคนที่ขาดแคลน หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ‘รับฝากสว.’ จะคล้ายเนิร์สเซอรี (Nursery) แต่เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากวัยเด็กเป็นวัยผู้สูงอายุ จากพ่อแม่พาลูกไปฝาก กลับกลายเป็นลูก ๆ พาพ่อแม่ไปฝากในช่วงที่ติดธุระในชีวิตประจำวัน   บ้านพักคนชราไม่ได้หมายถึงการทอดทิ้ง เมื่อถามถึงมุมมองเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ นายพูลไทเล่าว่าตอนที่พ่อของเขามาขอไปอยู่บ้านพักคนชรา เพราะอยู่บ้านลูก ๆ ก็ไปทำงาน หลาน ๆ ก็ไปเรียนหนังสือกันหมด ตอนนั้นตัวเขาเองก็เคยมีมุมหนึ่งที่มองว่า “การพาพ่อไปอยู่บ้านพักคนชราผมจะต้องถูกมองว่านำพ่อไปทิ้งและได้รับการตำหนิอย่างแน่นอน” แต่ในเมื่อพ่อของเขาอยากที่จะลองไปอยู่ เขาจึงตอบตกลงให้พ่อไป ปรากฏว่าหนึ่งอาทิตย์ผ่านไปตัวเขาเองได้ไปเยี่ยมคุณพ่อ ท่านดูมีความสุขมาก แถมยังเล่าให้เขาฟังว่า พ่อทั้งได้ร้องเพลง ได้ทำกายภาพ มีเพื่อนร่วมห้องที่ได้พูดคุยกัน เล่นเกมต่าง ๆ และกิจกรรมอีกมากมายให้ทำ สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาเริ่มมองว่าพ่อแม่หรือผู้สูงอายุสามารถมีชีวิตใหม่ มีเพื่อนใหม่ได้ การที่เราจะต้องให้หนุ่มสาวอยู่ดูแลพ่อแม่เท่านั้นมันอาจจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นและไม่ใช่การทอดทิ้งอย่างที่ใครบางคนมีค่านิยมหรือความคิดแบบนั้นอยู่ รวมทั้งตัวเขาเองเมื่อกลายเป็นผู้สูงอายุก็มองในมุมนี้เช่นกัน เพราะสุดท้ายแล้วบั้นปลายชีวิตของคนวัยชรา อาจต้องการเพียงแค่เพื่อน และสุขภาพที่ดี   ทิศทางธุรกิจสำหรับผู้สูงอายุยุคใหม่ นายพูลไทเล่าถึงประสบการณ์ที่เขาเคยพบเจอเกี่ยวกับธุรกิจรับฝากสว. ว่าในยุคนี้มีการเติบโตและความต้องการเพียงใด อย่างสุภาพสตรีท่านหนึ่งดูแลผู้สูงอายุซึ่งเป็นคุณแม่ของตนเอง และมักจะมีเพื่อนบ้านนำผู้สูงอายุคนอื่น ๆ มาฝากเขาดูแลอยู่บ่อย ๆ เมื่อต้องออกไปทำธุระส่วนตัว พอมีการฝากมากเรื่อย ๆ จึงมีคนมาเสนอให้เขาเปิดรับฝากอย่างจริงจัง เขาเลยลองริเริ่มเปิดสถานที่รับฝากสูงอายุขึ้น โดยเริ่มจากบ้านเพียงหนึ่งหลัง ซึ่งกระแสตอบรับกลับมาดีเกินคาด จนตอนนี้สุภาพสตรีท่านนั้นมีการเปิดบ้านเพิ่มถึง 10 หลังเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ดูแลผู้สูงอายุทั้งซอยเลยก็ว่าได้ แต่สำหรับอาคารพาณิชย์ดูแลผู้สูงวัยของคุณพูลไท สามารถรับได้แค่เพียง 8-10 รายเท่านั้นด้วยข้อจำกัดของพื้นที่  ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอสำหรับความต้องการของสังคม แต่เขามองว่าโมเดลธุรกิจนี้ อาจทำให้ผู้ที่สนใจสามารถนำไปปรับใช้ในรูปแบบเดียวกันได้ และเขาเองก็มีการวางแผนที่จะเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่น เพื่อแชร์ข้อมูลกันในเรื่องของผู้สูงวัย รวมทั้งศึกษาและแลกเปลี่ยนกิจการของกันและกัน เพื่อนำมาประยุกต์ว่าจะทำรูปแบบไหน นั่นคือสิ่งที่เขาตั้งใจที่จะทำต่อไป  อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าผู้สูงวัยทุกคนจะเข้าถึงธุรกิจแบบนี้ได้ ดังนั้นภาครัฐเองก็ต้องมีส่วนร่วมในการดูแลรับผิดชอบเช่นเดียวกัน นายพูลไทกล่าวว่า แต่ถ้าหากมองในมุมของเขาที่เป็นผูู้สูงอายุคนหนึ่งเมืองไทย ผู้ที่มีกำลังจ่ายในการจ้างคนมาดูแลมีเพียง 5% นอกนั้นคือผู้ที่มีทุนทรัพย์ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผู้สูงอายุในต่างจังหวัด ทางรัฐบาลเองควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ให้มีหลักสูตรอบรมการช่วยเหลือผู้สูงอายุ รวมทั้งเน้นในเรื่องของสุขภาพ กิจกรรม สร้างสิ่งแวดล้อมให้เป็นอารยสถาปัตย์ และสวัสดิการที่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้พวกเขาเมื่อประเทศไทยมีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ “ผู้สูงวัยคือใคร เขาคือผู้ที่ทำให้ลูกหลานเติบโตขึ้นมาได้ รักษาบ้านรักษาเมืองให้อยู่ได้ ต้องสร้างวัฒนธรรมให้คนกลุ่มนี้อยู่สบายในบั้นปลายชีวิต” แม้การเปิดรับฝากสว. สำหรับนายพูลไทอาจไม่ใช่การประสบความสำเร็จทางธุรกิจหรือเงินทอง หากสิ่งที่เขาได้รับนั้น คือ เพื่อน และได้อ้อมกอดจากลูก ๆ  ของผู้สูงวัยที่นำพ่อแม่มาฝากพร้อมกับคำพูดที่ว่า ‘ถ้าไม่มีคุณ ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง’ ชวนให้เขารู้สึกเหมือนว่าได้แบ่งเบาภาระของคนเหล่านั้น แม้จะไม่ได้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่อะไรก็ตาม  สุดท้ายแล้วความสุขในวัย 62 ปีของนายพูลไทอาจจะเป็นเพียงแค่การได้ช่วยเหลือสังคม และสร้างรอยยิ้มให้กับผู้อื่น ผ่านอาคารพาณิชย์ที่มีป้าย 'รับฝากสว.' แห่งนี้   เรื่อง : ภัคจีรา ทองทุม