ราฮาฟ และผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ความสับสนในคำนิยาม “ผู้ลี้ภัย”

ราฮาฟ และผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ความสับสนในคำนิยาม “ผู้ลี้ภัย”

ผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ความสับสนในคำนิยาม “ผู้ลี้ภัย”

ข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อไม่นานมานี้เกิดขึ้นที่ไทย เมื่อมีการกักตัว ราฮาฟ โม ฮาเหม็ด แอล-แคนูน (Rahaf Mohammed al-Qunun) หญิงสาววัย 18 ปี ชาวซาอุดีอาระเบีย ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งขอลี้ภัยในประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากเธออ้างว่าได้ออกจากการนับถือศาสนาอิสลาม และอาจมีภัยถึงชีวิตถ้าเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นกระแสกดดันจนรัฐบาลไทยยินยอมให้ราฮาฟเข้าประเทศไทยเป็นการชั่วคราว และอนุญาตให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เข้ามาดำเนินกระบวนการพิจารณาการให้สถานะผู้ลี้ภัย ในที่สุดราฮาฟก็ได้เดินทางไปแคนาดา (แทนการไปออสเตรเลียอย่างที่เธอระบุตอนแรก) อย่างปลอดภัยในฐานะผู้ลี้ภัย หลังจากได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR นอกจากราฮาฟที่เป็นข่าวครึกโครม ยังมี ฮาคีม อัล อาไรบี (Hakeem Al-Araibi) นักฟุตบอลชาวบาห์เรน ที่ลี้ภัยทางการเมืองจากบ้านเกิดเมืองนอน และได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจากสหประชาชาติให้พำนักในประเทศออสเตรเลียแล้ว แต่กลับถูกทางการจับกุมระหว่างท่องเที่ยวในไทย และมีความเสี่ยงที่จะถูกส่งตัวกลับไปยังบาห์เรน ทั้งยังมีผู้ลี้ภัยรายอื่นอีกมากมายที่แสวงหาที่ลี้ภัยที่จะปลอดภัยต่อชีวิตของตัวเองและครอบครัว    คำถามคือ “ผู้ลี้ภัย” คือใคร ทุกคนสามารถเป็นผู้ลี้ภัยได้หรือไม่ ทำไมผู้คนต้องลี้ภัย และทางเลือกของผู้ลี้ภัยมีอะไรบ้าง คำว่า “ผู้ลี้ภัย” หรือ Refugee มีรากศัพท์จากภาษาฝรั่งเศส réfugié โดยอธิบายถึงกลุ่มอูเกอโนต์ (Huguenots) ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ที่อพยพออกนอกฝรั่งเศส หลังการยกเลิกพระราชกฤษฎีกานองซ์ (Edict of Nantes) ที่ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาและสิทธิพลเมืองแก่พวกเขา ใน ค.ศ. 1685 ความหมายของ réfugié เริ่มแรกหมายถึงคนที่แสวงหาที่ลี้ภัย ในกรณีนี้มาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางด้านศาสนาระหว่างผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ในฝรั่งเศส โดยมีชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ในฝรั่งเศสกว่า 400,000 คน อพยพเพื่อแสวงหาความปลอดภัยในชีวิตในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร ตามนิยามของ UNHCR ผู้ลี้ภัยคือคนที่หนีภัยจากการประหัตประหารอันมีเหตุมาจาก เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ ความคิดเห็นทางการเมือง หรือการเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้คนเหล่านั้นไม่สามารถหรือไม่เต็มใจกลับประเทศของตัวเอง เพราะอาจมีภัยถึงชีวิต ซึ่งต่างจากผู้คนที่เต็มใจย้ายถิ่นเพื่อทำงาน หารายได้เพื่อสถานะทางสังคมที่ดีกว่าจากประเทศของตัวเอง โดยทั่วไป ผู้คนถูกบังคับให้ย้ายถิ่นเนื่องจากสงคราม ความขัดแย้ง การละเมิดสิทธิมนุษยชน ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ด้านอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ของพวกเขา โดยการเดินทางออกจากบ้านของผู้ลี้ภัยเพื่อแสวงหาที่ปลอดภัย ที่จะรับรองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและได้รับการคุ้มครอง แต่สภาพปัญหาในประเทศต่างๆ ที่ซับซ้อน ทำให้เหตุผลของการย้ายถิ่นอาจมีมากกว่าการหนีภัยสงคราม เพราะเหตุแห่งการลี้ภัยมักจะผสมผสานกันระหว่าง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ทั้งนี้ สถานะผู้ลี้ภัยไม่ได้เป็นสิทธิพิเศษ เพราะคงไม่มีใครที่จะเข้าสู่การเดินทางที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง หรือหลบหนีออกจากบ้านของตัวเองด้วยความไม่เต็มใจเป็นแน่ ส่วน “ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย” หรือ Asylum Seeker คือคนที่แสวงหาที่ปลอดภัยจากภัยอันตรายที่เกิดขึ้นจากประเทศของตนเอง โดยทุกคนมีสิทธิที่จะแสวงหาที่ลี้ภัยตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ข้อที่ 14) ที่กล่าวว่า “ทุกคนมีสิทธิที่จะแสวงหา และที่จะได้อาศัยพำนักในประเทศอื่นเพื่อลี้ภัยจากการประหัตประหาร นอกจากสิทธิผู้ลี้ภัยที่คนทุกคนควรมีแล้วนั้น รัฐบาลในประเทศต่างๆ ไม่ควรผลักดันผู้แสวงหาที่ลี้ภัยออกนอกประเทศไปสู่สถานที่ที่ชีวิตและเสรีภาพของบุคคลตกอยู่ในอันตราย หรือ Non-refoulement ซึ่งละเมิดกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศฉบับอื่นๆ ที่ประเทศต่างๆ อาจจะเป็นรัฐสมาชิก อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยทุกคนจะสามารถเป็นผู้ลี้ภัยตามคำนิยามของ UNHCR ได้ เพราะผู้แสวงหาที่ลี้ภัยมาพร้อมกับคำกล่าวอ้างถึงภยันตรายต่างๆ ซึ่งทำให้พวกเขากลับประเทศที่พวกเขาจากมาไม่ได้ จะต้องพิสูจน์ถึงภัยอันตรายเหล่านั้นในกระบวนการพิจารณาให้สถานะผู้ลี้ภัยของ UNHCR นอกจากนี้ ยังมีคำว่า “ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ” หรือ Internally Displaced People (IDP) คือผู้ซึ่งถูกบังคับให้ออกจากถิ่นที่อยู่แต่ไม่ได้ข้ามเขตแดนรัฐ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีจำนวนเยอะที่สุดและเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยมากที่สุดเช่นกัน เพราะพวกเขาอยู่ในประเทศที่รัฐบาลอาจไม่สามารถแสดงหน้าที่คุ้มครองพวกเขาในฐานะพลเมืองแห่งรัฐอย่างเต็มที่ และอาจไม่อนุญาตให้หน่วยงานทางด้านมนุษยธรรมหรือสิทธิมนุษยชนเข้าช่วยเหลือ จากสถิติของ UNHCR เมื่อปี 2561 พบว่าผู้ที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นทั่วโลกอยู่ที่ราว 68.5 ล้านคน จำนวนนี้แบ่งเป็น “ผู้ลี้ภัย” 25.4 ล้านคน “ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย” จำนวน 3.1 ล้านคน และ “ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ” 40 ล้านคน ซึ่งจะเห็นได้ว่าสัดส่วนผู้ลี้ภัยต่อจำนวนคนถูกบังคับให้ย้ายถิ่นทั่วโลกอยู่ประมาณ 37% จากตัวเลขข้างต้น สำหรับการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนสำหรับผู้ลี้ภัยในระบบการคุ้มครองระหว่างประเทศมีอยู่ด้วยกัน 3 แนวทาง โดยการแก้ปัญหาเหล่านี้จะเป็นไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์และปัญหาส่วนบุคคล ซึ่งได้แก่ 1. การกลับประเทศโดยสมัครใจ (ส่วนใหญ่เมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงหรือสงครามได้คลี่คลายลงแล้ว) 2. การตั้งถิ่นฐานในประเทศแรกรับผู้ลี้ภัย (หากประเทศนั้นๆ มีระบบกลไกกฎหมายที่รับรองผู้ลี้ภัยเข้ามาเป็นสมาชิกของประเทศ) 3. การตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม โดยจำนวนผู้ลี้ภัยที่ได้เดินทางเพื่อตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม ณ เดือนพฤศจิกายน ปี 2561 อยู่ที่ 51,774 คน จากจำนวนผู้ลี้ภัยกว่า 1.2 ล้านคนทั่วโลกที่ประสงค์จะตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม ซึ่งถือเป็นจำนวนที่น้อย และโดยทั่วไป กระบวนการขอลี้ภัยก็ใช้เวลายาวนาน 2-4 ปี ซึ่งผู้ลี้ภัยเองต้องผ่านขั้นตอนอันซับซ้อนของประเทศนั้นๆ (และไม่ใช่ทุกประเทศที่ต้อนรับผู้ลี้ภัย) อาทิ การสัมภาษณ์ การตรวจสอบความปลอดภัย (เพื่อป้องกันภัยจากการก่อการร้ายข้ามชาติ) ตรวจสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งจากกรณีของราฮาฟที่ได้ลี้ภัยไปแคนาดา แสดงให้เห็นว่านานาชาติใส่ใจกับการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยที่มีความเร่งด่วน โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสตรี สถานการณ์ผู้ลี้ภัยทั่วโลกส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะยืดเยื้อ เฉลี่ยแล้วผู้คนต้องลี้ภัยหรือแสวงหาที่ลี้ภัยมากกว่า 5 ปี แถลงการณ์ของ UNHCR ต่อสถานการณ์ของราฮาฟจึงเป็นเสมือนสิ่งย้ำเตือนต่อประชาคมโลกว่ามีผู้คนราว 68.5 ล้านคน ที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นจากบ้านตัวเอง ซึ่งเป็นตัวเลขมากกว่าจำนวนผู้ที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเวลา 6 ปีต่อเนื่อง วิกฤตผู้ลี้ภัยยังไม่จบ เพราะมีผู้คนกว่า 44,400 คน ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นในแต่ละวัน หากประชาคมโลกจะมีน้ำใจในการไม่ผลักดันกลุ่มคนเหล่านั้นไปสู่ที่ที่เขาหรือเธอจะเผชิญกับภัยอันตราย และอนุญาตให้พวกเขาได้ใช้สิทธิการแสวงหาที่ลี้ภัย อีกทั้งควรก้าวให้พ้นกับดักความคิดว่าผู้ลี้ภัยเป็นคนอื่นที่ไม่สมควรได้รับสิทธิใดๆ เนื่องจากไม่ใช่พลเมืองของประเทศตัวเอง ทั้งๆ ที่สิทธิมนุษยชนควรเป็นสิ่งที่ทุกคนควรเข้าถึง ก็น่าจะช่วยคลี่คลายวิกฤตนี้ไปได้บ้าง เพราะในวันข้างหน้า ไม่มีใครรู้ว่าเราหรือใครอาจต้องใช้สิทธิลี้ภัยนี้บ้าง เนื่องจากความขัดแย้ง ความรุนแรง หรือภัยสงคราม   อ้างอิง https://www.unhcr.org/figures-at-a-glance.html https://www.unhcr.org/resettlement-data.html https://www.unhcr.org/news/press/2019/1/5c38e9134/unhcr-statement-canadas-resettlement-saudi-national-rahaf-al-qunun.html https://www.pri.org/stories/2017-02-20/word-refugee-has-surprising-origin https://www.merriam-webster.com/words-at-play/origin-and-meaning-of-refugee https://www.theguardian.com/world/2019/jan/12/rahaf-al-qunun-lands-in-toronto-after-long-journey-to-safety-saudi-teen-canada https://prachatai.com/journal/2016/02/63957   เรื่อง:  Our Fields' Story(เรื่องเล่าจากในฟิลด์)