สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 "นารีขี่ม้าขาว" ความท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 "นารีขี่ม้าขาว" ความท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 "นารีขี่ม้าขาว" ความท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ความรักกับราชบัลลังก์ ในเวลาที่พระเจ้าจอร์จที่ 5 ครองแผ่นดินอังกฤษนั้น ทรงมีเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เป็นรัชทายาท  จนเมื่อพระองค์สวรรคต เจ้าชายพระองค์นี้ได้สืบราชสมบัติต่อมาเป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ในปี ค.ศ. 1936 แต่แล้วในปลายปีเดียวกันนั้นเอง พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ก็ทรงสละราชสมบัติ เพราะทรงบูชาความรักที่มีต่อนางวอลลิซ ซิมป์สัน เหนืออื่นใด รวมถึงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ด้วย เนื่องจากนางซิมป์สันเป็นสตรีม่ายผู้ผ่านการหย่าร้างมา ขุนนางผู้ใหญ่จึงคัดค้านอย่างแข็งขัน กดดันให้ออกจากราชสมบัติ ราชบัลลังก์จึงมาเป็นของสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าชายอัลเบิร์ต จอร์จ  เมื่อทรงเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 6 แล้ว พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของพระองค์ คือเจ้าหญิงเอลิซาเบธ จึงเป็นรัชทายาท  และเมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จสู่สวรรคาลัยในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1952 เจ้าหญิงเอลิซาเบธจึงผ่านพิภพขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษเป็น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อพระชนมายุได้ 25 พรรษา เพราะความรักที่สมเด็จพระราชปิตุลามีต่อหญิงม่าย อยู่เหนือความปรารถนาในราชบัลลังก์นั่นเอง ทำให้การสืบราชสันตติวงศ์สืบสายมาถึงพระองค์ได้   กษัตริยาแห่งบัลลังก์อังกฤษ ในประวัติศาสตร์อังกฤษ มีกษัตริยาครองบัลลังก์เพียง 6 พระองค์ (ไม่นับราชินีแจน เกรย์ ที่ถูกเชิดให้ครองบัลลังก์เพียง 9 วัน) ได้แก่

  1. สมเด็จพระราชินีนาถแมรี่ที่ 1 แห่งราชวงศ์ทิวดอร์ (ค.ศ. 1553 - 1558)
  2. สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งราชวงศ์ทิวดอร์ (ค.ศ. 1558 - 1603)
  3. สมเด็จพระราชินีนาถแมรี่ที่ 2 ครองบัลลังก์ร่วมกับพระสวามี พระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 3 แห่งราชวงศ์สจ๊วต (ค.ศ. 1689 - 1702)
  4. สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ แห่งราชวงศ์สจ๊วต (ค.ศ. 1702 - 1714)
  5. สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งราชวงศ์ฮาโนเวอร์ (ค.ศ. 1837 - 1901)
  6. สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์วินด์เซอร์ (ค.ศ. 1952 - ปัจจุบัน) ซึ่งครองสิริราชสมบัติยาวนานกว่าพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษทุกพระองค์ที่ผ่านมา

  หมอกควันในอากาศและความคลุมเครือในการเมือง ที่อังกฤษ ในกรุงลอนดอนเอง ประสบปัญหาหมอกควันมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี ตั้งแต่ช่วงคริสตศตวรรษที่ 13 จนมาถึงต้นรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2  หมอกควัน “ซุปถั่ว” กลุ่มควันสีดำอมเหลืองก็ปกคลุมทั่วเมืองนานนับสัปดาห์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1952  แล้วจากหมอกควันที่คุ้นเคย ก็กลายเป็นหมอกหนาที่ลงจัดจนทัศนวิสัยในการมองเห็นแย่ลงจนเหลือเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น และคร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 12,000 คน แกนนำพรรคอนุรักษนิยม ฝ่ายค้านจึงใช้โอกาสนี้โจมตีรัฐบาลของนายวินสตัน เชอร์ชิล  และรวมตัวกับชนชั้นนำเครือข่ายราชวงศ์บางกลุ่ม กดดันสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ให้ทรงแทรกแซงทางการเมืองโดยปลดเขาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยอ้างเหตุชราภาพ ขาดประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยในเวลานั้นเชอร์ชิลวัย 78 ปี มีสุขภาพที่ทรุดโทรมมาก หลังจากเส้นโลหิตแตกจนเป็นอัมพฤกษ์ ใช้แขน ขา มือ และปากไม่ได้เต็มที่ ในซีรี่ส์ The Crown ได้สะท้อนความยากลำบากที่สมเด็จพระราชินีนาถพระองค์ใหม่ต้องเผชิญ ผ่านบทสนทนากับสมเด็จพระราชินีแมรี่ พระอัยยิกา Queen Elizabeth II: “It doesn’t feel right, as Head of State, to do nothing.” (ในฐานะประมุขของรัฐ ไม่รู้สึกว่าถูกต้องที่จะไม่ทำอะไร) Queen Mary: “It is exactly right.” (ถูกต้องแล้ว) Queen Elizabeth II: “But surely doing nothing is no job at all? (แต่แน่นอนว่าการไม่ทำอะไรไม่ใช่งานเลย) Queen Mary: “To do nothing is the hardest job of all. And it will take every ounce of energy that you have. “To be impartial is not natural, not human. People will always want you to smile or agree or frown. And the minute you do, you will have declared a position. A point of view. And that is the one thing as sovereign that you are not entitled to do. "The less you do, the less you say or agree or smile—" (การไม่ทรงทำอะไรนี่แหละงานยากที่สุด และจะผลาญพลังงานทั้งหมดที่ทรงมี “การมีความเป็นกลาง ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่มนุษย์  ราษฎรต้องการให้พระองค์แย้มพระสรวล หรือเห็นด้วย หรือขมวดพระขนงอยู่เสมอ  และเมื่อพระองค์ทำ พระองค์จะทรงประกาศตำแหน่งแห่งที่หรือพระราชทัศนะ  และนั่นคือสิ่งหนึ่งที่กษัตริยาเช่นพระองค์ไม่มีสิทธิทำ “ยิ่งทรงทำน้อย ก็ยิ่งตรัส หรือเห็นด้วย หรือแย้มพระสรวล ... น้อยลง) Queen Elizabeth II: “Or think? Or feel? Or breathe? Or exist?” (หรือคิด? หรือรู้สึก? หรือหายใจ? หรือมีตัวตน? อยู่น้อยลงด้วย?) Queen Mary: “The better.” (ก็ยิ่งดี) ท้ายที่สุดในการตัดสินใจครั้งนั้น พระองค์ก็เลือกที่จะไม่แทรกแซงทางการเมือง  ส่วนการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลนั้น รัฐบาลได้ดำเนินการลดมลพิษอุตสาหกรรมจนสภาพอากาศดีขึ้น และมีการออกพระราชบัญญัติอากาศบริสุทธิ์ ในปี ค.ศ. 1954 ด้วย   ความท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จูเซปเป ดิลัมเปดูซา เคยเขียนไว้ว่า “ถ้าเราต้องการให้สิ่งต่างๆ ยังคงอยู่กับเราดังเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งทั้งหลายทั้งมวลจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง” ข้อความที่ขัดแย้งกันเองเช่นนี้คือสิ่งที่ท้าทายสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2  เพราะในด้านหนึ่ง พสกนิกรชาวอังกฤษต้องการเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีประโยชน์ เป็นบ่อเกิดแห่งเกียรติยศ และเป็นศูนย์รวมใจให้ราษฎร  แต่ในอีกด้านหนึ่ง ชาวอังกฤษก็ต้องการเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทันสมัย นอกจากนี้ การที่สถาบันพระมหากษัตริย์มีอำนาจทางการเมืองลดลง ก็ทำให้สมาชิกในพระราชวงศ์ทรงมีวิถีชีวิตที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่สามัญชนถือว่าเป็น “ความสัมพันธ์ปกติ” ได้มากขึ้น  และตราบจนตลอดรัชสมัย ราชวงศ์วินด์เซอร์ของพระองค์ในปัจจุบันมิใช่แบบอย่างของความมีศีลธรรมเคร่งครัดอีกต่อไป หากแต่เป็นแบบอย่างของผู้มีใจใฝ่กุศลและผู้ที่ใช้เหตุผลสามัญสำนึกเป็นเครื่องนำทาง ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้ทรงวางพระองค์เป็นแบบอย่างที่ดีของคุณสมบัติของทั้งสองประการข้างต้นนี้ และความเป็นกลางทางการเมืองซึ่งเป็นหัวใจของสถาบันพระมหากษัตริย์ นับเป็นสิ่งที่ท้าทายพระองค์มาตลอดพระชนม์ชีพ  เพราะทรงตระหนักดีว่าหากทรงทำท่ารำคาญขุ่นเคืองพระราชหฤทัยกับนักการเมืองซึ่งเป็นผู้แทนของราษฎร เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียหรือสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 3 แล้ว ความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมตกอยู่ในอันตราย เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์จะมั่นคงอย่างวัฒนาสถาพรได้ ก็โดยแต่ความจงรักภักดีของราษฎรนั่นเอง   คำถามที่ท้าทาย เคยมีคนถามว่า ระบบกษัตริย์ในอังกฤษจะอยู่ได้ต่อไปอีกนานเพียงใด คำตอบที่ดูจะเหมาะสมและเห็นสัจธรรมที่สุดก็คือ คำตอบของลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบตเตน พระมาตุลา (น้า) ของดยุคแห่งเอดินบะระห์ พระสวามีของพระองค์ ที่ได้เคยกล่าวไว้เมื่อ ค.ศ. 1977 ว่า “ระบบกษัตริย์ในอังกฤษจะอยู่นานตราบเท่าที่สมเด็จฯ ท่านทรงมีคนดีๆ อยู่รอบตัวท่านนั่นแหละ”   ที่มา

  • ดวงใจ [ประทุมพร วลัยเสถียร], เบื้องหน้าเบื้องหลังบัลลังก์อังกฤษ (กรุงเทพฯ: เพื่อนดี, 2550)
  • เฮิร์ด ดักลาส, เอลิซาเบธที่ 2 : แน่วแน่ในปณิธาน, แปลโดย ธงทอง จันทรางศุ และนรชิต สิงหเสนี (กรุงเทพฯ: โอเพ่นโซไซตี้, 2559)
  • https://thepeople.co/great-smog-of-london/
  • http://pokpong.org/writing/blog/the-crown/

   เรื่อง : กษิดิศ อนันทนาธร