วัฒนธรรมข่มขืน ความรุนแรงทางสังคมที่ไม่ได้ขึ้นต้นและจบลงแค่การข่มขืน

วัฒนธรรมข่มขืน ความรุนแรงทางสังคมที่ไม่ได้ขึ้นต้นและจบลงแค่การข่มขืน
Rape culture หากแปลเป็นไทยอย่างตรงตัวคงต้องใช้คำว่า “วัฒนธรรมข่มขืน” แต่ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทยอาจจะไม่เห็นด้วย (เช่น ราชบัณฑิต) ที่เชื่อว่า “วัฒนธรรม” หมายถึง “สิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ”  ขณะที่ Cambridge Dictionary ให้นิยามคำว่า culture ที่ตรงกับ “วัฒนธรรม” ในคำไทย (แม้จะไม่แนบสนิท) เอาไว้ว่า “วิถีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีและความเชื่อเป็นการทั่วไปของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ณ ชั่วเวลาหนึ่ง”  การนำ culture มาใช้ร่วมกับคำว่า rape ในภาษาอังกฤษจึงไม่รู้สึกผิดฝาผิดตัว เหมือน “วัฒนธรรม” กับ “ข่มขืน” ในภาษาไทย ซึ่งเป็นความจำกัดทางภาษาราวกับว่ามันไม่เคยมีอยู่ในสังคมนี้ แต่ยิ่งคดีข่มขืนเกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ก่อเหตุเป็นผู้มีสายสัมพันธ์หรือเครือข่ายกลุ่มก้อน ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า “วัฒนธรรมข่มขืน” เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในคนกลุ่มหนึ่งของสังคมไทย Rape culture เป็นคำที่ปรากฏใช้ในช่วงทศวรรษ 1970s เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่สังคมพยายามปฏิเสธการมีอยู่ของการข่มขืน หรือทำให้การข่มขืนดูเป็นอาชญากรรมชั้นเบาที่สังคมไม่ควรให้น้ำหนักกับมันมาก ทั้งในเชิงศีลธรรม หรือการเยียวยาผู้ถูกกระทำ ซ้ำยังโน้มน้าวให้สังคมรู้สึกเห็นใจผู้กระทำมากกว่า หลักฐานเก่าสุดของคำนี้ปรากฏในหนังสือเรื่อง Rape: The First Sourcebook for Women เผยแพร่เมื่อปี 1974 และถูกนำมาอภิปรายต่อในสารคดีเรื่อง Rape Culture โดย มาร์กาเรต ลาซารัส (Margaret Lazarus) เผยแพร่ครั้งแรกในปี 1975 มีการพูดถึงทัศนคติของผู้ชายอย่างเช่น “ผู้หญิงจะถูกข่มขืนได้ยังไง ผมไม่เข้าใจว่าผู้หญิงจะถูกข่มขืนได้ยังไง การไปเที่ยวกับผู้หญิงแล้วดื่มด้วยกันเล็กน้อย หลังจากนั้นก็มีอะไรกัน แล้วผู้หญิงมาบอกว่าเป็นการข่มขืน แบบนั้นผมไม่เรียกว่าข่มขืนหรอก” หรือ “ทนายอังกฤษคนหนึ่งเคยยกตัวอย่างไว้ว่า ถ้าคุณพยายามที่จะสอดด้ายเข้ารูเข็ม ถ้ารูเข็มเลื่อนไปมาคุณก็ไม่มีทางทำได้ ในทางเดียวกันจะสอดอวัยวะเพศชายใส่อวัยวะเพศหญิง ถ้าเข็มมันแกว่ง ก็ลืมไปได้เลย” มีการอภิปรายถึงสื่อบันเทิงที่พยายามทำให้การข่มขืนดูเป็นเรื่องเล่น ๆ ผ่านภาพยนตร์ที่สนองจินตนาการทางเพศที่รุนแรงของเพศชาย มันฉายภาพของผู้หญิงที่พูดว่า “ไม่” แต่ในใจคือ “ทำเถอะ” หรือกระทั่งจินตนาการของหญิงที่ต้องการถูกข่มขืน การจะหยามศักดิ์ศรีใครสักคนให้มากที่สุด ก็คือการทำให้เขาต้องทำอะไรบางอย่างที่เป็นการลดคุณค่า อันเป็นสิ่งที่เขาไม่อยากทำ และสิ่งที่ลดทอนคุณค่ามากที่สุดก็คือ การบังคับให้ใครสักคนยอมมีเพศสัมพันธ์กับคุณ หรือมีความสัมพันธ์ทางเพศในทางใดกับคุณ หรือรุกล้ำร่างกายของพวกเขาโดยที่พวกเขาไม่ต้องการ “ไม่ว่าใครเมื่อไรก็ตามที่ถูกบังคับให้ต้องมีสัมพันธ์ทางเพศ โดยที่เขาหรือเธอไม่ต้องการ นั่นคือการข่มขืน และเป็นการใช้อำนาจกดขี่  “มันไม่ใช่เรื่องของความกำหนัด มันถูกแปลเช่นนั้น มันถูกแสดงออกผ่านเรื่องเพศ แต่จริง ๆ มันเป็นเรื่องของอำนาจ การใช้อำนาจข่มเหง ความก้าวร้าว และความรุนแรง คาร์ลา แจ็กสัน (Karla Jackson) ที่ปรึกษาเหยื่อข่มขืนกล่าวในสารคดี Rape Culture แจ็กสันซึ่งเป็นหญิงผิวดำเชื่อว่า การข่มขืนในสังคมที่มีวัฒนธรรมข่มขืนนั้นมีไว้เพื่อจำกัดโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้หญิง โดยใช้ความรุนแรงทางเพศเป็นเครื่องมือ ทุกอย่างในระบบมันมีอยู่ด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง ไม่ใช่ว่ามันมีอยู่แบบโดด ๆ และเมื่อเราพูดถึงการข่มขืน มันคือความรุนแรง และการข่มขู่ด้วยความรุนแรงที่ถูกใช้เพื่อควบคุมให้คนกลุ่มหนึ่ง ๆ อยู่ในที่ทางของตนเอง มันก็เหมือนการเหยียดผิว มันถูกใช้เพื่อจัดคนกลุ่มหนึ่งอยู่ในที่ทางของตัวเอง ไม่ว่าที่ทางของพวกเขาจะเป็นอะไร มันอาจจะเป็นพื้นที่ย่านหนึ่ง หรือในบ้านของพวกเขาเอง “ฉันคิดว่า โครงสร้างทางสังคมคือสิ่งที่อำนวยให้การข่มขืนคงอยู่ เพราะกฎหมายถูกเขียนขึ้นเพื่อคนข่มขืน ไม่ใช่เหยื่อที่ถูกข่มขืน ความช่วยเหลือใด ๆ มีอย่างไม่เพียงพอ มันมีอะไรหลายอย่างที่ทำให้ฉันคิดว่า เอ๊ะ! นี่มันมีอะไรทะแม่ง ๆ นะ แล้วฉันก็คิดว่า การข่มขืน การเหยียดผิว และการเหยียดเพศ คือสิ่งที่ใช้แบ่งแยกพวกเรา เพื่อกีดกันเราจากส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจชิ้นใหญ่” แจ็กสันกล่าว แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าที่ไหนมีวัฒนธรรมข่มขืน? สื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ชี้วัดได้ว่า สังคมนั้น ๆ มีแนวโน้มที่จะยอมรับวัฒนธรรมข่มขืนหรือไม่ เพราะสื่อแต่ละสำนักอยู่ได้ก็ด้วยคนอ่านที่มีความเห็นคล้าย ๆ กัน สื่อจึงเป็นเครื่องมือสะท้อนสิ่งที่เป็นบรรทัดฐานของสังคมมากกว่าที่จะท้าทายความเห็นของสังคมนั้น ๆ (อาจมีข้อยกเว้นแต่ก็น้อย) ไม่เช่นนั้นพวกเขาก็จะสูญเสียฐานคนรับสื่อกลุ่มใหญ่ไป แมตทิว เอ. บัม (Matthew A. Baum) และ ดารา เคย์ โคเฮน (Dara Kay Cohen) จาก John F. Kennedy School of Government แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ ยูริ เอ็ม. ซูคอฟ (Yuri M. Zhukov) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณในงานวิจัยชื่อ Rape Culture and Sexual Crime ก็ใช้ข้อมูลจากรายงานของสื่อต่าง ๆ ในสหรัฐฯ จำนวน 279 สำนัก ระหว่างปี 2000 ถึง 2013 จำนวนกว่า 300,000 ชิ้น พิจารณาร่วมกับการแจ้งความของเหยื่อ รายงานการจำกุมและดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ส่วนวิธีการหาร่องรอยของวัฒนธรรมข่มขืนในสื่อนั้น พวกเขาอาศัยการหาถ้อยคำในรายงานที่แสดงถึงลักษณะ 4 ประการ ประกอบด้วย การกล่าวโทษเหยื่อ เห็นใจผู้ถูกกล่าวหา แสดงโดยนัยว่าเหยื่อยินยอม และตั้งข้อสงสัยถึงความน่าเชื่อถือของเหยื่อ นักวิจัยชี้ว่า ในงานของสื่อที่ไม่มีวัฒนธรรมข่มขืนนั้นจะเน้นที่การรายงานการสืบสวน หรือกระบวนการพิจารณาความในศาลเป็นสำคัญ ในขณะที่ในสื่อที่มีวัฒนธรรมข่มขืนนั้นจะเน้นไปที่ตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดี และให้ความสำคัญกับความร้ายแรงหรือลักษณะทางอาชญากรรมของคดีน้อยกว่า  ส่วน 4 อาการที่แสดงว่าสื่อมีวัฒนธรรมข่มขืนนั้น นักวิจัยอธิบายว่า ในงานที่มีลักษณะกล่าวโทษเหยื่อ การรายงานจะเน้นไปที่บริบทแวดล้อมของเหตุที่เกิดขึ้นซึ่งอาจสร้างความสงสัยต่อความสมบูรณ์เชิงสติสัมปชัญญะของเหยื่อ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การไปงานปาร์ตี  งานที่มีลักษณะแสดงความเห็นใจของผู้ถูกกล่าวหา จะมีการใช้คำกล่าวถึงผู้ถูกกล่าวหาในลักษณะที่แสดงถึงความเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น ๆ เช่น “ทีม” ถามหาหลักฐาน อ้างความบริสุทธิ์ และน้อยครั้งที่จะกล่าวถึงผู้ถูกกล่าวหาว่า “ผู้ต้องสงสัย” ในงานที่พยายามจะแสดงโดยนัยถึงความยินยอม มักจะเน้นย้ำความสัมพันธ์ของผู้ถูกกล่าวหากับเหยื่อโดยเฉพาะในสถาบันการศึกษา เช่น “ครู” กับ “นักเรียน”  และลักษณะสุดท้ายคือการตั้งข้อสงสัยในความน่าเชื่อถือของคำบอกเล่าของเหยื่อ โดยย้ำว่า คำบอกเล่าของเหยื่อเป็นเพียง ข้อกล่าวหา และ ข้อกล่าวอ้าง เป็นต้น จากนั้นนักวิจัยก็จะมองไปที่ยอดจำหน่ายของสื่อแต่ละสำนักในแต่ละท้องที่ว่าสื่อไหนเข้าถึงท้องถิ่นนั้น ๆ มากที่สุด ซึ่งน่าจะสะท้อนความคิดอันเป็นบรรทัดฐานของท้องถิ่นนั้น ๆ มากที่สุด แล้วนำปริมาณการรายงานข่าวข่มขืนของสื่อนั้น ๆ มาเทียบเคียงกับการแจ้งความ และการดำเนินคดีในท้องที่ดังกล่าว  สิ่งที่นักวิจัยค้นพบก็คือ ที่ไหนมีวัฒนธรรมข่มขืน ที่นั่นย่อมมีข่าวรายงานคดีข่มขืนมากกว่า ขณะที่ความขะมักเขม้นในการคลี่คลายคดีของเจ้าหน้าที่ก็จะน้อยกว่า  บางคนอาจจะบอกว่า ที่มีการรายงานข่าวข่มขืนมากอาจเป็นเพราะเหยื่อสมัยนี้เข้าถึงสื่อได้ดีขึ้นหรือเปล่า? แต่นักวิจัยกล่าวว่าจากข้อมูลที่ได้นั้นสอดคล้องกับทฤษฎีของพวกเขาที่ว่า  “วัฒนธรรมข่มขืนในสื่อสะท้อนถึงวิถีปฏิบัติอันเป็นบรรทัดฐานของท้องที่นั้น ๆ ซึ่งไม่อาจยับยั้งกลุ่มที่มีแนวโน้มจะก่อคดีให้เปลี่ยนใจได้ และการเพิ่มขึ้นของคดีก็ยิ่งส่งผลให้การแจ้งความของเหยื่อลดลง” ขณะเดียวกัน นักวิจัยย้ำว่า การรายงานของสื่อมิได้เป็นสาเหตุกระตุ้นให้มีผู้ลงมือก่อเหตุข่มขืนมากขึ้นแต่อย่างใด หากแต่การรู้ว่าที่ใดมีวัฒนธรรมข่มขืน (สะท้อนผ่านการรายงานของสื่อ) ย่อมคาดหมายได้ว่าที่นั่นจะมีคดีข่มขืนมากกว่าที่อื่น ๆ เมื่อสังคมและกลไกป้องกันและแก้ไขอาชญากรรมเกิดเป็นอัมพฤกษ์ขึ้นมากระทันหัน ทำให้ผู้มีแนวโน้มที่จะก่อเหตุขาดความยับยั้งชั่งใจที่จะทำการลงมือ หากหันกลับมาดูคดี 5 ครูข่มขืนลูกศิษย์วัย 14 ปี เป็นเวลา 2 ปี ที่มุกดาหาร ก็จะพบว่า ณ โรงเรียนที่เกิดเหตุนั้น มีวัฒนธรรมข่มขืนอย่างเข้มข้น โดยไม่ต้องไปหารายงานจากสื่อไหน เพราะคนใกล้ตัวผู้ถูกกล่าวหาคือครูร่วมโรงเรียนออกมาให้ความเห็นเองผ่านโซเชียลมีเดียว่า  "ให้กำลังใจครูทั้ง 5 คนที่ข่มขืนนักเรียนหญิง คนเรามีผิดพลาดกันได้ เราในฐานะเพื่อนร่วมอาชีพครู ขอบอกพวกที่ด่า ๆ ครูที่ข่มขืนเด็กนะว่า เด็กสมยอมหรือเปล่า ถ้าใครไม่อยากให้ลูกหลานโดนครูข่มขืนก็สอนลูกตัวเองอยู่ที่บ้าน อย่าส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียน เพราะครูก็มีชีวิตจิตใจ เงี่ยนเป็น ไม่ใช่พระอิฐพระปูน ที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไร เลิกด่าเขาได้แล้ว ครูเขาก็มีครอบครัวที่อยู่ข้างหลังเหมือนกัน ถ้าเขาติดคุกจริง ๆ แล้วใครจะดูแลครอบครัวเขาละ อย่าด่าครูเขาแค่ความสะใจ ส่วนเด็กเนรคุณที่ออกมาแฉครูขอบอกเลยว่าพวกคุณไม่มีวันเจริญ" ในโพสต์ดังกล่าวยังมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นสนับสนุนว่า "จริง ถึงเขาจะข่มขืนจริง แล้วยังไงละ อย่างน้อยเขาก็เป็นครูสอนเด็กพวกนี้นะ บุญคุณไม่มีไม่ว่า แต่นี่ออกมาแจ้งความผู้มีพระคุณ" (MGR Online) ช่อง 3 ได้ทำการสัมภาษณ์ครูผู้แสดงความดังกล่าวได้ความว่า “ด้านคุณอัญญากร ผิวขำ ครูในโรงเรียนที่เกิดเหตุ โพสต์เฟซบุ๊กให้กำลังใจกลุ่มครูผู้ต้องหา ระบุว่า ครูทั้งหมดเป็นครูที่ดี ไม่เคยมีประวัติมาก่อน แต่พฤติกรรมแบบที่ถูกกล่าวหา เรื่องที่เกิดขึ้นก็ไม่มีใครรู้ ให้รอกระบวนการยุติธรรมตัดสิน อยากให้ฟังความสองฝ่าย เหรียญยังมีสองด้าน เป็นห่วงครอบครัวครูทั้ง 5 คน เขามีลูกมีภรรยา บางคนก็ภรรยากำลังตั้งท้อง ไม่รู้ว่าเขาจะอยู่ต่อไปในสังคมอย่างไร” หากพิจารณาถึงลักษณะ 4 ประการ ที่ใช้วินิจฉัยอาการวัฒนธรรมข่มขืนจะเห็นว่า ความเห็นข้างต้นสอดคล้องกับกลุ่มอาการของสังคมที่มีวัฒนธรรมข่มขืนอย่างชัดเจนทั้งการแสดงความเห็นใจของผู้ถูกกล่าวหา (ครูเขาก็มีครอบครัวที่อยู่ข้างหลังเหมือนกัน ถ้าเขาติดคุกจริง ๆ แล้วใครจะดูแลครอบครัวเขาละ) แสดงโดยนัยว่าเหยื่อยินยอม (“เด็กสมยอมหรือเปล่า”, หรือการย้ำความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อกับผู้ถูกกล่าวหา - “อย่าส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียน เพราะครูก็มีชีวิตจิตใจ เงี่ยนเป็น”) และตั้งข้อสงสัยในคำบอกเล่าของเหยื่อ (“ครูทั้งหมดเป็นครูที่ดี ไม่เคยมีประวัติมาก่อน แต่พฤติกรรมแบบที่ถูกกล่าวหา เรื่องที่เกิดขึ้นก็ไม่มีใครรู้”) แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ ผู้แสดงความเห็นยอมรับได้ด้วยซ้ำหากการข่มขืนเกิดขึ้นจริง ๆ ทั้งยังไปประณามเหยื่อที่ออกมาแจ้งความ ซึ่งคงหาข้อความเช่นนี้ได้ยากในสื่อทั่วไป ต่อให้เป็นสื่อที่อยู่ในสังคมที่มีวัฒนธรรมข่มขืน  และการที่เหยื่อไม่ออกมาแจ้งความตั้งแต่ต้น ก็สะท้อนปรากฏการณ์ของสังคมในวัฒนธรรมข่มขืนดังที่นักวิจัยข้างต้นได้กล่าวไว้ว่า เหยื่อในสังคมเช่นนี้ มีเพียงส่วนน้อยที่จะออกมาร้องทุกข์กล่าวโทษ เพราะรู้อยู่ว่าสังคมรอบข้างจะปฏิบัติกับตนอย่างไร ซึ่งก็เป็นดังคาด เพราะกลายเป็นเพื่อนครูที่ออกมาประณามเด็กว่าเนรคุณ ซ้ำยังให้ท้ายผู้ถูกกล่าวหาอย่างชัดแจ้ง  การมีวัฒนธรรมข่มขืนในสังคมครู (แม้จะไม่ใช่ในสังคมครูทุกโรงเรียน) เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง ด้วยสถานะที่เหนือกว่านักเรียน ผู้ก่อเหตุย่อมฉวยโอกาสกระทำการละเมิดเด็กที่อยู่ใต้อำนาจได้โดยง่าย ทั้งยังมีเพื่อนร่วมอาชีพให้ท้าย ราวกับเห็นการข่มขืนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสะกดให้นักเรียนสยบยอมการใช้อำนาจเผด็จการของครู และแม่พิมพ์เหล่านี้ก็ยังเป็นผู้บ่มเพาะเยาวชนรุ่นใหม่ จึงคาดหมายได้ไม่ยากว่า วัฏจักรเดียวกันจะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ อีกในสังคมที่ยอมให้วัฒนธรรม (“สิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ” ) นี้ ดำรงอยู่ต่อไป