พันตรี รักษ ปันยารชุน นำเข้า “โค้ก” ให้ชาวไทยได้ลิ้มรสเป็นครั้งแรก และเปลี่ยนโลโก้เป็นสีเขียว

พันตรี รักษ ปันยารชุน นำเข้า “โค้ก” ให้ชาวไทยได้ลิ้มรสเป็นครั้งแรก และเปลี่ยนโลโก้เป็นสีเขียว
หลายคนรู้จัก พันตรี รักษ ปันยารชุน ในฐานะพี่ชายของ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 18 ของไทย และสามีของ “จีรวัสส์ ปันยารชุน” บุตรีของจอมพล ป. พิบูลสงครา แต่รู้หรือไม่ว่าชายผู้นี้ เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทยช่วงรอยต่อก่อนปี 2500 นี้ และยังเป็นนักธุรกิจไฟแรงที่มีส่วนเปิดประเทศไทยเข้าสู่โลกทุนนิยมอย่างเต็มขั้นด้วยการนำเข้าน้ำดำ “โคคา-โคลา” (Coca-Cola) อีกด้วย “สมัยก่อน คนไทยเขายังไม่ดื่มน้ำอัดลมกันนะคะ อย่างมากก็โซดา” จีรวัสส์ ปันยารชุน หรือ ป้าจีร์ เคยให้สัมภาษณ์ในหนังสือ “อยากลืมกลับจำ” ของสำนักพิมพ์มติชน ที่บันทึกเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิตเธอ ซึ่งได้บอกเล่าชีวิตในหมวกนักธุรกิจของ รักษ ปันยารชุน ผู้บุกเบิกนำเข้าน้ำอัดลมมาสู่ประเทศไทย พันตรี รักษ ปันยารชุน เป็นลูกคนที่แปดของพระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) เกิดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2457 โดยหลังจากเลิกจากงานการเมืองเขาได้ร่วมกับ บิล เดวิส (Bill Davis) และ เรย์ เดอร์ริค (Ray Derrick) ศึกษาลู่ทางการตลาดอยู่เกือบสิบปี ก่อนขอเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องดื่มอัดลมยี่ห้อ โคคา-โคล่า หรือ โค้ก ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2491 . มีการเปิดโรงงานบรรจุขวด “Rak Derrick & Davis Bottling” เพื่อผลิตและจำหน่าย อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 เมษายน 2492 บริเวณถนนหลานหลวง เป็นอาคารสองชั้นหลังคาทรงจั่ว โดยนิมนต์พระมาเก้ารูปเพื่อทำพิธี แล้วให้ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม (ภริยาจอมพล ป.) เป็นผู้กดปุ่มเดินเครื่อง ในพิธีเปิดงานมีการแจกโค้กขนาด 6.5 ออนซ์ ที่ผลิตและจำหน่ายในราคา 1.50 บาท ซึ่งถือว่ามีราคาค่อนข้างสูง แต่กลับได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นสินค้าที่ทันสมัยและดูเป็นอเมริกันที่สุดในยุคนั้น กระทั่งปัจจุบันที่โค้กยังคงถือเป็นเสัญลักษณ์ของทุนนิยมที่สหรัฐใช้เผยแพร่ไปทั่วโลก แต่ทำไมโลโก้โค้กที่ขายในประเทศไทยในระยะแรกกลับใช้สีเขียวแทนสีแดง? เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในสมัยนั้นเป็นกีฬาสีระดับโลก ของค่ายสังคมนิยม และประชาธิปไตย ทำให้สีแดงถูกแบนจากค่ายอเมริกัน เพราะถูกมองว่ามีความเป็นคอมมิวนิสต์มากเกินไป โดยเฉพาะการแขวนป้ายโฆษณาโค้กสีแดงไว้ตามรถรางที่วิ่งรอบกรุงเทพฯ “ตอนตั้งบริษัท คุณพ่อเป็นนายกฯ แล้วหนิคะ และท่านก็มีความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์หลังสงครามโลก เลยไม่อยากให้เอาสีแดงที่เป็นสัญลักษณ์ของพวกคอมมิวนิสต์หลังสงครามโลกมาใช้เป็นสัญลักษณ์สินค้า คุณพ่อท่านจึงบอกป้าให้ไปแนะนำคุณรักษ" "จำได้ว่าตอนนั้นกำลังเล่นกอล์ฟสบายใจ พอดีได้สักพัก คุณพ่อพูดกับป้า ‘ฉันไม่ชอบนะโค้กสีแดง ให้โค้กเป็นสีเขียวนะ’ ไม่นาน คุณรักษเลยเปลี่ยนสีของโลโก้เป็นสีเขียว ซึ่งเป็นสีวันเกิดของคุณพ่อด้วย” เนื้อหาจากคำสัมภาษณ์ป้าจีร์ ในหนังสือ “อยากลืมกลับจำ” ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติน้ำดำในเมืองไทย ที่ตั้งเป้าจะผลิตให้ได้ถึง 300,000 ลังภายในปีแรก นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังทำให้เราได้ทราบถึง “สงครามน้ำดำ” ครั้งแรกในเมืองไทย ที่ไม่เพียงแต่เป็นสงครามการค้าของสองค่ายน้ำอัดลม แต่ยังเป็นการปะทะกันของขั้วการเมืองสองขั้วคือ โค้ก เป็นธุรกิจของนักธุรกิจสายทหารที่เกี่ยวข้องกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่วน เป๊ปซี่-โคล่า นำเข้าโดยนักธุรกิจสายตำรวจ ของ เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ในปี 2502 รักษ ปันยารชุน ดำเนินธุรกิจท่ามกลางกระแสการเมืองต่อไปไม่ไหว เลยตัดสินใจขายหุ้นโค้กและลิขสิทธิ์ทั้งหมดให้กับ พจน์ สารสิน ที่เป็นเพื่อนสนิท ที่ได้ร่วมกันก่อตั้ง บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ขึ้นมา ปัจจุบัน บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มยอดนิยมมากมายทั้ง โคคา-โคลา, โค้ก ซีโร่, โค้ก ไลท์, แฟนต้า, สไปรท์, ชเวปส์, รูทเบียร์ เอ แอนด์ ดับบลิว, น้ำส้มมินิทเมด สแปลช, มินิทเมด พัลพิ และน้ำดื่มน้ำทิพย์ ที่สร้างความสดชื่นให้กับคนไทยต่อเนื่องจนมาถึงทุกวันนี้ ที่มา : ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และ ณัฐพล ใจจริง ผู้เขียน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ บรรณาธิการ, อยากลืมกลับจำ, สำนักพิมพ์มติชน http://www.thainamthip.co.th/company/history http://www.cokethai.com/forum/viewtopic.php?f=70&t=2162 http://info.gotomanager.com/news/printnews.aspx?id=8952 https://bit.ly/2RZ8ZBj