เมแกน มาร์เคิล: จากฮอลลีวูด สู่ราชวงศ์วินเซอร์ สะใภ้เลือดผสมผู้สร้างเทพนิยายที่กลายเป็นเรื่องเศร้า

เมแกน มาร์เคิล: จากฮอลลีวูด สู่ราชวงศ์วินเซอร์ สะใภ้เลือดผสมผู้สร้างเทพนิยายที่กลายเป็นเรื่องเศร้า
ชีวิตของเธอเริ่มต้นดั่งเทพนิยาย จากเด็กสาวลูกครึ่งเชื้อสายผสมแอฟริกันอเมริกันที่ครอบครัวแตกแยก ก่อนพบรักกับเจ้าชาย และแต่งงานกลายเป็นเจ้าหญิงที่หลายคนอิจฉา แต่ต่อมาไม่นาน เทพนิยายกลับกลายเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะชีวิตเจ้าไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด สุดท้ายชีวิตจึงต้องกลับมาอยู่อย่างคนธรรมดาตามเดิม เรื่องเศร้าและเบื้องหลังการตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตสามัญชนของเมแกน มาร์เคิล พระชายาเจ้าชายแฮร์รีแห่งราชวงศ์วินเซอร์ ถูกเปิดเผยแบบหมดเปลือกในคำสัมภาษณ์ความยาว 2 ชั่วโมง ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 2021 โดยมีโอปราห์ วินฟรีย์ ทำหน้าที่พิธีกร “เราคุยพร้อมกันทั้งเรื่องที่เขา (อาร์ชี) จะไม่ได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย เขาจะไม่ได้ยศถาบรรดาศักดิ์ รวมถึงความกังวล และบทสนทนาเกี่ยวกับสีผิวของเขาว่าจะคล้ำแค่ไหนตอนคลอดออกมา”  “อะไรนะ?” พิธีกรเขื้อสายแอฟริกันอเมริกันถึงกับอุทานออกมาพร้อมจ้องหน้าเมแกน ก่อนถามว่า ใครในวังที่พูดเรื่องสีผิวของอาร์ชี ซึ่งเป็นพระโอรสของเธอกับเจ้าชายแฮร์รี เมแกนตอบว่า เธอได้ยินเรื่องนี้มาจากสามี ขณะที่เจ้าชายแฮร์รี ซึ่งมานั่งร่วมโต๊ะให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมา ปฏิเสธให้รายละเอียดเพิ่มเติม แต่ยอมรับว่า เขาเองก็รู้สึกตกใจ และขอไม่บอกว่าคนผู้นั้นคือใคร   เหยียดผิวและเลือดเย็น บทสัมภาษณ์นี้ได้รับความสนใจไปทั่วโลก เนื่องจากเป็นการเปิดใจออกสื่อแบบเอ็กซ์คลูซีฟครั้งแรก นับตั้งแต่ทั้งคู่ประกาศลดบทบาทจากฐานะสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูง และย้ายจากอังกฤษไปใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 นอกจากประเด็นเหยียดผิวแล้ว ทั้งเมแกนและเจ้าชายแฮร์รียังเล่าถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวกับควีนเอลิซาเบธ ประมุขแห่งราชวงศ์อังกฤษ, เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ พระบิดา รวมถึงเจ้าชายวิลเลียม และเคต มิดเดิลตัน พระเชษฐาและพระชายาของพระองค์ แต่อีกประเด็นที่สร้างความฮือฮาไม่แพ้เรื่องเหยียดผิว คือ ปัญหาแรงกดดันที่ถาโถมเข้าใส่ จนทำให้เมแกนยอมรับว่า ชีวิตในราชสำนักทำให้เธอเคยคิดอยากฆ่าตัวตาย “ฉันรู้สึกละอายที่ต้องยอมรับเรื่องนี้กับแฮร์รี” เมแกนเล่าถึงปัญหาสภาพจิตใจของตัวเอง “ฉันรู้ว่าหากไม่พูดออกมา ฉันจะต้องทำมันแน่ ๆ ฉันแค่ไม่ต้องการมีชีวิตอยู่อีกต่อไป “ฉันไปที่สถาบัน และบอกว่าฉันจำเป็นต้องไปที่ไหนสักที่เพื่อรับความช่วยเหลือ ฉันบอกว่าไม่เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อน และต้องการไปที่ไหนสักแห่ง แต่เขาตอบมาว่า ฉันไม่สามารถทำได้ เพราะมันจะไม่ใช่เรื่องดีต่อสถาบัน” คำบอกเล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเลือดเย็นของสำนักราชวัง ซึ่งให้ความสำคัญกับชื่อเสียงของสถาบันมากกว่าชีวิตคน ทำให้ทั้งคู่รู้สึกผิดหวังและน้อยใจ   ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เจ้าชายแฮร์รียอมรับถึงบรรยากาศความเย็นชาในรั้วในวัง และบอกว่า ทุกคน ‘ล้วนติดอยู่ในระบบ’ โดยไม่รู้ตัว และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาตัดสินใจพาเมแกนออกมา เพราะไม่อยากให้เธอต้องเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับเจ้าหญิงไดอานา มารดาผู้ล่วงลับ “สิ่งที่ผมกำลังเห็นคือประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” เจ้าชายแฮร์รีบอกกับโอปราห์ “เมื่อผมพูดว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ผมกำลังพูดถึงแม่ของผม” เจ้าหญิงไดอานา อดีตพระชายาของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เคยให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า ชีวิตในฐานะสะใภ้เจ้า ทำให้เธอรู้สึกโดดเดี่ยว และกลายเป็นโรคซึมเศร้า หลังหย่าร้างกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ชีวิตของเจ้าหญิงไดอานายังคงไม่มีอิสระเต็มที่ เพราะถูกตามรังควานจากสื่อแท็บลอยด์ และมักมีปัญหากับสำนักราชวังที่กังวลภาพลักษณ์ของราชวงศ์ จนสุดท้ายเธอต้องมาจบชีวิตลงก่อนวัยอันควรในปี 1997 จากอุบัติเหตุระหว่างหลบหนีปาปารัสซีที่ฝรั่งเศส สมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะของญี่ปุ่น ก็เป็นอีกพระองค์ที่เคยมีประสบการณ์เลวร้ายจากชีวิตในวัง พระองค์เคยป่วยเป็นโรคเครียดจนต้องหยุดออกงานนานกว่า 10 ปี สมัยยังดำรงตำแหน่งเจ้าหญิง  หลังเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ ในปี 1993 เจ้าหญิงมาซาโกะในขณะนั้นต้องปรับตัวจากนักการทูตสามัญชนมาเป็นสมาชิกใหม่ของราชวงศ์แดนอาทิตย์อุทัย ด้วยความคาดหวังที่สูงลิบ ผนวกกับธรรมเนียมปฏิบัติอันเคร่งครัด ทำให้พระองค์เผชิญแรงกดดันจนเกือบต้องลาออกจากฐานันดรศักดิ์มาแล้วเช่นกัน   เด็กสาวเลือดผสมจากฮอลลีวูด เมแกน มาร์เคิล เกิดวันที่ 4 สิงหาคม ปี 1981 ในนครลอสแอนเจลิส ของสหรัฐฯ โดยมีชื่อเต็มสมัยเกิดมาว่า เรเชล เมแกน มาร์เคิล พ่อของเธอเป็นชาวอเมริกันผิวขาวที่อพยพมาจากยุโรป ส่วนมารดาเป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ทำให้เมแกนเกิดมาเป็นเด็กลูกครึ่งเลือดผสม และพยายามต่อสู้เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเชื้อชาติมาตลอด เมแกนเรียนจบปริญญาตรีด้านนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น รัฐอิลลินอยส์ ในปี 2003 และเคยฝึกงานที่สถานทูตสหรัฐฯ ในอาร์เจนตินา ก่อนหันมาเอาดีในวงการบันเทิงในฐานะนักแสดง  เธอคุ้นเคยกับวงการฮอลลีวูดเป็นอย่างดี เพราะเติบโตมาในย่านนั้น โดยโธมัส มาร์เคิล พ่อของเมแกนทำงานเป็นผู้กำกับแสงให้กับกองถ่ายในฮอลลีวูด ส่วนแม่ของเธอเคยทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวในสตูดิโอเดียวกัน ทั้งคู่แยกทางกันตั้งแต่เมแกนยังเล็ก ทำให้เธอโตมาโดยมีมารดาเป็นผู้เลี้ยงดูโดยลำพัง เมแกนเคยทำงานช่วยครอบครัวด้วยการเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร ก่อนได้เข้าวงการแสดงในที่สุด  ผลงานในวงการบันเทิงของเธอมีทั้งละครทีวี เกมโชว์ และภาพยนตร์ แต่ที่สร้างชื่อเสียงให้เธอมากที่สุด คือ ละครซีรีส์ที่เล่นเป็นนักกฎหมายในเรื่อง Suits ซึ่งเริ่มออกอากาศในปี 2011 และออนแอร์ติดต่อกันทั้งหมด 7 ซีซัน   ใส่ใจสังคม นอกจากอาชีพนักแสดงแล้วยังเป็นนักเขียน เมแกนเคยเปิดเว็บไซต์ The Tig เพื่อลงบทความแนวไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ทั้งเรื่องแฟชั่น ความสวยความงาม อาหาร การท่องเที่ยว และผู้หญิงที่ให้แรงบันดาลใจ ขณะเดียวกันยังทำงานเพื่อสังคมด้วยการร่วมรณรงค์กับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้หญิงและเด็กทั่วโลก ความสนใจต่อสู้เรียกร้องทางสังคมเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนเธอมีอายุเพียง 11 ปี โดยเมแกนเคยเขียนจดหมายถึงฮิลลารี คลินตัน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ในเวลานั้น เพื่อแสดงความไม่พอใจที่โฆษณาน้ำยาล้างจานยี่ห้อหนึ่งใช้ข้อความเชิงเหยียดเพศว่า “ผู้หญิงทั่วอเมริกากำลังต่อสู้กับคราบมันบนหม้อและกระทะ” จากนั้นไม่ถึงเดือน บริษัท P&G เจ้าของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยอมเปลี่ยนถ้อยคำในโฆษณาจากคำว่า ‘ผู้หญิง’ เป็น ‘ผู้คน’ โดยเมแกนบอกว่า “ช่วงเวลานั้นเองที่ทำให้ฉันตระหนักถึงพลังของการลงมือทำ” ก่อนพบรักกับเจ้าชายแฮร์รี เมแกนเคยแต่งงานมาแล้ว 1 ครั้งกับโปรดิวเซอร์หนังชื่อเทรเวอร์ อิงเกลสัน ในปี 2011 แต่อยู่กินด้วยกันแค่ 2 ปีก็หย่าร้าง เจ้าชายแฮร์รีและเมแกนพบกันครั้งแรกในปี 2016 ผ่านการนัดบอดโดยเพื่อนของทั้งคู่ทำหน้าที่เป็นกามเทพ ทั้งสองออกเดตเพื่อทำความรู้จักกัน 2 ครั้ง ก่อนตัดสินใจเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศบอตสวานาด้วยกัน และกลับมาแต่งงานกันที่โบสถ์เซนต์จอร์จ ในพระราชวังวินเซอร์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2018 พร้อมได้รับตำแหน่งดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ก่อนให้กำเนิดบุตรคนแรก คือ อาร์ชี แฮร์ริสัน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2019    หาเลี้ยงครอบครัวด้วยตัวเอง “ผมมีชีวิตอยู่ได้ด้วยทรัพย์สินที่แม่ทิ้งไว้ให้ หากไม่มีสิ่งเหล่านั้น ผมคงไม่สามารถทำแบบนี้ได้” เจ้าชายแฮร์รีบอกกับโอปราห์ ถึงสถานะการเงินของครอบครัวหลังลดบทบาทการทำงานในฐานะสมาชิกราชวงศ์และมาอาศัยในสหรัฐฯ ทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากสำนักราชวังอีกต่อไป ก่อนตัดสินใจหันหลังให้ภารกิจในวัง รายได้ของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน 95% มาจากทรัพย์สินในท้องพระคลังของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ส่วนอีก 5% มาจากเงินภาษีของประชาชนที่รัฐบาลอังกฤษเจียดให้ โดยระหว่างปี 2018-2019 เงินจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ที่ทั้งคู่ได้รับมีจำนวนประมาณ 5 ล้านปอนด์ หรือราว 7 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้เจ้าชายแฮร์รีไม่ได้ระบุชัดเจนว่าพระองค์โดนตัดเงินช่วยเหลือจากวังตั้งแต่เมื่อไร แต่หลังจากตัดสินใจย้ายจากแคนาดา ซึ่งเป็นดินแดนในเครือจักรภพของอังกฤษไปอยู่ในสหรัฐฯ เจ้าชายแฮร์รี และเมแกนก็ไม่ได้ทำงานช่วยเหลือราชสำนัก และต้องการมีอิสระทางการเงิน ทำให้ทั้งคู่ต้องหารายได้ด้วยตนเอง และสำนักพระราชวังของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์หยุดให้เงินช่วยเหลือทั้งลูกชายและลูกสะใภ้ทั้งสองคน The Independent รายงานว่า ส่วนแบ่งจากมรดกเจ้าหญิงไดอานา ที่เจ้าชายแฮร์รีได้รับมามีมูลค่าประมาณ 13 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยทั้งคู่ยังทำสัญญามูลค่าราว 100 - 240 ล้านเหรียญ เพื่อร่วมงานกับ Netflix นั่นยังไม่รวมค่าจ้างจัดพอตแคสต์กับ Spotify และผลิตซีรีส์สารคดีกับช่องโอปราห์ ที่ไม่มีการเปิดเผยตัวเลข รายได้เหล่านี้น่าจะเพียงพอสำหรับครอบครัว 3 คนพ่อแม่ลูกจากราชวงศ์อังกฤษ รวมถึงลูกสาวอีกคนที่อยู่ในครรภ์และกำลังจะออกมาลืมตาดูโลก เป็นสมาชิกคนที่ 4 ของครอบครัว แม้รายได้ดังกล่าวอาจไม่มากเท่าตอนที่ยังทำงานรับใช้ราชวงศ์ แต่ก็เป็นเงินส่วนตัวที่เข้ากระเป๋าครอบครัวทั้งคู่แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย แถมไม่ต้องคอยถูกตรวจสอบหรือชี้แจง เหมือนตอนนำเงินจากภาษีประชาชนและท้องพระคลังมาใช้ ตามกฎหมายของประเทศที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง   วิกฤตศรัทธาครั้งใหม่ ปฏิกิริยาต่อบทสัมภาษณ์ของเมแกนและเจ้าชายแฮร์รีในรายการโอปราห์ มีทั้งผู้เห็นใจและไม่เชื่อในคำพูดของทั้งสองคน แต่ดูเหมือนผู้เห็นใจ และออกมาวิจารณ์สถาบันกษัตริย์จะมากกว่า สังเกตจากปฏิกิริยาตามสื่อทั่วไป โดยเฉพาะประเด็นเหยียดผิวอันอ่อนไหวที่ทำให้สื่อหลายสำนักพากันเสนอข่าวเรื่องนี้ และมีบทความโจมตีราชวงศ์อังกฤษออกมามากมาย หลายบทความพยายามชี้ให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์ คือ ระบบชนชั้นอันล้าสมัย และไม่สอดคล้องกับบริบทของโลกยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม “บทสัมภาษณ์ล่าสุดที่ท่านได้ยิน เผยให้เห็นแล้วว่า ระบอบกษัตริย์อังกฤษคือแหล่งรวมพิษภัยจากการลอบกัดและเหยียดผิว ใครกันจะยังเคลือบแคลงสงสัยเรื่องนี้” นิวยอร์กไทมส์ ลงบทความของแฮมิลตัน โนแลน นักเขียนที่รณรงค์ต่อต้านระบอบกษัตริย์มาตั้งแต่ปี 2013 แม้เรื่องราวของเมแกนอาจสร้างความสั่นสะเทือน และก่อวิกฤตศรัทธาครั้งใหม่ให้ราชวงศ์อังกฤษ แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรก  สถาบันกษัตริย์อันเก่าแก่ของแดนผู้ดี เคยเผชิญวิกฤตศรัทธาและเรื่องอื้อฉาวมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังยืนหยัดอยู่ได้จนมีอายุนับพันปี ที่เป็นเช่นนั้นมาจากการปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้เสมอ แม้จะพยายามอนุรักษ์ธรรมเนียมเก่า ๆ เอาไว้ แต่ก็ไม่ฝืนกระแสของโลกยุคใหม่ ด้วยเหตุนี้ แม้เรื่องราวเทพนิยายอันน่าเศร้าของเมแกน มาร์เคิล จะปลุกให้ผู้คนหันมาตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์และราชวงศ์วินเซอร์อีกครั้ง แต่ถ้าสถาบันนี้ยังคงปรับตัวได้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ก็น่าจะอยู่คู่แดนผู้ดีแห่งนี้ได้ต่อไป   ข้อมูลอ้างอิง: https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-37908788 https://www.nytimes.com/2021/03/08/world/europe/recap-of-harry-meghan-oprah-interview.html?searchResultPosition=15 https://www.nytimes.com/2021/03/09/opinion/meghan-harry-abolish-monarchy.html https://www.elle.com/uk/life-and-culture/news/a26855/more-than-an-other/ https://www.bbc.com/news/world-asia-48118128 https://www.oprahmag.com/entertainment/tv-movies/a29862205/british-royal-family-money/