ปันการดี: พวงหรีดหนังสือสู่การให้ที่ตรงใจผู้รับ ฉบับ ‘คนตายสร้างคนเป็น’

ปันการดี: พวงหรีดหนังสือสู่การให้ที่ตรงใจผู้รับ ฉบับ ‘คนตายสร้างคนเป็น’
กล่องกระดาษลูกฟูกใบใหญ่ที่มีสีสันสดใส ตกแต่งด้วยลวดลายของดอกไม้นานาชนิด ด้านหน้ามีข้อความว่า ‘ด้วยความเคารพและอาลัย’ ทำให้เรารู้ได้ว่ากล่องกระดาษใบนั้นคือพวงหรีดรูปแบบใหม่ที่มีรูปทรงเหมือนกับหนังสือเล่มใหญ่ และยังเป็นสัญลักษณ์ของการส่งต่อหนังสือให้กับผู้รับ เพื่อพัฒนาคนอย่างยั่งยืนของธุรกิจเพื่อสังคมอย่าง ‘ปันการดี’   จุดเริ่มต้นปันการดี “เรามีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าคนเราพื้นฐานของคุณภาพบุคคลมันต้องเกิดจากการศึกษาหาความรู้ การอ่านจะเป็นตัวเริ่มต้นให้เราอยากจะศึกษาหาความรู้เรื่องอื่น ๆ ต่อไป” ปันการดีเริ่มต้นขึ้นมาจากการที่ผู้บริหาร 3 คน ที่เคยร่วมงานกันในโครงการหรีดหนังสือของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย แม้ว่าทุกคนจะมีไลฟ์สไตล์และอาชีพที่แตกต่างกันก่อนที่จะมาสร้างธุรกิจนี้ โดย มุก-ไข่มุกข์ ปั้นแตง ที่ทำงานประชาสัมพันธ์มาก่อน ชื่น-ชื่นกมล ศรีสมโภชน์ ทำงานด้านคอนเทนต์ เป็นคนเขียนบท และทำสำนักพิมพ์ สุดท้ายคือ ดีเจเฟี้ยต-ธัชนนท์ จารุพัชนี ที่ทำงานเป็นดีเจและพิธีกร ซึ่งหลาย ๆ คนอาจคุ้นหน้าคุ้นตากันมาบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งสามคนมีร่วมกันคือความตั้งใจที่จะพัฒนาคนอย่างยั่งยืน และเพิ่มโอกาสให้เด็กและเยาวชนให้ได้รับการศึกษาผ่านการอ่านหนังสือ เป็นที่มาของการก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคมอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ที่มีชื่อว่า ‘ปันการดี’    พวงหรีดรูปทรงหนังสือ “เราไม่ได้เป็นเจ้าแรกเจ้าเดียว แต่เราทำรูปทรงไม่ให้เหมือนชาวบ้านเขา เจ้าอื่นเขาก็จะเป็นหรีดวงกลม แต่ของเราจะทำเป็นเหลี่ยม รูปทรงคล้ายกับหนังสือ เราต้องการสื่อว่าสิ่งที่คุณให้ก็คือหนังสือ” กล่องกระดาษหน้าตาเหมือนกับหนังสือเล่มขนาดใหญ่ ซึ่งทำมาจากกระดาษรีไซเคิล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการออกแบบหรีดให้เป็นรูปดอกไม้นานาชนิด เพื่อเป็นตัวแทนของการไว้อาลัยอีกรูปแบบหนึ่ง ที่จะแตกต่างออกไปจากพวงหรีดอื่น ๆ แต่หากเป็นพวงหรีดที่ทำจากกระดาษ เมื่องานศพจบลงแล้วก็สามารถนำกระดาษไปขาย และส่งต่อไปรีไซเคิลได้ “บางงานเจ้าภาพก็ใช้เป็นหรีดเจ้าภาพ ญาติสนิทมิตรสหายก็พร้อมใจกันสั่งตามเขา จบงานมัคนายกก็ยิ้มเลย เพราะว่าเอาไปขายได้ แล้วกระดาษก็เอาไปรีไซเคิลต่อได้”    บริจาคหนังสือตามความต้องการของผู้รับ “หนังสือในคุกชอบส่งไปแต่ธรรมะ ที่สำคัญมันอาจกระทบจิตใจเขาด้วยนะ ส่วนหนึ่งการส่งหนังสือธรรมะไปให้เป็นเหมือนกับการดูถูกว่าเขาเป็นคนแย่มาก จะต้องอ่านแต่หนังสือพวกนี้ ซึ่งจริง ๆ เขาก็รู้สึกว่านิยายก็อยากอ่าน” ปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริจาคหนังสือ คือหนังสือส่วนใหญ่ที่ถูกนำไปบริจาคจะเป็นหนังสือมือสองที่ไม่มีใครต้องการ หรือเป็นหนังสือที่ผู้รับไม่อยากอ่าน ปันการดีจึงมาแก้ปัญหานี้ และให้ผู้รับบริจาคได้เลือกหนังสือที่เขาอยากอ่านจริง ๆ “ถ้าเราส่งหนังสือตามความคิดที่เราว่าดี เขาอาจจะไม่ได้ใช้งานเลย เราไม่ได้ติดกับราคาหนังสือ เราติดแค่ว่าเขาได้ใช้ไหม หนังสือแพงก็ซื้อ ถ้าเขาได้ใช้ก็ซื้อ ไม่เกี่ยงเลย” การซื้อหรีดหนังสือของปันการดี 1 ชิ้น เท่ากับการบริจาคหนังสือใหม่ 1 เล่ม ให้กับผู้รับ โดยปันการดีจะเลือกผู้รับที่มีศักยภาพที่ต้องการพัฒนาคน โดยมีเป้าหมายคือการบริจาคหนังสือจำนวน 100 เล่ม ให้กับผู้รับไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิ หรือโรงพยาบาล เช่น มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.) ที่เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน ทั้งคนนอกและในระบบที่ไม่มีโอกาส รวมไปถึงแรงงานเด็กหรือลูกหลานของแรงงานต่างด้าว เพื่อให้พวกเขาได้รับการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น “เขาก็เลือกหนังสือหลากหลายทั้งหนังสือเด็ก หนังสือผู้ใหญ่ วรรณกรรมเยาวชน หรือว่าหนังสือคู่มือ ที่เขาจะสามารถนำไปพัฒนาได้ วันที่เราไปมอบเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการสอนตัดเย็บเสื้อผ้า มีโรงเรียนฝึกอาชีพ เพราะเขาบอกว่าที่พม่าไม่นิยมใส่เสื้อผ้าสำเร็จรูป ยังนิยมที่จะตัดเย็บด้วยตัวเอง เขาก็เลยฝึกเด็กผู้หญิงให้สามารถที่จะเรียนตัดเย็บได้ แต่หนังสือคู่มือตัดเย็บยังไม่เคยมีเลย เขาก็อยากได้ เพราะมันจะมีเรื่องของแพตเทิร์น เราก็ซื้อ และส่งกลับไปให้เขาเพิ่ม แล้วเขาเอาไปใช้งานได้จริง” หรือการบริจาคหนังสือให้กับศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อให้เด็ก ๆ ที่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน ได้เรียนอย่างต่อเนื่อง และไม่ต้องขาดเรียนระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาล “เราไม่รู้ว่าอนาคตเขาจะเป็นยังไง แต่เด็กยังอ่านออกเขียนได้ อย่างน้อยพื้นฐานยังได้ก็โอเค เราแค่เข้าไปช่วยในสิ่งที่เขาขาด งบประมาณอาจจะมีน้อย เราเข้าไปแค่เอาหนังสือดี ๆ ไปให้เขา” “พอเด็กร่างกายสดชื่น ได้รับการรักษา พอเขาสดชื่น เขาก็วิ่งเข้ามาเรียนแล้วก็ตั้งใจ คุณครูก็แค่ต้องการหนังสือคู่มือการเรียนการสอนให้น้อง ๆ เข้าใจวิชาเรียนง่ายขึ้น ถ้าน้องกลับบ้านไปสามารถที่จะให้ยืมหนังสือกลับบ้านไปด้วยได้ แล้วพอมาหาหมอครั้งหน้าก็เอามาแลกกัน เหมือนเป็นห้องสมุด เอามาแลกกันอ่าน เพราะเขาก็อยากจะให้เด็กรักการอ่านไปด้วยในตัว”   เติบโตไปพร้อมกับชุมชน “เราพยายามทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุดในทุกขั้นตอน ต่อไปข้างหน้าก็จะเป็นผู้ป่วยมะเร็งหรือว่าคนที่อยู่ในเรือนจำมาดีไซน์ ตอนนี้ก็กำลังเริ่มพัฒนากันอยู่ เป้าหมายของปันการดีที่กำลังพัฒนาคือการร่วมมือกับชุมชน สร้างรายได้ให้กับพวกเขา เช่น ครอบครัวของผู้ป่วยโรคไตที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ที่ช่วยกันนำถุงใส่น้ำยาฟอกไตมาเย็บและรีไซเคิลเป็นถุงใส่พวงหรีดหนังสือ เกิดการกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชน และให้พวกเขาเติบโตไปพร้อม ๆ กับปันการดี และในอนาคต ปันการดีก็ตั้งใจที่จะร่วมมือกับผู้ป่วยมะเร็งหรือผู้ต้องขังในเรือนจำให้เขามีโอกาสในการทำงานมากขึ้นด้วย การที่มีคนซื้อหรีดปันการดีไปก็เท่ากับมีการประชาสัมพันธ์สถานที่นั้น ๆ ไปในตัว เพราะในบางสถานที่พวกเขาอาจจะต้องการปัจจัยอื่น ๆ ที่มากไปกว่าหนังสือ เช่น อาหาร บุคลากร หรือการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เป็นต้น “อย่าง มยช. ก็ให้คนไปเลี้ยงอาหารน้อง ๆ ก็ได้ หรือโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ เขาก็ต้องการทุนจ้างคุณครู ห้องสมุดคนตาบอดก็ยังต้องการซื้อ Cloud ต้องการ Server จำนวนพนักงานก็ยังน้อยอยู่ คนตาบอดเขาก็อยากอ่านหนังสือใหม่ ๆ เหมือนกันนะ”   คนตายสร้างคนเป็น “พี่ลดอีโก้ของตัวเอง พี่ก็จะมีความอดทนกับลูกค้าสูงมาก จากปกติที่ไม่อดทนเลย ลูกค้าจะเยอะขนาดไหน ลูกค้าจะอยากได้ยังไงก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงให้เขา เขาทักมาก็ดีใจแล้ว ไม่ซื้อนะ แต่ก็ขอบพระคุณที่ยังนึกถึงกัน” มุก หนึ่งในผู้บริหารเล่านอกจากธุรกิจปันการดีที่ในตอนนี้มีการระดมทุนมาจากการขายพวงหรีด โดยทั้งสามคนเห็นตรงกันว่า เป็นธุรกิจที่ทำให้ ‘คนตายได้สร้างคนเป็น’ นั่นคือการจากไปของคนคนหนึ่งจะได้สร้างคนที่ยังมีชีวิตอยู่ให้มีความรู้มากขึ้น และสามารถพัฒนาคนเหล่านั้นผ่านหนังสือที่เขาต้องการจริง ๆ  และไม่ใช่เพียงแค่ผู้รับที่ได้ความรู้ใหม่ ๆ แต่ในตัวของผู้บริหารปันการดีเองก็ได้มีการพัฒนาในด้านการทำธุรกิจไปด้วย ทั้งเรื่องการปรับปรุงการบริการ การขนส่ง หรือรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ ให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น หรือแม้กระทั่งเรื่องของจิตใจที่พวกเขาได้รับความสุขจากการให้ในแต่ละครั้ง  “อย่างที่เคยเจอเด็กที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ เขาพิการ เด็กพิการที่นั่นไม่ใช่พิการแค่ 1 นะ คนหนึ่งจะพิการ 2 หรือ 3 ในตัวเอง เช่น อาจจะไม่ได้ยิน บางคนพูดไม่ได้ ต้องใช้ตาแล้วมอง ตัวอักษรที่พ่อทำบัตรคำ แล้วก็มองตัวอักษรให้ผสมคำแล้ว เด็กก็พูดว่า ‘ขาดก็เติม ล้นก็แบ่ง’ แค่คำพูดแค่นี้ พี่ก็รู้สึกว่ามันคือสัจธรรมชีวิต เราก็ไม่ได้เดือดร้อนมาก แต่เราแบ่งให้คนอื่นได้”   เรื่อง: กัญญาภัค ขวัญแก้ว ภาพ: จุลดิศ อ่อนละมุน