รักษ์-วชิรา ทวีสกุลสุข จากคนไม่รักแมว สู่การทุ่มเทชีวิตเพื่อแมวไร้บ้าน

รักษ์-วชิรา ทวีสกุลสุข จากคนไม่รักแมว สู่การทุ่มเทชีวิตเพื่อแมวไร้บ้าน

ทำไมจากคนที่ไม่รักแมว กลายเป็นหนึ่งคนที่ทุ่มเทเกือบทั้งชีวิตเพื่อแมวจรจนก่อตั้ง มูลนิธิรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร

“แมวเป็นสิ่งมีชีวิตที่คิดจะครองโลก” คำพูดติดปากของบรรดาคนรักแมว ที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของสัตว์เลี้ยงชนิดนี้ที่มีต่อมนุษย์เรา ทั้งนิสัยอินดี้เอาแต่ใจ คาดเดาอารมณ์ได้ยาก แต่ก็ซ่อนพฤติกรรมน่ารักน่าเอ็นดูเอาไว้ในตัวเดียวกัน ทำให้หลายคนหลงรักจนยอมถูกเรียกว่าทาสแมว ค่อยเลี้ยงดูแมวเป็นอย่างดี แต่ความเป็นจริงแมวไม่ได้มีชีวิตที่สวยหรูแบบนั้นไปหมดทุกตัว ยังมีกลุ่มแมวจรจัดเร่ร่อน ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ยากลำบาก อย่าว่าแต่คิดจะครองโลก ลำพังหาอาหารกิน หรือเพียงที่นอนอันปลอดภัยยังยากลำบาก เป็นที่มาให้เกิด “มูลนิธิรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร” ที่ก่อตั้งโดย “พี่รักษ์-วชิรา ทวีสกุลสุข” ผู้ที่ต้องใช้สิ่งที่มากกว่าแค่ ความรักแมว มูลนิธิรักษ์แมว จุดเริ่มต้นของการพบกันระหว่าง “พี่รักษ์” และ “แมว” ต้องย้อนไปเมื่อ 12 ปีที่แล้ว เนื่องจากบ้านพี่รักษ์ไม่มีสัตว์เลี้ยง แมวจรท้องแก่เลยมาขออาศัยมุมเล็กๆ ของบ้านในการให้กำเนิดลูกน้อย ขณะที่พี่รักษ์ไม่อยู่บ้าน แม่แมวได้คาบลูกขึ้นหลังคาเพื่อไปหาที่อยู่ใหม่ โชคร้ายด้วยความสูงทำให้แม่แมวทำลูกรักตกลงไปตายในแทงค์น้ำตัวแล้วตัวเล่า จนเกือบหมดครอก !! หลายเดือนต่อมา แม่แมวตัวนี้กลับมาปรากฎตัวให้เห็นอีกครั้ง พร้อมท้องที่ป่องเหมือนครั้งที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้พี่รักษ์ไม่ยอมให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นอีก เพราะเธอเริ่มตัดสินใจลงมือหาข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงแมวด้วยตัวเอง “เราหาความรู้จากเน็ตก่อนเลย เริ่มต้นจากศูนย์ หาข้อมูลว่าแมวกินอะไร อาหารเม็ดแบบไหนที่แมวชอบกิน ไปจนถึงการทำหมันแมวเพื่อตัดวงจรนี้ จนได้มาเจอกลุ่มคนที่เขาเลี้ยงแมวในพันทิป มีทั้งคนที่เอาแมวมาโชว์ มาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแมวจร สักพักเพื่อนกลุ่มนี้ก็เริ่มเยอะขึ้น” มูลนิธิรักษ์แมว การที่พี่รักษ์เข้ามาอยู่ในชุมชนคนเลี้ยงแมวในโลกออนไลน์ ทำให้เธอได้รู้ว่ายังมีอีกหลายคนที่ประสบปัญหาแมวจรเหมือนเธอ อย่างเช่นแถวบ้านเธอมีแม่ค้าพวงมาลัยคนหนึ่งที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ดูแลแม่ที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์พร้อมกับดูแลแมวจรหลายสิบตัวไปพร้อมกัน เนื่องจากสถานที่เลี้ยงดูแมวคือพื้นที่เล็กๆ ข้างเพิงขายดอกไม้ ติดถนนใหญ่ที่มีรถยนต์วิ่งพลุกพล่าน ไม่แปลกเลยที่สวัสดิภาพแมวจรที่เพิงขายดอกไม้นั้นจะเลวร้ายอย่างที่สุด ลูกแมวโดนรถเฉี่ยวชนแทบจะทุกอาทิตย์ เป็นจุดเริ่มต้นให้พี่รักษ์ เข้ามาแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุนั่นคือ การทำหมันแล้วหาบ้านให้แมวจรกลุ่มนั้น “แมวบางตัวที่คนเอามาทิ้งตัวจริงน่ารักมาก แต่หาบ้านไม่ได้เลยเพราะรูปที่ลงโพสต์หาบ้านไม่สวย เราเลยหาวิธีว่าถ่ายรูปยังไงให้แมวดูดี ก็พอเริ่มหาบ้านได้ หลังได้บ้านเราก็ตามต่อว่าถ้าถึงเวลาเดี๋ยวเราจะพาไปทำหมันนะ” มูลนิธิรักษ์แมว จากการถ่ายรูปแมวลงโพสต์หาบ้านผ่านสังคมออนไลน์ จุดเปลี่ยนที่ทำให้พี่รักษ์ วชิรา กระโดดเข้ามาเดินสายหาบ้านให้แมวแบบเต็มตัว เกิดขึ้นเพราะแมวจรตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งที่พี่เจ้าของร้านดอกไม้ได้เอาเลี้ยงไว้ “วันหนึ่งพี่เจ้าของร้านดอกไม้โทรมาร้องไห้ว่า แมวของเขาโดนรถชนกระเพาะแตก เขาพาไปหาหมอหมดเงินไปหลายพันแล้ว ถ้าจะรักษาต่อต้องจ่ายอีกเป็นหมื่น แต่เงินเขาหมดแล้วไม่รู้จะทำยังไง เราก็บอกว่าพี่รักษาต่อเถอะไม่รักษามันต้องตายแน่นอน เดี๋ยวเราจะช่วยหาเงินให้” พี่รักษ์ ใช้วิธีการเรี่ยไรขอรับบริจาค เวลาเพียงแค่สามวันก็ได้เงินหมื่นมาในมือ แต่น่าเสียดายที่ไม่ทันการ แมวโชคร้ายตัวนั้นได้จากไปเสียก่อน เธอเลยต้องไปประกาศใหม่อีกครั้ง เพื่อหาวิธีคืนเงินบริจาคให้กับทุกคน แต่คนรักแมวส่วนใหญ่กลับอยากให้เธอเอาเงินไปช่วยเหลือแมวจรตัวอื่นๆ ต่อมากกว่า เงินส่วนนี้เลยแปลงเป็นรั้วมิดชิดให้แมวที่เพิงร้านดอกไม้ไม่ให้ถูกรถชนเพิ่ม ส่วนที่เหลือเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำหมันแมวจรตัวอื่นๆ “ตอนแรกเราใช้ชื่อบัญชีแมวป่วยวชิรา แต่มาเพื่อนที่ออกบูทบอกว่า เราชื่อรักษ์ ให้ชื่อโครงการรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจรก็แล้วกัน” จากทุนตั้งต้นที่มีอยู่น้อยนิด โครงการรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร ของพี่รักษ์ได้ตระเวนออกบูทเพื่อหาบ้านให้แมวจร เพราะเธอรู้สึกว่าถ้าคนรักแมวได้มาเห็นแมวตัวจริง ได้เห็นความน่ารัก เห็นแววตาขี้เล่นแล้วรู้สึกถูกชะตา น่าจะมีโอกาสหาบ้านได้ง่ายกว่าการเห็นเพียงแค่รูปถ่ายใบหนึ่ง จุดแรกที่โครงการรักษ์แมวฯ ไปตั้งจุดหาบ้านคือ เชิงสะพานลอย ตลาดเมืองไทยภัทร เธอตั้งซุ้มอยู่เพียงสามชั่วโมงตั้งแต่สิบเอ็ดโมงถึงบ่ายโมงตรง ก็สามารถหาบ้านให้กับแมวสีดำที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแมวที่สีไม่เป็นมงคลหาบ้านยากได้หมดทั้งสิบตัว ความสำเร็จนี้ทำให้เธอรู้สึกว่ามาถูกทาง ตอนหลังเพื่อนในสังคมออนไลน์ก็เริ่มมาร่วมด้วยช่วยกันหาบ้านให้แมวจร จนกลายเป็นกลุ่มหาบ้านให้แมวจร ต่อมามีคนรักแมวที่เปิดร้านในตลาดนัดสวนจัตุจักร มีพื้นที่ว่างหน้าร้านเลยให้เธอมาใช้พื้นที่วางกรงแมวจรได้ ซึ่งทำให้แมวจรหาบ้านได้เป็นจำนวนมาก เพราะมีกลุ่มคนที่มาเดินที่นี่เพื่อต้องการหาซื้อสัตว์ไปเลี้ยงอยู่แล้ว “พอเรามาตั้งที่จัตุจักรบูมมากเลย แมวได้บ้านเยอะมากๆ จนทางคนดูแลให้พื้นที่ฟรีกับเราเพราะมองว่าเป็นการกุศล แต่สักพักมีการเปลี่ยนนโยบายไม่ให้มีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรม แม้เราจะขอจ่ายค่าเช่าก็ตาม เราเลยต้องหาที่ใหม่กัน” รักษ์-วชิรา ทวีสกุลสุข จากคนไม่รักแมว สู่การทุ่มเทชีวิตเพื่อแมวไร้บ้าน แต่จังหวะชีวิตของโครงการรักษ์แมวก็ยังไม่ถึงทางตัน เพราะมีผู้ใหญ่ใจดีอย่างเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ที่ติดต่อให้พี่รักษ์ใช้พื้นที่ว่างของห้างเพื่อหาบ้านให้แมวได้ “พี่ที่อยู่เมเจอร์รัชโยธิน เขามาดูเองเลยว่าเราช่วยเหลือแมวจริงมั้ย ทำจริงจังแค่ไหน พอมาดูเขาก็อยากให้เราเอาแมวไปหาบ้านที่ห้าง ไปครั้งแรกดีมากได้บ้านเกือบร้อยตัว ห้างก็ได้คนมาเดินดูแมว เหมือนเป็นแมวกวักเรียกคนเข้าห้าง ปีนั้นเราเลยได้คิวจัดกิจกรรมยาว วนไปตามห้างในเครือเมเจอร์ฯ กับเอสพลานาด” โครงการรักษ์แมวฯ เติบโตขึ้นทุกวัน มีเงินเข้าออกบัญชีเพื่อบริจาคจำนวนอยู่ตลอดเวลา ทั้งจากการรับบริจาคของพี่รักษ์เอง บางครั้งก็เป็นคนในกลุ่มที่ขอใช้บัญชีนี้เพื่อความสบายใจของผู้บริจาค ทำให้เริ่มมีปัญหากับทางสรรพกร “เงินเริ่มเข้าออกบ่อยเข้า ทางสรรพกรเลยขอให้ไปเปิดเป็นมูลนิธิอย่างถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นรายได้ของเรา เราต้องเสียภาษีเงินได้ด้วย จริงๆ มีคนแนะนำให้จดทะเบียนตั้งนานแล้ว แต่เราไม่อยากทำเพราะถ้าเป็นมูลนิธิแล้วต้องแบกรับความคาดหวังจากสังคมมากขึ้น ซึ่งบางครั้งมันก็เกินกำลังเรา เราอยากช่วยแมวแบบที่เรามีความสุข แต่สถานการณ์มันบีบบังคับให้เลือกว่าจะหยุดหรือไปต่อ เราทำมาเป็นสิบปีแล้วจะหยุดเพราะสรรพกรมันก็ไม่ใช่” รักษ์-วชิรา ทวีสกุลสุข จากคนไม่รักแมว สู่การทุ่มเทชีวิตเพื่อแมวไร้บ้าน ตอนนี้ “โครงการรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร” จดทะเบียนเป็น “มูลนิธิรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร” อย่างถูกต้อง โดยเป็นศูนย์กลางในการประกาศจับคู่ระหว่างคนหาบ้านและคนรับเลี้ยงแมวจร ผ่านขั้นตอนการลงทะเบียน พูดคุยเพื่อหาความพร้อมและทัศนคติของผู้รับเลี้ยง หากคนหาบ้านมือใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ในการหาบ้าน ที่มูลนิธิจะมีพี่เลี้ยงเพื่อช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด ซึ่งมีสมาชิกขาประจำที่แวะเวียนมาสม่ำเสมออยู่ไม่ถึงสิบคน ที่เหลือเป็นขาจรที่มาหาบ้านให้แมวเป็นครั้งคราว “คำถามหลักๆ คือ เคยเลี้ยงมาก่อนมั้ย เคยทำแมวหายหรือเปล่า ถ้าหายหรือตายเพราะอะไร ถ้าเลือกได้เราอยากให้เลี้ยงระบบปิด เพราะคนไม่ชอบแมวก็มีเยอะ เรารักนะใช่ แต่ถ้าแมวไปป้วนเปี้ยนในที่เขาอยู่ มันอาจถูกทำร้ายได้ แล้วก็ทำหมันฉีดวัคซีน หลักๆ คือแค่นี้” รักษ์-วชิรา ทวีสกุลสุข จากคนไม่รักแมว สู่การทุ่มเทชีวิตเพื่อแมวไร้บ้าน หลายครั้งที่คนรับแมวไปเลี้ยงแล้วไม่สามารถเลี้ยงต่อได้ เพราะปัญหาต่างๆ กัน พวกเธอต้องไปรับแมวกลับมาหาบ้านใหม่อีกรอบ ทำให้ทางมูลนิธิต้องเน้นคุณภาพในการคัดเลือกบ้านใหม่ให้กับแมวจร มากกว่าปริมาณ เฉลี่ยแล้วการออกหาบ้านครั้งหนึ่งจะมีแมวโชคดีได้ทาสคนใหม่กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ แต่มีหลายตัวที่หาบ้านหลายรอบแล้วยังไม่ได้บ้าน ก็ได้พี่รักษ์ นี่แหละที่รับหน้าที่เป็นบ้านหลังสุดท้ายให้กับเจ้าเหมียว “ที่บ้านเลี้ยงอยู่เกือบ 40 ตัว เราเป็นแม่บ้านธรรมดา อยู่บ้านกับสามี จากเดิมเราเลี้ยงแมวเป็นงานอดิเรก จนตอนนี้จะมากกว่างานส่วนตัวแล้ว ก็เลี้ยงแบบระบบปิดอยู่หลังบ้าน วันหนึ่งแค่ทำความสะอาดกระบะทราย ถูพื้นห้อง ป้อนยา ก็เกือบสามชั่วโมงแล้ว” รักษ์-วชิรา ทวีสกุลสุข จากคนไม่รักแมว สู่การทุ่มเทชีวิตเพื่อแมวไร้บ้าน   นอกจากการเดินสายหาบ้านให้แมวจรแล้ว ทางมูลนิธิรักแมวฯ ยังรับทำหมันฟรีให้กับแมวจร เพื่อตัดวงจรปัญหาแมวจรจัดที่ถูกจุดที่สุด แต่กิจกรรมทำหมันฟรีต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทำให้ทางมูลนิธิหาวิธีระดมเงินบริจาคเพิ่มเติม เพื่อให้กิจกรรมทำหมันฟรีดำเนินต่อไปได้ “เรากำลังจัดวิ่งรักแมวรัน ที่สวนลุม วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน ที่จะถึงนี้ ในงานเรากำลังติดต่อเพจแมวสวนลุม อาจมีกิจกรรมหาบ้านให้แมวสวนลุมด้วย อยากชวนให้คนรักแมวมาวิ่งกันเยอะๆ”

พอเห็นแมวที่ช่วยมีชีวิตที่ดี ก็รู้สึกดีไปด้วย ทำให้เราต้องสู้ต่อไป

จากประสบการณ์ที่หาบ้านให้แมวจรมากว่าสิบปี พี่รักษ์ ให้ความเห็นว่าคนส่วนใหญ่มองว่ามูลนิธิรักษ์แมวฯ มีหน้าที่ในการช่วยเหลือแมว พอเห็นแมวจรก็โทรมาแจ้ง เหมือนเป็นการบอกบุญต่อ แต่วิธีการหนึ่งที่จะช่วยแมวจรได้ดีเหมือนกัน คือการบริจาคเงินให้มูลนิธิเอาไปช่วยแมวต่อ “ก่อนหน้านี้ก็เคยทิ้งเบอร์โทรไปในเพจนะ แต่ไม่ไหวมีบางวันโทรมาสามสายให้ไปช่วยแมวที่ถูกรถชน จากกรุงเทพบ้าง ต่างจังหวัดก็มี เราไม่ได้พร้อมไปเวลานั้น ก็บอกให้เขาพาไปหาหมอก่อนเดี๋ยวเราตามไป เขาก็บอกไม่มีเงิน เราก็ไม่รู้จะทำยังไง วันนั้นเลยจิตตกทั้งวัน โทรหาเพื่อนวุ่นไปหมดให้ช่วยไปดูแมวตัวนั้น สุดท้ายเราเลยต้องดูแลสุขภาพจิตเราก่อน ทำตัวให้โลว์โปรไฟล์ไม่งั้นเราจะแย่ก่อน” รักษ์-วชิรา ทวีสกุลสุข จากคนไม่รักแมว สู่การทุ่มเทชีวิตเพื่อแมวไร้บ้าน นอกจากนี้ในฐานะคนเลี้ยงแมวด้วยกัน พี่รักษ์อยากฝากด้วยว่า ถ้าจะเลี้ยงสัตว์ควรศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อน ฉีดวัคซีนอะไร ทำหมันตอนอายุเท่าไหร่ ประเมินความพร้อมของคนเลี้ยงเองด้วยว่ามีความรับผิดชอบแค่ไหน การเลี้ยงสัตว์ต้องมีทั้งความรัก ความอยากเลี้ยง ความรับผิดชอบ แล้วต้องมีความรู้ด้วย จะได้เลี้ยงไปได้จนตลอดรอดฝั่ง “ถ้าจะเลี้ยงแมว เลี้ยงหมา หรือสัตว์อะไรก็ตาม เราควรจะหยอดกระปุกไว้ เก็บเดือนละห้าร้อยบาทก็ได้ ป่วยไม่ป่วยไม่รู้ แต่ออมตังค์ไว้ก่อน ไม่งั้นป่วยมาก็ไม่กล้าไปหาหมอกลัวแพง คืออย่างน้อยมีความรับผิดชอบที่เลี้ยงเขามาแล้ว อยากให้ทุกคนคิดแบบนี้ มันต้องสร้างมาจากตรงนี้ก่อนปัญหาแมวจรจะได้น้อยลง” กิจวัตรประจำวัน หลังจากงานบ้านแล้ว พี่รักษ์ใช้เวลากับฝูงแมวกว่า 40 ตัว ที่อดีตเคยเป็นแมวไร้บ้านก่อนที่เธอรับมาเลี้ยงดู โดยเธอบอกว่าจำชื่อและที่มาได้ทุกตัวว่าได้มาจากตรงไหน แต่พอถามว่าจากวันแรกที่มีแมวท้องแก่มาคลอดลูกที่บ้าน จนถึงที่เป็นตัวตั้งตัวตีก่อตั้งมูลนิธิรักษ์ ปันน้ำใจให้แมวจร ตอนนี้เธอเรียกตัวเองว่าคนรักแมวได้หรือยัง คำตอบของพี่รักษ์ทำให้เราแปลกใจ “ถ้ามีคนถามว่ารักแมวหรือเปล่า จะบอกว่าเราไม่ได้รักแมวนะ เราสงสารมากกว่า ซึ่งอาจจะมากกว่าความรักก็ได้ พอเห็นแมวที่ช่วยมีชีวิตที่ดี ก็รู้สึกดีไปด้วย ทำให้เราต้องสู้ต่อไป เพื่ออีกหนึ่งชีวิตจะได้ดีขึ้น แต่บางทีตอนเห็นแมวจรแล้วไม่ได้ช่วย ก็ค้างคาเหมือนกันนะ เพราะเราก็ไม่สามารถจะเลี้ยงได้ทุกตัว คือเราบอกตัวเองว่า วันนี้เราได้ทำอะไรบ้าง แล้วสิ่งที่ทำดีพอแล้วหรือยัง แล้วคิดว่าจะทำอะไรได้อีก”