หน่วยรบคุดส์ กองกำลังปลดปล่อยเยรูซาเลมของอิหร่าน 

หน่วยรบคุดส์ กองกำลังปลดปล่อยเยรูซาเลมของอิหร่าน 
"อิสลามคือศาสนาแห่งนักรบผู้ยึดมั่นในสัจจะและความยุติธรรม เป็นศาสนาของผู้ปรารถนาซึ่งเสรีภาพและอิสรภาพ เป็นสถาบันสำหรับผู้ต่อต้านจักรวรรดินิยม แต่ทาสรับใช้จักรวรรดินิยมฉายภาพของอิสลามเป็นคนละเรื่อง พวกเขาสร้างภาพที่ผิดเพี้ยนของอิสลามฝังในจิตใจของผู้คน การนำอิสลามในรูปแบบอันบกพร่องไปเผยแพร่ในสถาบันสอนศาสนาของพวกเขานั้นก็เพื่อบั่นทอนคุณค่าอันเป็นแก่นแท้ของอิสลามและลดคุณค่าของภาคการปฏิวัติลงเพื่อป้องกันไม่ให้มุสลิมลุกขึ้นสู้เพื่ออิสรภาพ เพื่อเติมเต็มภารกิจทางศาสนา และสร้างรัฐบาลที่จะมอบความสุขและให้โอกาสพวกเขาแสวงหาคุณค่าของชีวิตในฐานะมนุษย์"  รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี อดีตผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านกล่าว (Islam and Revolution, Writings and Declarations of Imam Khomeini) ก่อนหน้าการปฏิวัติอิสลาม อิหร่านถูกครอบงำโดยกลุ่มอำนาจต่างชาติมายาวนานหลายร้อยปี เช่น รัสเซียในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ตามมาด้วย อังกฤษ และสหรัฐฯ ที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายรัฐบาลอิหร่าน รวมถึงวางแผนโค่นล้มรัฐบาลที่มาอย่างชอบธรรมด้วยการสนับสนุนการรัฐประหารในยุคชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ปาห์ลาวี ชาห์ผู้นิยมและพึ่งพาอิทธิพลตะวันตกเป็นอย่างมาก กลายเป็นชาห์องค์สุดท้ายของอิหร่าน หลังการปฏิวัติอิสลามในปี 1979 เบื้องต้นกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่านอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตั้งรับ จากทั้งเพื่อนบ้านชิดพรมแดนอย่างอิรักที่รุกล้ำพรมแดนด้วยต้องการแย่งชิงทรัพยากรน้ำมัน และด้วยความกังวลว่ารัฐบาลชีอะห์ของอิหร่านจะปลุกระดมให้ชาวชีอะห์ในอิรักทำตัวกระด้างกระเดื่อง ไปจนถึงชาติตะวันตกที่เสียผลประโยชน์ และชาติอาหรับที่นับถืออิสลามต่างนิกาย ทั้งยังต้องเจอการต่อต้านภายในจากกลุ่มอำนาจเดิม และขั้วนิยมรัฐโลกวิสัยภายในประเทศ เมื่อตั้งหลักได้ รัฐบาลอิหร่านจึงเห็นว่า คงไม่อาจปล่อยให้กลุ่มอำนาจจากต่างแดนเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของตนได้อีก และหันมาปฏิบัติการเชิงรุกเป็นฝ่ายขยายอิทธิพลทั้งด้านอุดมการณ์ ศาสนา และการทหารออกไปต่างแดน  หน่วยรบคุดส์ (Quds Force) ก็ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่อิหร่านใช้เพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว  ชื่อของหน่วยรบคุดส์มาจากภาษาอาหรับว่า อัล-คุดส์ (Al-Quds) แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของอิหร่านที่ต้องการจะขจัดอิทธิพลตะวันตกให้พ้นไปจากภูมิภาค เพราะมันเป็นชื่อของนครเยรูซาเลมในภาษาอาหรับ ดินแดนที่อยู่ใต้การปกครองของชาวมุสลิมมาอย่างยาวนาน ก่อนตกอยู่ใต้อำนาจรัฐบาลชาวยิวที่เกิดขึ้นได้ด้วยการตกลงของมหาอำนาจตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน โครงสร้างหน่วยรบคุดส์จึงขึ้นตรงต่อประมุขสูงสุด ซึ่งมีสถานะสูงกว่าประธานาธิบดี และสถาบันใด ๆ ในอิหร่าน การปฏิบัติการของหน่วยรบฯ ยังปกปิดเป็นความลับไม่มีใครรู้แน่ว่าองค์กรนี้ได้งบแต่ละปีเป็นจำนวนเท่าไร มีสมาชิกมากน้อยแค่ไหน การประมาณของผู้เชี่ยวชาญตะวันตกเชื่อว่า จำนวนสมาชิกน่าจะมีอย่างน้อย 3,000 คน ไปจนถึง 50,000 คน แต่รายละเอียดที่แน่ชัดจะเป็นอย่างไร แม้แต่รัฐสภาอิหร่านเองก็ยังไม่รู้ (LA Times) หน่วยรบคุดส์ถูกใช้ในการปฏิบัติการนอกประเทศทั้งในด้านข่าวกรอง การฝึกฝนกำลังรบ และการทหาร โดยได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายพื้นที่ขัดแย้ง เป็นฝ่ายให้การสนับสนุนกองกำลังชีอะห์ หรือกลุ่มผลประโยชน์ร่วมในพื้นที่ต่าง ๆ    “หน้าที่สำคัญของพวกเขาคือการปฏิบัติภารกิจพิเศษนอกอิหร่าน และจากประวัติศาสตร์ ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา พวกเขาได้เข้าไปเกี่ยวข้องในหลายเวที ทั้งในอัฟกานิสถาน ในทศวรรษที่ 1980s และทศวรรษ 1990s ที่ไปให้การสนับสนุนผู้ต่อต้านรัฐบาลอิรัก และกลุ่มชาวเคิร์ดในภาคเหนือเพื่อคอยก่อกวนรัฐบาลซัดดัม (ฮุสเซน) ช่วงต้นทศวรรษ 1990s พวกเขายังมีส่วนร่วมอย่างมากในบอสเนีย ทำหน้าที่คอยให้ยุทโธปกรณ์กับมุสลิมบอสเนีย ปฏิบัติการของพวกเขามักจะไม่ค่อยมีการรายงานข่าว รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งที่ซูดานใต้ ต้นทศวรรษ 1990s โดยพวกเขาร่วมมือกับรัฐบาลซูดาน พวกเขาจึงไปมีส่วนร่วมในหลายเวที” มาฮัน อะเบดิน (Mahan Abedin) ผู้เชี่ยวชาญด้านอิหร่านในอังกฤษ กล่าวกับ Radio Free Europe หน่วยรบคุดส์ยังมีบทบาทสำคัญในซีเรีย พันธมิตรหลักของอิหร่านในภูมิภาค ซึ่งช่วยให้รัฐบาลของบัชชาร อัลอะซัด (Bashar al-Assad) ยังคงอยู่รอดได้ท่ามกลางภัยคุกคามรอบด้าน รวมไปถึงการฝึกฝนและสนับสนุนกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ (Hezbollah) ในเลบานอน และเข้าไปแทรกแซงอิรักเพื่อต่อต้านอิทธิพลอเมริกันหลังยุคซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำหน่วยรบคุดส์ คาเซ็ม สุเลมานี (Qasem Soleimani) ที่ถูกลอบสังหารโดยสหรัฐฯ เมื่อต้นปี 2020 คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จขององค์กร สื่อสหรัฐฯ บางรายยกให้เขาเป็นผู้นำที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางของตะวันออกกลางยิ่งกว่าผู้นำของไอเอส อัลกออิดะฮ์ หรือ กลุ่มเคลื่อนไหวนิกายซุนนีกลุ่มใด ๆ ในช่วงสองทศวรรษนับตั้งแต่วันที่เขาขึ้นมาครองอำนาจ จากข้อมูลของ Tehran Times สื่ออิหร่าน สุเลมานี เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 1957 ในจังหวัดเคอร์แมน (Kerman) ทางตอนใต้ของอิหร่าน เติบโตขึ้นมาในครอบครัวของเกษตรกร ตอนเด็ก ๆ เขาต้องเข้าเมืองไปทำงานก่อสร้างเพื่อช่วยหาเงินเข้าบ้าน ก่อนทำงานรับเหมาให้กับการประปาในท้องถิ่นและใช้เวลาว่างในการเข้ายิมเล่นกล้าม สุเลมานี เข้ากองกำลังพิทักปฏิวัติในปี 1979 หลังการปฏิวัติอิสลาม และเริ่มต้นวิชาชีพทหารอย่างจริงจังในช่วงสงครามกับอิรักระหว่างทศวรรษ 1980s และก้าวหน้าจนได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 41 ภายหลังจึงได้เข้าไปมีส่วนกับการปฏิบัติภารกิจนอกประเทศ ให้ความช่วยด้านการทหารให้กับกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอน ก่อนรับตำแหน่งผู้นำหน่วยรบคุดส์ตั้งแต่ปี 1998 หน่วยรบคุดส์ถูกสหรัฐฯ จับให้อยู่ในกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนการก่อการร้ายในปี 2007 หลังจากนั้น สุเลมานีที่เคยปฏิบัติการอยู่ในเงามืดมาตลอดก็เริ่มแสดงตัวมากขึ้น โดยในปี 2008 ซึ่งอิหร่านกำลังแข่งอิทธิพลกับสหรัฐฯ ในอิรักอยู่นั้น สุเลมานีได้ส่งสาส์นบอกกล่าวไปถึงอดีตผู้อำนวยการซีไอเอ เดวิด เพเทรส (David Petraeus) ผ่าน จาลัล ตาลาบานี (Jalal Talabani) อดีตประธานาธิบดีอิรักในขณะนั้นว่า “ถึงนายพลเพเทรส คุณควรทราบไว้ว่า ผม คาเซ็ม สุเลมานี คือผู้ควบคุมนโยบายของอิหร่านในภาคที่เกี่ยวข้องกับอิรัก เลบานอน กาซา และอัฟกานิสถาน” (The New Yorker และในปี 2018 เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาทวีตข้อความว่า “อย่าได้ข่มขู่สหรัฐฯ อีก ไม่เช่นนั้นแล้วคุณก็จะได้รับผลกรรมเช่นเดียวกับคนหยิบมือหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่เคยโดนมาก่อน เราไม่ใช่ประเทศที่จะนิ่งเฉยกับคำขู่ด้วยความรุนแรงและความตายได้อีกต่อไป”  สุเลมานีออกแถลงการณ์ตามมาว่า “มันเป็นเรื่องที่ไม่สมเกียรติที่ประธานาธิบดีของเราจะออกมาตอบโต้” ก่อนเสริมว่า “เราอยู่ใกล้คุณแค่คืบ อย่างที่คุณไม่คาดคิด เรามีความพร้อมบนสังเวียนนี้”  ปี 2019 เป็นปีที่สหรัฐฯ และอิหร่านกระทบกระทั่งกันหลายครั้ง แต่การลอบสังหารสุเลมานีถือเป็นมาตรการรุนแรงที่สุดที่สหรัฐฯ เคยใช้กับอิหร่านนับแต่การปฏิวัติอิสลาม โดยสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า สุเลมานีคือผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรตามความร่วมมือเพื่อต่อต้านกองกำลังไอเอส รวมถึงการวางแผนโจมตีนักการทูตอเมริกันและเจ้าหน้าที่ทั้งในอิรักและทั่วภูมิภาค  ขณะที่ในอิหร่าน สุเลมานีคือวีรบุรุษคนสำคัญตั้งแต่ยุคสงครามอิรัก-อิหร่านจนถึงปัจจุบัน การตายของเขาทำให้ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ประมุขสูงสุดของอิหร่านประกาศให้มีการไว้ทุกข์ให้กับเขาเป็นเวลาสามวัน และให้คำมั่นว่าจะต้องแก้แค้นให้กับอดีตผู้นำหน่วยรบพิเศษรายนี้ และแน่นอนว่า หน่วยรบคุดส์น่าจะมีบทบาทอย่างสำคัญในการทำตามเป้าหมายดังกล่าว