Radiohead – Creep: ร่วงหล่นลงหลุมรัก เบื้องหลังเพลงอกหักที่โดนใจ “ฆาตกร”

Radiohead – Creep: ร่วงหล่นลงหลุมรัก เบื้องหลังเพลงอกหักที่โดนใจ “ฆาตกร”
/ But I’m a creep. I’m a weirdo / เสียงร้องหม่นเศร้าและซาวด์กีตาร์แตกพร่าสอดรับกับเนื้อความในเพลงอย่าง “ฉันมันประหลาด ฉันมันตัวประหลาด ฉันมาทำ (ห่า) อะไรที่นี่” ที่บอกเล่าเรื่องราวการอกหักจากคนที่ตนปักใจแบบที่ฟังแล้วรู้สึกรวดร้าวเจียนตายตามไปด้วยเพลงนี้ คงเป็นเพลงที่คนเพลงยุค 90s-2000s จดจำได้ไม่ลืม เรากำลังพูดถึงเพลง ‘Creep’ เพลงฮิตติดตลาดของวงดนตรีจากเกาะอังกฤษอย่าง Radiohead เรียกได้ว่าต่อให้คุณจะไม่ได้เป็น big fan ของเพลงแนวอัลเทอร์เนทีฟยุค 90s และไม่ได้ชื่นชอบวงดนตรี Radiohead เป็นพิเศษแต่อย่างใด แต่เพลง ‘Creep’ ก็จะลอยไปเข้าหูคุณจนได้อยู่ดี หลังจากที่เริ่มเล่นดนตรีด้วยกันในปี 1985 แล้วแยกย้ายกันไปเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อมารวมตัวกันอีกครั้งเมื่อปี 1991 และเซ็นสัญญากับค่ายอีเอ็มไอ (EMI Group) ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ระดับ big four ณ ตอนนั้น Radiohead ออกเพลง ‘Creep’ ในรูปแบบ single เมื่อปี 1992 กระแสของเพลงนี้ก็พอจะมีอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ได้ดังเป็นพลุแตกจนปีถัดมา ที่ Radiohead รวมเพลงที่ว่าเข้าเป็นแทร็กในอัลบั้ม ‘Pablo Honey’ (1993) หลังจากนั้น ‘Creep’ ก็โด่งดังแบบไต่ระดับจนกลายเป็นเพลงที่เปิดทุกคลื่น ฟังทุกบ้าน และเป็นภาพจำของเพลงอัลเทอร์เนทีฟยุค 90s   แด่เธอผู้เป็นที่รัก: You’re so fucking special. ย้อนเวลากลับไปก่อนปี 1991 ที่ Radiohead จะเข้ารูปเข้ารอย ทอม ยอร์ก (Thom Yorke) ได้ประพันธ์เพลงฮิตเพลงนี้ไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว โดยเขาเขียนเนื้อขึ้นมาจากประสบการณ์ส่วนตัวตามประสาหนุ่มโสดวัยมหาวิทยาลัยที่ไปตกหลุมรักสาวแปลกหน้าที่เขาไม่รู้จักแม้แต่ชื่อ ทอมพบผู้หญิงคนหนึ่งที่บาร์ และมีโอกาสได้เฝ้ามองเธออยู่หลายต่อหลายครั้ง จาก ‘ปิ๊ง’ ก็กลายเป็น ‘หลงใหล’ ทอมพบว่าตัวเองมักจะคอยตามเธอไปทุกที่ (and he found himself following her around) จนในที่สุดเขาก็รวบรวมความกล้า ทอม ยอร์ก ตั้งใจว่าเขาจะสารภาพรักกับเธอ   / You’re so fucking special /   วันนั้น ทอมดื่มเหล้าจนเมามาย ฤทธิ์สุราทำให้เขากล้าขึ้น และเธอก็อยู่ตรงหน้าเขาแล้ว เขาจึงพรั่งพรูความในใจออกไป ทอมคงจะเขียนท่อน “She’s running out the door” ไม่ได้ ถ้าในวันนั้นหญิงสาวที่ทอมปักใจจะไม่วิ่งหนีหายไปจริง ๆ โดยไม่ได้ตอบรับคำสารภาพรักของทอม “บนโลกนี้มีผู้คนที่งดงามอยู่ นอกจากคนที่งดงามเหล่านั้นก็เป็นพวกเรา” ทอมเล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังของการถ่ายโอนความเศร้าทั้งหมดของเขาในช่วงเวลานั้นมายังเพลงเพลงนี้ ขณะที่จอนนี กรีนวูด มือกีตาร์ของ Radiohead เจ้าของ dead sound แตกพร่าที่ยากจะลอกเลียนในเพลงนี้ที่พี่แกใส่เข้าไปด้วยตัวเองเพราะเบื่อที่เพลงดู ‘ปวกเปียก’ เกินไป กลับบอกว่า จริง ๆ แล้ว ‘Creep’ ไม่ใช่เพลงเศร้าแต่เป็นเพลงที่มีความสุข เพราะมันเล่าถึงการยอมรับว่าตัวเองเป็นใครต่างหาก   จดหมายจากฆาตกร ไม่รู้ว่าด้วยความดังของเพลงที่ถูกเปิดในทุกที่ ด้วยคำว่า ‘ตัวประหลาด’ ในเพลง หรือด้วยเนื้อหาทั้งหมดที่นอกจากจะบรรจุความเศร้าแล้วยังเคล้าระคนด้วยความน่าขนลุกอยู่ด้วย (หลายคนถึงกับบอกว่าเป็นเพลงของพวกโรคจิตตามติด หรือ stalker เลยทีเดียว) แต่เอาเป็นว่าหลายต่อหลายครั้งที่ Radiohead ได้รับจดหมายที่ส่งตรงจากคุกเขียนโดยแฟน ๆ ที่ถูกคุมขังด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็น ‘ฆาตกร’   / But I’m a creep. I’m a weirdo /   “ฉันเป็นคนที่น่าขนลุกในเพลงนั้น ฉันฆ่าไอ้หมอนั่น แต่นั่นไม่ใช่ตัวของฉัน พวกเขาต่างหากที่บังคับให้ฉันทำ พวกเขาที่อยู่ในหัวฉันนั่นน่ะ”   ไอ้โง่กับเพลงขยะ อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับแฟนเพลงวงนี้ แต่คนฟังขาจรหลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้ว่า Radiohead นั้นโคตรจะเกลียดเพลง ‘Creep’ โดยเฉพาะทอม ยอร์ก นักร้องนำและคนแต่งเพลงของวงที่เรียกเจ้าเพลงฮิตตลอดกาลที่ทำให้พวกเขากลายมาเป็นเมนสตรีมในวงการดนตรีเพลงนี้ว่า ‘Crap’ ศัพท์แสลงที่แปลแบบบ้าน ๆ ได้ว่า ‘ขยะ’ แต่นั่นยังไม่แรงพอ เพราะทอม ยอร์กเหนื่อยหน่ายกับเพลงนี้จนมักจะให้สัมภาษณ์เสมอ ๆ ว่าไอ้หน้าไหนที่มันชอบเพลง ‘Creep’ ของวงเขาก็ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า ‘พวกโง่/ปัญญาอ่อน’ (anally retarded) เท่านั้น พร้อมทั้งเคยตะโกนใส่ไมค์โต้ตอบคนดูที่เอาแต่ขอเพลงเพลงนี้ไม่หยุดว่า “แม่งเอ๊ย! พวกกูเบื่อเพลงนี้ฉิบหายเลย”   Loop สี่นาทีที่ซ้ำวน ย้อนกลับไปก่อนที่ Radiohead จะเกลียดเพลง ‘Creep’ เข้าไส้ ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยเล่นเพลงเพลงนี้ติดต่อกันทุกครั้งที่ขึ้นเวทีอยู่ปีเต็ม ๆ จน จอนนี กรีนวูด บอกว่าเหมือนพวกเขากำลังติดอยู่ใน loop เวลาที่หาทางออกไม่ได้ เป็น loop ขนาดสี่นาทีเท่าความยาวของเพลงที่พวกเขาแสดงสดซ้ำไปซ้ำมาในทุกค่ำคืน จอนนียังบอกอีกว่า เขายังจำได้ดีถึงเสียงร้องเชียร์ดึงก้องของคนดูที่ร้องขอเพลงเพลงนี้ ก่อนที่คนดูส่วนหนึ่งจะจากไปทันทีหลังจากวงเล่น ‘Creep’ ให้ฟัง แม้ว่าวงจะยังเล่นไม่ครบเซตลิสต์ก็ตาม ‘Creep’ ทำให้เพลงอื่น ๆ ที่ Radiohead ปลุกปั้นมาด้วยความตั้งใจไม่แพ้กันหรืออาจจะมากกว่า กลายเป็นเพียงธาตุอากาศสำหรับคนฟังบางคน ในฐานะนักดนตรีนั่นคงเป็นเรื่องที่น่าเศร้า ความเบื่อหน่ายที่เข้าครอบงำในทุกค่ำคืนและความไม่สบอารมณ์ที่มาจากความดังเกินขีดจำกัดของเพลงนี้ ทำให้ Radiohead เลือกที่หลบหนีออกจาก loop ที่ว่า ด้วยการลาขาดจากการแสดงสดเพลงเจ้าปัญหาที่ว่าตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ส่วนแฟน ๆ ที่สถาปนา ‘Creep’ เป็นเพลงชาติก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากต้องเปิดแทร็ก ‘Creep’ ผ่าน music streaming ฟังเองที่บ้านไปโดยปริยาย   การกลับมาของ weirdo จนกระทั่ง homecoming concert ที่ South Park, Oxford เมื่อปี 2017 ‘Creep’ ก็ถูกหยิบมาเล่นอีกครั้งหลังจากไม่ได้เล่นมาถึงแปดปีเต็ม ๆ โดยทางวงได้เล่าถึงสาเหตุของการเซอร์ไพรส์คนฟังแบบไม่ทันได้ตั้งตัวครั้งนั้นก็เพราะ “พวกผมอยากเห็น reaction ก็เลยเล่นกัน แล้วดูว่ามันจะเป็นยังไง” หลังจากนั้น ‘Creep’ ก็กลายเป็นเพลงโบนัสที่กว่าจะได้ฟังก็เหมือนหยอดตู้กาชาปองหรือเปิดกล่องสุ่ม ที่เล่นบ้างไม่เล่นบ้างในแต่ละงานตามความอินดี้ของนักดนตรีไปอย่างนั้นเอง เรียกได้ว่าหลังจากเวลาหลายปีให้หลัง ความเกลียดชังของวงที่มีต่อเพลงฮิตทะลุเพดานของตัวเองก็ดูจะน้อยลงไปสวนทางกับช่วงวัยที่โตขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมดไปเสียทีเดียว สำหรับ Radiohead แล้ว ‘Creep’ ยังเป็นเสียงสะท้อนจากวัยหนุ่มสาวของพวกเขาเอง ที่ถ้าไม่ได้จำเป็นหรืออารมณ์ดีมากพอก็ไม่อยากจะไปแตะต้องหรือพูดถึงให้มากความอยู่เช่นเคย   เรื่อง : จิรภิญญา สมเทพ ที่มา : https://www.grunge.com/219386/the-radiohead-hit-song-that-thom-yorke-hates/ https://faroutmagazine.co.uk/why-radiohead-hate-creep-song/ https://www.nme.com/list/radiohead-10-geeky-facts-about-creep-757425 https://auralcrave.com/en/2018/02/01/creep-of-radiohead-the-cry-despair-of-marginalized/ https://ig.ft.com/life-of-a-song/creep.html https://steemit.com/music/@blazek/the-story-behind-creep https://faroutmagazine.co.uk/radiohead-unwanted-hit-creep-story-behind-the-song/ https://vinyllair.com/2020/01/24/psychedelic-lunch-70/