วสันต์ นุ้ยภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อนไหม: การเดินทางของผ้าไหมไทยที่ต้องไปให้ไกลกว่ากระแสสังคม

วสันต์ นุ้ยภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อนไหม: การเดินทางของผ้าไหมไทยที่ต้องไปให้ไกลกว่ากระแสสังคม
หากนึกถึงศิลปวัฒนธรรมไทยที่โด่งดัง เราจะนึกถึงอะไรเป็นสิ่งแรก ? หลายคนอาจนึกถึงลวดลายตามวัด โบราณสถาน ลายกนก ไปจนถึงวัฒนธรรมการไหว้และอาหารและเครื่องดื่มที่มีมาแต่โบราณ ทั้งหมดนี้คือศิลปะไทยที่สอดแทรกเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน รวมถึง ‘ผ้าไหมไทย’ ที่สร้างชื่อในระดับโลกมาหลายครั้งหลายครา ไม่นานมานี้ The People ได้สนทนากับ วสันต์ นุ้ยภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อนไหม ถึงการมีอยู่ของศิลปวัฒนธรรมไทยบนผ้าไหม ที่สอดแทรกเรื่องราวตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอผ้าหนึ่งผืน ลวดลายบนผืนผ้าที่มีมาตั้งแต่ร้อยปีก่อน ที่คงไว้ด้วยอัตลักษณ์แบบดั้งเดิมทุกประการ ในเวลาเดียวกันก็ได้สร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับผ้าไหมไทยมากขึ้น และได้รู้ว่าทุกอย่างต่างต้องเดินหน้าต่อไป ไม่เว้นแม้แต่งานศิลปะจากอดีตอย่างผ้าไหมไทยที่ก็กำลังพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อให้ตัวเองได้ไปต่อ และต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสสังคมที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเหมือนกับคนอื่น ๆ   The People: กรมหม่อนไหมก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์อะไร และส่งเสริมผลงานผ้าไทยอย่างไรบ้าง  วสันต์: กรมหม่อนไหมตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2552 โดยพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แต่ก่อนจะมาเป็นกรมหม่อนไหม แรกเริ่มเรามีหน่วยงานหลักอยู่ 2 หน่วยงาน คือ สถาบันวิจัยหม่อนไหม กับ หน่วยงานส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ที่อยู่ในกรมส่งเสริมการเกษตร ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 ทรงมีพระราชดำริให้รวมสองหน่วยงานเป็นศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติพระนางเจ้าสิริกิติ์ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เราทำงานในนามของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติพระนางเจ้าสิริกิติ์อยู่ 4 ปี พอถึงปี 2552 ได้ยกฐานะจากศูนย์วิจัยเป็นกรมหม่อนไหม ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ตั้งแต่ตั้งกรมขึ้นใหม่ ๆ เรามีพันธกิจและหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบอยู่ 4 หน้าที่หลัก เริ่มด้วยการอนุรักษ์ผ้าไหมไทยให้คงอยู่ต่อไป พร้อมกับสร้างมาตรฐานผ้าไหมให้ไปถึงระดับสากล ต่อมาคือพัฒนางานวิจัย ศึกษาค้นคว้าเพื่อต่อยอดให้ไหมไทยก้าวไกลกว่าเดิม พยายามปรับปรุงหม่อนไหมให้มีผลผลิตที่สูงขึ้น ปรับปรุงพันธุ์ไหมให้แข็งแรง เวลาเดียวกันเราจะศึกษาลวดลายใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ งานต่อมาคือการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีไปสู่เกษตรกรไทย เพื่อพัฒนาชีวิตเกษตรกรให้กินดีอยู่ดีกว่าเดิม และเรื่องสุดท้ายคือการดูแลตลาดไหมทั้งในและต่างประเทศ วสันต์ นุ้ยภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อนไหม: การเดินทางของผ้าไหมไทยที่ต้องไปให้ไกลกว่ากระแสสังคม The People: เหตุใดถึงไม่ค่อยมีผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมรุ่นใหม่ คิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาไม่เลือกที่จะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ วสันต์: ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยเข้าสู่กระบวนการทำไหม เราจะเห็นว่าคนส่วนใหญ่ที่เลี้ยงไหมหรือทอผ้ามักเป็นรุ่นที่มีอายุมาก พอพวกเขาเริ่มล้มหายตายจากกันไปเรื่อย ๆ ก็ไม่มีใครทำงาน เพราะแรงจูงใจเรื่องรายได้อาจต่ำเกินไปหน่อย อาชีพการเลี้ยงไหมของคนไทยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือคนที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มนี้จะทำเป็นอาชีพหลัก ส่วนอีกกลุ่มคือการเลี้ยงไหมไทยพื้นบ้านพันธุ์สีเหลืองดั้งเดิม จากนั้นเขาจะนำไหมมาย้อมสีแล้วทอขาย อันนี้จะเป็นกลุ่มที่ทำเป็นรายได้เสริม แต่ข้อดีของการทำไหมคือเกษตรกรจะได้เงินเป็นรายเดือน ระยะเวลาการเลี้ยงไหมในตลาดอุตสาหกรรมจะอยู่ราว ๆ 20 วัน ส่วนการเลี้ยงพันธุ์ดั้งเดิมจะอยู่ที่ 30 วัน แตกต่างจากพืชยืนต้นอื่น ๆ ที่อาจต้องรอนานถึง 6 เดือน หรือบางชนิดอาจต้องรอกันเป็นปีถึงจะมีรายได้ อย่างไรก็ตาม การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอขายจะต้องใช้ประสบการณ์ ฝีมือ ภูมิปัญญาที่สืบทอดกันรุ่นสู่รุ่น แถมการทอผ้ายังต้องใช้ความประณีตละเอียดอ่อน ด้วยข้อกำหนดที่เยอะสักหน่อยทำให้คนรุ่นใหม่ไม่นิยมเข้าสู่อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมากนัก ซึ่งเราก็พยายามผลักดันและสร้างทายาทหม่อนไหมทั้งในระดับชุมชน โรงเรียน นำเสนอสื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับอาชีพนี้ให้มากขึ้น The People: นอกจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ในตลาดการผลิตที่ยังขาดแคลน จะทำอย่างไรให้ฝั่งผู้บริโภคที่ไม่ใช่ลูกค้าหลักอย่างกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน หันมาสนใจผ้าไหมไทยมากขึ้น วสันต์: เดิมทีลวดลายผ้าไหมไทยส่วนใหญ่จะดั้งเดิมมาก ๆ บางลายมีอายุเป็นร้อยปี วัยรุ่นสมัยใหม่ก็จะไม่ค่อยอยากหยิบมาใส่ เพราะไม่ถูกกับเทรนด์แฟชั่นปัจจุบัน ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กรมหม่อนไหมพยายามผลักดันการออกแบบและการดีไซน์ใหม่ โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการและกรมอาชีวะ จัดประกวดออกแบบชุดผ้าไหมระดับเยาวชน ให้วัยรุ่นเป็นคนออกแบบลวดลาย ดีไซน์สไตล์ต่าง ๆ ด้วยผ้าไหมไทย จัดแฟชั่นโชว์ พรีเซนต์ผ้าไทยดีไซน์ใหม่ไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่อย่างวัยรุ่นไทยและคนต่างชาติ เพื่อตอบสนองความต้องการของเด็กรุ่นใหม่มากขึ้น เพราะพวกเขาจะรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร อยากใส่เสื้อผ้าแบบไหน นอกจากนี้ เราพยายามรณรงค์ให้คนไทยใส่ชุดผ้าไหมไทยในงานต่าง ๆ เช่น งานบวช งานแต่ง หรืองานพระราชพิธีของพวกข้าราชการ นอกจากคนรุ่นใหม่ ตลาดต่างประเทศก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เราจึงร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม ให้สถานทูตกว่า 50 ประเทศมาเลือกผ้าไหมของเรา แล้วเอาไปให้ดีไซเนอร์ตัดเย็บชุดประจำชาติ เมื่อแล้วเสร็จก็เชิญเอกอัครราชทูตกับภริยามาเดินแบบที่สโมสรกองทัพบก ซึ่งชาวต่างชาติก็ให้ความสนใจมาก ๆ เกิดการผสมผสานระหว่างผ้าไทยกับดีไซน์ของแต่ละชาติ ใช้งานได้จริง วสันต์ นุ้ยภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อนไหม: การเดินทางของผ้าไหมไทยที่ต้องไปให้ไกลกว่ากระแสสังคม The People: ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่ผลิตผ้าไหมออกสู่ตลาดโลก หลายประเทศต่างก็ทำเหมือนกับเรา แล้วอะไรคือจุดแข็งของไหมไทยที่จะสู้กับผ้าไหมส่งออกของประเทศอื่น ๆ วสันต์: ผ้าไหมไทยมีจุดเด่นสำคัญคือผลิตโดยเส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านที่ชื่อว่า ‘รังสีเหลือง’ เราเป็นประเทศที่เพาะพันธุ์ไหมชนิดนี้ได้มากที่สุดในโลก รองลงมาคือลาวกับกัมพูชา ไหมพันธุ์รังสีเหลืองจะโดดเด่นเรื่องความเหนียว เมื่อตัดเย็บเป็นชุดจะไม่ยับ รีดง่าย เนื้อผ้ามีลักษณะเป็นปุ่ม ๆ และค่อนข้างหนา ต่างจากไหมจีนที่จะบางกว่า ไหมรังสีเหลืองของเราจึงมักถูกนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ ทำผ้าม่านตามโรงแรมต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีลวดลายเป็นหมื่น ๆ แบบ ทั้งแบบดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และลายใหม่ ๆ ที่ทันสมัยมากขึ้น นอกจากไหมรังสีเหลือง กระบวนการผลิตผ้าไทยจะเน้นการฟอกและย้อมด้วยสีธรรมชาติ ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผู้สวมใส่ก็รู้สึกสบายใจ ปัจจุบันกรมหม่อนไหมมีตรานกยูงพระราชทานทั้งหมด 4 ตรา ที่จะการันตีถึงคุณภาพของผ้าว่าสีไม่ตกและทำจากไหมแท้ โดยแบ่งประเภทตามเส้นไหมที่ใช้กระบวนการผลิต ตรานกยูงสีทอง ใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านรังสีเหลือง 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเส้นไหมที่มีลักษณะกลมสวยงาม ใช้วิธีการทอด้วยการทำมือทั้งหมด จะเป็นผลงานที่คงไว้ด้วยวิธีการดั้งเดิมแบบโบราณแท้ ๆ ที่จะใช้เวลาทอนานกว่าจะได้ผ้าไหมหนึ่งผืน ตรานกยูงสีเงิน เส้นไหมที่ใช้จะผสมกันระหว่างพันธุ์รังสีเหลืองกับพันธุ์รังสีขาว ใช้กระบวนการผลิตแบบกี่กระตุก ที่จะเร็วกว่าการทำผ้าตรานกยูงสีทองประมาณ 10 เท่าตัว ตรานกยูงสีน้ำเงิน ผ้าไหมประเภทนี้จะใช้รังไหมสีขาวที่อาจเป็นไหมจากการเพาะทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้กระบวนการผลิตด้วยเครื่องจักร จะได้ปริมาณเยอะกว่าผ้าไหมตรานกยูงสีทองและสีเงิน ตรานกยูงสีเขียว ผ้าไหมที่ใช้เส้นใยไหมผสมกับเส้นใยธรรมชาติชนิดอื่น ๆ แต่เส้นไหมจะต้องเป็นส่วนประกอบหลักที่เยอะที่สุด เช่น ผ้าตรานกยูงสีเขียวหนึ่งผืนใช้เส้นไหม 40 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นฝ้ายกับปออย่างละ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือดีไซเนอร์บางคนอาจรีเควสต์มาก่อนว่าต้องการให้ใช้ดิ้นทองด้วยเพื่อให้ผ้าสวยงามโดดเด่น The People: คนส่วนใหญ่ยังคงคิดว่าผ้าไหมเป็นสินค้าราคาสูงแถมยังดูแลยาก จึงอยากให้อธิบดีกรมหม่อนไหมแนะนำการดูแลรักษาเบื้องต้นสำหรับวัยรุ่นและคนทั่วไปที่เริ่มสนใจผ้าไหมไทย วสันต์: การดูแลรักษาชุดผ้าไหมไม่ค่อยต่างกับการดูแลชุดสูทเท่าไหร่ หากส่งซักแห้งจะตกตัวละเกือบร้อยบาท ถ้าใส่สองวันส่งซักสองตัวก็มีค่าใช้จ่ายหลายร้อย มันแพงเกินไป เราแค่ต้องซื้อน้ำยาซักแห้งผสมกับน้ำ 5 ลิตร (ซักได้สองตัว) แช่ผ้าทิ้งไว้ 15-20 นาที หากตรงไหนเปื้อนก็ขยี้เบา ๆ แล้วล้างน้ำ ตากให้แค่หมาด ๆ แล้วนำมารีดได้เลย อย่าโยนเข้าเครื่องสักผ้าหรือตากให้ผ้าแห้งเกินไป เพราะโครงสร้างของผ้าไหมจะหลวมกว่าผ้าชนิดอื่น ถ้าตากแห้งเกินไปแล้วจะรีดยาก วิธีการดูแลไม่มีอะไรมากครับ อยากให้คนไทยหันมาใช้ผ้าไหมไทยกันเยอะ ๆ เพราะไหมไทยบางลายซื้อเก็บไว้ราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ผ้าไหมบางผืนซื้อมาราคา 65,000 บาท บางผืนราคาหลักแสนหลักล้าน เก็บไว้อีกหน่อยก็ขายได้ราคาแพงขึ้นไปอีก วสันต์ นุ้ยภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อนไหม: การเดินทางของผ้าไหมไทยที่ต้องไปให้ไกลกว่ากระแสสังคม The People: นอกจากเครื่องแต่งกายกับเฟอร์นิเจอร์ เราสามารถนำไหมไทยไปใช้กับอะไรได้อีกบ้าง วสันต์: เป็นได้หลายอย่างมาก ๆ ตอนนี้ไหมไทยกำลังพยายามตีตลาดสินค้าหลายประเภท เช่น การทำไหมขัดฟัน เพราะไหมขัดฟันปัจจุบันถึงแม้จะชื่อไหม แต่ก็ไม่ใช่ไหม เพราะทำจากเส้นใยสังเคราะห์ เราจะทำไหมขัดฟันที่เป็นไหมจริง ๆ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ เรามองเห็นว่าในช่วงหนึ่งปีประเทศจีนสั่งหมอนยางพารามากถึง 10 ล้านใบ เราจะพยายามเจาะตลาดตรงนี้ด้วยการทำปลอกหมอนไหมขายพร้อมกับหมอนยางพารา แค่ยอดสั่งซื้อปลอกหมอน 1 ล้านใบ ก็ทำให้ผ้าไหมเราหมดประเทศ เพราะความต้องการสูงมาก แต่เราจะไม่เอาเสื้อผ้าไหมไปสู้กับตลาดจีนเพราะต้นทุนเขาถูกกว่า เราจะใช้เอกลักษณ์ไปสู้กับเขา ขายในสิ่งที่เขาไม่มี นอกจากนี้ กรมหม่อนไหมยังมองอินโดนีเซีย เพราะประเทศเขามีประชากรเยอะ แม้ผู้ชายในประเทศที่นับถือมุสลิมจะไม่สามารถใช้ผ้าไหมได้ แต่ยังมีผู้หญิงอีกมากที่จะซื้อผ้าไหมไทยไปทำเครื่องแต่งกาย ไหมมีโปรตีนสองชนิดด้วยกันคือ ‘ไฟโบริอิน’ ในเส้นใยชั้นใน มีคุณสมบัติเหนียว โดดเด่นเรื่องการทอผ้า ส่วนโปรตีนที่หุ้มไฟโบรอินคือ ‘เซริซิน’ มักถูกใช้เป็นองค์ประกอบของเครื่องสำอาง เมื่อสกัดแล้วมีราคาสูงกว่าเส้นไหมเสียอีก เราก็จะใช้เส้นไหมหนึ่งเส้นสร้างมูลค่าในด้านต่าง ๆ ดูว่าแต่ละที่ต้องการสินค้าแบบไหน เราก็จะปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของเขา วสันต์ นุ้ยภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อนไหม: การเดินทางของผ้าไหมไทยที่ต้องไปให้ไกลกว่ากระแสสังคม เดิมทีพวกเครื่องดนตรีไทยอย่างซอชนิดต่าง ๆ ในสมัยโบราณจะใช้สายจากเส้นไหมแท้ แต่ภายหลังเปลี่ยนมาใช้เส้นใยสังเคราะห์ เราจึงร่วมมือกับกรมศิลปากรเพื่อศึกษาเรื่องนี้ให้ลึกขึ้น เอาเส้นไหมกลับมาใช้กับเครื่องดนตรีอีกครั้ง จากนั้นทดลองบรรเลง ปรากฏว่าเสียงกังวานไพเราะมาก นักฟังเพลงหลายคนบอกว่าเสียงดีกว่าเส้นแบบเก่า เราก็จะสามารถอนุรักษ์เครื่องดนตรีไทยกับไหมไทยไปพร้อมกันได้ นอกจากเส้นไหม รังไหมยังถูกนำไปทำสบู่และที่ขัดผิว บริษัทในเกาหลีใต้ซื้อแผ่นใยไหมจากเราเป็นล้านแผ่นเพราะเขาจะเอาไปทำที่มาสก์หน้า ส่วนดักแด้ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งพลังงานชั้นยอด เพราะองค์การอนามัยโลกเคยประกาศว่าในอนาคตอันใกล้โลกมนุษย์อาจต้องพึ่งโปรตีนจากแมลงมากขึ้น ดักแด้พวกนี้จะถูกนำไปผสมกับไอศกรีม แครกเกอร์ หรือนำไปสกัดเพื่อเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกส่วนประกอบสามารถทำเงินได้หมดเลย ไม่ใช่แค่ไหม การปลูกหม่อนยังเอาใบมาทำชาใบหม่อน ตอนหลังจะมีหม่อนพันธุ์หนึ่งที่ใบน้อยแต่ผลเยอะ เราก็เอามาทำน้ำมัลเบอร์รี่ เราจะไม่เรียกว่าน้ำหม่อนหรือน้ำลูกหม่อนเพราะขายไม่ได้ ตอนแรกเราตั้งชื่อว่าน้ำหม่อน กลั่นใส่ขวดพลาสติกขายราคา 10 บาท ไม่มีใครซื้อเลยครับ ตอนหลังเลยเปลี่ยนแพคเกจเป็นขวดแก้ว ติดฉลากสวยงาม สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้หนึ่งปี เปลี่ยนชื่อเป็นน้ำมัลเบอร์รี่ขาย 3 ขวด 100 บาท นอกจากนี้ ยังอธิบายถึงคุณประโยชน์ให้คนได้รับรู้ว่าผลหม่อนเป็นผลไม้สีแดงที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ป้องกันมะเร็ง ลดรอยเหี่ยวย่น และลดอาการพิษสุราเรื้อรัง ผลคือขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทั้งหมดอยู่ที่มุมมองและการปรับแก้ให้ตรงกับความต้องการของตลาด วสันต์ นุ้ยภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อนไหม: การเดินทางของผ้าไหมไทยที่ต้องไปให้ไกลกว่ากระแสสังคม The People: หลังจากวางแผนไว้อย่างชัดเจน พอเจอวิกฤตไวรัสโควิด-19 แผนการทุกอย่างเลยต้องถูกพักไว้ก่อน ทางกรมหม่อนไหมได้แก้ปัญหานี้อย่างไรบ้าง วสันต์: เรากำลังเตรียมลุยตลาดต่างประเทศหลายแห่ง วางแผนไว้เรียบร้อยแต่ไปไม่ได้เพราะโควิด-19 การทำงานชะงักไปประมาณ 3 เดือน เราพยายามเยียวยาชาวเกษตรด้วยการแจกพันธุ์หม่อนกับไข่ไหมฟรี เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต พันธุ์หม่อนเราแจกไม่เกินรายละ 10,000 ต้น ตามสัดส่วนพื้นที่ที่เขามาจดทะเบียนกับกรมหม่อนไหม ส่วนไข่ไหมไม่เกินรายละ 10 แผ่น ซึ่งแผ่นหนึ่งมีตัวอยู่ราว 22,000 ตัว สิบแผ่นก็จะเลี้ยงไหมได้ประมาณ 10-20 กิโลกรัม ก็พอช่วยได้เยอะ ชาวบ้านก็จะมารับไข่ไหมฟรี แล้วเอาไปสร้างมูลค่าต่อ ตอนนี้เราต้องพยายามเปิดตลาดในประเทศก่อน รณรงค์ให้คนไทยสวมเสื้อผ้าไหม พาแม่ค้าและเกษตรกรไปขายของเปิดบูธตามห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ แม้ยอดขายจะไม่ได้มากเท่าก่อนเกิดโควิด-19 แต่ก็สามารถกระตุ้นยอดจำหน่ายให้กับชาวบ้านได้ เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาไม่มีรายได้มานานถึง 3 เดือน ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มกลับมาขายของได้ บางร้านขายได้สามสี่หมื่น บางร้านขายได้เป็นแสน ก็พอจะทุเลาลงบ้าง หลังจากนี้เราจะไปเปิดตลาดตามหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร ทำการค้าแบบดาวกระจาย ไปตามศูนย์ราชการที่มีคนเยอะ ๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ ให้ประชาชนที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าได้ขายของ พวกข้าราชการที่ไม่มีโอกาสได้ออกไปซื้อของเหมือนเมื่อก่อนก็จะได้ช็อปปิ้งบ้างเพราะเราบริการให้ถึงที่ สร้างโอกาส สร้างรายได้หมุนเวียน The People: เราได้พูดถึงอดีตตั้งแต่ช่วงเริ่มก่อตั้งกรม มาจนถึงปัจจุบันที่เจอกับวิกฤตต่าง ๆ แล้วทิศทางในอนาคตของกรมหม่อนไหมจะเป็นอย่างไรต่อ วสันต์: ในอนาคตอันใกล้นี้ เราได้ตั้งวิสัยทัศน์ไว้แล้วว่าจะพัฒนาไหมไทยสู่สากลให้ได้ภายในปี 2565 เราต้องพัฒนาทุกเรื่อง เพิ่มผลผลิตเส้นไหมในประเทศให้เพียงพอป้อนสู่ตลาดโลก ปัจจุบันการผลิตไหมในตลาดโลกอยู่ที่ราว 70,000 ตัน แต่ไทยผลิตได้เพียง 700 ตัน ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของตลาดโลกด้วยซ้ำ ดังนั้นเราจะต้องเพิ่มกำลังผลิตให้ได้อีกเท่าตัว หลังจากเพิ่มการผลิต เราจะพัฒนาต่อยอดลวดลายต่าง ๆ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น พยายามเจาะตลาดวัยรุ่นไทยและตลาดต่างประเทศ ต้องทำให้คนหันมาซื้อผ้าไหมไทยเยอะ ๆ และสิ่งที่เราไม่เคยลืมเลยคือการรักษาวัฒนธรรม อนุรักษ์ภูมิปัญญา ไม่ให้ไหมไทยสูญหายไปตามกาลเวลา เพราะนี่คือจุดประสงค์หลักของการมีกรมหม่อนไหม   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์ ภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม