Queen - Bohemian Rhapsody: บันทึกชีวิตที่ ‘เฟร็ดดี’ ไม่เคยเล่า และความงามของการเกิดใหม่ในนามราชินี

Queen - Bohemian Rhapsody: บันทึกชีวิตที่ ‘เฟร็ดดี’ ไม่เคยเล่า และความงามของการเกิดใหม่ในนามราชินี
/ Is this the real life?  Is this just fantasy? /   เริ่มจากเสียงร้อง a cappella อันตราตรึงผู้คนให้นิ่งและฟังตั้งแต่พยางค์แรก เสียงเปียโนที่ ‘เฟร็ดดี เมอร์คิวรี’ พรมปลายนิ้วเพื่อเล่น บรรเลงประสานด้วยเมโลดี้แว่วหวานเจือเศร้า เรื่องราวใน ‘Bohemian Rhapsody’ บทเพลงที่ถูกนับเป็นตำนานแห่งวงร็อกนามราชินีอย่าง ‘Queen’ กำลังหวนไห้ - ครวญเพลงถึงชายคนหนึ่งที่พลั้งมือฆ่าคนและจำต้องชดใช้ด้วยชีวิตตนเอง ‘Bohemian Rhapsody’ คือเพลงที่ผู้เขียนรักและประทับใจที่สุดนับจากเพลงใด ๆ ที่เคยมีขึ้นบนโลก ‘Bo Rhap’ ได้สร้างสิ่งที่ไม่เคยมีเมื่อราวสี่สิบปีที่แล้ว และยังไม่มีท่วงทำนองดนตรีใดทดแทนหรือให้ความรู้สึกเสมอเหมือนได้ในสี่สิบกว่าปีให้หลัง ตลอดระยะเวลาราวหกนาทีของดนตรีกว่าสี่หรือห้าประเภท - อะ แคปเปลลา บัลลาด ฮาร์ดร็อก และโอเปร่า ทั้งหมดที่กล่าวมาถูกผนวกเข้าไว้เป็นหนึ่งบทบรรเลง เพื่อบอกเล่าทั้งชีวิตของชายผู้ประพันธ์มันขึ้นมา ใครถูกฆ่าในผลงานชิ้นเอกของ Queen และใครคือผู้ได้เกิดใหม่อย่างภาคภูมิ - แม้เรื่องราวเหล่านี้จะไม่เคยถูกเล่าจากปากของเฟร็ดดี ผู้ที่ใช้เสียงของเขาขับร้องมันจนจวนลมหายใจสุดท้าย หากเราก็พอจะปะติดปะต่อเรื่องราวได้ จากทฤษฎีมากมายที่ถูกขยายโดยคนรอบตัวของนักร้องผู้เป็นตำนาน   ราชินีในเทปเพลง หลังจากเผยโฉมหน้าในฐานะราชินีแห่งโลกดนตรี ด้วย ‘Sheer Heart Attack’ อัลบั้มอันดับที่ 3 ของวงที่ได้บรรจุ ‘Killer Queen’ เพลงฮิตเพลงแรกที่โลกรู้จักในปี 1974 ‘A Night At The Opera’ คืออัลบั้มถัดมาที่ถูกบันทึกเสียงและวางขายในปี 1975 ‘Bohemian Rhapsody’ คืองานระดับมาสเตอร์พีซจากอัลบั้มนั้น ที่ถูกประพันธ์โดยนักร้องนำของวงอย่างเฟร็ดดี - มากกว่า 160 แทร็กถูกบันทึก ควบรวมเป็น 24 อะนาล็อกแทร็ก ประกอบกันเป็นเพลงเพลงนี้ นับว่ามีจำนวนแทร็กมาก และวิธีการอัดก็ซับซ้อนเต็มทีในยุคที่ทุกอย่างยังเป็นการอัดเสียงลงเทปม้วนยาวเหยียด ไม่ใช่โปรแกรมสร้างดนตรีอย่างปัจจุบัน  ว่ากันว่าเดิมที ชื่อแรกของ ‘Bo Rhap’ ไม่ใช่ ‘Bohemian Rhapsody’ ที่แปล ‘Bohemian’ ว่าศิลปิน (artist) และแปล ‘Rhapsody’ ว่าเหนือจินตนา (fantasy) แต่เป็นชื่อเพลงเรียบง่ายว่า ‘The Cowboy Song’ และเนื้อเพลงท่อนติดหู ‘Mama, Just killed a man’ ก็ไม่ได้ถูกสร้างสรรค์ให้เป็นอะแคปเปลลา บัลลาด ร็อก โอเปร่า อย่างที่เราได้ยินในปัจจุบัน แต่ฟังคล้ายเพลงคาวบอยคันทรีเสียมากกว่า ผลงานชิ้นนี้งอกงามและเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในห้วงคิดของเฟร็ดดี สุดท้าย เสียงเปียโนและกลองก็กลายเป็นแบ็กกิ้งแทร็กแรกในขั้นตอนการอัดเสียง  “เฟร็ดดีเล่นเปียโนราวกับว่าเขากำลังตีกลอง นอกจากเมโลดี้แล้วมันมีจังหวะ เขามีสไตล์เป็นของตัวเอง และนั่นกลายเป็นกุญแจดอกแรกของเพลง และของเรา” ไบรอันเล่าถึงเพื่อนร่วมวงผู้ล่วงลับของเขา และเล่าว่าเสียงเปียโนของเฟร็ดดีนั้นบันดาลใจกระทั่งท่อนโซโล่กีตาร์ของเขาเองด้วย สิ่งที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ เมื่อพูดถึงควีนในห้องอัดเสียง หากใครเคยรับชมภาพยนตร์โบโอพิกของควีนที่มีชื่อเดียวกันกับเพลง ก็คงจะคุ้นกับฉากที่มือกลองอย่างโรเจอร์ เทเลอร์ (รับบทโดยเบน ฮาร์ดี) ต้องทำเสียงสูงแข่งกับไก่ขันในท่อนโอเปร่า ‘Galileo’ ฉากนั้นเกิดขึ้นจริงในห้องอัดของควีน ย่านเสียงต่ำโดยไบรอัน เสียงกลางโดยเฟร็ดดี และเสียงสูงโดยโรเจอร์ ถูกขับขานประสานซ้ำแล้วซ้ำเล่า กว่า 'ท่อนเด็ดที่เฟร็ดดีชอบ' ตามที่ไบรอันเรียกจะออกมาถูกใจอย่างที่นักร้องนำของวงอยากให้มันเป็นที่สุด แต่ทำไมต้อง ‘Galileo’? ทำไมต้อง ‘Scaramouch’ และ ‘Beelzebub’ เรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในถ้อยภาษาที่นักวิจารณ์บางคนเคยด้อยค่าว่าไร้ความหมาย (nonsense) เหล่านั้นคืออะไรกันแน่   / Thunderbolts and lightning! very, very frightening me!  Galileo, Galileo, Galileo, Galileo Galileo, Figaro - magnifico /   นักดาราศาสตร์หรือพระเจ้า ท่ามกลางเสียงสูงเสียดฟ้าของโรเจอร์ และคำ ‘Galileo’ ที่ถูกร้องซ้ำกว่าห้ารอบ ‘เลสลีย์-แอนน์ โจนส์’ ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติเฟร็ดดี ได้เคยนั่งต่อหน้านักร้องเจ้าของเพลงนี้ และสาธยายทฤษฎีที่เธอคาดว่าถ้อยคำแปลก ๆ ใน ‘Bo Rhap’ น่าจะเป็นให้เขาฟัง “ฉันบอกเขาว่า ‘Scaramouch’ คือตัวแทนของตัวเขาเอง จากการแต่งตัวที่แสนฉูดฉาดบนเวที ‘Galileo’ คือไบรอัน เมย์ ที่เรียนฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ทั้งยังสนใจในดาราศาสตร์อย่างล้นเหลือ ‘Beelzebub’ อาจหมายถึงโรเจอร์ เทเลอร์ จอมปาร์ตี้ประจำวง ขณะที่ ‘Figaro’ อาจไม่ได้หมายถึง ‘จอห์น ดีคอน’ โดยตรง แต่ก็น่าจะมีความเชื่อมโยงกับเจ้าเหมียวทักซิโดจากวอลต์ ดิสนีย์ในช่วงปี 1940s” เช่นเดียวกันกับทฤษฎีอื่น ๆ เฟร็ดดีเพียงแต่รับฟัง ไม่ได้ตอบอะไรกลับมา และปล่อยให้ ‘Scaramouch’ ตัวตลกจอมขี้กลัวในวรรณกรรมอิตาลีจากศตวรรษที่ 17, ‘Galieo’ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชาวอิตาลี, ‘Beelzebub’ อีกชื่อของซาตาน, ‘Figaro’ ตัวละครจากโอเปร่า ‘The Barber of Seville’ และผลงานโอเปร่าฝีมือโมสาร์ต ‘The Marriage of Figaro’ รวมทั้ง ‘Bismillah’ ที่แปลว่าในนามแห่งพระอัลเลาะห์ ยังคงเป็นท่อนเจ้าปัญหาที่แม้แต่เจ้าตัวก็เอ่ยปากบ่อย ๆ ว่า ‘มันไม่มีความหมายอะไรนักหรอก’ ต่อไป บางคนกล่าวว่า ‘Galileo’ คืออีกพระนามของพระเจ้า และเรื่องราวในเพลงท่อนนั้นก็คือการร้องเรียกให้พระเจ้าช่วยเหลือ บางคนกล่าวว่า ‘มันมีความหมาย แต่เป็นความหมายที่มีแค่เฟร็ดดีที่รู้ และเขาไม่มีวันบอกเรา’ ตรงกับถ้อยคำของมือกลองอย่างโรเจอร์ ที่เคยพูดไว้ว่า “ผมถามเขาตั้งแต่ครั้งแรก และก็ถามเขาอยู่เรื่อย ๆ ‘มันแปลว่าไงวะ’ แต่เขาไม่เคยตอบเลยสักครั้ง” ขณะที่ไบรอัน เมย์ เล่าเสมอว่าครั้งแรกที่ ‘Bo Rhap’ ปรากฎต่อหน้าพวกเขา มันอยู่ในรูปแบบกระดาษหลายแผ่น เก่าคร่ำคร่า และมีเพียงเฟร็ดดีผู้สร้างมันขึ้นมาที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร “เขาบอกผมว่าเพลงนี้ไร้ความหมาย แต่ผมรู้ได้ว่ามันมี เพราะเฟร็ดดีได้ใส่จิตวิญญาณของตนลงในเพลง” ท่ามกลางคำวิเคราะห์ที่หลากหลายและถกเถียงได้ไม่รู้จบ ‘ทิม ไรซ์’ เพื่อนของเฟร็ดดีผู้มีอาชีพเป็นคอมโพสเซอร์ดนตรีได้ตั้งข้อสังเกต “เพลงนี้คือการเปิดตัวเป็นเกย์ของเฟร็ดดี เขาฆ่าตัวเองคนเก่า แล้วเกิดใหม่อย่างสง่างามด้วยความรักและเคารพตนเอง”   เมอร์คิวรีที่ถูกยิง เฟร็ดดีเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ - เกย์ ตามที่หลายคนเรียกเขา, ไบเซ็กชวล บางคนกล่าว อ้างอิงจากความจริงที่ว่าคนรักของเฟร็ดดีนั้นมีทั้งหญิงและชาย, เควียร์ บางคนบอกเช่นนั้น แต่เฟร็ดดีนั้นไม่เคยกล่าวอธิบาย หรือระบุเรียกตัวเองด้วยถ้อยคำใด ๆ ที่บ่งบอกถึงเพศวิถี เขาเพียงแต่ใช้ชีวิต ร้องและแต่งเพลงมากมายรวมทั้ง ‘Bohemian Rhapsody’ เพลงที่หลายคนวิเคราะห์ว่าเป็นเพลง 'come out' ของเขาในฐานะ LGBTQ+ ‘Mama, Just kill a man’ เฟร็ดดี้ร้องไว้อย่างนั้น ท่ามกลางเสียงเปียโนต่างกระสุนซึ่งลั่นไก เฟร็ดดีคนเก่า - เฟร็ดดีที่เป็นชายรักหญิงตามกรอบสังคมตายด้วยกระสุนนัดนั้น และเฟร็ดดีคนใหม่ซึ่งลั่นไกใส่หัวตัวเองต้องเผชิญหน้ากับคำพิพากษา ซึ่งอาจเทียบเคียงกับคำตัดสินจากครอบครัว สังคม และผู้คนที่บ่ายหน้าโจมตีเขาและวิถีรักที่เขาเป็น คำวิเคราะห์ของทิมตรงกับความคิดของ ‘จิม ฮัตตัน’ (Jim Hutton) คนรักผู้อยู่เคียงข้างเฟร็ดดี้ในช่วงเจ็ดปีสุดท้ายก่อนการจากไปด้วยอาการแทรกซ้อนจากเอดส์เมื่อปี 1991  จิมเชื่อว่า ‘Bohemian Rhapsody’ คือคำสารภาพของเฟร็ดดีต่อโลก คือการคาดเดา ความหวัง และความสุขของเขาหลังจากได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ “เพลงนี้คือทั้งชีวิตของเขา และเขาก็ไม่ต้องการจะป่าวประกาศความหมายของมันให้โลกรู้ เพราะมันคือเรื่องส่วนตัว เหมือนกับที่เขาเก็บความลับเรื่องอาการป่วยไว้กับตัวและแทบไม่เคยบอกใคร” เฟร็ดดีตรวจพบเชื้อ HIV ในปี 1987 (สองปีหลังจากคอนเสิร์ต Live Aid) และเปิดเผยเรื่องนี้กับครอบครัวและเพื่อนสนิทจำนวนไม่มากในปี 1989 โดยไม่เคยประกาศหรือให้ข่าวแก่สาธารณะแม้จะมีการคาดเดาหนาหูสักเท่าไร จนกระทั่งวันที่ 23 พฤศจิกายน 1991 หรือเพียงหนึ่งวันก่อนโมงยามสุดท้าย ที่คำลือของสื่อหนังสือพิมพ์กลายเป็นความจริงด้วยแถลงการณ์จากเฟร็ดดี้เอง 24 พฤศจิกายน 1991 ไม่มีลมหายใจของเฟร็ดดี เมอร์คิวรีบนโลกนี้อีกต่อไป ความตายของนักร้องนำผู้เป็น ‘เจ้าของเสียงร้องมหัศจรรย์’ และ ‘นักสร้างความสุขบนเวที’ ได้พาให้เสียงเพลง ‘The Show Must Go On’ ของควีนที่อัดในปี 1990 และปล่อยออกมาในรูปแบบซิงเกิลเมื่อหกสัปดาห์ก่อนหน้า ทะยานขึ้นติดชาร์ตอีกครั้งต่างการไว้อาลัย และเพลง ‘Bohemian Rhapsody’ ก็กลับมาขึ้นชาร์ตเช่นกัน เช่นเดียวกับเนื้อเพลง ‘The Show Must Go On’ เสียงดนตรีของควีนจะยังอยู่ แม้ผู้ที่เคยเป็นราชินีหนึ่งเดียวของโชว์จะไม่มีชีวิตเพื่อขับร้องมันอีกแล้ว แต่ดนตรีของพวกเขาจะเดินทางข้ามเวลา และประทับทุกถ้อยลงในใจผู้คนเรือนหมื่น แสน และล้านไม่ต่างจากที่เคย เวลาล่วงมาจนยุค 2010s ในคอนเสิร์ตของ ‘Green Day’ วงร็อกสัญชาติอเมริกัน ที่มักจะคั่นกลางระหว่างพักโชว์ด้วยเพลง ‘Bohemian Rhapsody’ อยู่หลายครั้ง และทุกครั้งผู้คน (ซึ่งโดยมากเป็นวัยหนุ่มและสาวที่บางคนอาจเกิดไม่ทันยุครุ่งเรืองของควีน) ก็จะตะโกนร้องเพลงนี้ให้สุดเสียงไปกับเวทีที่ว่างเปล่า เพื่อสนุกกับโชว์ที่ตามองไม่เห็น แต่หูของพวกเขายังได้ยิน บางที เสียงร้องท่อน ‘Galileo!’ ที่ผู้คนกว่าครึ่งแสนช่วยกันร้องนั้นอาจจะดังไปถึงฟ้า และเฟร็ดดีเองก็อาจจะได้ฟังถ้อยดนตรีที่ตัวเองแต่งเมื่อหลายต่อหลายสิบปีที่แล้ว จากที่ไหนสักที่ด้วยก็เป็นได้ “จะทำอะไรกับเพลงของฉันก็ได้ทั้งนั้น แค่ไม่ทำให้ฉันเบื่อก็พอ” - เฟร็ดดี เมอร์คิวรี   / Nothing really matters, Anyone can see, Nothing really matters, Nothing really matters to me Any way the wind blows… /   ที่มา:  https://youtu.be/TJJWF8Oi7Pk https://youtu.be/v15oIktGJOo https://www.udiscovermusic.com/stories/queen-bohemian-rhapsody-song-history/ https://metro.co.uk/2018/10/24/what-does-bohemian-rhapsody-mean-and-what-is-the-story-behind-it-8070968/ https://www.historyvshollywood.com/reelfaces/bohemian-rhapsody/ https://www.songfacts.com/facts/queen/bohemian-rhapsody