ราชัต คุปตะ : จากเด็กกำพร้าอินเดีย สู่ผู้บริหารในสหรัฐฯ ที่ชื่อเสียงพังทลายเพราะโทรศัพท์หนึ่งสาย

ราชัต คุปตะ : จากเด็กกำพร้าอินเดีย สู่ผู้บริหารในสหรัฐฯ ที่ชื่อเสียงพังทลายเพราะโทรศัพท์หนึ่งสาย
‘ชื่อเสียง’ และ ‘ความไว้วางใจ’ คือสิ่งที่สร้างขึ้นได้ยาก แต่กลับถูกทำลายอย่างง่ายดาย  เช่นเดียวกับเรื่องราวของ ‘ราชัต คุปตะ’ (Rajat Gupta) ผู้เปรียบเสมือนไอดอลของชาวอินเดียชนชั้นกลางที่อยากประสบความสำเร็จ เพราะเขาคือผู้บริหารบริษัทให้คำปรึกษาด้านการจัดการที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ‘คนแรก’ ที่ไม่ใช่ชาวอเมริกันโดยกำเนิด แถมยังเคยร่วมงานกับผู้คนและองค์กรชื่อดังอย่างบิล เกตส์ (Bill Gates) บิล คลินตัน (Bill Clinton) องค์การสหประชาชาติ ไปจนถึงการก่อตั้งมูลนิธิและโรงเรียนด้านธุรกิจของอินเดีย แต่แล้ววันหนึ่งชื่อเสียงของเขากลับพังทลาย เพราะมีหลักฐานว่าราชัต คุปตะเปิดเผยข้อมูลลับของบริษัทแห่งหนึ่งจนต้องโทษจำคุกถึง 2 ปี ก่อนจะออกมาเขียนหนังสือ Mind Without Fear บอกเล่าเรื่องราวจุดสูงสุดไปจนถึงการก้าวไปอยู่ร่วมกับนักโทษคนอื่น ๆ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังคงยืนยันว่าตนเองบริสุทธิ์อยู่เช่นเดิม…   สูญเสียพ่อแม่ ปฏิเสธงานบริษัทใหญ่ และเดินทางไกลสู่อเมริกา ย้อนไปในปี 1948 หลังอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษได้ไม่นาน เด็กชายราชัต คุปตะลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรก ณ เมืองกัลกัตตา (Kolkata) ประเทศอินเดีย พ่อของเขาเป็นนักข่าว แม่ของเขาเป็นคุณครู เมื่ออายุได้ 5 ขวบ ครอบครัวของคุปตะย้ายมาอยู่ที่นิวเดลี (New Delhi) คุปตะจึงมีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนชั้นนำใจกลางเมืองอย่าง ‘Modern School’  แต่แล้วเรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อพ่อและแม่ของเขาเสียชีวิตไปในเวลาไล่เลี่ยกัน จนเหลือเพียงคุปตะในวัย 19 ปีที่ต้องดูแลน้อง ๆ อีก 3 คน แต่คุปตะก็ยังคงมุ่งมั่นตั้งใจศึกษาเล่าเรียน จนสามารถสอบเข้าเรียนต่อในสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย (IIT) ได้ลำดับที่ 15 จากคู่แข่งนับพันคน ซึ่งสถาบันแห่งนี้มีการแข่งขันที่สูงลิ่ว เพราะเป็นหนึ่งในไม่กี่เส้นทางสู่โอกาสทางอาชีพของชาวอินเดียในขณะนั้น  ในสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย (IIT) คุปตะนับเป็นนักเรียนหัวกะทิของคณะวิศวกรรมเครื่องกล และนักกิจกรรมตัวยงที่ทำได้ทั้งการโต้วาทีและการเขียนบทละคร หลังจบการศึกษา เขาได้รับข้อเสนอจาก ITC หนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอินเดีย แต่กลับปฏิเสธโอกาสทองในวันนั้น ทำให้เพื่อน ๆ และคนรอบตัวตกใจไปตาม ๆ กัน แม้กระทั่ง CEO ของ ITC ที่เรียกเขามาพบเพื่อถามถึงเหตุผล “คงไม่มีใครปฏิเสธ ITC โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กกำพร้าที่มีพี่น้องสามคน เมื่อผมสูญเสียพ่อแม่ไปตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ในฐานะลูกชายคนโต เป็นความรับผิดชอบของผมที่ต้องสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับพวกเรา ทว่าพี่น้องและคู่หมั้นของผมในขณะนั้น กลับเป็นคนกลุ่มแรกที่สนับสนุนการตัดสินใจของผม พวกเขารู้ว่าความฝันของผมไม่ได้อยู่ที่นี่” เหตุที่คุปตะปฏิเสธโอกาสการทำงานในบริษัทอันดับท็อปของประเทศ เพราะเขามองไกลไปกว่านั้น คุปตะคว้าโอกาสการเรียนต่อที่ Harvard Business School ในสหรัฐอเมริกา เขาตัดสินใจบินลัดฟ้าข้ามทวีปไปในช่วงปี 1971 ซึ่งนับเป็นหนึ่งในคลื่นลูกแรกของผู้อพยพชาวอินเดียสู่สหรัฐอเมริกา หลังจากมีการปฏิรูปกฎหมายคนเข้าเมือง  ราชัต คุปตะ : จากเด็กกำพร้าอินเดีย สู่ผู้บริหารในสหรัฐฯ ที่ชื่อเสียงพังทลายเพราะโทรศัพท์หนึ่งสาย

Photo by https://www.youtube.com/watch?v=46uIp11zQks&t=127s 

แม้ว่ารูปแบบการสอนและวัฒนธรรมที่สหรัฐฯ จะแตกต่างไปจากสังคมที่เขาเผชิญมาตลอด 20 กว่าปี แต่คุปตะก็พยายามปรับตัวและยังคงเป็นหนึ่งในหัวกะทิของชั้นเรียนอยู่เช่นเดิม เพราะเขาจัดอยู่ในกลุ่ม ‘Baker Scholar’ หรือนักเรียนอันดับท็อป 5% ของชั้นเรียนบริหารธุรกิจ (MBA) ที่ Harvard Business School แม้ผลการเรียนจะโดดเด่น แต่ในช่วงซัมเมอร์ที่คุปตะพยายามหางานทำ กลับไม่มีใครรับเขาเข้าทำงาน เพราะเขาเป็นชาวต่างชาติที่ไม่มีกรีนการ์ด จนกระทั่งพ่อของเพื่อนเขาเสนองานหนึ่งให้ และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่คุปตะได้ค้นพบทักษะการเป็น ‘นักแก้ปัญหา’ ของตนเอง “แล้วผมก็ค้นพบสิ่งที่ใจเรียกร้อง ธรรมชาติของผมคือการเป็นนักแก้ปัญหา และเมื่อเรียนจบ ผมตั้งใจว่าจะเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการ (management consultant)” นั่นทำให้หลังจบการศึกษา คุปตะเลือกสมัครงานในบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการหลายแห่ง แต่กลับไม่มีบริษัทใดติดต่อกลับมาหลังจากการสัมภาษณ์แม้แต่บริษัทเดียว หลังจากนั้น อาจารย์ท่านหนึ่งของคุปตะจึงช่วยเขียนจดหมายรับรองให้กับเขา และในที่สุด ราชัต คุปตะก็ผ่านการคัดเลือกเข้าทำงานในบริษัทให้บริการคำปรึกษาด้านการจัดการ (Management Consulting) ที่ทรงอิทธิพลของโลกอย่าง McKinsey & Company    ต้นแบบของหนุ่มสาวชนชั้นกลางในอินเดีย แม้จะได้ทำงานอย่างที่วาดฝันไว้ แต่ความก้าวหน้าทางอาชีพของเขากลับเป็นไปอย่างช้า ๆ จนกระทั่งคุปตะมีโอกาสไปบริหารสำนักงานในประเทศแถบสแกนดิเนเวียจนประสบความสำเร็จ ทำให้ปี 1994 ราชัต คุปตะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการ (managing director) ของ McKinsey & Company ซึ่งนับเป็นกรรมการผู้จัดการคนแรกของบริษัทนี้ที่ไม่ใช่ชาวอเมริกันโดยกำเนิด และเว็บไซต์ของ reuters กล่าวว่า คุปตะนับเป็นคนแรก ๆ ของอินเดียที่ได้เป็นผู้นำทางธุรกิจในบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศทางตะวันตกอีกด้วย นอกจากความรู้ความสามารถแล้ว ผู้คนที่รู้จักคุปตะมักเล่าว่า เขาเป็นคนอบอุ่น มีทักษะการสื่อสารและการโน้มน้าวใจเป็นอย่างดี สามารถผูกมิตรกับผู้คนได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งบวกกับการแต่งกายสุดเนี้ยบ ยิ่งทำให้เขากลายเป็นคนฉลาดและมีเสน่ห์ในเวลาเดียวกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่คุปตะจะได้รับโอกาสอีกหลายต่อหลายครั้งหลังก้าวลงจากเก้าอี้บริหารใน McKinsey  ตลอดเวลาที่ผ่านมา คุปตะเคยเป็นทั้งกรรมการบริหารในหลายบริษัท และร่วมงานกับองค์กรชื่อดังอีกหลายแห่ง เช่น AMR ​​Corporation บริษัทแม่ของ American Airlines มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (The Rockefeller Foundation) องค์การสหประชาชาติ (UN) รวมทั้งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นที่ปรึกษาอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่าง Bill Clinton และที่ปรึกษา Bill Gates ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริษัท Microsoft นอกจากการทำงานในองค์กรแล้ว คุปตะยังร่วมก่อตั้งมูลนิธิอเมริกันอินเดีย (the American India Foundation) และ Indian School of Business โรงเรียนสอนด้านธุรกิจในเมืองไฮเดอราบาด (Hyderabad) ซึ่งกลายเป็นสถาบันการศึกษาชั้นยอดของอินเดียในเวลาต่อมา ความสำเร็จและชีวิตของคุปตะ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับชาวอินเดียชนชั้นกลางจำนวนมากที่ฝันอยากก้าวสู่การเป็นผู้นำ และมีความมั่งคั่งได้อย่างที่คุปตะก้าวไปสู่จุดนั้น  แต่แล้วในปี 2008 ชื่อเสียงทั้งหมดของเขากลับพังทลายลงอย่างรวดเร็ว เมื่อคุปตะถูกกล่าวหาในคดีเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์ (insider trading) จนกลายเป็นข่าวสุดช็อกในแวดวงธุรกิจ รวมทั้งชาวอินเดียหลายคนที่มองคุปตะเหมือนกับไอดอลของพวกเขา ราชัต คุปตะ : จากเด็กกำพร้าอินเดีย สู่ผู้บริหารในสหรัฐฯ ที่ชื่อเสียงพังทลายเพราะโทรศัพท์หนึ่งสาย

Photo by Spencer Platt/Getty Images

ความลับรั่วไหล กับการเรียกร้องความยุติธรรม คุปตะถูกกล่าวหาว่า เขาเปิดเผยความลับของ Goldman Sachs ให้กับ Raj Rajaratnam เศรษฐีชาวศรีลังกาผู้ก่อตั้ง Galleon Group ซึ่งคุปตะถูกกล่าวหาว่าเขาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ Warren Buffet ที่กำลังจะตัดสินใจลงทุนใน Goldman Sachs มูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ Rajaratnam ซื้อหุ้นก่อนที่ข่าวนั้นจะถูกประกาศต่อสาธารณชนในวันถัดไป และสามารถทำกำไรได้ถึง $800,000 ภายในเวลา 24 ชั่วโมง Robert Khouzami ผู้อำนวยการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “คุปตะได้รับเกียรติให้เป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจและน่าเชื่อถือมากที่สุดคนหนึ่งในบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ และเขาได้ทรยศต่อความไว้วางใจ ด้วยการเปิดเผยความลับมีมูลค่าและความอ่อนไหวอย่างที่สุด”   หลังจากนั้นคุปตะถูกตัดสินให้ต้องโทษจำคุกนาน 2 ปี อย่างไรก็ตาม ความยากของการสอบสวนคดีนี้ คือหลักฐานที่มีเพียงบันทึกเสียงสนทนาผ่านทางโทรศัพท์ระหว่างคุปตะ กับ Rajaratnam หลังจากการประชุมเสร็จสิ้น แม้เนื้อหาบทสนทนาจะเอ่ยถึงการประชุมก่อนหน้า แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นระบุได้ว่าเป็นการซื้อขายข้อมูลอย่างชัดเจน นั่นทำให้เพื่อนของคุปตะ รวมทั้งเพื่อนร่วมงานบางคนบอกว่า หลักฐานเหล่านี้ถูกตัดมาเพียงบางส่วน และดูไม่ได้มีมูลแต่อย่างใด เพราะการโทรฯ หาใครบางคนหลังจากการประชุมเสร็จสิ้นและพูดถึงการสนทนาก่อนหน้านั้นบ้าง ไม่ได้หมายความถึงการซื้อขายข้อมูลภายในเสมอไป  หลังจากจำคุก 2 ปีและออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ คุปตะได้ให้สัมภาษณ์กับ NDTV ว่า “อัยการเพียงแค่ต้องการชนะคดี พวกเขาไม่ได้ต้องการค้นหาความจริง”  คุปตะกล่าวว่าเขาเป็นเพียงแพะรับบาปและต้องการให้มีการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม แต่คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ราชัต คุปตะจะกอบกู้ชื่อเสียงและความเชื่อมั่นที่พังทลายลงไปในวันนั้น แต่เขาก็ยังคงยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง เดินหน้าให้สัมภาษณ์กับสื่อและบอกเล่าเรื่องราวของเขาต่อไป  ราชัต คุปตะ : จากเด็กกำพร้าอินเดีย สู่ผู้บริหารในสหรัฐฯ ที่ชื่อเสียงพังทลายเพราะโทรศัพท์หนึ่งสาย

Photo by https://www.youtube.com/watch?v=46uIp11zQks&t=127s 

คุปตะได้เขียนหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาในชื่อ ‘Mind Without Fear’ รวมทั้งเขียนบทความ ‘America made me but its justice system failed me: Rajat Gupta’ ในเว็บไซต์ https://economictimes.indiatimes.com/ ว่า “ผมยังคงอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ทำให้ผมผิดหวัง ผมยังคงรู้สึกขอบคุณสำหรับโอกาสมากมายที่ (สหรัฐอเมริกา) มอบให้  ผมยังคงรักชีวิต รักครอบครัว และสิ่งต่าง ๆ ที่ผมสร้างขึ้นที่นี่ และในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ผมหวังว่าจะสามารถแก้ไขกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมด้วยวิธีเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผมทำได้”   Photo by Spencer Platt/Getty Images   ที่มา: https://www.reuters.com/article/idINIndia-60200920111031?edition-redirect=in  https://economictimes.indiatimes.com/news/international/world-news/america-made-me-but-its-justice-system-failed-me-rajat-gupta/articleshow/68539785.cms?from=mdr https://www.businesstoday.in/in-depth/the-rajat-gupta-trial/story/rajat-gupta-rise-and-fall-insider-trading-29678-2012-06-15 https://www.mof.gov.np/uploads/document/file/Training%20Material%20Rajat%20Gupta%20Insider%20Trading%20Case%20File_20150723073207.pdf https://www.ndtv.com/business/insider-trading-case-who-is-rajat-gupta-312463 https://www.business-standard.com/article/beyond-business/the-rise-and-fall-of-rajat-gupta-111110100051_1.html