รักษ์ วรกิจโภคาทร จากวิศวกรสู่นายธนาคารข้างถนน ผู้ช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้คนตัวเล็ก

รักษ์ วรกิจโภคาทร จากวิศวกรสู่นายธนาคารข้างถนน ผู้ช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้คนตัวเล็ก
“วันที่วินมอเตอร์ไซค์จูงลูกเมียมาเพื่อขอบคุณเรา เรามีความรู้สึกว่าคำขอบคุณนั้นเป็นสิ่งที่ประทับใจมาก เพราะปกติการเป็นนายธนาคารน่าจะไปคุยกับเจ้าสัว แต่เราไปคุยกับคนตัวเล็ก ๆ ไปช่วยวินมอเตอร์ไซค์ได้มีเงินซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้ลูกใส่ไปโรงเรียนตอนเปิดเทอม มีเงินจ่ายหนี้นอกระบบ มีเงินซื้อรถมอเตอร์ไซค์คันใหม่ที่ไม่ปล่อยควันดำ นั่นแหละคือคุณค่าที่เราได้เติมความสุขให้กับคนตัวเล็ก ๆ วันนี้เราลดเพดานบินจากบินสูงให้ต่ำลง เพื่อเห็นภาพของคนไทยที่ยังขาดโอกาสอีกมากมาย ลองนึกภาพเลวร้ายที่สุด ถ้าหากคนที่เพิ่งจบออกมากว่า 5 แสนคนแล้วไม่มีงานทำ สิ่งที่จะเป็นไปได้มีตั้งแต่ การขายบริการ ยาเสพติด การพนัน และอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ” นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความประทับใจที่ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้รับจากบทบาทของการเป็น “นายธนาคารข้างถนน” ผู้ที่ยื่นโอกาสที่เข้าถึงง่ายให้กับคนตัวเล็ก ทั้งกลุ่มอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการทุกขนาด ให้สามารถผ่านพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ไปด้วยกัน รักษ์ วรกิจโภคาทร จากวิศวกรสู่นายธนาคารข้างถนน ผู้ช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้คนตัวเล็ก ก่อนที่จะมาเป็นนายธนาคารข้างถนน ดร.รักษ์ ได้เล่าย้อนให้เราฟังว่า ด้วยความที่เขาเป็นเด็กเรียนดี ซึ่งในตอนนั้นเขายังไม่รู้จักตัวตนของตัวเองดีพอ เลยเลือกเรียนต่อทางด้านวิศวกรรม แล้วจบออกมาทำงานเป็นวิศวกร ที่สวมหมวกสีเหลืองอยู่ในไซต์งานก่อสร้าง และคอยควบคุมไลน์การผลิตภายในโรงงานอยู่หลายปี จนวันหนึ่งเขาเกิดคำถามกับตัวเองขึ้นมาว่า ภาพอนาคตในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เขาอยากเห็นตัวเองเป็นอย่างไรกันแน่ “เราถามตัวเองว่า ถ้าต้องอยู่ในงานนี้ไปอีก 30 ปี จะทำได้ไหม ถ้าไม่ไหว ก็ต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง เริ่มจากการขอบริษัทย้ายไปทำด้านที่เกี่ยวกับการตลาด ดูเรื่องตัวเลขการกระตุ้นยอดขาย จากตัวเลขทางวิศวกรรม เราก็เปลี่ยนมาดูตัวเลขด้านเศรษฐศาสตร์ในสายธุรกิจแทน ก็รู้สึกสนุกสุดท้ายเลยตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์” รักษ์ วรกิจโภคาทร จากวิศวกรสู่นายธนาคารข้างถนน ผู้ช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้คนตัวเล็ก ช่วงที่เรียนปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ พอดีเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง มีการลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้เขาต้องทำงานไปด้วยระหว่างเรียน เพื่อช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายจากทางบ้าน การทำงานในร้านอาหารไทยทำให้เขาได้มีโอกาสพบเจอผู้คนหลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรบินฮู้ด บางคนหนีหนี้มาทำงาน หลายคนวีซ่าหมดอายุกลายเป็นคนนอกกฎหมาย แต่สิ่งที่ทุกคนมีร่วมกันคือต้องการทำงานเพื่อหาเงิน ประสบการณ์ตรงนี้เอง ช่วยให้เขาได้เข้าใจปัญหาของคนตัวเล็กในสังคมที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เป็นอย่างดี “เราเริ่มจากเป็นคนล้างจาน มาเป็นผู้ช่วยเชฟ ตอนกลางคืนทำงานร้านอาหารไทย กลางวันก็ทำงานเป็นผู้ช่วยสอน การทำงานช่วยให้เราได้เข้าใจว่า ชีวิตที่มีคุณค่าคือชีวิตที่เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ เป็นที่มาว่าทำไมเราถึงเข้าใจหัวอกของหลายคนที่เขาลำบาก ที่ต้องหนีหนี้ ที่ต้องพลาดโอกาสที่ดีในชีวิต แทนที่จะได้ทำงานในบ้านเกิดของตัวเอง ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำงานไกล ๆ” หลังเรียนจบ ดร. รักษ์ กลับมาทำงานหลายอย่าง เริ่มจากการเป็นข้าราชการ แล้วลาออกมาทำงานที่บริษัทขุดเจาะน้ำมันข้ามชาติ ก่อนจะย้ายไปทำงานที่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยปรับ business model และสร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่ หลังช่วยให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยสามารถเลี้ยงตัวเองได้ เขาก็ไปช่วยขยายตลาดต่างประเทศ ให้กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) และล่าสุดได้มาเข้ารับตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยมีภารกิจแรกคือ การทำให้คนรู้จัก บสย. มากยิ่งขึ้น “เรามาช่วย transform บสย. ซึ่งตั้งมาเกือบ 30 ปี แล้วใช้เงินมากเป็นอันดับ 2 ของกระทรวงการคลัง ให้คนรู้จักมากยิ่งขึ้น และเป็นองค์กรที่ SME เข้าถึงได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่ทำงานร่วมกับธนาคารเป็นหลัก ก็เปลี่ยนมาติดต่อกับ SME และผู้ประกอบการรายย่อยโดยตรง" รักษ์ วรกิจโภคาทร จากวิศวกรสู่นายธนาคารข้างถนน ผู้ช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้คนตัวเล็ก Work-life balance เป็นนิทานโกหก สิ่งแรก ๆ ที่ ดร.รักษ์ ประกาศเมื่อเข้ารับตำแหน่งที่ บสย. คือ การเปลี่ยนองค์กร จาก Work-life Balance เป็น Valued work-life balance เพราะเขาเชื่อว่าการทำงานที่สมดุล คือ ความลงตัวของเวลาและประสิทธิภาพการทำงานที่เหมาะสม ซึ่งดร.รักษ์ เปรียบเปรยในการปรับเปลี่ยนองค์กรรัฐวิสาหกิจ ขนาด 400 คน ในครั้งนี้ ว่า เป็นการปลุกเสือหลับ “เราทำให้เห็นว่าเราทำงานตั้งแต่ตี 4 ทุ่มสองทุ่มยังอยู่ในที่ประชุม ระหว่างนั่งรถกลับบ้านก็สั่งงานไปด้วย แต่พอเราให้พนักงานทำงานหนักขึ้น เราก็ต้องไม่ทิ้งเขา เราต้องเป็นคนแรก ๆ ที่ไปถึงเมื่อพวกเขามีปัญหา หรือต้องการความช่วยเหลือ แล้วช่วยแก้ปัญหานั้น องค์กรเรามีวัฒนธรรมใหม่ คือการ give ก่อน take เราจะดูแลเขาเป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ มีข้อแม้อย่างเดียวคือ ต้องให้ใจกับองค์กร เราดูแลพนักงานทั้งชีวิต และครอบครัว เนื่องจากเราเป็นลูกทหาร เป็นหลานตำรวจ เขาดูแลเรามาแบบนี้ เราก็ดูแลเขาเหมือนที่เราเห็นพ่อ และปู่เราดูแลลูกน้องเขามาตลอด ให้เขารู้สึกว่าเราเป็นคนในครอบครัว” หลังจากทำการปลุกเสือหลับแล้ว ก้าวต่อไปของผู้บริหารไฟแรงคนนี้ตั้งเป้าไว้นั่นคือการ “แก้หนี้” “ปีที่แล้วเราวางตัวเป็นหมอหนี้ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินให้กับผู้ประกอบการ แต่ก่อนจะเป็นหมอหนี้ได้ พนักงานของเราเองต้องไม่มีหนี้สินด้วย เราเลยใช้วิธีเจรจากับธนาคาร แล้วใช้การจัดการหลาย ๆ อย่างเพื่อลดหนี้ให้กับพนักงาน จากตอนแรกที่คิดไว้ว่าจะทำเล่น ๆ มีคนมาปรึกษา 20,000 กว่าคน จากคลินิคหนี้เล็ก ๆ เป็นที่มาให้มาเปิดเป็นโรงพยาบาลสนามที่ตรงนี้” รักษ์ วรกิจโภคาทร จากวิศวกรสู่นายธนาคารข้างถนน ผู้ช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้คนตัวเล็ก ดร.รักษ์ เรียก ศูนย์ที่ปรึกษาด้านการเงิน SME (บสย. F.A. Center) ที่ตั้งอยู่บริเวณชั้น 1 อาคาร SME D Bank Tower BTS สถานีอารีย์นี้ว่าเป็นโรงพยาบาลสนามรักษาคนเป็นหนี้ โดยเปิดให้บริการให้คำปรึกษาทางการเงิน ครบวงจร ทั้งการขอสินเชื่อ การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อต่อยอดความสำเร็จและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยผู้เข้ามาขอคำปรึกษา มีตั้งแต่ วินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ แม่ค้าในตลาด ไปจนถึงผู้ประกอบการ SME ซึ่งคุณหมอผู้คอยให้คำปรึกษาเรื่องหนี้ส่วนใหญ่เป็นรองกรรมการผู้จัดการอาวุโสจากบริษัทใหญ่ ๆ ที่ ดร.รักษ์ ได้เชิญมาเพราะเขาอยากให้คนที่มาขอรับการปรึกษา ได้เจอกับมืออาชีพที่มีประสบการณ์จริง ๆ ตอนนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เข้ามาปรึกษาเรื่องธุรกิจที่สะดุดจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่ง ดร.รักษ์ ได้เปรียบเทียบโควิดว่าเป็นเหมือนนาฬิกาปลุก ที่มาเคาะประตูผู้ประกอบการ ให้ตื่นจากภาพความฝัน ปลุกว่าถ้าวันนี้ธุรกิจหยุดทันที หรือรายได้ประจำหายไป เราจะทำอย่างไร “เราต้องถามตัวเองก็ว่าอยากทำอะไร ก่อนจะคุยเรื่องวงเงิน ตอนนี้เรามีบริการให้แอดไลน์ไปที่หมอหนี้ มี chat bot จนถึง check list ว่าอยากทำอะไร ปรับโครงสร้างหนี้ หนี้ท่วม หรือว่าต้องการสินเชื่อเพื่อขยายธุรกิจที่มีอยู่แล้ว ถ้าเราต้องการสินเชื่อชีวิตใหม่ วงเงินเริ่มต้นตั้งแต่ 10,000 บาท ไปจนสูงสุดที่ 20 ล้านบาท หรือถ้าอยากจะทำการ transformation ธุรกิจ เราก็มีสินเชื่อสำหรับการซื้อเครื่องจักรใหม่ ปรับไลน์การผลิต สร้างโรงงานใหม่ นี่คือสิ่งที่เราทำอยู่” รักษ์ วรกิจโภคาทร จากวิศวกรสู่นายธนาคารข้างถนน ผู้ช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้คนตัวเล็ก ดร.รักษ์ ย้ำว่าถ้าอยากมีธุรกิจ หรือจะขยายธุรกิจ ต้องเลือกช่องทางที่เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ ซึ่ง บสย. สามารถให้คำปรึกษาตรงนี้ได้ เพื่อช่วยลดเวลาในการหาสินเชื่อของผู้ประกอบการ จากเดิมที่ผู้ประกอบการใช้เวลาหลายเดือน ในการหาสินเชื่อจำนวนไม่เกิน 5 ล้านบาท เพราะต้องติดต่อหลายธนาคาร แต่ละแห่งต้องยื่นเอกสารใหม่ทุกครั้ง ตอนนี้เหลือใช้เวลาเพียงประมาณ 1 เดือนเท่านั้น “สินเชื่อที่ดีคือ ได้ถูกที่ ถูกเวลา และถูกราคา เราเลยเร่งทำงานแข่งกับเวลา ไม่ทำให้ลูกหนี้ดีก็กลายเป็นลูกหนี้เสีย เราบอกพนักงาน บสย. ตลอดเลยว่าถ้าเรากลับบ้านช้าแค่ครึ่งชั่วโมง แต่เราช่วยคนได้อีก 5 คน เหมือนเราได้ทำบุญเลยนะ เรากลับบ้านช้าแค่ 1 ชั่วโมง แล้วช่วยผู้ประกอบการได้อีก 10 ราย คือที่สุดของความอิ่มใจที่ได้ช่วยคนอื่นนะ เราพยายามทำให้ทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเองในการทำงาน ทุกคนเราต้องมีคุณค่าในตัวเอง ให้รู้สึกว่าการทำงานเป็นการทำบุญ เวลาที่งานแล้วรู้สึกอิ่มใจมันตอบคำถามในตัวเองว่า ตื่นมาทุกเช้าเพื่ออะไร” รักษ์ วรกิจโภคาทร จากวิศวกรสู่นายธนาคารข้างถนน ผู้ช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้คนตัวเล็ก องค์กรที่ดีต้องมีถ้วยรางวัล “บสย. ตอนแรกจากไม่เคยเจอลูกค้าเลย แล้วจู่ ๆ มีลูกค้าวิ่งเข้ามาก็เป็นเรื่องยาก การที่เรารับมือลูกค้า คือเรากำลังบริหารความคาดหวังของลูกค้า เขาหนีร้อนมาพึ่งเย็น ว่ากำลังจะถูกยึดทรัพย์ในเวลาวันที่เท่านั้นเท่านี้ เขามาด้วยความร้อนใจ ถ้าเราไม่สามรถแก้ปัญหาให้เขาได้ ก็ทำให้ความรู้สึกของคน 2 ฝั่งไม่มีสมดุลตรงกลาง” ก่อนหน้าที่ ดร. รักษ์ จะมาทำงานที่ บสย. บางสาขาแทบไม่เคยได้ต้อนรับลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการเลย เพราะติดต่อกับธนาคารพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือเพิ่มศักยภาพในการให้คำปรึกษา จากเดิมไม่เคยพูดคุยกับลูกค้า ต้องมาเริ่มต้นใหม่ เปลี่ยนตั้งแต่คู่มือปฏิบัติงาน คู่มือการเจอลูกค้า มีการเปลี่ยน KPI ใหม่ว่าต้องรับลูกค้าให้มากที่สุด ถ้าเรามีลูกค้า 100 คน ต้องแก้ปัญหาให้ได้ 30 คน แล้วเริ่มเพิ่มความเข้มข้นของ KPI ขึ้น จากปีแรกที่ตั้งไว้แค่จำนวนผู้ประกอบการที่เข้ามาขอรับความช่วยเหลือ มาปีนี้เพิ่ม KPI เพิ่มเป็นต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการจนสำเร็จด้วย สิ่งที่ บสย. ตั้งเป้าหมายเอาไว้คือการได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยม ต่อจากรางวัลองค์กรยอดเยี่ยม และรางวัลองค์กรโปร่งใส จาก ป.ป.ช. เหตุผลที่ผู้บริหารไฟแรงอยากได้รางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยม เพราะเขาเชื่อว่าวันที่มีรางวัลนี้ตั้งอยู่ในองค์กร จะช่วยดึงจิตวิญญาณขององค์กรขึ้นมาว่า ครั้งหนึ่งเราเคยเป็นแชมป์อย่าทำให้ตัวเองตกชั้นอีก รักษ์ วรกิจโภคาทร จากวิศวกรสู่นายธนาคารข้างถนน ผู้ช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้คนตัวเล็ก จากหมู่บ้านพลัม เป็นหมู่บ้านบางระจัน “เราอยากทำให้ บสย. เปลี่ยนจากการเป็นจากหมู่บ้านพลัม เป็นหมู่บ้านบางระจัน วันนี้เราเหมือนอยู่ในสมรภูมิตลอดเวลา พร้อมลุกขึ้นมาจับดาบเพื่อทำการรบกับความยากจน กับวิกฤตของประเทศ เป็นที่มาว่าทำไม บสย. ถึงได้รับการกล่าวถึงมากในเวทีระดับชาติ” ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งมีมติเห็นชอบในเรื่องมาตรการช่วยเหลือ SME เพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ประกอบการ SME มีสภาพคล่องสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั่วถึงและเพียงพอ 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ “PGS Soft Loan พลัส” วงเงิน 57,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่มีคุณสมบัติตาม พ.ร.ก. Soft Loan แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft loan เริ่มค้ำประกันและเก็บค่าธรรมเนียมในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการ SME ได้รับสินเชื่อ ค้ำประกันสูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท 2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 8 หรือ “บสย. SME ชีวิตใหม่” วงเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SME ทั่วไป วงเงินไม่เกิน 20 ล้านต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ในอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี 3. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งมติ ครม.อนุมัติขยายเวลา จากเดิมสิ้นสุด วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 เป็น สิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 2,500 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1-2 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี ทั้งนี้ บสย. ยังดำเนินโครงการช่วยผู้ประกอบการ SMEs อีกจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ “บสย. SME พลิกฟื้นท่องเที่ยว” วงเงิน 3,700 ล้านบาท ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 1,300 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SME 1,400 ราย 2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ “Start-up & Innobiz” วงเงิน 8,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 3,500 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SME 2,400 ราย 3. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ “บสย. SME ไทยชนะ” โครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SME ได้ 12,000 ราย 4. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ “บสย. เพิ่มพูน (Direct Guarantee : DG)” วงเงิน 1,200 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ช่วยผู้ประกอบการ SME 240 ราย “เรามองว่าเป็นความท้าทายในการแบกรับเศรษฐกิจของประเทศ ถามว่าถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ เพราะ บสย. เป็นองค์กรเดียว ที่จะกลืนกินยาพิษของคนอื่น หนี้เสียในระบบเศรษฐกิจปีละ 5-6% ในสภาวะปกติ เรากลืนยาพิษไป 3% ที่เราเรียกว่า portfolio guarantee เราเป็นฟองน้ำของระบบเศรษฐกิจในการดูดหนี้เสียจากพันธมิตรทั้ง 18 แห่ง ไว้ปีละ 3% ที่เหลือเป็นสิ่งที่เขาต้องบริหารจัดการ อย่างถ้ามีสินเชื่อ 100 ล้านบาท แล้วควรมีหนี้เสียไม่เกิน 5 ล้านบาท ถ้า บสย. ช่วยค้ำไป 3 ล้านบาท แสดงว่าเพดานหนี้เสียก็เพิ่มเป็น 8 ล้านบาท การที่เพดานเพิ่มขึ้นหมายความว่าธนาคารสามารถให้สินเชื่อได้มากขึ้น ดูแลผู้ประกอบการได้เยอะขึ้น โดยที่มีเราค้ำว่าถ้าเกิดอะไรกับผู้ประกอบการเหล่านี้ภายใน 5 ปี เราจะชดใช้ 100% ในส่วนของเงินต้น” รักษ์ วรกิจโภคาทร จากวิศวกรสู่นายธนาคารข้างถนน ผู้ช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้คนตัวเล็ก ความฝันอยากเป็นคุณครู “เรามองว่าระบบการศึกษาไทยเป็นระบบการศึกษาที่เลวร้ายที่สุด เด็กห้องคิงมีทางเลือกอยู่สองคณะ ไม่ไปเป็นหมอ ก็วิศวกร โดยไม่ได้ถามเลยว่าชอบหรือไม่ รุ่นพี่หรือคุณครูบอกให้เลือก เราก็เลือกตามไป โดยที่ไม่รู้เลยว่าจริง ๆ แล้วจบมาเราต้องทำอะไร” อดีตวิศวกรบอกว่า เป้าหมายต่อไปที่เขาจะทำคือ การสร้าง eco system ให้เด็กไม่หยุดแค่การเลือกที่จะเป็นลูกจ้างเท่านั้น แต่ควรเลือกเส้นทางเรียนต่อในสาขาวิชาชีพที่ตอบโจทย์อาชีพในอนาคต หรือไม่ก็เป็นเจ้าของกิจการที่สามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้ “ผมอยากเป็นอาจารย์เพราะว่าตอนเด็ก ๆ เรารู้สึกว่า อาจารย์บางคนไม่ได้เห็นโลกการทำงานจริง ใช้การเปิดตำรามาสอน อย่างเช่น สอนเรื่องระบบไฟฟ้า แต่ไม่ได้เคยอยู่ในเขื่อน หรือโรงไฟฟ้าจริง ๆ เราก็เลยได้แค่ถ่ายเอกสารจากสมุดจดของเพื่อนที่เรียนเก่ง แล้วนำไปสอบกลายเป็นวงจรแบบนี้ สิ่งที่ขาดไปในสังคมไทยในเวลานี้คือ practitioner อาจารย์ควรมาจากผู้ที่เคยปฏิบัติงานจริง ๆ ต้องสามารถฉายภาพจริงให้เด็กเห็นได้ เพื่อเขาจะได้รู้ว่าชอบการทำงานนั้นจริงหรือไม่ ถ้าจะปฏิวัติต้องเริ่มต้นจากการปฏิวัติการศึกษาด้วยการเอาคนที่มีประสบการณ์จริง ๆ เข้ามาอยู่ในระดับมัธยม และมหาวิทยาลัยให้มากที่สุด” สิ่งที่ช่วยยืนยันความตั้งใจของเขา คือการที่ บสย. ซึ่งเป็นผู้รู้จริงทางด้านการเงิน เตรียมเข้ามานั่งในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อพูดคุยกับนักศึกษา ทั้งในเรื่องการบริหารเงินก่อนเริ่มทำงานไปจนถึงวันที่เกษียณอายุไม่ให้เป็นภาระคนอื่น ไปจนถึงการเตรียมเงินสำหรับคนที่จะแต่งงานมีลูกควรเตรียมเงินในกระเป๋าไว้เท่าไหร่ เด็กถึงจะเติบโตมีพัฒนาการได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทั้งหมดเป็นการสอนให้คนรุ่นใหม่มีทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) ซึ่งเป็นสิ่งที่ ดร.รักษ์ คิดว่าสำคัญที่สุดสำหรับคนไทยในตอนนี้ “วันนี้สิ่งที่เราทำตลอด 19 เดือน ที่เข้ามาทำงานที่นี่ คืออยากทำให้ทุกคนมองว่า บสย. เป็นทางรอดไม่ใช่ทางเลือก ก่อนจะมาทำงานราชการก็มีหลายคนบอกว่า อย่าไปเลยงานราชการไร้ประสิทธิภาพ เรามองกลับกันว่า ถ้าเรารู้ว่าไร้ประสิทธิภาพ แล้วทำไมไม่ไปช่วยทำให้มันดีขึ้นด้วยตัวเอง เราสามารถจะทำให้งานราชการดีขึ้นได้ เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ให้อยากมาทำงานราชการมากขึ้น แล้วกลับมาเป็นอาชีพที่อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีเกียรติ เหมือนสมัยก่อนตอนที่เรายังเป็นเด็ก แล้วรู้สึกว่าทำงานภาครัฐเป็นอาชีพที่ดี”